Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wealth being
•
ติดตาม
21 ธ.ค. 2021 เวลา 10:43 • คริปโทเคอร์เรนซี
เงินเหรียญโลหะ เป็นเงินที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา โดยหลักๆคือ ทองคำกับแร่เงิน
1
เงินเหรียญโลหะเหล่านี้มีความเป็นเอกภาพมากกว่าเงินโบราณอย่างเปลือกหอยหรือหิน มันจึงเป็นหน่วยวัดมูลค่าที่ดีขึ้นมาก
และด้วยความที่มันมีมูลค่าต่อน้ำหนักสูง ทำให้มันถูกพกพาไปใช้ในการแลกเปลี่ยนได้สะดวก และเนื่องจากการผลิตโลหะเหล่านี้ก็เป็นเรื่องยาก มันจึงสามารถเก็บรักษามูลค่าผ่านกาลเวลาได้ดี
แม้ว่าเหรียญโลหะนี้จะเป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้น ก็มีบางสังคมที่ใช้มันมาก่อนด้วย มันเป็นเงินที่ดีจนทำให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ สังคมที่ว่านี้คือ จักรวรรดิโรมันนั่นเอง
บทความนี้จะมาไล่เรียงบทบาทของเงินเหรียญโลหะ โดยเฉพาะทองคำ ผ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโรมัน ยุคมืด ยุคเรเนซองส์ จนมาถึงยุค Gold standard ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
📌เรื่องของเงินและทอง
🥇ทองคำ : เป็นเวลาหลายพันปีตลอดประวัติศาสตร์ ทองคำถูกใช้เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่มั่นคงของมนุษย์มาเสมอ
ทองคำมีคุณสมบัติพิเศษอยู่ 2 อย่างที่ทำให้มันเป็นผู้ชนะในเรื่องนี้ 1.เสถียรภาพทางเคมีที่สูงมากทำให้มันแข็งแกร่งคงทน และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกทำลาย 2.ทองคำไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ การผลิตทองต้องมาจากการขุดเหมืองอย่างยากลำบากเท่านั้น
เมื่อมันถูกทำลายยาก ทำให้มันอยู่ยง ทองคำที่ถูกผลิตมาตลอดหลายพันปียังคงอยู่ในความครอบครองของมนุษย์มาเสมอ ไม่มีการใช้อุปโภคบริโภค ไม่มีการผุพังหรือขึ้นสนิมเลย ส่งผลให้ทองคำมี “Stock” สูงมาก
และการที่มันผลิตใหม่ได้ยาก จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาล ทั้งในเรื่องเครื่องมือการขุดเหมือง แรงงาน เวลา และยังมีความไม่แน่นอนอีกมากมาย แม้กระทั่งปัจจุบัน อัตราการเพิ่มของอุปทานทองคำก็อยู่ที่ประมาณ 1.5%-2% ต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้ทองคำมี “Flow” ต่ำมาก
ทองคำเป็นสิ่งที่มีค่า Stock-to-flow สูงที่สุดในบรรดาสินค้าทุกชนิด มันจึงเป็นเงินที่มั่นคง เป็นแหล่งเก็บมูลค่าผ่านกาลเวลาที่ดีที่สุด แม้ในยุคเงินตรารัฐบาลในปัจจุบัน รัฐบาลและธนาคารกลางเองก็ยังเก็บทองคำไว้ในคลังสำรองกันอยู่
🥈แร่เงิน : เงิน เป็นสินค้าที่มีค่า Stock-to-flow สูงเป็นอันดับสองรองจากทองคำ มันมีการผุกร่อน และถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมบ้าง ทำให้ Stock ลดลง และมันยังสกัดได้ง่ายกว่าทองคำ ทำให้ Flow สูงกว่า ปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มของอุปทานประมาณ 10%-20% ต่อปี
บทบาทสำคัญของแร่เงินคือ การที่มันถูกใช้ในการทำธุรกรรมขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับทองคำ เพราะทองคำมีมูลค่าสูงมาก จึงแบ่งเป็นหน่วยเล็กได้ยาก แร่เงินจึงมีบทบาทเหมือนพระรอง ในเรื่องราวประวัติศาสตร์การเงิน
📌เงินและทองในยุคโรมัน
เหรียญโลหะที่ใช้กันในอาณาจักรโรมันมี 2 ประเภท 1.เดนาเรียส (Denarius) เป็นเหรียญเงิน มีส่วนประกอบของแร่เงินอยู่ 3.9 กรัม และ 2.ออเรียส (Aureus) เหรียญทอง มีทองคำเป็นส่วนประกอบอยู่ 8 กรัม
ทั้งสองเหรียญนี้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับไปทั่วยุโรปและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้ตลาดขยายใหญ่ การค้าเจริญรุ่งเรืองมาก และทำให้โรมันเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น
โรมันสามารถขยายอาณาจักรไปได้เรื่อยๆ สามารถยึดดินแดนและความมั่งคั่งจากเมืองอื่น จักรพรรดิ เหล่าขุนนางและทหารต่างเสวยสุขจากเงินและอำนาจได้อย่างไม่จบสิ้น
และเพื่อให้ประชาชนไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน เหล่าผู้มีอำนาจก็ต้องโยนเศษอาหารเหลือมาให้ด้วยเช่นกัน ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ทั้งการคุมราคาวัตถุดิบ การแจกเงินหรืออาหารฟรี
ชาวบ้านและชาวนาเริ่มทิ้งที่ดิน เพื่อมาแสวงหาโอกาสในกรุงโรม เพราะการมาอยู่ใกล้ปากท่อของการแจกเงินนั้นน่าดึงดูดกว่าการสร้างผลผลิต
เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของเหล่าผู้มีอำนาจ และเหล่าประชาชนที่ไม่ได้สร้างผลผลิตที่อยู่ภายใต้การดูแลของจักรพรรดิ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มจะพัง ราคาสินค้าเริ่มสูงขึ้น
จักรพรรดิแนโร (Nero) ในยุคนั้นเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยการควบคุมราคาและการ “ลดค่าเงิน” โดยการยึดเงินจากประชาชนและผลิตเงินใหม่โดยลดปริมาณของแร่เงินและทองลง ซึ่งส่งผลเหมือนการพิมพ์เงินที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้
เหรียญออเรียสมีทองคำลดลงเหลือ 7.2 กรัม และเหรียญเดนาเรียสมีแร่เงินลดลงเหลือ 3.41 กรัม การกระทำนี้ทำให้เศรษฐกิจดูดีขึ้นชั่วคราว แต่มันเป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรของหายนะ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การควบคุมราคา การลดค่าเงิน และระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ก็เกิดวนเวียนไปเรื่อยๆ ปริมาณทองคำเริ่มลดลงเหลือ 6.5 กรัม 5.5กรัม และ 4.5 กรัม ในช่วง ค.ศ. 284-305 ส่วนเหรียญเดนาเรียสนั้นแทบจะหมดค่าไปเลยทีเดียว และในที่สุด มันก็นำมาซึ่งจุดจบของจักรวรรดิโรมัน
การพยายามควบคุมทั้งราคาสินค้า อัตราค่าจ้าง และค่าเงินนั้น เป็นการฝืนธรรมชาติของเศรษฐกิจ ทำให้มันต้องถึงจุดจบเข้าในสักวัน อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อมาก็ได้มีจักรพรรดิองค์ใหม่ที่ดูจะเข้าใจเศรษฐศาสตร์มากกว่า มาฟื้นฟูสังคมกลับสู่ความรุ่งเรือง บนพื้นฐานของเงินที่มั่นคง
พระเจ้าคอนสแตนติน (Constantine) ขึ้นครองราชย์ และได้กำหนดเงินใหม่ชื่อว่าโซลิดัส (Solidus) โดยมีทองคำ 4.5 กรัม และจะไม่มีการตัดทอนหรือลดค่าลงอีกเด็ดขาด
ในตอนนั้นคอนสแตนตินได้ย้ายเมืองหลวงไปสู่เมืองคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคือ Istanbul) และอาณาจักรไบแซนไทน์ก็รุ่งเรืองต่อไปอีกกว่าพันปี ในขณะที่กรุงโรมเสื่อมถอยและล่มสลายลงในที่สุด
📌จากยุคมืดสู่เรเนซองส์
หลังการล่มสลายของโรมัน รูปแบบการปกครองหลักของสังคมคือระบบเจ้าขุนมูลนาย ในตอนนั้นเรียกได้ว่าผู้มีอำนาจครอบครองเกือบทุกอย่าง ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นทาส
2
ทองคำส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในมือของเหล่าเจ้าขุนมูลนาย ส่วนประชาชนต้องใช้ทองแดง หรือทองสัมฤทธิ์ที่มีศักยภาพด้อยกว่า นอกจากนี้ภาษีและเงินเฟ้อทำให้ประชาชนเก็บความมั่งคั่งและสร้างตัวไม่ได้
2
ชาวยุโรปยุคนั้นเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีทรัพย์สินติดตัว ทำให้ต้องทำงานและรับใช้ผู้มีอำนาจ
2
สภาพสังคมในยุคนั้นก็เสื่อมทราม ชนชั้นทางสังคมถูกแบ่งชัด มีการปิดกั้นทางความคิดและการศึกษา การกดขี่ทางศาสนา ซึ่งในภายหลังเราจะรู้จักช่วงเวลานี้ว่า “ยุคมืด” นั่นเอง
2
จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเริ่มที่กรุงฟลอเรนซ์ (Florence) ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของยุคเรเนซองส์ เมื่อมีการสร้างเหรียญฟลอริน (Florin) ขึ้นมาในปี 1252 ซึ่งถือเป็นเงินที่มั่นคงสกุลแรก หลังจากเหรียญออเรียสในยุคโรมัน
2
กรุงฟลอเรนซ์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป ระบบธนาคารของฟลอเรนซ์ขยายไปทั่วยุโรป และเหรียญฟลอรินก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
2
หลังจากนั้นนครรัฐต่างๆก็เริ่มใช้เงินในลักษณะเดียวกับฟลอริน เวนิสใช้เหรียญชื่อว่าดักแอต (Ducat) และกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป และจากนั้นกว่า 150 เมืองก็ทำตาม โลกก้าวเข้าสู่ยุคเรเนซองส์ (Reneissance) อย่างสมบูรณ์
ชาวนาชาวไร่สามารถปลดแอกทางเศรษฐกิจ สามารถค้าขายทำธุรกิจได้อย่างสมศักดิ์ศรี เก็บออมความมั่งคั่งสู่ลูกหลานได้ ความเจริญทางเศรษฐกิจทำให้พัฒนาการด้านอื่นฟื้นฟูขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็นกรุงโรม คอนสแตนติโนเปิล ฟลอเรนซ์ หรือเวนิส ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้บนพื้นฐานของเงินที่มั่นคง ส่วนในยุคที่เงินไม่มั่นคงอย่างปลายยุคโรมันและยุคมืด สังคมก็ต้องพบกับความเสื่อมทราม ป่าเถื่อน และในที่สุดก็ต้องล่มสลายไป
📌รอบชิงชนะเลิศ เงิน vs ทอง
ในยุคต่อมา เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่ส่งผลอย่างมหาศาลคือ ระบบโทรเลข
โทรเลขทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างธนาคารต่างๆง่ายขึ้นมาก การทำธุรกรรมทางไกลจึงเริ่มใช้การหักมูลค่าทางบัญชี แทนการส่งมอบเงินจริงๆทางกายภาพ
สิ่งนี้ทำให้เช็ค ธนบัตร ใบแจ้งหนี้ เริ่มเป็นตัวกลางทางการเงิน แทนเหรียญเงินเหรียญทองที่จับต้องได้
หลายประเทศเริ่มใช้มาตรฐานธนบัตร ซึ่งมีสถานะเป็นใบแทนเหรียญเงินเหรียญทอง สามารถนำมาแลกกลับเป็นเงินหรือทองได้ตามมูลค่าที่ฝากไว้ ส่วนเงินและทองจริงๆก็ถูกเก็บไว้อย่างดีในห้องนิรภัยของธนาคาร
ธนบัตร เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ตราบใดที่มูลค่ามันผูกกับทองคำ มันก็เป็นเงินที่ยอดเยี่ยม มันช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Salability across space/scale ให้ทองคำอย่างมาก
ผู้คนเริ่มเก็บทองคำไว้ในธนาคาร ในขณะที่ใช้ธนบัตรในการทำธุรกรรมขนาดเล็กทั่วไป สิ่งนี้ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แร่เงินอีกต่อไป มันกำลังถูกลดบทบาทลงอย่างมาก
ในตอนนั้นบางประเทศเลือกเก็บทองคำเป็นหลัก ในขณะที่บางประเทศเก็บแร่เงินเป็นหลัก ซึ่งการเลือกแหล่งเก็บมูลค่าที่ต่างกันนี้ ได้นำพาไปสู่ชะตากรรมของประเทศในระยะยาว
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกๆที่ใช้ระบบมาตรฐานทองคำสมัยใหม่ (Gold standard) ซึ่งทำให้อังกฤษสามารถผลักดันการค้าให้ยิ่งใหญ่ครอบคลุมไปทั้งโลก ประเทศอื่นๆในยุโรปก็เริ่มใช้ตามๆกันมา และเมื่ออุปสงค์ของทองคำสูงขึ้นเรื่อยๆ มันก็ยิ่งทำให้ทั้งโลกอยากถือทองคำ
เมื่อถึงจุดหนึ่ง โลกเข้าสู่มาตรฐานทองคำโดยสมบูรณ์ มูลค่าของแร่เงินก็ลดลงอย่างรุนแรง ประเทศที่เลือกเก็บแร่เงินในคลังก็ต้องเผชิญกับผลกระทบอันเจ็บปวด
จีนและอินเดีย เป็น 2 ประเทศใหญ่ที่เลือกเก็บแร่เงินเป็นหลัก เงินทุนและความมั่งคั่งของทั้งสองประเทศถูกทำลายลงไปกว่าครึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกหน้าที่ของแร่เงินนี้ส่งผลให้จีนและอินเดียมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจตามหลังชาติตะวันตกแบบไม่เห็นฝุ่น
📌Gold standard และ จุดตายของทองคำ
ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงพีคของมาตรฐานทองคำ เรียกได้ว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ส่งผลให้เกิดการค้า การระดมทุนในระดับโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
2
สกุลเงินต่างๆ นั้นต่างกันเพียงน้ำหนักของทองคำที่ใช้ มันสามารถแปลงไปมาผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ เพราะมันก็คือทองเหมือนกันหมด เหมือนการเปลี่ยนหน่วยจากเซนติเมตรเป็นเมตร
เงินปอนด์มีทองคำ 7.3 กรัม เงินฟรังก์ฝรั่งเศสมีทองคำ 0.29 กรัม อัตราแลกเปลี่ยนปอนด์/ฟรังก์ จะคงที่เท่ากับ 7.3/0.29 = 25.2 เสมอ
หน่วยวัดมูลค่าที่เป็นสากลนี้ทำให้ตลาดขยายขนาดได้ทั่วโลก การค้าเสรีเฟื่องฟู เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เป็นไปตามกลไกธรรมชาติของตลาดเสรี
การเก็บออมสะสมความมั่งคั่งของคนในสังคมก็สูงขึ้น เกิดการสะสมกำลังทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม นวัตกรรมใหม่ๆถูกสร้างสรรค์ขึ้นมามากมาย ศิลปะก็เจริญงอกงาม ยุคสมัยนี้ถูกเรียกว่า La Belle E’poque หรือยุคสมัยอันสวยงามทั่วยุโรปนั่นเอง
ทองคำนั้นเป็นพระเอกคนสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองนี้ แต่จุดอ่อนที่ร้ายแรงที่สุดของมาตรฐานทองคำก็คือ การที่ทองคำต้องถูกรวมศูนย์เอาไว้ภายใต้การดูแลของรัฐนี่เอง
มันต้องอาศัยความเชื่อใจว่าผู้มีอำนาจจะไม่นำพามาตรฐานทองคำไปในทางที่ผิด แต่มนุษย์ที่มีอำนาจนั้นย่อมไม่อาจต้านทานความเย้ายวนของอำนาจนั้นได้
เมื่อทองคำอยู่ภายใต้การควบคุม โดยมีธนบัตรเป็นใบแทนทองคำ เหล่าผู้มีอำนาจสามารถพิมพ์ธนบัตรมากเกินปริมาณทองคำที่มีอยู่ได้ ตราบใดที่คนยังเชื่อมั่นในธนบัตรเหล่านี้และไม่นำมาแห่ถอนทองคำออกไปพร้อมๆกัน
อำนาจในการผลิตและควบคุมเงินนั้นเป็นอะไรที่หอมหวานมาก ความเย้ายวนในการสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นยากเกินต้านทาน
ความพยายามที่จะรวบรวมทองทั้งหมดไว้ภายใต้การควบคุมและการขยายอุปทานของเงินนั้นมีอยู่เรื่อยมา และมันก็มาถึงขั้นสุดในปี 1914 ซึ่งป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 และจุดจบของยุคสมัยอันสวยงาม
หลังจากนั้นโลกก็เริ่มเปลี่ยนจากการใช้ทองคำอันมั่นคง มาเป็นเงินตราของรัฐบาล (Fiat money) ซึ่งเป็นระบบเงินที่ถูกควบคุมโดยรัฐในทุกแง่มุม และเป็นระบบเงินที่เราใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
รัฐต่างๆได้ประกาศยกเลิกการใช้ทองคำในฐานะของเงินครั้งแล้วครั้งเล่า และพยายามที่จะบังคับให้เราใช้เงินขยะที่ออกโดยรัฐผ่านกฎหมายต่างๆ รัฐหวังให้ประชาชนถือเงินตราของรัฐ ในขณะที่รัฐเองยังคงสำรองทองคำไว้ในคลังอยู่มากมาย
การกระทำนี้เป็นความจริงที่ชัดเจนยิ่งกว่าคำพูด ทองคำไม่เคยหมดหน้าที่ในการเป็นเงินที่มั่นคง ส่วนเงินตรารัฐบาลนั้นเป็นเงินขยะอย่างไม่ต้องสงสัย และสักวันมันจะต้องหมดหน้าที่ไป ประวัติศาสตร์ได้สอนเราแล้ว รัฐเองต่างก็รู้ดี
ในตอนหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เงินตรารัฐบาล (Fiat money) แบบลงรายละเอียด เป็นเรื่องราวตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ฝากติดตามกันต่อด้วยนะครับ
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard
1
22 บันทึก
16
7
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สรุปหนังสือ The Bitcoin standard
22
16
7
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย