24 ธ.ค. 2021 เวลา 09:18 • ข่าว
6 ธันวาคม 2021 ศาลปกครองเมียนมาพิพากษาจำคุก อองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอดีตประธานาธิบดีวิน มยิ่น เป็นเวลา 4 ปี ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศ และละเมิดข้อกำหนดการควบคุมโรคโควิด-19
ภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สถานีโทรทัศน์เมียวดี สื่อกระบอกเสียงหลักของกองทัพแถลงว่า พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารใหม่มีคำสั่งให้ลดโทษอองซานซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิน มยิ่น เหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี ในข้อหาเดิม
คำพิพากษาและความเคลื่อนไหวของพลเอกมินอ่องหล่ายดังกล่าว กำลังเตือนประชาชนถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2008
อองซานซูจีได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ฐานให้ที่พักพิงแก่พลเมืองสหรัฐ คือ จอห์น วิลเลียม เยตตอว์ ซึ่งว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยา เป็นระยะทาง 1 ไมล์ เข้ามายังบ้านพักของอองซานซูจี ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกอาวุโสตันฉ่วย ได้สั่งกักบริเวณเธอภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา โดยสร้างเงื่อนไขไว้ว่า หากเธอมีความประพฤติที่ดีในสายตาของกองทัพ เธอจะได้รับการผ่อนปรนโทษ
คำสั่งลดโทษของนายพลมินอ่องหล่ายแสดงให้เห็นว่า เขายึดติดกับตำราการปกครองแบบเผด็จการเมียนมาโบราณ
แม้ว่าเขาจะประกาศผ่อนปรนลดโทษลงกึ่งหนึ่งแก่อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและอดีตประธานาธิบดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาได้รับการยกย่องหรือได้รับเสียงปรบมือ มิหนำซ้ำกลับเป็นการเติมเชื้อไฟแห่งความเดือดดาลให้กับประชาชน ประชาคมโลกต่างรู้ดีว่าการจับกุมและดำเนินคดีกับอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและอดีตประธานาธิบดีนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว
ตลอดระยะเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลทหารใหม่ได้ยื่นฟ้องอองซานชูจีเป็นจำนวนถึง 11 คดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับการครอบครองเครื่องรับส่งวิทยุผิดกฎหมาย คดีทุจริตคอร์รัปชัน ไปจนถึงข้อกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติความลับทางราชการ
จากปากคำของทีมทนายความของอองซานซูจี เปิดเผยว่า อองซานซูจีตอบข้อกล่าวหาทั้งหมดเพียงข้อความสั้นๆ ว่า “ไร้สาระทั้งหมด” ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมืองและความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะกีดกันเธอออกจากการเมืองอย่างถาวร
เพียง 14 เดือนก่อนการทำรัฐประหาร เธอเพิ่งจะเดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อปกป้องนายพลกลุ่มเดียวกันเหล่านั้น จากข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ในเหตุการณ์การโจมตีทางทหารเมื่อปี 2017 ที่ผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญาออกจากเมียนมา
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนานของอองซานซูจีทำให้เธอกลายเป็นนางเอกในเมียนมา โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ แม้ว่าจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบมากมายจากโลกตะวันตกและประชาคมโลกเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาภายใต้รัฐบาลของเธอ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น หาได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อคะแนนความนิยมในประเทศเมียนมาไม่
อองซานซูจี หรือที่รู้จักกันในนาม ‘The Lady’ ได้เติมเต็มความฝันของคนนับล้าน เมื่อพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2015 และสามารถตั้งรัฐบาลพลเรือนในเมียนมาได้สำเร็จ
ก่อนหน้านั้น เธอเคยถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้านพักเป็นเวลา 15 ปี ในระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เมื่อพรรคของเธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล เธอต้องทำงานร่วมกับนายพลที่ควบคุมดูแลความมั่นคงของประเทศและลูกน้องนายพลที่เคยสั่งกักบริเวณเธอ
รัฐบาลลูกผสมนั้นล้มเหลวในการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา และยังไม่สามารถยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าทศวรรษ นอกจากนี้ รัฐบาลของอองซานซูจียังเพิ่มข้อจำกัดที่เข้มงวดสำหรับสื่อมวลชน โดยการร่างกฎหมายควบคุมสื่อ
ชัยชนะในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของเธอในเดือนพฤศจิกายน 2020 ทำให้กองทัพถึงกับตกใจ และเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยกล่าวหาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ฉ้อโกงการเลือกตั้ง ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้สังเกตการณ์ ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาของกองทัพ
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นคดีอาญาคดีแรกที่ยื่นฟ้องอองซานซูจี พร้อมกับการละเมิดข้อจำกัดการควบคุมโรคโควิด-19 ตามมาด้วยการครอบครองเครื่องรับส่งวิทยุที่ไม่มีใบอนุญาต ไปจนถึงการยั่วยุ การทุจริตคอร์รัปชัน และการละเมิดพระราชบัญญัติความลับทางราชการ ตอนนี้เธอต้องเผชิญกับคดีความอีกหลายคดีโดยมีโทษสูงสุดรวมกันมากกว่า 100 ปี
ผู้ประท้วงยังคงพากันออกมาตามท้องถนนในนามของเธอตั้งแต่วันรัฐประหาร และตะโกนเรียกร้องให้ปล่อยตัว ‘อะเหม่ซุ้’ หรือ ‘แม่ซู’ แม้ว่ามีผู้ประท้วงถูกสังหารไปแล้วหลายร้อยคนและถูกควบคุมตัวอีกนับพันคน
อองซานซูจี-ลูกสาวของนายพลอองซาน ฮีโร่แห่งเมียนมา ซึ่งถูกลอบสังหารในปี 1947 เมื่อเธออายุได้ 2 ขวบ เธอใช้ชีวิตวัยรุ่นในต่างประเทศเป็นส่วนมาก เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่นั่น เธอได้พบกับสามีของเธอ ไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษ และมีลูกชายด้วยกัน 2 คน
ก่อนแต่งงาน เธอขอให้เขาสัญญาว่าจะไม่ห้ามเธอ หากเธอต้องการกลับบ้านเกิด
“ด่อขิ่นจี่-แม่ของเธอกำลังจะสิ้นใจ” ในปี 1988 เธอได้รับโทรศัพท์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอและครอบครัวไปตลอดกาล
อองซานซูจีเป็นนักพูดในที่สาธารณะที่มีวาทศิลป์ เธอกลายเป็นผู้นำของขบวนการใหม่ในเมียนมา โดยกล่าวอ้างเชื่อมโยงถึงความฝันของบิดาของเธอที่หวังจะสร้างเมียนมาให้เป็นอิสระ เป็นเหตุให้เธอถูกจับตามองจากรัฐบาลเผด็จการทหารและถูกควบคุมตัวในที่สุด
เริ่มต้นในปี 1989 รัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การนำของพลเอกซอหม่อง ซึ่งก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1992 โดยอ้างเหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพส่วนตัว และต่อมาพลเอกตันฉ่วยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งกักบริเวณอองซานซูจี ตั้งแต่นั้นมา ทำให้อองซานซูจีกลายเป็นนักโทษของเผด็จการทหารเมียนมาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน
เป็นเวลาหลายปีที่พลเอกตันฉ่วยเล่นเกมจับและปล่อยตัวอองซานซูจี บางครั้งก็ปล่อยตัวเธอ เพื่อคลายความกดดันจากนานาชาติและสร้างความชอบธรรม รวมถึงต้องการเสียงปรบมือให้กับระบอบการปกครองของเขา ในระหว่างที่อองซานซูจีเป็นนักโทษของนายพล เธอถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา บ้านสไตล์โคโลเนียลที่เธอเคยพำนักและใช้ชีวิตวัยเด็ก ช่วงทศวรรษ 1950 หลังจากที่แม่ของเธอพาครอบครัวย้ายมาจากบ้านเดิม บนถนน Tower Lane ใกล้ทะเลสาบกั่นด่อจี
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเมียนมาว่า การพูดชื่อของเธอในที่สาธารณะนั้นเป็นคำแสลงหูของนายพล ซึ่งอาจทำให้ผู้สนับสนุนเธอได้รับโทษจำคุก ดังนั้น พวกเขาจึงเรียกเธอว่า ‘เลดี้’
Taunggyi, Myanmar – 20 Feb 2021: Myanmar people took to the streets to protest against the military coup
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อองซานซูจีมีบทบาทสำคัญในการดึงความสนใจของโลกมาที่รัฐบาลเผด็จการทหารและสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศเมียนมา เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991
ในระหว่างการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณในบ้านพักเมื่อปี 1998 เธอพยายามเดินทางออกนอกบ้านพักริมทะเลสาบอินยา เมืองย่างกุ้ง เพื่อเยี่ยมผู้สนับสนุน แต่ถูกกองทัพขัดขวาง
เธอทนนั่งอยู่ในรถตู้เป็นเวลาหลายวันและหลายคืน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในฤดูร้อน ในเขตเมียนมาตอนกลาง มีเรื่องเล่าขานกันว่า เธอถึงกับต้องหงายร่ม เพื่อรองน้ำฝนไว้ ในขณะที่ฝนตก เพื่อดื่มดับกระหาย
เธอรอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหารในปี 2003 เมื่อกลุ่มทหารโจมตีขบวนรถของเธอที่กำลังเดินทางเยี่ยมเยียนพบปะผู้สนับสนุนพรรคของเธอ กลุ่มทหารได้สังหารและทำร้ายร่างกายผู้สนับสนุนเธอ
30 พฤษภาคม 2003 มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย หลังจากม็อบที่นำโดยกลุ่มอดีตรัฐบาลทหารโจมตีขบวนรถของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงผู้นำฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและอองซานซูจี ที่กำลังเดินทางผ่านภูมิภาคสะกาย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำความผิด และเชื่อกันว่าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ครั้งนี้
กองทัพสั่งกักบริเวณเธอซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายในบ้านริมทะเลสาบอินยา แต่เธอก็ยังออกมากล่าวปราศรัยกับผู้สนับสนุนทุกสัปดาห์บริเวณรั้วบ้าน และพูดคุยเกี่ยวกับประชาธิปไตย ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของตำรวจ
ในปี 2010 กองทัพเริ่มการปฏิรูปประชาธิปไตย และต่อมาอองซานซูจีได้รับการปล่อยตัว ท่ามกลางผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากที่ร้องไห้ระคนโห่ร้องดีใจ
บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นผู้นำจากซีกโลกตะวันตกคนแรกที่เดินทางมาเยือนเมียนมาในปี 2012 เขาเรียกอองซานซูจีว่าเป็น ‘beacon of hope’ หมายถึง การเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก รวมทั้งตัวเขาเองด้วย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีต่อเมียนมาก่อนหน้านี้ได้เริ่มคลี่คลายลง แต่อองซานซูจีก็ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับขอบเขตของการปฏิรูปประชาธิปไตยโดยกองทัพ
อย่างไรก็ตาม การมองโลกในแง่ดีตามแบบสายตาตะวันตก ซึ่งชื่นชมการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่พรรคของอองซานซูจีคว้าชัยชนะและจะมีโอกาสพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมานั้น ได้หายวับไปในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัย และกองทัพตอบโต้ด้วยการโจมตีอย่างรุนแรง และในที่สุดก็ผลักไสชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ออกจากเมียนมา ต่อมาในเดือนธันวาคม 2019 อองซานซูจีปกป้องการปฏิบัติการทางทหารต่อหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติ โดยอธิบายว่าเป็นการตอบโต้การก่อการร้ายและขอให้ศาลยกเลิกข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่แกมเบียฟ้อง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยมอบรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) ให้กับเธอ แต่ได้เพิกถอนในปี 2018 ฐานที่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์วิกฤติโรฮิงญา ภาพเหมือนของเธอซึ่งเคยแขวนไว้ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด สถานศึกษาเก่าของเธอ ถูกปลดออกและนำไปเก็บไว้ในห้องเก็บของอย่างเงียบๆ
อาจกล่าวได้ว่า ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลกสมัยใหม่ อองซานซูจีเป็นทั้งนางเอก นางร้าย และนักโทษ และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ในการสั่งจองจำอองซานซูจีโดยรัฐบาลทหารในไทม์ไลน์ตั้งแต่ปี 1989-2012 ในทุกครั้งที่เธอได้รับการปล่อยตัว มักจะมี ‘เหตุผลใหม่’ ที่จะส่งตัวเธอกลับไปกักบริเวณภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา ในเมืองย่างกุ้ง
“เธอจะถูกกักบริเวณอยู่ในสถานที่นั้นเพื่อรับโทษ” สถานีโทรทัศน์ MRTV รายงานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2021 บอกว่า ผู้นำรัฐบาลทหารชุดใหม่จะไม่ส่งตัวเธอเข้าคุก แต่กองทัพไม่ได้ให้รายละเอียดว่าอองซานซูจี ซึ่งถูกกักบริเวณภายในบ้านนานหลายปี ภายใต้รัฐบาลทหารชุดก่อนหน้านี้ ถูกคุมขังอยู่ที่ไหน
ผู้นำรัฐประหารคงคิดว่าบรรดานายพลบรรพบุรุษของพวกเขาได้ริเริ่มปฏิรูปการเมืองเมียนมามานานหลายทศวรรษที่ผ่านมา และได้ไปไกลเกินกว่าที่จะยอมให้อองซานซูจีกลับเข้าสู่การเมืองได้
อย่างไรก็ตาม เธอยังคงเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการเมืองเมียนมา และอาจยังคงเป็นบุคคลอันทรงพลังในอนาคตของการเมืองเมียนมาด้วย
เขียน: วทัญญู ฟักทอง
โฆษณา