22 ธ.ค. 2021 เวลา 11:44 • คริปโทเคอร์เรนซี
และแล้วเราก็เข้าสู่บทสุดท้ายของประวัติศาสตร์การเงิน นั่นคือยุคสมัยของ “เงินตรารัฐบาล” ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน
3
เงินตรารัฐบาล (Fiat money) เป็นวิวัฒนาการหลังจากธนบัตรที่มีทองคำหนุนหลัง แต่ธนบัตรนี้จะไม่สามารถแลกกลับเป็นทองคำได้อีกต่อไป
2
คำว่า Fiat เป็นภาษาละตินซึ่งมีความหมายว่า บัญชา คำสั่ง Fiat money คือเงินที่รัฐบังคับให้เราใช้มัน นี่คือเงินที่ไม่ได้ผ่านการคัดสรรด้วยกลไกธรรมชาติเหมือนในอดีต แต่มันถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายและบทลงโทษต่างๆ
1
ที่จริงแล้วในอดีตเคยมีเงิน Fiat ในลักษณะนี้มาแล้วในประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งในศตวรรษที่ 10 และราชวงศ์หยวนในศตวรรษที่ 13 ที่ออกเงินกระดาษโดยมีหน้าที่เป็นใบแทนทองคำในตอนแรก แต่แล้วรัฐก็ออกกฎหมายว่ามันไม่สามารถแลกทองคำได้อีกต่อไป และพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
2
บทสรุปของทั้ง 2 เหตุการณ์นั้นเหมือนกัน นั่นคือระบบเงินต้องล่มสลายไป มูลค่าของเงินไม่มีเหลือ ชาวบ้านที่เก็บออมด้วยเงิน Fiat ต่างต้องอดอยาก ต้องขายลูก ขายตัวเองเป็นทาสเพื่อความอยู่รอด
1
เงินตรารัฐบาลในปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงที่จะนำพาไปสู่เหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน ด้วยความที่มันสามารถถูกผลิตเพิ่มได้ง่าย ทำให้มันอาจสูญเสียศักยภาพในการแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว นี่คือปัญหาที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่
2
บทความนี้จะพาไปเจาะลึกเรื่อง เงินตรารัฐบาล ตั้งแต่ที่มาของมัน และหายนะทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันได้ทำไว้กับโลกมากว่าร้อยปี
2
📌เชื้อเพลิงขับเคลื่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ยุโรปอยู่ในสภาวะสงบสุขมานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งในปี 1914 ก็เกิดการปะทะกันเล็กๆระหว่างจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียนกับผู้แบ่งแยกดินดานชาวเซอร์เบีย
ตอนนั้นใครๆต่างก็คิดว่ามันเป็นแค่ความขัดแย้งเล็กๆ เพราะก่อนหน้านั้นโลกไม่เคยมีสงครามขนาดใหญ่มาก่อน แต่แล้วผลของมันกลับยิ่งใหญ่เกินคาด
ความขัดแย้งบานปลายจนกลายเป็นสงครามโลก กินเวลากว่า 4 ปี มีมหาอำนาจมาร่วมสงครามหลายประเทศ มีการผลิตอาวุธและเกณฑ์ทหารไปรบอย่างมหาศาล เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้าน และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวพรมแดนของโลกมากที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้ WW1 ต่างจากสงครามครั้งก่อนนั้น หลักๆคือเรื่องของ ”เงิน” ในยุคนั้นรัฐควบคุมทองคำในคลังแทบทั้งหมด ในขณะที่ประชาชนถือเงินกระดาษ รัฐสามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้อย่างง่ายดาย
และในช่วงที่ไฟสงครามลุกโชน ก็เป็นเหตุผลที่น่าเย้ายวนอย่างยิ่ง ให้รัฐผลิตเงินเพิ่มเพื่อไปสนับสนุนสงคราม เมื่อสงครามเริ่มไม่นาน ประเทศใหญี่ๆที่ร่วมสงครามก็ประกาศระงับการแลกทองคำกลับคืน
การกระทำนี้ทำให้ขอบเขตเงินทุนของรัฐไม่ถูกจำกัดด้วยปริมาณทองคำในคลังอีกต่อไป รัฐสามารถพิมพ์เงินเพื่อไปทำสงครามได้อย่างไม่จำกัด ตราบใดที่ผู้คนยังเชื่อมั่นในธนบัตรเหล่านั้นอยู่ ในช่วงสงครามที่รัฐสามารถผลิตเงินได้เอง ผลที่เกิดขึ้นคือมหาสงครามใหญ่ ที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน
4
หากประเทศเหล่านั้นยังคงใช้มาตรฐานทองคำ การที่รัฐจะหาเงินมาได้จำเป็นต้องขึ้นภาษี หรือขายพันธบัตร ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดความไม่พอใจจากประชาชนที่ต้องโดนขูดรีด เพื่อไปทำสงครามที่พวกเขาไม่ได้สนับสนุน
ประชาชนจะต่อต้านและจะทำให้รัฐขาดแคลนเงินทุนไปเอง สงครามคงจะสงบลงอย่างรวดเร็ว และประวัติศาสตร์คงจะเปลี่ยนไปมากจากที่เป็นอยู่นี้
หลังสงครามสงบลง สกุลเงินในประเทศแถบยุโรปสูญเสียมูลค่าลงไปมาก สกุลเงินของผู้แพ้สงครามอย่างเยอรมนีและออสเตรียเหลือเพียง 51% และ 31% ตามลำดับ ส่วนสกุลเงินของผู้ชนะอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษเหลือ 91% และ 93% ตามลำดับ
ในที่สุดประเทศต่างๆก็ตัดสินใจที่จะออกจากมาตรฐานทองคำ และพยายามบังคับให้ประชาชนใช้เงินตรารัฐบาลแทน เพราะหากเอาเงินกลับไปเทียบกับทองคำ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าเงินเสื่อมมูลค่าลงไปมากจากการทำสงคราม และจะทำใ้ห้คนอยากถือทองคำมากกว่า
เมื่อเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ บ้านเมือง และชีวิตของประชาชนแล้ว แม้แต่ผู้ชนะสงครามเองก็ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มเลย
📌ยุคแห่งความบิดเบี้ยวทางเศรษฐศาสตร์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โลกได้ก้าวออกจากมาตรฐานทองคำ ประเทศต่างๆได้ก้าวข้ามเส้นที่ไม่ควรข้าม และหายนะทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
รัฐจึงจำเป็นต้องออกมาตรการ “บริหารจัดการ” เศรษฐกิจต่างๆ อย่างไม่หยุดหย่อน มีการพิมพ์เงิน การควบคุมราคา การบังคับใช้กฎหมาย วนเวียนไปเรื่อยๆ เพื่อปิดซ่อนปัญหาที่แท้จริง เพื่อปิดซ่อนความสูญเสียที่เกิดจากการกระทำของรัฐเอง
ทั้งๆที่การจัดการเหล่านั้น มันเป็นการฝืนกลไกตลาด เหมือนเอาตัวไปขวางกั้นกระแสน้ำ การจะยืนอยู่ได้มีแต่จะต้องฝืนออกแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งๆที่รัฐควรยอมรับความผิดพลาดและกลับเข้าสู่มาตรฐานทองคำ แน่นอนว่ามันจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย แต่หลังจากนั้นไม่นานมันก็จะฟื้นกลับมาได้บนพื้นฐานของเงินที่มั่นคง
3
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มีแต่เหตุการณ์พิสดารทางเศรษฐศาสตร์ และวิธีการแก้ไขก็ยิ่งทำให้มันเละเทะกว่าเดิม
เยอรมนีต้องจ่ายเงินชดใช้สงคราม จากการเป็นผู้แพ้ จึงพิมพ์เงินมหาศาลเพื่อมาจ่าย ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง
อังกฤษพยายามซ่อนการสูญเสียมูลค่าของเงินปอนด์ ด้วยการกดราคาทองคำให้ต่ำ ส่งผลให้ทองคำไหลออกจากอังกฤษ ไปสู่ประเทศที่ให้มูลค่ามันสูงกว่า
สหรัฐฯก็พิมพ์เงินเพิ่มมากมาย มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาฯ ฟองสบู่แตกลงในปี 1929 และตามมาด้วยการถดถอยทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด เหตุการณ์นี้คือ The great depression ธนาคารกลางพยายามจะแก้ปัญหา ด้วยการพิมพ์เงิน การควบคุมราคาและค่าแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีสมัยนั้น ไม่ได้มองว่าการพิมพ์เงินคือปัญหา แต่มองว่าปัญหาคือมาตรฐานทองคำต่างหาก ที่เป็นข้อจำกัดในการพิมพ์เงินและการจัดการเศรษฐกิจ เลยมีความพยายามจะเอาทองคำออกไปจากสมการ
1
Roosevelt ออกคำสั่งไม่ให้ประชาชนครอบครองทองคำ บังคับให้ประชาชนขายทองคำให้รัฐที่ราคา 20.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเสร็จกระบวนการ Roosevelt ก็ปรับราคาทองสากลเป็น 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คิดเป็นการลดค่าเงินดอลลาร์ลง 41% ทันที และคนที่จนลงก็คือประชาชน
John Maynard Keynes และเศรษฐศาสตร์ Keynesian ก็เริ่มโด่งดังขึ้นในยุคนี้ Keynes เชื่อในการพิมพ์เงิน การควบคุมราคาสินค้าต่างๆ และการบริหารจากส่วนกลาง และยังเชื่อว่าการใช้จ่ายทำให้เศรษฐกิจดี ส่วนการเก็บออมนั้นเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจ
Keynes พูดในส่งที่รัฐต้องการจะฟัง ก็เลยถูกยอมรับและอุ้มชูจน Keynesian กลายเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาจนถึงปัจจุบัน เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เราถูกพร่ำสอนมาผ่านการศึกษาและสื่อต่างๆ ทั้งๆที่มันเป็นแนวคิดที่ขัดกับความรู้เศรษฐศาสตร์ที่สั่งสมกันมากว่าพันปีก่อนหน้านั้น
2
ความเข้าใจพื้นฐานของเศรษศาสตร์คลาสสิค บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าการควบคุมราคานั้นทำให้เศรษฐกิจเสียสมดุลเสมอ ค่าแรงขั้นต่ำทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูง การคุมราคาสินค้าก็ทำให้สินค้าบางอย่างขาดแคลน ในขณะที่อีกอย่างมีล้นตลาด
สินค้าเกษตรบางอย่างจำเป็นต้องถูกเผาทิ้งไป เพื่อรักษาระดับราคาของมันเอาไว้ หลายคนกำลังอดอยากและไม่มีงานทำ ในขณะที่ผู้ผลิตไม่สามารถจ้างงานได้เพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว ความวิปลาสทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพื่อที่จะทำให้เห็นว่ารัฐสามารถ “บริหารจัดการ” เศรษฐกิจได้
3
นอกจากนี้ เมื่อโลกไม่มีมาตรฐานทางมูลค่าสากล การค้าขายระดับโลกก็พินาศลง การแทรกแซงค่าเงินกลายเป็นเครื่องมือทางการค้า ประเทศต่างพยายามลดค่าเงินตัวเองเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก
หลายประเทศที่เคยค้าขายอย่างเสรี กลับกลายเป็นมาตั้งกำแพงทางการค้าและการเงิน และเมื่อการค้าขายถูกปิดกั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจเป็นสงคราม ดังที่นักปราชญ์หลายคนเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากสินค้าและเงินไม่สามารถข้ามพรมแดนได้ สิ่งที่จะข้ามพรมแดนไปจะกลายเป็นทหารและระเบิดแทน
1
📌สงครามโลกครั้งที่ 2 และ Bretton Woods
และแล้วสงครามก็เกิดขึ้นอีกครั้ง WW II เป็นมหาสงครามขนาดใหญ่และสร้างความเสียหายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกหลายเท่า ประเทศต่างๆอุทิศทุนทรัพย์และแรงงานไปกับการทำสงครามอย่างบ้าคลั่ง ผ่านพลังแห่งการผลิตเงินได้อย่างไม่จำกัด
หากมองตามหลักเศรษฐศาสตร์ Keynesian สงครามดูจะเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากมันเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ การใช้จ่ายก็คือการใช้จ่าย Keynes ไม่ได้สนว่ามันเป็นการใช้จ่ายเพื่อบริโภค หรือใช้จ่ายเพื่อไปทำลายล้างประเทศอื่น ขอแค่ตัวเลขการใช้จ่ายมวลรวม (GDP) สูงขึ้นก็เพียงพอ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สหรัฐฯเป็นผู้ชนะและกลายเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว สหรัฐฯได้ทำการเรียกประชุมกับเหล่าประเทศผู้นำโลกเพื่อหารือเรื่องระบบการค้าระดับโลก ที่เมือง Bretton Woods
โดยสหรัฐฯจะตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก และให้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆเป็นเหมือนสาขาย่อยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางอื่นๆจะต้องสำรองเงิน USD เอาไว้ ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯจะเก็บรวบรวมทองคำไว้เอง
เงินสกุลอื่นๆจะสามารถนำมาแลกเป็น USD ได้ตามที่กำหนด ส่วน USD ก็สามารถนำมาแลกทองคำได้ที่ราคา 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระบบนี้เราจะรู้จักกันในชื่อ Bretton Woods system
หากสหรัฐฯไม่พิมพ์เงินมากเกินปริมาณทองคำที่มีอยู่ และหากประเทศอื่นๆไม่พิมพ์เงินเกินปริมาณดอลลาร์ที่มีอยู่ ระบบนี้จะใกล้เคียงกับ Gold standard มาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว วินัยทางการเงินแบบนั้นไม่เคยมีอยู่จริง
ลัทธิการพิมพ์เงินกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจ หลายประเทศแข่งกันลดค่าเงินของตัวเองเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก นับตั้งแต่ปี 1914 สกุลเงินหลักของโลกต่างก็เสียมูลค่าในตัวเองไปอย่างมหาศาล และหลายสกุลเงินก็หมดค่าไปจาก Hyperinflation
สกุลเงิน USD มีอยู่ในคลังสำรองของทั้งโลก และยังถูกใช้เป็นสกุลเงินหลักในการค้าระดับโลก ความเชื่อมั่นระดับนี้ทำให้สหรัฐฯจึงอยู่ในสถานภาพที่เหนือชั้นมาก สามารถพิมพ์เงินใช้ได้มหาศาล สามารถซื้อทุกสิ่งที่ต้องการจากโลกได้โดยเงินที่ถูกเสกขึ้นมา
เงินที่เสกขึ้นมาส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ทั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร เรียนฟรี สวัสดิการการรักษาพยาบาล ฯลฯ
ความสะดวกสบายเหล่านี้ทำให้ผู้คนหลงลืมกฎพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ และยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนยอมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐได้ง่ายขึ้น ระบบนี้จึงยังคงดำเนินต่อไปได้โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน
📌โลกในยุคเงินตรารัฐบาล
ในปี 1971 ประธานาธิบดี Richard Nixon ได้ประกาศยุติความสามารถในการแลกดอลลาร์เป็นทองคำ ปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวอย่างไม่มีอะไรมาหนุนหลังอีกต่อไป สหรัฐฯผิดคำมั่นสัญญาต่อทุกประเทศในโลกอย่างไม่เสแสร้งอีกต่อไป
1
โลกเข้าสู่ยุคเงินตรารัฐบาลโดยสมบูรณ์ และหลังจากนั้นก็มีการพิมพ์เงิน ขยายอุปทานของเงินอย่างบ้าคลั่งและต่อเนื่อง อัตราการเพิ่มของอุปทานเงินเฉลี่ยทั้งโลก (167 ประเทศ) ตั้งแต่ปี 1960-2015 อยู่ที่ 32.16% ต่อปี ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมประเทศที่เกิด Hyperinflation จนสกุลเงินล่มสลายไปแล้ว
วิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) เป็นวิกฤตที่เกิดได้กับเงินตรารัฐบาลเท่านั้น สำหรับเงินโบราณหรือเหรียญโลหะ หากมันจะสูญเสียบทบาททางการเงิน มันจะค่อยๆหายไปอย่างช้าๆ
แต่ในยุคเงินตรารัฐบาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 Hyperinflation ได้เกิดมาแล้วทั้งหมด 56 ครั้ง ซึ่งมันส่งผลให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมล่มสลาย ผู้คนต้องสูญเสียความมั่งคั่งที่สั่งสมมา
เมื่อผู้คนอดอยากและคุณภาพชีวิตถดถอยลง ความสิ้นหวังและความโกรธจะทำให้ผู้คนมองหาแพะรับบาป ซึ่งเป็นสภาวะสังคมที่ง่ายต่อการปลุกปั่นจากผู้ไม่หวังดี ฉวยโอกาสโดยการเปลี่ยนความกลัวของผู้คนให้กลายเป็นอำนาจทางการเมือง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวิกฤต Hyperinflation ที่ Weinmar republic ในช่วง 1920s ที่นำไปสู่การเรืองอำนาจขึ้นมาของ Adolf Hitler และเป็นเชื่อไฟที่จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
มูลค่าของเงินรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับความยับยั้งชั่งใจของรัฐบาล ที่จะไม่ผลิตเงินจนทำให้อุปทานของเงินเพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลนั้นไม่อาจต้านทานต่ออำนาจในการผลิตเงินได้เลย
หากเงินสกุลใดสามารถพิสูจน์ได้ว่าอุปทานของมันจะไม่เพิ่มเร็ว มันก็อาจจะมีค่าขึ้นมาได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเงิน Dinar ของอิรัก และเงิน Shilling ของโซมาเลีย
1
จากเหตุการณ์ที่ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศเคยถูกทำลายในสงคราม ทำให้ไม่สามารถผลิตเงินได้ชั่วคราว เงินทั้งสองสกุลนั้นก็มีค่าสูงขึ้นในชั่วข้ามคืน เห็นได้ชัดว่าเงินนั้นเป็นที่ต้องการมากกว่าเมื่อมันขาดแคลน
เงินตรารัฐบาลนั้นเป็นเงินที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกจากกลไกตลาด มันเป็นเงินขึ้นมาได้จากการบังคับใช้ในทางกฏหมาย ซึ่งรัฐก็สามารถออกกฏหมายสั่งให้มันมีค่าหรือไม่มีค่าเมื่อใดก็ได้
หากใครต่อต้านหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ รัฐก็สามารถยึดเงินหรือความมั่งคั่งมากจากคนๆนั้นได้อย่างง่ายได้ และรัฐก็สามารถให้รางวัลคนที่อยู่เป็นและจงรักภักดีต่อรัฐด้วยเช่นกัน เงินชนิดนี้ทำให้รัฐมีอำนาจมากกว่ายุคไหนๆ
แทนที่เงินจะเป็นสิ่งที่ตอบแทนการสร้างคุณค่า มันกลับกลายเป็นสิ่งตอบแทนการเชื่อฟังรัฐ กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน และเครื่องมือในการทำให้คนกลายเป็นทาส
ดังนั้นเงินที่มั่นคง (Sound money) ในยุคนี้ นอกจากมันจะต้องทำหน้าที่ของเงินได้ดีและถูกคัดเลือกอย่างชอบธรรมอย่างกลไกตลาดแล้ว มันยังควรที่จะสามารถต้านทานความพยายามในการแทรกแซงจากรัฐด้วย ซึ่งทองคำถือว่าสอบตกในเรื่องนี้
1
Friedrich Hayek เคยกล่าวไว้ในปี 1984 ว่า “ผมไม่เชื่อว่าเราจะมีเงินที่ดีได้อีกเลย หากไม่นำมันออกมาจากเงื้อมมือรัฐ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถนำมันออกมาได้จากการใช้กำลัง เราจำเป็นต้องใช้วิธีการอันชาญฉลาดบางอย่าง ที่รัฐไม่อาจจะหยุดยั้งได้”
8
และในที่สุด 3 ทศวรรษหลังจากที่ Hayek เคยพูดไว้ วิธีอันชาญฉลาดนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ Bitcoin ซึ่งกลายมาเป็นความหวังของการเป็นเงินที่มั่นคง (Sound money) ของมนุษยชาติ ซึ่งเราคงเฝ้าดูความเป็นไปของมันอย่างใกล้ชิดต่อไป
บทหน้าจะอธิบายเจาะลึกถึงความสำคัญของเงินที่มั่นคง ต่อการพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ ผ่านเรื่องของ “ความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น” (Time preference) รอติดตามกันต่อไปนะครับ
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา