18 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ "จีน" สู่จุดเริ่มต้นการเป็นโรงงานการผลิตของโลก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้สวมบทบาทสำคัญในการเป็นโรงงานการผลิตของโลก จากสภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีประชากรวัยแรงงานจำนวนมหาศาล ค่าจ้างแรงงานถูก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเจาะตลาดเอเชียได้โดยง่าย จึงทำให้บรรดาบริษัทต่างๆ ได้ย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในจีนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
"จีน" สู่จุดเริ่มต้นการเป็นโรงงานการผลิตของโลก
แต่ในปัจจุบัน ทุกสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อโรงงานการผลิตของโลกที่ว่านี้ ได้เผชิญกระแสตีทวนกลับ มีบริษัทจำนวนมากได้ทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ค่าแรงในจีนที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Bnomics จะชวนทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปเพื่อเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของการก้าวสู่การเป็นโรงงานการผลิตโลกของจีน และมองไปข้างหน้าถึงอนาคตที่กำลังจะมาถึง
📌 จากเศรษฐกิจสังคมนิยมรวมศูนย์ สู่ก้าวแรกของการเป็นโรงงานการผลิตโลก
เชื่อหรือไม่ หากย้อนเวลากลับไปสักราวๆ 50 - 60 ปีก่อน แล้วมองไปที่ประเทศจีน ภาพที่เราเห็นในวันนั้นจะไม่มีทางเหมือนที่เราเห็นในวันนี้อย่างแน่นอน ประเทศจีนในวันนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยตึกระฟ้า ไม่ได้มีนวัตกรรมที่โดดเด่น หรือไม่ได้เป็นผู้นำเทคโนโลยีอย่างที่เราเห็นในวันนี้
ประเทศจีนในวันนั้นเป็นประเทศที่ยากจน ประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในความยากลำบาก อาหารไม่พอกิน ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือระบบสาธารณสุขที่ดี
ปัจจัยสำคัญเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ค่อนข้างผิดพลาด โดยในช่วงหลังสงครามกลางเมืองของจีนสิ้นสุดลง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในวันที่ 1 ตุลาคม 1949
นโยบายที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อตุงนั้นเป็นนโยบายเศรษฐกิจรวมศูนย์เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบบสังคมนิยม ซึ่งนโยบายเหล่านี้ก็ได้นำพาประเทศก้าวเข้าสู่เส้นทางที่ผิดพลาดอย่างมาก เศรษฐกิจจีนไม่สามารถเติบโตได้ภายใต้ระบบสังคมนิยมซึ่งไม่มีแรงจูงใจให้กับคน
นอกจากนี้ นโยบายต่างๆ ที่ประกาศใช้ สร้างปัญหาถึงกับก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารขึ้น จนทำให้คนจีนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคน
ภาพของจีนในวันนั้นไม่มีความใกล้เคียงกับคำขนานนามที่ว่าเป็น “โรงงานการผลิตของโลก” หรือ World’s factory เลยแม้แต่น้อย
จุดเปลี่ยนสำคัญของจีนนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เมื่อประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการพลิกขั้วอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ขั้วอำนาจของฝั่งเติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดของจีนแทน
เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจ เขาได้พลิกโฉมเปลี่ยนนโยบายประเทศไปอย่างมาก จากแต่เดิมที่เป็นนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมรวมศูนย์ ก็ได้กลายเป็นการปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening Up) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ทั้งผ่านการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเสรี ไปจนถึงการปล่อยให้กลไกราคาทำงาน แทนการกำหนดราคาโดยภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนเกิดแรงจูงใจและช่วยหล่อลื่นให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปได้อย่างไหลลื่น
1
นโยบายการปฎิวัติและการเปิดประเทศ (Reform and Opening up)
หนึ่งในนโยบายสำคัญที่เป็นส่วนช่วยในการนำพาจีนเข้าสู่การเป็นโรงงานการผลิตของโลกนั้นอยู่ในส่วนของนโยบายการเปิดประเทศ (Opening Up) ซึ่งก็คือการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) ซึ่งประกอบไปด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen) จูไห่ (Zhuhai) และเซี่ยเหมิน (Xiamen)
โดยหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือว่าเติ้ง เสี่ยวผิงมองเห็นว่านอกเหนือจากกลไกราคาในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแล้ว เม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพของจีนได้
อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนประเทศจีนทั้งแผ่นดินให้เป็นเช่นนั้นถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะตลอดระยะเวลากว่าหลายสิบปีตั้งแต่ที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนก็ได้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาโดยตลอด
และการเปลี่ยนแปลงแบบฉุกละหุกเช่นนี้ ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ เพราะคิดว่าจีนตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลตะวันตกได้
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังสุภาษิตจีนที่ว่า ก้าวข้ามแม่น้ำทีละก้าวอย่างระมัดระวัง ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นขึ้น เพื่อทดลองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกตะวันตก เป็นพื้นที่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้อย่างเสรี ปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล
ผลก็คือโมเดลดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเช่น เมืองเซินเจิ้น ซึ่งอดีตเคยเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ก็สามารถดึงดูดการค้าการลงทุนจากเกาะฮ่องกงมาได้ มีบริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทเอกชนจีนและบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก จนทำให้ขนาดเศรษฐกิจของเมืองเซินเจิ้นเติบโตอย่างรวดเร็ว
1
เมืองเซินเจิ้น อนาคตของเศรษฐกิจจีน
ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 20 ปีหลังจากจีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ขนาดเศรษฐกิจจีนก็ได้เพิ่มขึ้นถึงราวๆ 7 เท่า ในขณะที่ช่วง 20 ปีก่อนหน้า ขนาดเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นแค่ 2 เท่าเพียงเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึงราวๆ 10 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว นับว่านโยบายดังกล่าวได้ช่วยปูทางจีนเข้าสู่ก้าวเป็นโรงงานการผลิตของโลกอย่างมาก
📌 จีนเข้าร่วม WTO ดาบสองคมของสหรัฐฯ
จุดเปลี่ยนสำคัญนั้นเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ได้เกิดแนวคิดที่มีการพูดคุยกันในวงการการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศว่า ควรมีการพิจารณาให้ประเทศจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรการค้าโลก หรือ WTO เนื่องจากประเทศจีนในขณะนั้นนับเป็นประเทศที่มีขนาดการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่มาก และคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตลก หาก WTO จะเรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรการค้าโลก ทั้งที่ไม่มีหนึ่งในประเทศที่มีขนาดการค้าระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดเป็นสมาชิกด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญที่ถูกหยิบยกมาในวงพูดคุยดังกล่าวยังประกอบไปด้วยว่า การให้ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จะเป็นการบีบบังคับให้จีนต้องปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เข้าเกณฑ์การเป็นสมาชิกให้ได้
อีกทั้ง เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเพื่อแผ่ขยายอำนาจนำของสหรัฐฯ ในระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (Liberal international order) ให้ได้ โดยในวงพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดี Bill Clinton ก็ได้ให้การสนับสนุนเหตุผลข้อนี้อย่างมาก โดยเขามองว่า การบังคับให้จีนเปิดเสรีการค้ายิ่งขึ้น เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ก็จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน และแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลงอย่างมาก และปรับจีนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่นในระเบียบโลกแบบเสรีนิยมแทน
Bill Clinton
ผลสุดท้ายก็คือ ว่าในช่วงตุลาคม ปี 2000 ประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ลงนามใน US-China Relations Act เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และต่อมา ในวันที่ 11 ธันวาคม 2001 ประเทศจีนก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมากลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่สหรัฐฯ คิดเอาไว้ ทั้งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและผลที่ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งก็คือการเปิดเสรีการค้าจีนมากขึ้น การอนุญาตให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ไม่ได้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือระบอบการปกครองของจีนสั่นคลอนแม้แต่น้อย
เพราะเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้ว ก็ทำให้จีนสามารถเข้าถึงตลาดการส่งออกที่ใหญ่ขึ้นมา ซึ่งทำให้การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้ก้าวไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก
เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดี ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็งขึ้นด้วย เพราะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี พึงพอใจกับผลงาน ดังที่เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวเอาไว้ว่าจีนนั้นมีกฎ 7% นั่นก็คือ ประเทศจีนจะต้องรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากกว่า 7% ต่อปีให้ได้ เพื่อให้ประชาชนชาวจีนพึงพอใจ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์การชุมนุมเช่นที่จตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีให้หลังที่จีนเข้าร่วม WTO มูลค่าการส่งออกของจีนเติบโตขึ้นจากแค่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2000 มาเป็นราวๆ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผลกระทบของการที่จีนเข้าร่วม WTO ยังเป็นดั่งดาบสองคมที่ทั้งให้คุณและโทษกับสหรัฐฯ มาจนถึงวันนี้อีกด้วย ประโยชน์ที่ว่านั่นก็คือผู้บริโภคชาวอเมริกันต่างได้ประโยชน์จากการเข้าถึงสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการสหรัฐฯ ทำให้บริษัทต่างๆ เร่งเข้าตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ทางการค้าอันมหาศาล จากผู้บริโภคชาวจีนและประเทศโดยรอบจำนวนหลายพันล้านคนอีกด้วย
แต่อย่างที่กล่าวไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ ผลร้ายที่เกิดขึ้นก็คือว่าบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้พ่ายแพ้ต่อสินค้าราคาถูก คุณภาพดี ที่ผลิตในจีนอย่างมาก อีกทั้ง โรงงานก็ย้ายออกไปจีนแทน จนทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ เสียประโยชน์อย่างมาก จนกลายเป็นปัญหามาถึงทุกวันนี้
นึกภาพอย่างเช่น โรงงานผลิต iPhone ของ Apple ก็ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน เป็นต้น ทั้งที่เป็นธุรกิจของอเมริกาแท้ๆ แต่แรงงานสหรัฐฯ ก็ต้องเสียงานให้กับแรงงานชาวจีน
📌 ขาลงของจีนในฐานะ “โรงงานการผลิตของโลก”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นกระแส Deglobalization เกิดขึ้น จนกระทั่งสหรัฐฯ ได้โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชูเรื่องการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และปกป้องแรงงานในประเทศขึ้นเป็นนโยบายหลัก จนทำให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
และแม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะได้ดำรงตำแหน่งเพียงแค่วาระเดียว และได้มีการเปลี่ยนผลัดอำนาจเข้าสู่ประธานาธิบดีจากพรรคขั้วตรงข้ามอย่าง โจ ไบเดน แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ถูกสานต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่าน จึงกล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างมากของจีนในฐานะ “โรงงานการผลิตโลก” เพราะปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ได้เข้ามาผสมปะปนจนทำให้ จีน กำลังเข้าสู่ขาลงของการเป็นโรงงานการผลิตโลก
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้น แนวโน้มค่าจ้างแรงงานในจีนที่ได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ ความไม่แน่นอนของการไม่กระจายความเสี่ยง ปล่อยให้โรงงานการผลิตอยู่ในจีนแต่เพียงอย่างเดียว จนทำให้มีปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานในวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นปัจจัยเร่งให้บริษัทต่างๆ ย้ายโรงงานการผลิตของตัวเองออกจากจีนกันเป็นส่วนใหญ่
หนึ่งในที่หมายสำคัญที่บริษัทเหล่านี้ได้ตัดสินใจย้ายไปก็คือเหล่าบรรดาประเทศในแถบเอเชียทั้งสิ้น ตามยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า China Plus One เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาเครือข่ายผู้ผลิตในแถบประเทศจีนอยู่ และยังมีความต้องการขายสินค้าให้กับตลาดจีนและเอเชียต่อไป
China Plus One Strategy การย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่ประเทศใกล้เคียง
แม้ว่าบทบาทของจีนในฐานะ “โรงงานการผลิตโลก” จะอยู่ในขาลงเช่นนี้ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังคาดการณ์ว่าประเทศจีนก็ยังคงทำหน้าที่เป็นโรงงานหลักของโลกไปอีกหลายปี
เหตุผลหนึ่งก็คือว่าเพราะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่จีนและเอเชีย (Pivot to Asia) แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพราะยังไม่มีประเทศไหนที่จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่ “โรงงานการผลิตของโลก” แทนจีนได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา