30 ธ.ค. 2021 เวลา 14:41 • หนังสือ
==========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพฤหัสบดี
==========================
🕊• MAKOTO MARKETING
✍🏻• ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เขียน
🔖• 07 || พัฒนาสินค้า ‘เพื่อลูกค้า’ จริง ๆ
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ MAKOTO MARKETING ]
========================
07
พัฒนาสินค้า ‘เพื่อลูกค้า’ จริง ๆ
- - - - -
รองเท้าที่ใส่แล้วลูกค้าน้ำตาไหล
========================
ในงานสัมนาหนึ่งหลังจากที่อาจารย์เกตุบรรยาย
เรื่องการตลาดญี่ปุ่นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย
จบลง มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามอาจารย์
ด้วยสีหน้าเหนื่อยล้าว่า . . .


“ผมยังควรทำสินค้านี้ต่อไปหรือเปล่า”
สินค้าของชายท่านนี้คือ เนื้อปลาอบกรอบที่ไม่ใส่
ผงชูรส เขามีความฝันอยากเห็นเด็กไทยทานขนม
ที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใส่ผงชูรสหรือสารปรุงแต่งมาก
เกินไป
แต่เมื่อผลิตสินค้าออกมาจริง ลูกค้ากลับบอกว่า
ไม่อร่อย
เขาพูดกับอาจารย์เกตุอย่างน้อยใจว่า . . .
“หรือผมมาผิดทาง ทั้งที่ผมอยากทำสินค้าดี ๆ เพื่อ
ลูกค้า ผมกลับไปทำให้อร่อยเหมือนเดิมดีไหม หรือ
เลือกส่งออกไปญี่ปุ่นดี รสชาติน่าจะถูกปากคนญี่ปุ่น”
อาจารย์เกตุจึงเล่าเรื่องผู้ผลิตรองเท้าเล็ก ๆ รายหนึ่ง
ให้เขาฟังค่ะ
[ MAKOTO MARKETING ]
================================
รองเท้า Ayumi รองเท้าที่ทำให้ลูกค้าน้ำตาไหล
================================
บริษัท Tokutake-sangyo ได้รับจดหมายขอบคุณ
จากลูกค้าปีละหมื่น ๆ ฉบับ
ข้อความขอบคุณที่ได้รับจากลูกค้าอ่านแล้วรู้สึก
อิ่มเอมใจยิ่งนัก
“ฉันมักวางรองเท้าคู่นี้ไว้ข้างเตียงก่อนนอน ตื่นเช้า
มาจะได้ใส่เดินทุกวัน เป็นรองเท้าที่วิเศษจริง ๆ”
“ขอบพระคุณที่ดูแลดิฉันเป็นอย่างดี น้ำตาฉันจะไหล
จริง ๆ รองเท้าอุ่นมาก จนดิฉันถึงกับใส่นอน ดิฉันมี
ความสุขเหลือเกินที่กลับมาใส่รองเท้าได้อีกครั้ง”
- - - - -
แรกเริ่มเดิมทีบริษัท Tokutake-sangyo ผลิตถุงมือยาง
และสลิปเปอร์ วันหนึ่งเพื่อนของคุณ โซโก ทาคาโอะ
ประธานบริษัท ที่ทำบ้านพักคนชรา มาเล่าสาเหตุที่
ผู้สูงอายุเดินสะดุดล้มบ่อย ๆ เพราะรองเท้าไม่ดี ให้
คุณโซโกฟัง
เพื่อนของคุณโซโก พยายามติดต่อบริษัททำรองเท้า
เจ้าใหญ่หลายราย แต่ทุกรายก็ปฏิเสธที่จะผลิต
รองเท้าที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ
เมื่อคุณโซโกได้ฟังดังนั้น จึงตั้งปณิธานที่จะทุ่มเท
พัฒนาและผลิตรองเท้าที่ใส่แล้วเดินง่าย ไม่ล้ม
สำหรับคนชราอย่างเต็มที่
คุณโซโกและภรรยาเดินทางไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ
กว่า 500 คน เพื่อศึกษาข้อมูลที่จะนำมาออกแบบ
รองเท้า
ปัญหาที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เผชิญคือ
• รองเท้าทั่วไปก้มสวมใส่ยาก ต้องผูกเชือกหรือรูดซิป
• สีสันไม่สดใส มีแต่สีดำ น้ำตาล เทา ดูทึม ๆ เชย ๆ
• ผู้สูงอายุมักเท้าบวมทำให้เท้าสองข้างไม่เท่ากัน
จึงต้องใส่รองเท้าคนละเบอร์ เวลาซื้อรองเท้าต้องซื้อ
2 คู่ แล้วโยนอีกข้างทิ้ง
ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณโซโก พัฒนา
รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ รุ่น Ayumi ที่มีน้ำหนักเบา
มีสีสันสดใส มีหลายสีให้เลือก เดินแล้วไม่ล้ม และ
ที่สำคัญ ลูกค้าสามารถซื้อรองเท้าข้างละไซส์ได้
ซึ่งราคารองเท้าสำหรับ 1 คู่คือ 6,400 เยน หากซื้อ
แยกข้างราคาก็จะลดลงครึ่งนึงคือขายข้างละ
3,200 เยน
คุณโซโกใช้เวลาพัฒนารองเท้านานถึง 2 ปี มี
ค่าใช้จ่ายในการพัฒนามากมาย ถ้าจะขายให้ได้
กำไรจริง ๆ คงต้องขายคู่ละ 10,000 เยน
แต่คุณโซโกรู้สึกว่า มันคงไม่มีประโยชน์อะไรในการ
พัฒนารองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ แต่กลับตั้งราคาสูง
จนเขาเอื้อมไม่ถึง
นอกจากนี้คุณโซโกเห็นว่าผู้สูงอายุไม่ค่อยมีโอกาส
ได้เจอผู้คนมากนัก ดังนั้น เขาจึงให้พนักงานเขียนการ์ด
บรรจุลงในกล่องรองเท้าทุกกล่อง
เนื้อหาในการ์ดจะเป็นการกล่าวทักทายและอวยพร
ให้ความรู้สึกเหมือนลูกหลานกำลังเขียนจดหมาย
ถึงคุณตาคุณยายที่ซื้อรองเท้าเลยค่ะ
ปัจจุบัน รองเท้า Ayumi มีสีและแบบให้เลือกมากมาย
มีบริการผลิตรองเท้าสั่งทำ ที่ลูกค้าสามารถเพิ่มส้น
ปรับสายรองเท้า ปักชื่อ เพื่อให้เป็นรองเท้าที่เหมาะกับ
คุณตาคุณยายท่านนั้นจริง ๆ
ปัจจุบันบริษัทได้รับจดหมายขอบคุณจากคุณตาคุณยาย
ทั่วประเทศปีละ 30,000 กว่าฉบับ และ พวกเขาก็มุ่งมั่น
ต่อไปที่จะเป็นบริษัทที่ได้รับคำขอบคุณมากที่สุด
ในประเทศญี่ปุ่น
[ MAKOTO MARKETING ]
===============
แลกเปลี่ยนความเห็น
===============
หัวใจของการตลาด คือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากความต้องการของลูกค้าเป็น
สิ่งที่ทำได้ยาก
นักการตลาดบางท่านอาจ หลับตาข้างหนึ่ง และ
เลือกทำสิ่งที่ ‘คิดว่า’ ตัวเองพอจะทำได้ แต่คุณโซโก
กลับตั้งใจฟังเสียงลูกค้า และค่อย ๆ ทำตามสิ่งที่
ลูกค้าต้องการอย่างเต็มที่
ส่ิงที่ทำให้คุณโซโก แตกต่างจากนักการตลาดทั่วไป
คือ “ความรักและความปรารถนาดีต่อลูกค้า”
ส่ิงนี้ทำให้คุณโซโกไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ยอดขาย
และ กำไรเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหากเขาให้ความสำคัญ
กับสองสิ่งนี้ เขาคงต้องขายรองเท้าราคาสูงกว่านี้ และ
ตัดคุณสมบัติบางอย่างออกไป
แต่คุณโซโกกลับมุ่งมั่นลงมือทำด้วยเหตุผลเดียว คือ
เขาอยากเห็นคุณตาคุณยายเหล่านี้มีความสุข
ในช่วงต้น กำไรอาจไม่ได้สูงมากนัก คุณโซโกขาดทุน
ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี แต่ในระยะยาวรองเท้า Ayumi
กลายเป็นสินค้าอันดับหนึ่งของตลาดรองเท้าผู้สูงอายุ
ส่วนคำตอบที่อาจารย์เกตุมีให้กับคำถามของชาย
เจ้าของธุรกิจปลาอบกรอบ ที่กำลังลังเลว่าจะทำธุรกิจ
ของเขาต่อไปดีหรือไม่ คือ . . .
“ลองพยายามออกแบบปลาอบกรอบอร่อย ๆ ที่ไม่ใส่
ผงชูรสอีกนิดนะคะ เพื่อเด็ก ๆ จะได้มีขนมอร่อยแต่
ดีต่อสุขภาพจริง ๆ กินค่ะ”
[ MAKOTO MARKETING ]
========
แบบฝึกหัด
========

ตรวจสอบง่าย ๆ ว่า เราออกแบบสินค้าโดยนึกถึง
ลูกค้าจริงหรือไม่ โดยกาเครื่องหมายถูกหน้าข้อ
ที่ท่านคิดว่า ตรงกับแนวทางบริษัท่าน
[ ] รับฟังหรือสำรวจเสียงของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
[ ] มีช่องทางหรือระบบในการฟังปัญหาลูกค้า
[ ] มีช่องทางหรือระบบสื่อสารเสียงของลูกค้าไปยัง
ทีมพัฒนาและทีมการตลาด
[ ] ปรุงปรุง/พัฒนาสินค้าจากเสียงของลูกค้าในช่วง
1 ปีนี้
[ ] มีสัดส่วนลูกค้าประจำที่เวียนมาซื้อสินค้าเรื่อย ๆ
เกินร้อยละ 40 ของลูกค้าทั้งหมด
[ ] มีลูกค้าแนะนำ/บอกต่อสินค้าให้ลูกค้าคนอื่น ๆ
โดยที่บริษัทไม่ได้ขอให้ทำ
[ ] คุณอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า สินค้าบริษัทตน
โดดเด่นในด้านใด เมื่อเทียบกับสินค้าใกล้เคียง
ในวงการ
[ ] คุณรู้สึกภูมิใจในสินค้าของบริษัท
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
เมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านเนื้อหาบทนี้จบ หนึ่งประโยค
ที่ผุดขึ้นกลางใจของ อิคิ ∙ 生き คือ
================================
ถ้าเราได้ใส่รองเท้าที่ใส่แล้วอิ่มเอมไปถึงหัวใจ
มันจะรู้สึกดีแค่ไหนน้าาาา🥰🥰🥰
================================
มันเป็นความบังเอิญอย่างมากค่ะ อิคิ ∙ 生き ได้
อ่านหนังสือบทนี้ ในวันที่ อิคิ ∙ 生き ไปนั่งรอคุณโอ๋
[ คู่ชีวิตของ อิคิ ∙ 生き ] ชอปปิ้ง ในดงรองเท้า
กลางห้างดัง
ในวันทีตบะเราไม่แข็งพอ เมื่อเราอยู่ในดงรองเท้า
ดีไซน์โปรด อิคิ ∙ 生き ก็อดไม่ได้ที่จะอยากได้รองเท้า
สักคู่กลับบ้านค่ะ
วันนั้นเมื่ออ่านหนังสือบทนี้จบ อิคิ ∙ 生き ก็เดินไปเรียบ ๆ
เคียง ๆ ดูรองเท้าบริเวณนั้นต่อ ระหว่างดูจึงสอบถาม
พนักงานขายถึงรองเท้ารุ่นที่เราถูกใจคู่นั้นคู่นี้ แต่พนักงาน
ท่านนี้ จริง ๆ ก็สุภาพนะคะ และ ไม่ได้ทำหน้าที่เลวร้ายแต่
อย่างไร
แต่ อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่าเธอทำหน้าที่นี้แบบไม่มีความสุข
และไม่ได้ความภูมิใจในสิ่งที่เธอทำเท่าที่ควร
[ หรือ การอ่านหนังสือบทนี้ อาจทำให้ความคาดหวัง
ของ อิคิ ∙ 生き สูงเกินไปก็ได้ค่ะ ]
ที่ อิคิ ∙ 生き รู้สึกเช่นนี้เพราะพนักงานท่านนี้ให้บริการ
เราแบบ ถามคำตอบคำ ทำแค่ในสิ่งที่เราขอให้ทำ เช่น
ขอลองรองเท้าคู่นี้หน่อย ก็ไปหยิบแค่คู่ที่เราต้องการ
มาให้เราลอง ไม่มีคำแนะนำใด ๆ เพิ่มเติม เพียงแค่
บอกว่าคู่นั้นไม่มีไซส์ คู่นี้ไม่มีไซส์
สรุปวันนี้จบลงด้วย เงินในกระเป๋าของ อิคิ ∙ 生き ยัง
อยู่กับ อิคิ ∙ 生き อย่างครบถ้วนค่ะ
แต่ในใจ อิคิ ∙ 生き ก็แอบเสียดายเล็ก ๆ ว่าถ้าเค้า
พยายามเพิ่มขึ้นอีกซักหน่อย เขาน่าจะขายรองเท้า
ให้เราได้
จริง ๆ แล้วรองเท้ายี่ห้อนี้ได้ทำโครงการเพื่อสังคม
หลาย ๆ อย่างเลยค่ะ เช่น การบริจาคเงิน 1/3 ของ
กำไรให้กับผู้คนระดับรากหญ้า เพื่อยกระดับชีวิต
ผู้คนเหล่านั้น และลดความเลื่อมล้ำทางสังคม
แต่ อิคิ ∙ 生き ไม่แน่ใจว่านโยบายต่าง ๆ ของบริษัท
ได้ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดมาถึงพนักงานทุกระดับ
ในองค์กรหรือไม่
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き คิดว่าความท้าทายขององค์กร
บริษัท ห้างร้าน คือ นอกจากตัวเราที่รู้สึกภูมิใจใน
บริษัทแล้ว
====================================
จะทำอย่างไรให้ทุกคนในองค์กรเห็นคุณค่า
และความหมายในสิ่งที่ทำ จนก่อให้เกิดความภูมิใจ
กับหน้าที่ตน
====================================
หากท่านใดมีโอกาสในอ่าน Post ของ อิคิ ∙ 生き
เช้านี้
น่าจะพอทราบว่าปัจจุบันบริษัทของ อิคิ ∙ 生き เริ่ม
หยุดจำหน่ายสินค้าแล้ว และภารกิจสุดท้ายที่เราจะ
ทำกัน คือการส่งต่อสินค้าของเราไปให้กับเด็ก ๆ
ทั่วประเทศค่ะ
ดังนั้นงานของทีมงานที่ อิคิ ∙ 生き ทำเป็นหลัก
ในช่วงนี้ คือ ติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ จัดของ
แพคสินค้าส่ง เนื้องานหลัก ๆ ของน้อง ๆ จะมีเท่านี้ค่ะ
สิ่งนี้ส่งผลให้หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き รู้สึก
เป็นห่วงทีมงานว่าเขาจะเบื่อกันไหม เร่ิมถามน้อง ๆ
ว่าเบื่องานช่วงนี้รึเปล่า แต่ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่เบื่อค่ะ
แต่การถามคำถามเหล่านี้ ทำให้ อิคิ ∙ 生き มีโอกาส
ได้สื่อสารจุดมุ่งหมายของภารกิจสุดท้ายให้กับทีมงาน
ฟังดังต่อไปนี้ค่ะ . . .
ขอให้พวกเราคิดว่าสินค้าของบริษัททุกชิ้นที่พวกเรา
กำลังจะส่งมอบ เป็นสินค้าของพวกเราเอง เราทุกคน
มีส่วนร่วมในสิ่งนี้นะคะ
อีกทั้งการส่งมอบนั้นอย่าคิดว่าเราให้เด็ก ๆ แบบ
ส่ง ๆ ขอไปที แต่ชุดอุปกรณ์ตกแต่งการ์ดที่เรา
ส่งมอบให้ เด็ก ๆ จะได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน
ที่สำคัญเรายังจำหน้าที่ของสินค้าของพวกเราได้ใช่ไหม
นั่นคือ สินค้าเราไม่ใช่แค่การ์ด แต่เป็นสื่อกลางในการ
ส่งมอบความรู้สึกดี ๆ จากคนสู่คน
ดังนั้น เด็ก ๆ ที่ได้รับชุดอุปกรณ์ตกแต่งการ์ดของเรา
หากเค้ามีโอกาสได้ทำการ์ดนั้น เชื่อพี่เถอะ เค้าต้อง
ทำด้วยความรู้สึกดี ที่จะส่งมอบสิ่งนี้ให้กับใครบางคน
เท่าที่พี่ประเมิน เราน่าจะส่งของให้เด็ก ๆ ได้ไม่ต่ำกว่า
20,000 คนทั่วประเทศ หากเด็ก ๆ ทำการ์ดเหล่านี้
และมอบให้คนที่รักต่อ คนอีกอย่างน้อย 20,000 คน
ก็จะได้รับความรู้สึกดี ๆ ไปด้วย
ดังนั้นเราไม่ได้มอบของให้เด็ก ๆ เฉย ๆ นะ แต่เราได้เป็น
ส่วนเล็ก ๆ ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของการส่งต่อ
ความรู้สึกดี ๆ ให้กับเด็ก ๆ ในสังคมไทย
พี่ไม่อยากให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่ากับใครเลย
อยากให้พวกเราคิดซะว่า เรากำลังทำภารกิจร่วมกัน
เป็นครั้งสุดท้าย เปรียบเสมือนเรากำลังได้ทำบุญใหญ่
ร่วมกันนะ
ช่วงนี้ อิคิ ∙ 生き เลยให้ทีมงานเก็บสถิติจำนวนเด็ก ๆ
ที่ได้รับชุดอุปกรณ์ตกแต่งการ์จากพวกเราไปแล้ว
จากนั้นในแต่ละสัปดาห์ อิคิ ∙ 生き จะมาประกาศ
ให้ทุกคนทราบว่าตอนนี้เราได้ส่งของให้กับเด็ก ๆ
ไปกี่คนแล้ว และเปิดรูปเด็ก ๆ ที่ได้รับของจากพวกเรา
ดูด้วยกัน
สำหรับ อิคิ ∙ 生き มันเป็นบรรยากาศที่มีคุณค่า และ
มีความหมายสำหรับมากค่ะ
บริษัท อิคิ ∙ 生き เป็นบริษัทเล็ก ๆ มีกันอยู่ประมาณ
10 คน ถ้าเป็นบริษัทที่ใหญ่มากขึ้นก็คงมีความท้าทาย
ในการสื่อสารกับทีมงานมากขึ้นค่ะ
แต่อย่างไรตาม อิคิ ∙ 生き ไม่อยากให้เรามอง
ข้ามสิ่งเหล่านี้ไปนะคะ ทีมงานของเราต้องภูมิใจใน
งานที่ทำด้วยค่ะ
หากเขารู้สึกภูมิใจ เค้าจะส่งต่อความรัก ความปรารถนาดี
และทำหน้าที่อย่างเต็ม จนผู้คนนอกองค์กรสัมผัสได้
และที่สำคัญคนเหล่านั้นอาจเป็นลูกค้าในอนาคตก็ได้ค่ะ
- - - - -
 
ก่อนจากกันวันนี้ อิคิ ∙ 生き อยากถามเพื่อน ๆ ว่า
เพื่อน ๆ ภูมิใจในงานที่ตัวเองทำไหมคะ แต่สำหรับ
อิคิ ∙ 生き อิคิ ∙ 生き ภูมิใจในงานที่ทำมาก ๆ ค่ะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ
Makoto Marketing ในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ

ราตรีสวัสดิ์นะคะทุกคน 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านในสนใจเรื่องราวจาก Makoto Marketing จนอดใจรอให้ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละสัปดาห์ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ 
https://www.readthecloud.store/product/makoto-marketing/
#สัปดาห์ละบทสองบท #makotomarketing

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา