Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
23 ธ.ค. 2021 เวลา 10:44
เมื่อไรเดอร์รวมตัว ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือกัน แต่เพื่อเพิ่มพลังให้เสียงเราดังขึ้น
ก่อนหน้าจะเป็นไรเดอร์ ‘มุก’ คือแม่ค้าเสื้อผ้าในตลาดแห่งหนึ่ง หลังจากเจอปัญหาเศรษฐกิจและพิษจากโรคระบาด เธอเริ่มเพิ่มทางเลือกของการหารายได้ ด้วยการเป็นไรเดอร์ในตอนเช้า และเป็นแม่ค้าในตอนเย็น กระทั่งโควิด-19 ระบาดหนัก ตลาดที่เธอขายเสื้อผ้าปิดตัวลงไป ไรเดอร์กลายเป็นอาชีพเดียวที่เธอเหลืออยู่
ปีนี้มุกอายุ 28 และนี่คือปีที่ 2 แล้วสำหรับการเป็นไรเดอร์ส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นแห่งหนึ่ง
“ไรเดอร์เป็นอาชีพที่อิสระ และเป็นช่องทางที่หาเงินได้เร็วและง่าย วันนึงเราได้เป็นพัน พอเกิดสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ คนตกงานเยอะขึ้น ห้างร้านหรือตลาดถูกสั่งปิด จำนวนไรเดอร์จึงเพิ่มขึ้น
“เพื่อให้เราวิ่งงานให้ได้เงินเท่าเดิม ก็ต้องเพิ่มระยะทางและเวลาทำงานมากขึ้น บางวันต้องวิ่งถึง 400-500 กิโลฯ เพื่อให้ได้ตามเป้าเดิม จากเดิม 100-200 กิโลฯ เราต้องวิ่งวนหางาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ชีวิตมากขึ้น ออฟฟิศของไรเดอร์คือมอเตอร์ไซค์ ที่ทำงานคือท้องถนน”
การเพิ่มรอบในการวิ่งรถ นั่นเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่ถึงอย่างนั้น ไรเดอร์จำนวนมากกลับไม่ได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพของชีวิตจากบริษัทแพลตฟอร์มอย่างที่พวกเขาควรได้รับ
●
ชีวิตที่ต้องสำรองจ่าย
มุกเล่าว่า สวัสดิการที่บริษัทฯ มีให้เป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่หากเกิดอุบัติเหตุ ไรเดอร์ต้องเป็นฝ่ายสำรองจ่ายไปก่อน นี่คือปัญหาใหญ่ที่ไรเดอร์กำลังเผชิญร่วมกัน ไม่ใช่ไรเดอร์ทุกคนจะมีเงินเก็บเพื่อสำรองจ่ายฉุกเฉิน หลายคนมีรายได้เพียงวันต่อวัน เงื่อนไขเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่าสมเหตุสมผลและเป็นธรรม
“เกิดอุบัติเหตุครั้งนึง เราต้องสำรองจ่ายก่อน ซึ่งเราก็ถามบริษัทนะว่า นานแค่ไหนถึงจะได้เงินส่วนนั้นคืน เขาก็บอกต้องรักษาตัวให้เสร็จ หรือตัดสินคดีให้เสร็จว่าผิดถูกอย่างไร ค่อยเอาเอกสารรักษาตัวมายื่นบริษัท แล้วบริษัทจะส่งเรื่องไปบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือน
“ถามหน่อยคนที่เป็นไรเดอร์ วิ่งหนึ่งงานคือเงิน รายได้คืองานต่องาน เงินต่อเงิน ถ้าไม่วิ่งเท่ากับเราไม่มีเงิน แล้วเราจะเอาเงินมากมายที่ไหนไปสำรองรักษาตัวเอง”
สิ่งที่มุกเล่าไม่ใช่การคาดเดา ทว่าปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วกับคนทำงานหลายชีวิต เช่น กรณีของไรเดอร์หนุ่ม ถูกรถชนแถวย่านบางซื่อหลังจากไปส่งอาหารเสร็จสิ้นแล้วกำลังรอคำสั่งซื้ออาหารจากลูกค้ารายใหม่ หลังถูกรถชน เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทว่าบริษัทกลับอ้างว่า ไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าไรเดอร์ไม่มีงานอยู่ในมือ หรือกล่าวให้ชัดคือ ไรเดอร์ไม่ได้วิ่งรับ-ส่งอาหารขณะประสบอุบัติเหตุ
ปัญหาด้านสวัสดิการและการคุ้มครองไรเดอร์ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่ม ‘เคลื่อนที่เร็ว’ โดยมีมุกเป็นหนึ่งในสมาชิก โดยทางกลุ่มได้มีการตั้งคำถามผ่านเพจเฟซบุ๊คว่า บริษัทจะออกมารับผิดชอบในกรณีนี้อย่างไร จนภายหลังบริษัทยอมเป็นเจ้าภาพจัดงานศพและจ่ายเงินประกันชีวิต โดยให้เหตุผลว่า ‘ไรเดอร์ยังอยู่ในเกณฑ์คุ้มครองเพราะเสร็จงานแล้ว’
ทั้งนี้ภายหลัง บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกฎใหม่ว่า “เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างเปิดรอรับงาน (ออนไลน์) หรือ ระหว่างการรับงาน หรือ หลังปิดรับงานภายใน 30 นาที (ไม่ว่าพาร์ทเนอร์เป็นผู้ก่อเหตุ หรือผู้ประสบเหตุ) พาร์ทเนอร์สามารถเคลมประกันได้” แต่สำหรับมุก เธอรู้สึกว่าบริษัทยังสามารถเสนอนโยบายที่เป็นธรรมมากกว่านี้ได้ ประกันภัยควรคุ้มครองไรเดอร์ทันทีไม่ว่าจะปฏิบัติงานอยู่หรือไม่ก็ตาม
●
ไรเดอร์ที่รวมกัน และความเงียบงันของแพลตฟอร์ม
บทบาทสำคัญของกลุ่มเคลื่อนที่เร็วคือการช่วยเหลือไรเดอร์ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้าย เกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต หรือโรคระบาด ผ่านการบริจาคสิ่งของและเรี่ยไรเงินกันเองภายในกลุ่ม
“เรารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ไรเดอร์ที่โดนทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะเพื่อพูดคุย ช่วยเหลือ หรือดำเนินการติดต่อประสานงาน เช่น กับทางสถานีตำรวจหรือโรงพยาบาล เช่นเดียวกันหากไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ เราก็จะส่งสมาชิกกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ เข้าไปช่วยเหลือดูแล หรือรวมตัวกันเพื่อหาทุน เรี่ยไรให้ครอบครัวไรเดอร์ เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น”
อีกหนึ่งบทบาทของ กลุ่มเคลื่อนที่เร็ว คือการผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ ของไรเดอร์ เช่น การนัดรวมพลในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เพื่อเรียกร้องกรณีการปิดระบบไรเดอร์อย่างไม่เป็นธรรม การได้รับค่าตอบแทนต่อรอบของไรเดอร์ต่างจังหวัดที่ต่ำเกินไป ไปจนถึงการที่บริษัทไม่มีประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์ เป็นต้น
ด้านบทบาทของมุก นอกจากเธอจะเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแล้ว มุกยังทำหน้าที่กระจายข่าวสารแก่เพื่อนสมาชิก เมื่อได้รับแจ้งว่ามีไรเดอร์เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำไปสู่กระบวนการช่วยเหลือในขั้นถัดไป
“เวลาเพื่อนๆ ไรเดอร์ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะในเรื่องการทำงาน หรือปัญหาส่วนตัว เช่น เจ็บป่วย หรือ ได้รับบาดเจ็บ เราก็จะคอยนำเคสเหล่านี้ที่เราได้รับมาแจ้งให้กับกลุ่ม เพื่อปรึกษาหารือกัน ว่าจะช่วยเหลือยังไงได้บ้าง หรือจะเรียกร้องกับบริษัทได้อย่างไร หรือเบื้องต้นเราก็เป็นแรงเสริมให้สมาชิกทำงานได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น เช่น เป็นตัวแทนช่วยแจกจ่ายอาหาร และของใช้บางส่วนให้กับเหล่าไรเดอร์ที่ได้รับความเดือดร้อน”
หลังการรวมกลุ่มกัน บริษัทแพลตฟอร์มแห่งหนึ่งได้มีการติดต่อและร่วมพูดคุยกับทางกลุ่ม เพื่อถามถึงปัญหาและความต้องการของไรเดอร์ แม้สิ่งที่กลุ่มยื่นข้อเสนอไปนั้น บริษัทยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขหรือช่วยเหลือไรเดอร์อย่างจริงจัง แต่เธอพบว่าในการรวมตัวประท้วงครั้งนั้น ได้แสดงถึงพลังและอำนาจต่อรองของไรเดอร์ สิ่งสำคัญคือ หากการรวมตัวนั้นมีเอกภาพมากพอ เสียงของพวกเขาจะดังขึ้นกระทั่งถูกรับฟังในที่สุด
ถึงกระนั้น ปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเจอไม่ได้มีเพียงเรื่องสวัสดิการ แต่รวมไปถึงปัญหาค่ารอบที่ถูกปรับลดโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือกฎระเบียบต่างๆ ของบริษัทที่ไม่เป็นธรรม เช่น หากไรเดอร์มีคะแนนถึงระดับแชมเปี้ยนหรือไฮบริด แต่ไรเดอร์คนนั้นไม่ใส่เครื่องแบบ หรือไม่ใช้อุปกรณ์ของบริษัท ก็จะโดนปรับตกลดขั้นทันที
สารพัดปัญหาที่รุมเร้าไรเดอร์อยู่ ณ ขณะนี้ มุกมองว่า ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ ‘ภาครัฐ’ ที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างกลไกที่เป็นธรรมอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ รัฐต้องมองเห็นความสำคัญของไรเดอร์ในฐานะอาชีพที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในวันที่เราต่างเผชิญวิกฤติ การเคลื่อนที่ของผู้คนถูกทำให้ชะงักด้วยโรคระบาด ไรเดอร์คือผู้ที่กำลังเคลื่อนเมือง
“มันต้องมีบรรทัดฐานที่เท่ากันของทุกแอพฯ เช่น รัฐต้องเข้ามากำหนดอัตราการวิ่งงานที่ค่ารอบต้องไม่ต่ำกว่า 40 บาท เป็นต้น ไม่ใช่บริษัทออกโปรโมชั่นให้ลูกค้า แต่กลับผลักภาระด้วยการลดค่ารอบที่ควรจะได้ไปจากพวกเรา
“บริษัทควรมีสวัสดิการอะไรรองรับให้เราบ้าง เหมือนอาชีพที่มีประกันสังคม ทุกวันนี้เราต้องอยู่กับประกันตัวเอง ม.40 และสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ต้องแขวนอยู่กับบัตรทองของตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยทุกคนมีอยู่แล้ว มันไม่ใช่สิทธิคนทำงาน ต้องเข้าใจก่อนว่าไรเดอร์ก็เป็นแรงงานเหมือนกัน แต่ทำไมเราไม่ได้สวัสดิการจากการทำงาน
“อาชีพไรเดอร์ไม่ใช่อาชีพใหม่ เราทำอาชีพนี้มาเป็นปีที่ 2 บริษัทนี้ก่อตั้งในไทยมาเกือบจะ 10 ปีแล้ว จะบอกว่านี่คือเรื่องใหม่ มันไม่ใช่ การเรียกร้องมันมีมาก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องสวัสดิการไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อวาน แต่มันคือเรื่องที่คุณไม่เคยมารับฟังหรือแก้ไขจริงๆ จังๆ สักทีต่างหาก”
โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY
สนับสนุนโดย
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)
text: ธัญชนก สินอนันต์จินดา
photo: อนุชิต นิ่มตลุง
แรงงานแพลตฟอร์ม
ไรเดอร์
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย