24 ธ.ค. 2021 เวลา 01:12 • ไลฟ์สไตล์
“ความดับไม่เหลือ”
เรื่องความดับไม่เหลือนั้น มีวิธีปฏิบัติอยู่ ๒ ชนิด กล่าวคือ ตามปกติก็ให้มีดับไม่เหลือแห่งความรู้สึกยึดถือว่าตัวกูและของกู อยู่เป็นประจำ นี้อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อร่างกายจะต้องแตกดับไปจริง ๆ ก็ขอให้มีความคิดปล่อยวางทั้งหมด ปล่อยทั้งร่างกาย ชีวิตจิตใจ ให้ดับไปเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีเชื้ออะไรเหลืออยู่ หวังอยู่สำหรับการเกิดมีตัวเราขึ้นมาอีก
ดังนั้น ตามปรกติในเวลาชีวิตประจำวันก็ใช้อย่างแรก คือควบคุมความรู้สึกที่ไม่เป็นตัวกูของกูอยู่เป็นประจำ
ครั้นเมื่อถึงคราวจะแตกดับของร่างกาย ก็ใช้อย่างหลัง แม้ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุไม่ตายทันที มีความรู้สึกเหลืออยู่บ้างชั่วขณะ หน่อยนึง ก็ใช้อย่างหลัง
แต่ถ้าหากว่าสิ้นชีวิตไปอย่างกะทันหัน ก็หมายความว่าผู้นั้นได้ดับไปแล้วด้วยความรู้สึกอย่างในวิธีแรก เป็นการดับไม่เหลืออยู่ในตัว และเป็นอันว่ามีผลคล้ายกัน คือไม่มีความรู้สึกอยากเกิด อยู่ในขณะนั้นนั่นเอง
โดยรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างที่หนึ่ง คือปฏิบัติเป็นประจำวันนั้น หมายความว่า ถ้าเรามีเวลาว่างสำหรับทำจิตทำใจเมื่อไร ก่อนนอนก็ดี ตื่นนอนใหม่ก็ดี ก็ให้สำรวมจิตเป็นสมาธิ ด้วยการกำหนดลมหายใจ หรือจะกำหนดอะไรเป็นอารมณ์ก็แล้วแต่ถนัด
1
กำหนดพอสมควรเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิบ้าง แล้วจึงพิจารณาเห็นความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา แม้แต่สักอย่างเดียว ให้มองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นดับไป เวียนว่ายตายเกิดอยู่เท่านั้นเอง
ถ้าไปยึดมั่นที่สิ่งใดเข้า ก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที และได้ทุก ๆ สิ่งไม่ว่าสิ่งใด การเวียนว่ายตายเกิดนั้นเล่า ก็คือการทนทุกข์ทรมานโดยตรง เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดทุกชนิดเป็นทุกข์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของการเกิดเป็นอย่างนั้น
คือมีความรู้สึกว่าเกิดเป็นแม่ก็ทุกข์อย่างเป็นแม่
รู้สึกว่าเกิดเป็นลูกก็มีความทุกข์อย่างลูก
เกิดเป็นคนรวยก็ทุกข์อย่างคนรวย
เกิดเป็นคนจนก็ทุกข์อย่างคนจน
เกิดเป็นคนดีก็ทุกข์อย่างคนดี
เกิดเป็นคนชั่วก็มีความทุกข์อย่างคนชั่ว
เกิดเป็นคนมีบุญก็เป็นทุกข์ไปตามประสาของคนมีบุญ
เกิดเป็นคนมีบาปก็เป็นทุกข์ไปตามประสาคนมีบาป
ฉะนั้นสู้ไม่เกิดเป็นอะไรไม่ได้
คืออย่าได้เกิดมีความรู้สึกว่าตนเป็นอะไร
ในฐานะเป็นตัวกูหรือของกูขึ้นมา
นี่คือความดับไม่เหลือแห่งตัวกูอยู่เป็นประจำ
แต่ทีนี้สำหรับการเกิดนั้น คำว่า เกิด
อย่าได้หมายเพียงแต่การเกิดจากท้องแม่
ที่แท้มันหมายถึงการเกิดของ”จิต”
คือของความรู้สึก ที่รู้สึกขึ้นมาคราวหนึ่ง ๆ
ว่า “กู” เป็นอะไร
เช่น เป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนจน เป็นคนมี เป็นคนสวย คนไม่สวย เป็นคนมีบุญ คนมีบาป อย่างนี้เป็นต้น ความรู้สึกหมายมั่นเช่นนี้ เรียกว่าความยึดถือ หรืออุปาทาน มีความหมายมั่นว่าตัวกูเป็นอย่างไร ของกูเป็นอย่างไร
ความรู้สึกตัวกู ของกู อย่างที่กล่าวนี้ เรียกว่าอุปาทาน
มันเกิดมาจากท้องแม่ของมัน
แม่ของมันคือ อวิชชา
มันเกิดวันหนึ่งได้ไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง
หรือเกิดได้ไม่รู้กี่ร้อยชาตินั่นเองในวันหนึ่ง
เกิดทุกคราว เป็นทุกข์ทุกคราว อย่างที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง เช่น ทุกคราวที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง หรือจมูกได้กลิ่น หรือลิ้นได้รส หรือกายได้สัมผัสทางผิวหนัง หรือจิตมันปรุงเรื่องเก่า ๆ เป็นความคิด เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเองก็ตาม
ถ้าควบคุมไว้ไม่ดีแล้ว
ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู
ก็จะโผล่หรือเกิดขึ้นมาทันที
และจะต้องเป็นทุกข์ทันที ที่ตัวกูโผล่ขึ้นมา
ฉะนั้นจงระวังอย่าเผลอให้ตัวกูโผล่หัว
ออกมาจากท้องแม่ของมันได้เป็นอันขาด
ถ้าเพียงแต่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง เป็นต้น
แล้วเกิดสติปัญญารู้ว่าควรจัดการอย่างไร
ทำไปอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น จัดไปอย่างนั้น
ถ้าไม่มีเรื่องจะต้องทำอย่างไร นิ่งเสียก็ได้
ถ้าทำอย่างนี้ไม่เป็นไร
ขออย่างเดียวแต่อย่าให้ความรู้สึกว่า “ตัวกู”
ถูกปรุงขึ้นมาจากตัณหา หรือจากเวทนา
อันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น
ทำอย่างนี้เรียกว่าตัวกูไม่เกิด คือไม่มีชาติ ไม่มีเกิด
เมื่อไม่เกิด ก็ไม่ตาย หรือไม่เป็นทุกข์อย่างใดทั้งสิ้น
นี่แหละคือข้อที่ต้องบอกให้ทราบไว้ว่า
การเกิดนั้นไม่ใช่หมายถึงการเกิดจากท้องแม่
ทางเนื้อทางหนังโดยตรง
แต่มันหมายถึงการเกิดทางจิตใจของตัวกู
ที่เกิดจากท้องแม่ของมัน
คือ อวิชชา ความไม่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง
ส่วนการดับไม่เหลือในทีนี้ ก็คืออย่าให้ตัวกูชนิดนี้เกิดขึ้นมาได้นั่นเอง และเมื่อแม่ของมันคืออวิชชา ก็ฆ่าแม่ของมันเสียด้วย วิชชา หรือ ปัญญา ที่รู้ตามที่เป็นจริง
รู้ตามที่เป็นจริงก็คือรู้ว่า ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น
ว่าเป็นตัวเราหรือของเรานั่นเอง
หรือถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า
มันเกิดได้เพราะเราเผลอสติ
เพราะฉะนั้นเราก็อย่าเผลอสติเป็นอันขาด
ถ้าหากว่าเป็นคนที่มักเผลอสติ
ก็จงแก้ด้วยความเป็นผู้รู้จักอาย รู้จักกลัวกันเสียบ้าง
โดยมีความรู้สึกอายว่า การที่ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้น ๆ มันเป็นคนสารเลว ยิ่งกว่าเป็นไพร่เป็นคนขี้ข้าเสียอีก ไม่สมควรแก่เราเลย ที่ว่ารู้จักกลัวกันเสียบ้าง นั้นหมายความว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัวยิ่งไปกว่าความเกิดชนิดนี้แล้ว มันยิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น ยิ่งกว่าอะไรหมด ที่เกิดมาทีไร ก็เป็นอันว่าสูญคน เสียคน ไม่มีอะไรเหลือ
เมื่อมีความอายและความกลัวอย่างนี้บ่อย ๆ แล้ว
สติก็จะไม่เผลอของมันเอง การปฏิบัติก็จะดีขึ้นตามลำดับ จนเป็นผู้ที่มีการดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำทุกค่ำเช้าเข้านอน
และทุกค่ำเช้าเข้านอนก็ต้องมีการคิดบัญชีเรื่องการดับไม่หลือนี้ ให้รู้รายรับรายจ่ายไว้เสมอไป ข้อนี้มีอานิสงส์สูงไปกว่าการไหว้พระสวดมนต์ หรือทำสมาธิตามธรรมดาเฉย ๆ
เรื่องเกี่ยวกับความดับไม่เหลือทำนองนี้ ไม่เกี่ยวกับการเพ่งหรือหลับตา เห็นสีเห็นดวง หรืออะไรที่แปลก ๆ เป็นทำนองปาฏิหาริย์ หรือศักดิ์สิทธิ์ หากแต่ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัญญา หรือสติ สัมปชัญญะ โดยตรงเท่านั้น
อย่างมากที่สุดที่มันจะสำแดงออก ก็เป็นเพียงว่า ถ้ามีสติสมบูรณ์จริง ๆ ได้เต็มที่แล้ว มันก็จะสำแดงออกมาให้เห็นเป็นความเบากาย เบาใจ สบายกายสบายใจอย่างที่บอกไม่ถูก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็เท่านั้นเอง
แต่อย่าได้ไปนึกถึงเรื่องนี้เป็นอันขาด จะกลายเป็นที่ตั้งของอุปาทานอันใหม่ขึ้นมาอีก ว่าเป็นความสุขของกู แล้วมันก็จะดับไม่ลง แล้วมันก็จะเหลืออยู่เรื่อย คือเกิดได้เรื่อย ๆ ไปอีก เดี๋ยวก็จะได้กลุ้มกันใหญ่ไปกว่าเดิม
พวกที่ทำวิปัสสนาไม่สำเร็จ ก็เพราะคอยจ้องจับเอาความสุขอยู่เรื่อยไป มุ่งนิพพานตามความยึดถือของตนอยู่เรื่อยไป มันก็ดับไม่ลง หรือนิพพานไม่ลง มีตัวกูเกิดขึ้นมาในนิพพานแห่งความยึดมั่นถือมั่นของตนเองเสียเรื่อย
เพราะฉะนั้นถ้าจะภาวนากันบ้างก็ต้องภาวนาว่า ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า นิพพาน นั้น มีพระบาลีว่า สัพเพธัมมานารัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ดังนี้
สรุปความว่า ทุกค่ำเช้าเข้านอนต้องทำความแจ่มแจ้ง เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้แจ่มกระจ่างอยู่เสมอ จนเคยชินเป็นนิสัย จนถ้าหากว่าเกิดตายไปในเวลาหลับ ก็ยังมีหวังที่จะไม่เกิดอีกต่อไปอยู่นั่นเอง
มีสติปัญญาอยู่เรื่อย อย่าให้อุปาทานว่าตัวกู หรือของกู เกิดขึ้นมาได้เลยในทุกกรณี ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งตื่นและหลับ นี้เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยความดับไม่เหลือ หรือความไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมะอยู่ในจิตที่ว่างจากตัวตนอยู่เสมอไป เรียกว่าตัวตนไม่ได้เกิด และมีแต่การดับไม่เหลืออยู่เพียงนั้น
ถ้าเผลอไป ก็ตั้งใจทำใหม่เรื่อย ไม่มีการท้อถอยหรือเบื่อหน่าย ในการบริหารใจเช่นนี้ก็เช่นเดียวกับเราบริหารกายอยู่ตลอดเวลานั้นเหมือนกัน ให้ทั้งกายและทั้งใจได้รับการบริหารที่ถูกต้อง คู่กันไปดังนี้ในทุกกรณีที่ทำอยู่ ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่มีความผิดพลาดเลย
ทีนี้ก็มาถึงวิธีปฏิบัติอย่างที่สอง คือในเวลาจวนเจียนจะดับจิต คือตายนั้น อยากจะกล่าวว่ามันง่ายเหมือนกับตกกระไดแล้วพลอยกระโจน ถ้ามันยากก็ยากอยู่ตรงที่ไม่กล้าพลอยกระโจน ในเมื่อตกกระได มันเจ็บมาก เพราะตกลงมาอย่างไม่เป็นท่าเป็นทาง
ไหน ๆ เมื่อร่างกายนี้มันอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว จิตหรือเจ้าของบ้านก็พลอยกระโจนตามไปเสียด้วยก็แล้วกัน ให้ปัญญามันกระจ่างแจ้งขึ้นมาในขณะนั้น ว่าไม่มีอะไรที่น่าจะกลับมาเกิดใหม่ มาเอาใหม่ มาเป็นใหม่ เพื่อเอา เพื่อเป็น เพื่อหวังอะไรอย่างใดต่อไปอีก
หยุดเสียที สิ้นสุดที ปิดฉากสุดท้ายกันเสียที เพราะว่าไปแตะเข้าที่ไหน ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าไปเกิดเป็นอะไรเข้าที่ไหน หรือได้อะไรที่ไหนมา เมื่อมีความรู้แท้จริงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้ จิตไม่มีที่หวัง ไม่มีที่อยาก ไม่มีที่จอด มันจึงดับไปพร้อมกับกายอย่างไม่มีเชื้อเหลือมาเกิดอีก
สำหรับสิ่งที่เรียกว่า เชื้อ เชื้อในที่นี้ ก็คือความหวังหรือความอยาก หรือความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง
จะยกตัวอย่างให้เห็นว่าแม้การตายโดยกะทันหันก็ยังมีทางที่จะดับไม่เหลือได้ สมมติว่าเดินมาไม่รู้ตัวถูกควายขวิดมาจากข้างหลัง หรือว่าถูกรถยนต์ทับ หรือว่าถูกตึกพังทับ หรือถูกลอบยิง หรือถูกการระเบิดชนิดไหนก็ตาม
ถ้ามีความรู้สึกเหลืออยู่แม้สักวินาทีเดียวก็ตาม จงน้อมจิตไปสู่ความดับไม่เหลือ หรือทำความดับไม่เหลือให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจ เหมือนที่เราเคยฝึกอยู่ทุกค่ำเช้าเข้านอนขึ้นมาในขณะนั้น แล้วก็ปล่อยให้จิตดับไป ก็เป็นการเพียงพอแล้ว สำหรับอาการที่เรียกว่าตกกระไดพลอยกระโจน
กระโจนไปสู่ความดับไม่มีเชื้อเหลือ ทีนี้ถ้าหากว่าจิตดับไปเสียโดยไม่มีเวลาเหลืออยู่สำหรับให้รู้สึก หรือคิดนึกได้ดังนี้ก็แปลว่า ถือเอาความดับไม่เหลือที่เราพิจารณาและมุ่งหมายอยู่เป็นประจำตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนนั่นเอง เอาความรู้สึกนั้นเป็นพื้นฐานสำหรับร่างกายแตกดับไปในขณะนี้
เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เป็นการดับไม่เหลืออยู่ดี ไม่เป็นการเสียท่าเสียทีแต่ประการใด อย่าได้เป็นห่วงเลย ถ้าป่วยด้วยโรคที่เจ็บปวดหรือทรมานมาก ก็ต้องทำจิตขึ้นเบ่งรับ ยิ่งเจ็บมากปวดมากนี่แหละ มันจะได้ดับไม่เหลือเร็วเข้าอีก
เพราะฉะนั้นเราขอบใจความเจ็บความป่วย เมื่อคิดดังนี้ ปีติในธรรมะก็จะคงความรู้สึกปวดนั้นไม่ให้ปรากฏ หรือปรากฏแต่น้อยที่สุด จนเรามีสติสมบูรณ์อยู่ดังเดิม และเยาะเย้ยความเจ็บปวดได้
ถ้าป่วยด้วยโรคเช่น อัมพาต และต้องดับด้วยโรคนั้น ก็ให้ถือว่าตัวเราสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ขณะที่โรคนั้นทำให้หมดความรู้สึก ที่เหลือส่วนที่เหลือนอนตาปริบ ๆ อยู่นั้นไม่มีความหมายอะไร
ทั้งนี้เพราะว่าจิตของเราได้สมัครน้อมไปเพื่อความดับไม่เหลือเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ก่อนล้มเจ็บเป็นอัมพาต หรือตั้งแต่ความรู้สึกยังดีอยู่ในการเป็นอัมพาต ตลอดเวลาที่มีความรู้สึก ครั้นหมดความรู้สึกแล้ว มันก็เลิกกัน
แม้ว่าชีวิตยังไม่ดับทันที มันก็หามีตัวตนอะไรที่เป็นตัวกูหรือของกูที่ไหนไม่ อย่าได้คิดเผื่อให้มากไปด้วยความเขลาของตัวเองเลย เมื่อยังอยู่ดี ๆ นี่แหละ รีบทำความดับไม่เหลือเสียให้สมบูรณ์ด้วยสติปัญญาเถิด
มันจะรับประกันไปได้ถึงเมื่อเจ็บ แม้ในกรณีที่เป็นโรคอัมพาตดังกล่าวแล้ว ไม่มีการที่จะพ่ายแพ้หรือเสียท่าเสียทีแก่ความเจ็บแม้แต่ประการใดเลย เพราะเราทำลายตัวกูให้หมดความเกิดเสียแล้ว ตั้งแต่เมื่อร่างกายยังสบายดีอยู่นั่นเอง
สรุปความในที่สุดทั้งสองชนิดว่า จงมีจิตที่มีปัญญาแท้จริง มองเห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นแม้แต่สักสิ่งเดียว ในจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นโดยสิ้นเชิงชนิดนี้แหละ ไม่มีตัวกูหรือไม่มีของกู มีแต่ธรรมะที่เป็นความหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์
ซึ่งเราจะสมมติเรียกธรรมะนี้ว่า พระรัตนตรัยก็ได้ มรรคผลนิพพานก็ได้ หรือจะเรียกว่าอะไร ๆ ที่เป็นยอดปรารถนาของคนยึดมั่นถือมั่นนั้น ได้ทุกอย่าง แต่เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งเหล่านี้อยู่นั่นเอง
จึงดับไม่เหลือ หรือ นิพพาน ได้จริงสมชื่อ
นิ แปลว่า ไม่เหลือ พาน แปลว่า ไปหรือดับ
นิพพาน แปลว่า ดับไม่เหลือ
เป็นสิ่งที่มีลักษณะ มีความหมาย มีการปฏิบัติ และมีอานิสงส์ดังที่กล่าวมาดังนี้แล ข้อความทั้งหมดนี้ยังย่ออยู่มาก แต่ถ้าขยันอ่านและขยันพิจารณาอย่างละเอียดไปทุก ๆ ตัวอักษร ทุก ๆ คำพูด ทุก ๆ ประโยค แล้ว
ก็คงจะได้ความโดยพิศดารได้ในตัวมันเอง และเพียงพอแก่การเข้าใจในการปฏิบัติ
ฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะอ่านและฟังอยู่เป็นประจำ โดยไม่ต้องคำนึงว่ากี่เที่ยวหรือกี่จบ จนกว่าจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งด้วยปัญญา แล้วมั่นคงโดยสมาธิ นำมาใช้ได้ทันท่วงทีด้วยสติ สมตามความประสงค์ที่จะเป็นผู้มีความดับไม่เหลือทุก ๆ ประการ
.
ธรรมบรรยาย ความดับไม่เหลือ
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา