4 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ ตุรกี (Turkey) ประตูเชื่อมโลกยุโรปและเอเชีย
1
อีกหนึ่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจก็ คือ ประเทศตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ในแถบเอเชียกลาง ในพื้นที่บริเวณโบราณที่เรียกกันว่า Anatolia เป็นประตูที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าไว้ด้วยก่อน ทำให้เป็นดินแดนของผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หลายพันปี อีกทั้งยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น อาณาจักรไบแซนไทน์ และอาณาจักรออตโตมัน อันยิ่งใหญ่อีกด้วย
2
ด้วยเหตุนี้ วันนี้ Bnomics จึงขอชวนทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไป เพื่อทำความเข้าใจความเป็นมาของประเทศตุรกีกันครับ
5
📌 Anatolia ดินแดนโบราณ ประตูเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตก
พื้นที่อาณาบริเวณส่วนใหญ่ของประเทศตุรกี ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เรียกกันว่า Anatolia หรือ Asia Minor ซึ่งเป็นพื้นที่คาบสมุทรล้อมรอบโดยทะเลดำและทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่แถบบริเวณเอเชียกลาง เป็นดั่งประตูที่เชื่อมระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย
1
Anatolia หรือ Asia Minor
โดยพื้นที่ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ช่วงยุคหินเก่า โดยอารยธรรมแรกๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นบนบริเวณ Anatolia ก็คือ อารยธรรมของชาวฮัตไตในช่วงประมาณสองพันปีก่อนคริสตกาล ต่อมา เมื่ออารยธรรมของชาวฮัตไตเริ่มเสื่อมสลายลง ก็มีกลุ่มอารยธรรมใหม่ๆ เข้ามาแทนที่
และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของ Anatolia เองที่เป็นดั่งประตูเชื่อมสองทวีป ทำให้อารยธรรมต่างๆ ที่ย้ายเข้ามาตั้งรกราก จึงเป็นคนจากยุโรปบ้าง เอเชียบ้างคละกันไป
อย่างเช่น ในช่วงหนึ่ง ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอะคีเมนิดหรือจักรวรรดิเปอร์เซีย ในยุคสมัยของ Cyrus the Great หรือในช่วงต่อมา ก็ไปเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรมาซิดอนของกรีก ภายใต้การนำของ Alexander the Great
ต่อมา เมื่อเกิดเหตุพลิกผัน เกิดสงครามระหว่างกรีกโบราณและโรมันขึ้น จนกรีกโบราณพ่ายแพ้ในที่สุด ก็ทำให้ อานาโตเลียกลายมาอยู่ใต้อาณัติการปกครองของจักรวรรดิโรมันแทน
1
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 330 เมื่อ จักรวรรดิโรมัน นามว่า Constantine I กำลังจะขึ้นครองราชย์ แต่ในขณะนั้น มีปัญหาความขัดแย้งในจักรวรรดิโรมันมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาตัดสินใจทิ้งกรุงโรมและย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิโรมันที่เมืองไบแซนไทน์ที่ Anatolia นั่นเอง โดยแรกเริ่มเดิมที เขาได้ตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า Nova Roma หรือ New Rome
ภายหลังจากที่ Constantine I สิ้นพระชนม์ลง ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง Constantinople ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) เมื่ออาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายลง
2
Byzantine Empire
จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ได้เจริญรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยจุดยุทธศาสตร์สามารถควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญ อย่าง เส้นทางสายไหมโบราณ ที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเอาไว้ได้ จนทำให้แพร่ขยายอิทธิพลเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนไว้ได้หมด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์อีกด้วย
📌 กำเนิดจักรวรรดิออตโตมัน (The Rise of Ottoman Empire)
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ถึงอันล่มสลาย จากการที่จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มเติร์กใน Anatolia ได้เข้ายึดครอง และแผ่อิทธิพลเหนือพื้นที่ต่างๆ ใน Anatolia จนสุดท้าย สามารถตีเมือง Constantinople ได้สำเร็จ และเปลี่ยนเป็นกรุง Istanbul ศูนย์กลางการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันที่จะคงอยู่ยาวไปอีกหลายร้อยปี
ทั้งนี้ ในช่วงการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ศูนย์กลางศาสนาคริสต์อย่างเมือง Constaninople ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นศูนย์กลางสำคัญของศาสนาอิสลามแทน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงเห็นสถาปัตยกรรมที่คละกันระหว่างทั้งคริสต์และอิสลามในกรุงอิสตันบูลในปัจจุบัน
Hagia Sophia ณ​ เมืองอิสตันบูล
หลังจากนั้นสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันก็ได้แผ่อิทธิพลและเข้าครอบงำพื้นที่ต่างๆ จนทำให้จักรวรรดิออตโตมันมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่อย่างมาก ตั้งแต่แถบเมือง Budapest ไปจนถึงชายฝั่งของเมือง Tripoli และยาวไปจนถึงทะเลแดง
Ottoman Empire
ทั้งนี้ จักรวรรดิออตโตมันได้เติบโตจนก้าวไปถึงจุดรุ่งเรืองที่สุดในช่วงรัชสมัยของ Suleiman the Magnificent ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิมีทั้งความมั่งคั่ง ความมั่นคง และทั้งทรงอำนาจ
ในแง่มุมด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็นับได้ว่าการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจักรวรรดิออตโตมันก็ได้สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก หนึ่งในนั้นก็จากการที่แรกเริ่มเดิมทีจักรวรรดิออตโตมันตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป
เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้ามา ก็ได้เข้ามาตั้งอัตราภาษีสูงๆ เป็นค่าผ่านทาง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเส้นทางการค้าดังกล่าว
แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากไม่ต้องการเดินทางในเส้นทางสายไหมบกอีกต่อไป และหันไปเดินทางทางทะเลแทน
และต่อมา เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น มีการคิดค้นเรือจักรไอน้ำ (Steamship) แทนที่เรือใบ (Sailship) แบบเดิม รวมทั้งการขุดเจาะก่อสร้างคลองซูเอส (Suez Canal) ขึ้น จึงทำให้เส้นทางการค้าเปลี่ยนไป
จากที่แต่เดิม จะเดินทางจากยุโรปไปจีน ไปเอเชีย ก็ต้องล่องเรือไปทางแอฟริกาใต้ ผ่านแหลมกู๊ดโฮ้ป ซึ่งทำให้เสียเวลาอย่างมาก ก็ทำให้สามารถเดินทางเข้าทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนแทน ซึ่งก็ทำให้ท่าเรือของกรุงอิสตันบูล และเมืองต่างๆ โดยรอบของจักรวรรดิออตโตมัน ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล
แต่ในขณะที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุโรป ได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrialization) เศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันก็ดูจะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
เพราะเศรษฐกิจออตโตมันเป็นเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจเกษตรกรรม (Agrarian economy) และมีทั้งปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ทั้งแรงงานขาดแคลน และทุนที่อยู่ในระดับต่ำ และ
ในภาคอุตสาหกรรมเอง ก็ไม่ได้มีการผลิตระดับ Scale ใหญ่เช่นเดียวกับกรณีของอังกฤษ ที่จะทำให้เกิดแรงผลักดันให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิม
โดยระบบการผลิตของจักรวรรดิออตโตมันนั้นเป็นระบบการผลิตแบบ Guild หรืออยู่กันเป็นสมาคมอาชีพ เน้นงานฝีมือเป็นหลักมากกว่า
เป็นเหตุให้ เศรษฐกิจออตโตมันก็ตามหลังประเทศอื่นๆ และสูญเสียอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ พ่ายแพ้สงครามต่างๆ และเสียดินแดนจำนวนมากไป
📌 จุดจบของจักรวรรดิออตโตมัน และถือกำเนิดประเทศตุรกี (The End of the Ottoman Empire and the Rise of Turkey)
จนท้ายที่สุด ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันก็ได้เข้าร่วมกับทาง Central Powers ซึ่งก็ได้พ่ายแพ้สงคราม จนถึงจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมัน และทำให้แบ่งแยกออกมาเป็นประเทศมากมาย
และพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันอย่าง Anatolia ก็ได้ตกไปอยู่เป็นดินแดนของประเทศเกิดใหม่อย่าง ตุรกี
ทั้งนี้ เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตุรกีในช่วงราว 50 - 60 ปีให้หลัง ก็คงกล่าวได้ว่าเต็มไปด้วยวิกฤติ การเติบโตที่ต่ำ และความไม่แน่นอนที่สูง
โดยหลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันล่มสลายลง และประเทศตุรกีถือกำเนิดขึ้น ทุนเดิมของตุรกีไม่ได้ดีมากนัก จากที่ว่าทุนก็ค่อนข้างต่ำ เทคโนโลยีการเกษตรก็โบราณ และอุตสาหกรรมการผลิตก็ล้าหลังชาวบ้าน
แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวอีกครั้ง ผลผลิตการเกษตรเริ่มเติบโตได้ อุตสาหกรรมเริ่มมีการพัฒนา มีโรงงานรถยนต์ฟอร์ดของสหรัฐฯ มาตั้งฐานการผลิต
แต่ทว่า ตุรกีก็กลับโชคร้ายประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงต่อมา
และแม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจตุรกีก็ยังเผชิญกับปัญหาอีกจำนวนมาก เช่น วิกฤติดุลการชำระเงิน หรือวิกฤติน้ำมัน ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้น
จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจตุรกีนั้นเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 คล้ายๆ กับเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ซึ่งได้มีการยกเครื่อง ปฏิรูปครั้งใหญ่ ผ่านนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่
อย่างเช่น การยกเลิกนโยบายเดิมๆ อย่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมผ่านการทดแทนการนำเข้า (Import-substitution Industrialization) มาเป็นการลดอัตราภาษีนำเข้า เปิดการค้าเสรี (Liberalization of Free Trade) เพื่อก่อให้เกิด Export-led growth แทน
และแน่นอน นโยบายอื่นๆ ก็ไม่ได้ต่างจากประเทศส่วนใหญ่นัก ซึ่งก็คือ การลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน ตัดลดงบประมาณรัฐลง ซึ่งก็ได้สร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจตุรกีมากขึ้นในช่วงหลังจากนั้นมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เศรษฐกิจตุรกีก็ดูเหมือนกำลังประสบวิกฤติค่าเงินอีกครั้ง เมื่อเงิน Lira ของตุรกีได้อ่อนค่าถึงราว 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว
ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกีได้กดดันให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง (ทั้งออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะชนว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นดั่ง Mother and Father of All Evils และปลดผู้ว่าการธนาคารกลางโดยตรง) ซึ่งก็ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้ว พุ่งนอกเหนือการควบคุมไปมาก และก็ทำให้สกุลเงิน Lira อ่อนค่าไปมาก
บทสรุปของวิกฤติครั้งนี้ของตุรกี จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แต่คำตอบสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการปล่อยให้ธนาคารกลางของตุรกีได้ทำงานของตัวเองอย่างแท้จริงอยู่ดี…
#ตุรกี #จักรวรรดิออโตมัน #Anatolia #Byzantine #Ottoman_Empire
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Turkey A Short History by Norman Stone

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา