29 ธ.ค. 2021 เวลา 10:41 • คริปโทเคอร์เรนซี
“เงิน” นั้นมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นหน่วยวัดมูลค่า และเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า อย่างที่ทุกคนรู้กัน
แต่หากมองถึงบทบาทของเงินที่ลึกซึ้งลงไปมากกว่านั้น เงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมเจริญงอกงาม ทำให้มนุษย์พัฒนาอารยธรรม และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยครับ
1
ผมคิดว่าบทนี้คือหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบทที่อธิบายถึงความสำคัญของเงินที่มั่นคง (Sound money) ต่อพัฒนาการของมนุษยชาติ ผ่านเรื่องของ “ความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น” (Time preference)
Time preference คือ อัตราส่วนความสำคัญระหว่างการได้รับผลตอบแทนในปัจจุบัน เทียบกับการรอรับผลตอบแทนในอนาคต และในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าเสมอ
1
หากถามว่าอยากได้เงิน 1 ล้านบาทในวันนี้ กับ 1 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากได้ในวันนี้ การจะให้รอไปอีก 3 ปี ก็ย่อมต้องได้รับเงินที่มากขึ้นให้คุ้มค่ากับการรอ
ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จะได้รับในวันนี้ กับสิ่งที่จะได้รับในอนาคตในกรณีที่ยินดีจะรอ คือสิ่งที่กำหนดค่า Time preference ของแต่ละคนนั่นเอง
มนุษย์ต่างก็มีระดับของ Time preference ต่างกันไป ซึ่ง Time preference นี่แหละที่เป็นสิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลต่อชีวิตในอนาคตของเขา
Time preference เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินอย่างไร และมันส่งผลกระทบอย่างไรต่อความเจริญรุ่งเรื่อง ทั้งในระดับบุคคล สังคม และอารยธรรมของมนุษยชาติ ไปทำความเข้าใจกันในบทความนี้ครับ
1
📌Concept ของ Time preference
Time preference คือความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น หากระดับ Time preference สูง หมายความว่าสนใจปัจจุบันมาก โดยไม่คิดถึงอนาคต กลับกัน หากระดับ Time preference ต่ำ นั่นคือมีการคิดถึงอนาคต โดยยินดีที่จะสละอะไรบางอย่างในปัจจุบันได้
มนุษย์นั้นมีระดับ Time preference ต่ำกว่าสัตว์มาก สัตว์ส่วนใหญ่จะตอบสนองความต้องการชั่วขณะนั้น ตามสัญชาตญาณของมัน ส่วนมนุษย์สามารถควบคุมสัญชาตญาณได้ดีกว่า สามารถคิดถึงอนาคตได้ไกลกว่า
แทนที่เราจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการล่าเหยื่อ เราสามารถเอาเวลาส่วนหนึ่งไปคิดค้นอุปกรณ์ในการล่า เพื่อล่าเหยื่อให้ได้มากขึ้นในอนาคต
นี่คือการลงทุน มนุษย์สามารถชะลอการบริโภคตรงหน้า เพื่อเอาเวลาและทรัพยากรไปสร้างสินค้าประเภททุน (Capital goods) เพื่อเพิ่มภูมิปัญญาและความสามารถในการผลิต นี่คือ “Process of civilization”
1
สมมติว่า A กับ B เป็นชาวประมงทั้งคู่ A เป็นคนที่มีระดับ Time preference สูงกว่า B มาก ในแต่ละวัน A เอาแต่จับปลาด้วยมือเปล่า ส่วน B นั้นยอมจับปลาได้น้อยกว่าในช่วงแรก เพื่อเอาเวลาส่วนหนึ่งไปสร้างเบ็ดตกปลา
4
เมื่อเวาลาผ่านไป B สามารถใช้เบ็ดตกปลาหาปลาได้มากกว่า A เขาจึงเอาเวลาส่วนที่เหลือไปสร้างสินค้าประเภททุนต่อไป ทั้งเรือจับปลา แหจับปลา เพื่อให้จับปลาได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น ในเวลาที่น้อยลง
1
A จะมีวิถีชีวิตไม่ต่างจากเดิม ส่วน B มีคุณภาพชีวิตที่ยอดเยี่ยมกว่ามาก และลูกหลานของ A กับ B ก็จะยิ่งมีคุณภาพชีวิตต่างกันไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เกิดจากความแตกต่างของระดับ Time preference
2
อีกกรณีหนึ่งคือการทดลงมาร์ชเมลโลวอันโด่งดัง การทดลองที่ให้เด็กเลือกกินมาร์ชเมลโลวตรงหน้า หรือเลือกรอเพื่อที่จะได้มาร์ชเมลโลวมากขึ้น
เมื่อติดตามชีวิตของเด็กไปนานๆ ก็พบความสัมพันธ์ทางสถิติว่า เด็กที่รอได้เก่งกว่า (ระดับ Time preference ต่ำ) จะมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการศึกษามากกว่า
1
โดยทั่วไปคนจะเข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์ คือการศึกษาเกี่ยวกับคนที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แต่มันยังประกอบด้วย การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกับตัวเองในอนาคตด้วย
การตัดสินใจเพื่อตัวเองในอนาคตนั้น เป็นผลมาจากระดับ Time preference ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เก็บออม vs ใช้เงิน, อ่านหนังสือ vs ออกไปเที่ยว, พัฒนาความสามารถ vs ทำงานไปวันๆ
1
การตัดสินใจจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิตเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตในอนาคตมากกว่าปัจจัยอื่นใด และมีเพียงคนที่สามารถลดระดับ Time preference ลงให้ต่ำเท่านั้น ที่จะสามารถลงทุนระยะยาวเพื่อให้ความสำคัญกับอนาคตได้
1
หากมองในภาพใหญ่ สังคมที่มีระดับ Time preference ต่ำ คือสังคมที่คิดถึงอนาคต ให้ความสำคัญกับการสั่งสมทุนทรัพย์ เพื่อให้ผลผลิตมากขึ้นไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สังคมที่สามารถส่งต่ออนาคตที่ดีขึ้นเรื่อยๆไปสู่ลูกหลานได้ คือสังคมที่มีอารยะ
เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้คนจะเริ่มมองหาแง่มุมที่ลึกซึ้งของชีวิตมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสังคมจะแน่นแฟ้น ศิลปะจะเฟื่องฟู ผู้คนจะสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ให้สังคม และค้นหาความหมายที่สูงส่งกว่าตนเอง
นี่คือการก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นของ Marshlow’s hierachy of needs เมื่อ Basic need และ Safety need ถูกเติมเต็มแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับ Time preference ของสังคมมากที่สุด นั่นคือมูลค่าของเงินในอนาคต เงินที่สามารถเก็บรักษามูลค่าผ่านกาลเวลาได้ดี จะทำให้ผู้คนเก็บออม ลงทุนระยะยาว เพื่อสั่งสมทุนทรัพย์ได้ เงินแบบนั้นจะทำให้ระดับ Time preference ต่ำลง
แต่ในยุคเงินเฟ้อนิยม (Inflationism) ในปัจจุบัน เงินถูกทำให้เสื่อมค่าลงตลอดเวลา เงินนั้นเน่าเสียและไม่สามารถเก็บมูลค่าได้
ผู้คนต่างมีระดับ Time preference สูงขึ้น ไม่ชะลอการบริโภคเพราะกลัวเงินหมดค่าในอนาคต ไม่ลงทุนระยะยาวเพราะกลัวความไม่แน่นอน
สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไม่มีการสั่งสมทุนทรัพย์ ไม่เกิดการพัฒนา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมอารยธรรมจึงเสื่อมลง เมื่อเงินถูกทำให้เสื่อมค่าลง
📌สิทธิ์ในการเก็บออมที่ถูกลิดรอน
เงินที่เสื่อมค่าลงตลอดเวลา โดยธรรมชาติแล้วมันส่งผลให้คนไม่เก็บออมเพื่ออนาคต มันกระตุ้นให้ผู้คนเลือกที่จะใช้เงินตอนนี้เลยมากกว่า
ในด้านการลงทุน เมื่อเงินไม่มั่นคง ผู้คนก็จำเป็นต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงเพื่อเอาชนะอัตราการเสื่อมมูลค่าของเงินนั้น ผู้คนจำเป็นต้องรับความเสี่ยงท่ีสูง เพียงเพื่อที่จะรักษามูลค่าที่แท้จริงของเงินนั้นไว้ให้ได้
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอุปทานของเงินนั้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลง เป็นการลดแรงจูงใจในการออม ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมอย่างบ้าคลั่งด้วย
มีการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 1970 จนถึง 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราใช้เงิน Fiat money อย่างเป็นทางการ เห็นได้ชัดเลยว่าอัตราการเก็บออมของผู้คนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศกลุ่ม OECD ทั้งเจ็ดมีอัตราการออมลดลงจาก 12.66% เหลือเพียง 3.39% ในขณะที่หนี้สินกลับโตอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉลี่ยหนี้สินครัวเรือนสูงกว่า 100% ของรายได้ทั้งปี ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศก็สูงกว่า GDP หลายเท่าเป็นเรื่องปกติ
นี่คือผลของแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนเซียน ที่มองว่าการเก็บออมคือผู้ร้าย ส่วนการใช้จ่าย การกู้ยืม และการพิมพ์เงิน คือพระเอกของระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งที่จริงแล้ว การเก็บออมน้อยและการกู้หนี้ยืมสินเยอะนี้ คือการทำให้ตัวเราในอนาคตต้องเจอกับหายนะ เป็นการกระทำที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอนาคต เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงระดับ Time preference ที่สูงทะลุฟ้า
1
การสร้างหนี้คือสิ่งตรงข้ามกับการเก็บออม คนรุ่นใหม่ยุคนี้เกิดมาพร้อมกับหนี้สินล้นตัวและทุนทรัพย์น้อยกว่าคนยุคก่อน ต้องทนทำงานเพื่อจ่ายดอกเบี้ย การเก็บออมตั้งตัวแทบจะเป็นปาฏิหารย์ คุณภาพชีวิตของคนรุ่นหลังก็ต่ำลงเรื่อยๆ
เงินตรารัฐบาลในยุคนี้ยังทำให้ระดับ Time preference ของประเทศชาติสูงขึ้นด้วย เพราะเงินนั้นถูกควบคุมโดยนักการเมืองที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเพียงไม่กี่ปี และดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาต่ออีกในสมัยหน้า
นโยบายต่างๆจึงเป็นไปในเชิงการหาเสียงมากกว่าการสั่งสมทุนทรัพย์ของประเทศ นโยบายสวัสดิการต่างๆ ทั้งๆที่นโยบายการเรียนฟรี ที่อยู่อาศัยฟรี รักษาฟรีเหล่านั้น เป็นการแจกเศษอาหารที่เกิดจากอำนาจในการผลิตเงิน
1
นี่คือกระบวนการขูดรีดประชาชนโดยการทำให้เงินเสื่อมค่า โดยแสร้งทำตัวเป็นฮีโร่ผู้ช่วยเหลือประชาชน เพียงเพื่อที่จะได้อยู่ในอำนาจต่อไป ทั้งๆที่สิทธิ์ในการเก็บออมนั้นควรจะเป็นของประชาชนตั้งแต่ต้น
📌Zero to One vs. One to Many
ระดับ Time preference เป็นสิ่งที่กำหนดความสามารถในการคำนึงถึงอนาคต หากมองมิติของการลงทุนในโครงการต่างๆในระยะยาวแล้ว เรื่องนี้ก็มีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่
สังคมที่มีระดับ Time preference ต่ำ มีแนวโน้มที่จะสามารถลงทุนในโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการคืนทุนได้ ส่งผลให้นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่เกิดได้ง่ายกว่า
มีการรวบรวมรายการนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญของมนุษยชาติจำนวน 8,583 รายการ เริ่มตั้งแต่ช่วงยุคมืดจนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณนวัตกรรมต่อจำนวนประชากรนั้นมีค่าสูงสุดช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคมาตรฐานทองคำ
ไม่เกินจริงเลยหากจะกล่าวว่ายุค Gold standard ช่วงก่อนปี 1914 โลกมีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นในรูปแบบ “Zero to One” หรือการริเริ่มจากศูนย์จริงๆ
3
ส่วนในศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่นวัตกรรมเกิดจากการต่อยอด ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้แพร่หลายมากขึ้น เป็นการพัฒนาแบบ “One to Many”
ขั้นตอน Zero to One นั้นคือขั้นที่สำคัญที่สุดในการสร้างนวัตกรรม และกล่าวได้ว่านวัตกรรมที่สำคัญของโลกส่วนใหญ่นั้นถูกคิดค้นในช่วงศตวรรษที่ 19 บนพื้นฐานของเงินที่มั่นคง
ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้แก่ ระบบประปา ระบบสุขาภิบาล ไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาป รถยนต์ เครื่องบิน ลิฟท์ การผ่าตัดหัวใจ ปลูกถ่ายอวัยวะ รังสีบำบัด โทรศัพท์ ภาพถ่ายสี ฯลฯ
📌ความเฟื่องฟูทางศิลปะ
ผลกระทบของเงินที่มั่นคงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงวงการศิลปะด้วย ช่วงเฟื่องฟูของศิลปะอย่างในยุคเรเนซองส์ ล้วนเกิดจากการใช้เงินที่มั่นคงทั้งสิ้น
ศิลปะสำนัก Baroque, Neoclassic, Romantic, Realistic, Post-impressionistic ล้วนได้รับเงินทุนจากเศรษฐีผู้ถือเงินมั่นคงและมีระดับ Time preference ต่ำ
ผู้ถือเงินมั่นคงเหล่านี้มีความอดทนมากพอที่จะรอนานๆ เพื่อให้ศิลปินบรรจงสร้างผลงานชิ้นเอกที่จะเป็นที่เล่าขานต่อไปอีกเป็นศตวรรษ
หนทางเดียวที่ศิลปินจะเกิดได้คือการตรากตรำ ฝึกฝน เพื่อสร้างผลงานศิลปะอันสมบูรณ์แบบที่จะมีชื่อเสียงอยู่ไปอย่างเป็นอมตะ
ผลงานทางดนตรีของบาค บีโทเฟน โมสาร์ท ล้วนอยู่เหนือระดับเมื่อเทียบกับดนตรีสมัยใหม่ ที่ค่ายดนตรีผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อแสวงหาผลกำไรจากการขายเพลง เพื่อการตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าไปวันๆ
เมื่อเงินที่มั่นคงถูกแทนที่ด้วยเงินรัฐบาล เหล่าเศรษฐีผู้อุปถัมภ์งานศิลปะที่มีระดับ Time preference ต่ำและรสนิยมสูง ก็ถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่ไร้รสนิยม
ศิลปินที่จะเกิดได้ในยุคนี้จึงไม่ใช่อัจฉริยะผู้ผ่านการขัดเกลาฝีมือมาอย่างยอดเยี่ยม แต่เป็นเพียงศิลปินหยาบกระด้างที่ถนัดการฉวยโอกาสเติบโตขึ้นมาในระบบราชการ และฉลาดพอที่จะหาโอกาสหลอกเอาเงินจากผู้มีอำนาจที่อยากมีหน้ามีตาในโลกศิลปะ
ในขณะที่ผลงานขยะเฟื่องฟูสุดขีด แต่ผลงานศิลปะชิ้นเอกที่เทียบได้กับผลงานยุครุ่งเรืองของศิลปะนั้นมีให้เห็นน้อยลงทุกที ทั้งๆที่เทคโนโลยีในปัจจุบันควรจะยิ่งทำให้การผลิตผลงานดีๆเป็นเรื่องง่ายดายขึ้นมาก
1
รสนิยมทางศิลปะของผู้คนก็ตกต่ำลงเช่นกัน มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการเอาวัตถุไร้สาระไปแอบวางในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ แล้วมันก็ได้รับการชื่นชมอย่างท่วมท้นอย่างไม่น่าเชื่อ
นี่คือยุคแห่งความกลวงเปล่าทางศิลปะ เป็นยุคที่เราอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมและความปราณีตกว่าบรรพบุรุษอย่างมาก
เงินที่ไม่มั่นคงนั้นทำร้ายโลกสมัยใหม่มายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ทั้งในเรื่องพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาการทางศิลปะ การสั่งสมทุนทรัพย์ของสังคม คุณภาพชีวิตของผู้คน ก็ถูกกดให้ตกต่ำลงเรื่อยมา
เมื่อลองมองค่าเสียโอกาสของมนุษยชาติ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Fiat money นั้นทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาอารยธรรมไปอย่างมหาศาล และเราคงได้แต่จินตนาการว่า ถ้าหากว่าเรามีเงินที่มั่นคง โลกทุกวันนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน
นี่คือความสำคัญของเงินที่มั่นคง นี่คือหัวใจสำคัญของ Bitcoin ดังที่ชาว Bitcoiner ชอบพูดกันว่า “Fix the money, fix the world” มันเป็นข้อความที่ไม่เกินจริงเลย
1
บทหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของเงินที่มั่นคง ต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นอีกบทหนึ่งที่สำคัญมากของหนังสือเล่มนี้ รอติดตามกันต่อไปนะครับ
1
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา