Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
25 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
เหตุใด? แต่ละประเทศถึง “ร่ำรวย” และ “ยากจน” ต่างกัน
1
คำถามสำคัญที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างให้ความสำคัญและพยายามหาคำตอบมาโดยตลอดก็คือ เหตุใดแต่ละประเทศถึงมีความเจริญที่แตกต่างกัน? เหตุใดประเทศหนึ่งถึงรวย และอีกประเทศถึงยากจน?
ในช่วงที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้พยายามให้คำตอบต่อคำถามนี้หลายประการ อย่างเช่น หลายคนก็บอกว่าเหตุที่ประเทศร่ำรวยต่างกันนั้นเป็นเพราะปัจจัยด้านภูมิศาสตร์
1
เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขาเห็นว่าประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือนั้นร่ำรวยเพราะว่าอยู่ในพื้นที่ชัยภูมิที่ดี มีอากาศเย็น ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ต่างจากประเทศยากจน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตร้อน แหล่งน้ำธรรมชาติหายาก และโรคก็ชุกชุม
1
อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะเมื่ออากาศดี เย็นสบาย คนก็มีความสุขมากกว่า ใช้ชีวิตได้ดีกว่า และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
2
แต่ทว่า เหตุผลดังกล่าวก็ไม่สามารถอธิบายว่าเหตุใดประเทศถึงร่ำรวยแตกต่างกันได้โดยสมบูรณ์ เพราะก็ยังคงมีประเทศอีกหลายประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ก็อยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน อย่างเช่น ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ เป็นต้น
2
เพราะฉะนั้น ปัจจัยดังกล่าวจึงตกไป ฟังไม่ขึ้น แต่ทว่า แน่นอนว่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงไม่ย่อท้อต่อภารกิจดังกล่าว และยังคงตามหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องวัฒนธรรม หรือศาสนา เป็นต้น
1
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ก็ต่างไม่สามารถอธิบายความแตกต่างที่เกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ หรือ Completely valid ทั้งสิ้น เพราะสามารถยกตัวอย่างมาแย้งได้อย่างง่ายดาย อย่างเช่น กรุงเบอร์ลินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการแบ่งออกเป็นเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออก ก็มีวัฒนธรรมร่วมกัน ผู้คนสัญชาติ เชื้อชาติเดียวกัน บางคนเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยซ้ำ ก็มีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันสุดขั้ว
1
หรือที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือกรณีของประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดกัน อยู่ในภูมิศาสตร์เดียวกัน และมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็ยังแตกต่างกันสุดขั้ว
2
📌 ปัจจัยเชิงสถาบัน – แนวคิดล่าสุดที่อาจช่วยตอบปริศนาชวนสงสัย..
ปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เวิร์คเหล่านี้ก็ถูกตีตกไปทั้งสิ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีแนวคิดใหม่ที่มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อพยายามใช้แก้ปริศนาที่เกิดขึ้น แนวคิดที่ว่าก็คือปัจจัยเชิงสถาบัน (Institution)
สถาบัน หรือ Institution ที่ว่านั้นไม่ใช่สถาบันอะไรเป็นพิเศษอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน ไม่ใช่สถาบันครอบครัว ไม่ใช่สถาบันศาสนาโดยเฉพาะ แต่สถาบันที่ว่านั้นหมายถึงธรรมเนียมปฏิบัติ กฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นตัวครอบสังคมดังกล่าวเอาไว้
3
โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำหลักของแนวคิดดังกล่าวก็คือศาสตราจารย์ Daron Acemoglu จาก MIT ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง Why Nations Fail? คู่กับ James A. Robinson
3
Why Nations Fail?
ทั้งนี้ เขาได้อธิบายไว้ว่าสถาบันที่ว่านั้นแบ่งออกเป็นหลัก 2 สถาบัน ประกอบไปด้วย สถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic institution) และสถาบันทางการเมือง (Political institution)
เขาได้บอกไว้อีกว่า เหตุผลที่ประเทศนึงร่ำรวย ในขณะที่อีกประเทศยากจน นั้นเป็นเพราะว่าสองประเทศนี้มีความแตกต่างในสถาบันทั้งสองที่กล่าวข้างต้น
ประเทศที่ร่ำรวย สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมา จนเจริญรุ่งเรืองได้ ก็เพราะว่าประเทศนั้นมีสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Institution
4
หากยกตัวอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสถาบันทางการเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Inclusive) ว่ารัฐบาลควรที่จะดูแลชีวิตของเขาอย่างไร ซึ่งเมื่อสถาบันการเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนได้มีส่วนร่วม ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั่นเอง
3
แต่ทว่า ในกรณีของประเทศที่ยากจน เขาพบว่าสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มักจะเป็นสถาบันที่กดขี่ขูดรีด (Extractive) ไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อำนาจอยู่ในมือของคนไม่กี่คน อย่างเช่น ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เป็นต้น
4
เมื่อระบอบการปกครองมีลักษณะกดขี่ขูดรีดแล้ว ก็ยากที่จะเห็นระบบเศรษฐกิจอย่าง ทุนนิยม ที่จะก่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมขึ้น เพราะชนชั้นปกครองก็จะต้องเลือกใช้ระบบเศรษฐกิจที่กดขี่ขูดรีดเช่นเดียวกัน เพื่อให้เขารักษาอำนาจไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
4
กรณีของประเทศต่างๆ ที่เราได้หยิบยกมาก่อนหน้านี้ ก็น่าจะใช้แนวคิดดังกล่าวอธิบายได้อย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น เบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ก็ถูกปกครองโดยรัฐบาลที่แตกต่างกัน และมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งใช้ทุนนิยม ฝั่งหนึ่งใช้คอมมิวนิสต์ แต่ผลสุดท้ายก็คือมีเพียงแนวทางเดียวเท่านั้นที่เวิร์ค ดังเช่นที่ John F. Kennedy ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า “ใครที่ไม่เชื่อในทุนนิยม ก็ขอให้เขามาดูที่เบอร์ลิน”
2
หรือในอีกกรณีหนึ่งก็คือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็มีการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างลิบลับ เพราะทั้งสองประเทศมีสถาบัน ระบอบการปกครอง และระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
แต่ทว่า ในอดีต ก็มีบางประเทศที่มีสถาบันที่ขูดรีดแต่ก็ยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ จนมีการอัตราการเติบโตที่สูงได้อยู่ดี อย่างเช่น กรณีของสหภาพโซเวียต ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมาก จนก้าวไปเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยความสามารถในการโยกย้ายทรัพยากรไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการ ที่จะสร้างมูลค่าได้โดยง่าย เนื่องจากรัฐคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ
แต่สุดท้าย สหภาพโซเวียดเองก็ล่มสลายลง เมื่อไม่เหลือทรัพยากรที่เหลือให้โยกย้าย คนขาดแรงจูงใจ ไม่เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกต่อไป
เพราะฉะนั้น เขาจึงกล่าวไว้ว่า อาจจะมีบางประเทศที่มีสถาบันที่กดขี่ขูดรีดที่พอจะไปได้ พอจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นภาพชั่วคราว เพราะท้ายที่สุด ก็จะไปไม่รอด และล่มสลายลงอยู่ดี
2
📌 บททดสอบของจีนที่ท้าทายแนวคิดเชิงสถาบัน
1
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวของ Acemoglu อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญเติบโตได้เร็วที่สุดในโลก การหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจด้วยระบบตลาดที่ฝังความเป็นเอกลักษณ์ของจีน (Market Economy with Chinese Characteristics) ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จีนก้าวจากประเทศยากจนในทศวรรษ 1950 – 1970 มาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
1
และในที่นี้ ก็เชื่อว่าไม่มีใครมองว่าจีนเป็นประชาธิปไตยหรือมีสถาบันทางการเมืองที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนแต่อย่างใด จีนยังคงปกครองโดยผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือเช่นเคย เพียงแต่มีระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมมากยิ่งขึ้น แต่จีนก็ยังสร้างการเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Inclusive growth) และทำให้ชาวจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้
1
หากอธิบายแบบ Acemoglu ก็คงบอกว่าจีนก็คงเติบโตแบบนี้ไปได้อีกไม่นาน เช่นเดียวกับที่สหภาพโซเวียดเคยประสบมา เมื่อสถาบันทางเศรษฐกิจที่กดขี่ขูดรีดประชาชน ทำให้คนขาดแรงจูงใจ ไม่เกิดกระบวนการ Creative Destruction ไม่เกิดการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ จนทำให้เทคโนโลยีล้าหลัง และนำไปสู่ความล่มสลายในที่สุด
1
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้กำลังบอกเราว่า นั่นอาจไม่เป็นความจริง...
คุณค่าหนึ่งที่ชาวจีนทั้งชาติยกย่องเชิดชูมาตลอดก็คือประวัติศาสตร์ของจีนที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี ทำให้ชาวจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาและเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อย่างมาก
และสิ่งที่จีนได้เรียนรู้คือความล้มเหลวของทั้งสหภาพโซเวียด ทั้งประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ และทั้งประเทศทุนนิยมอีกด้วย
ดังนั้น ภาพของจีนที่เราได้เห็นทุกวันนี้ ไม่ใช่ภาพเดียวกับที่โลกมองเห็นสหภาพโซเวียด เมื่อ 50 ปีก่อนแน่นอน แม้จีนจะได้ยืนอยู่ในที่เดียวกับที่สหภาพโซเวียดเคยยืนก็ตาม
เพราะจีนทุกวันนี้กำลังพยายามผลักดันให้ตัวเองเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกนำหน้าสหรัฐฯ ให้ได้ เพราะจีนทราบดี ใครที่สามารถเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีก็สามารถกุมอำนาจเศรษฐกิจ และการเมืองของโลกเอาไว้ได้
1
นอกจากนี้ จีนก็ยังพยายามพลิกโฉมการคิดค้นเทคโนโลยีที่ต่างไปจากแนวทางเดิม จากที่เคยเน้นไปที่การก็อปปี้เทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกเป็นหลัก ก็เน้นไปที่การหันกลับมาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานของตัวเอง เพื่อให้สามารถต่อยอดไปเทคโนโลยีขั้นสูงได้ง่ายยิ่งขึ้น
บทสรุปของประเทศจีนในช่วงต่อจากนี้คงจะช่วยตอบคำถามสำคัญอันเป็นปริศนาของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายได้ หากเศรษฐกิจจีนหยุดชะงักลง และถึงจุดจบเหมือนเช่นสหภาพโซเวียด แนวคิดเชิงสถาบันที่ Acemoglu เสนอมาคงเป็นกุญแจชิ้นสำคัญของปริศนานี้ แต่หากจีนก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกได้สำเร็จ เหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์คงยังต้องกลับมาปวดหัวนั่งหาคำตอบสู่คำถามนี้ต่อไปเช่นเดิม...
1
#Why_Nation_Falls #จีน #สิงคโปร์ #เศรษฐกิจโลก
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Why Nations Fail? By Daron Acemoglu and James A. Robinson
1
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐศาสตร์
68 บันทึก
40
6
44
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
68
40
6
44
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย