29 ธ.ค. 2021 เวลา 14:13 • หนังสือ
======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพุธ
======================
💶• MON€Y LECTURE
✍🏻• ลงทุนศาสตร์ เขียน
🔖• บทที่ 4 อิสรภาพของเราราคาเท่าไหร่ [ 2 - ตอนจบ ]
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ อิคิ ∙ 生き เกริ่นนำ ]
ในสัปดาห์ที่แล้ว คุณลงทุนศาสตร์ได้กล่าวถึง
ความสำคัญในการเริ่มต้นวางแผนเกษียณอายุ
ตั้งแต่เนิ่น รวมไปถึงการคืบคลานเข้ามาของสังคม
ผู้สูงอายุ ส่วนสัปดาห์นี้เนื้อหาจะเป็นอย่างไร
อิคิ ∙ 生き ขอเชิญทุกท่านติดตามกันได้เลยนะคะ . . .
[ MON€Y LECTURE ]
========================
แก่ของฉัน แต่มันเป็นเรื่องของใคร
========================
เมื่อประเทศเรามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจ
เร่ิมเติบโตช้าลง รัฐบาลจำเป็นต้นใช้เครื่องมือเชิง
นโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ไปต่อ และหนึ่งใน
เครื่องมือเหล่านั้นคือ การลดดอกเบี้ย
การลดดอกเบี้ยส่งผลให้ดอกผลจากการเก็บออม
ลดลง สมัยคุณลงทุนศาสตร์เป็นเด็กดอกเบี้ยเงินฝาก
ประจำธนาคารเคยสูงถึง 10% แต่ปัจจุบันดอกเบี้ย
เงินฝากประจำบ้านเราเหลือแค่เพียง 1% บวกลบ
เท่านั้น
ดังนั้นหากต้องการวางแผนเกษียณมันจึงเป็น
ความจำเป็นที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาหาความรู้ด้าน
การลงทุน
และอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานเพื่อเอาชนะความ
ผันผวนและแสวงหาการลงทุนที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
ยิ่งลงทุนนานยิ่งปลอดภัยและหวังผลได้มากกว่า
การคำนวณเพื่อเตรียมเงินสำหรับเกษียณมี 3 วิธี
คือ วิธีใช้เงินต้น วิธีใช้กระแสเงินสด และ วิธีใช้เงินต้น
และกระแสเงินสดผสมกัน
[ MON€Y LECTURE ]
01 || วิธีใช้เงินต้น ||
เป็นวิธีที่เรียบง่ายที่สุด เพราะเราไม่หวังผลตอบแทน
ใด ๆ จากการลงทุนทั้งสิ้น เป้าหมายมีเพียงแค่เก็บเงิน
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วแบ่งใช้ไปเรื่อย ๆ
สูตรคำนวณทุนเกษียณอายุสำหรับวิธีนี้ คือ . . .
========================
เงินก้อนเกษียณ
=
(เงินเดือนเกษียณ x 12)
x
(ปีที่เสียชีวิต - ปีที่เริ่มต้นเกษียณ)
========================
เงินก้อนเกษียณ หมายถึง จำนวนเงินทั้งหมดที่เรา
ต้องมีเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ
เงินเดือนเกษียณ หมายถึง จำนวนเงินที่เราต้องการ
ใช้ต่อเดือนยามเกษียณ
จากสมการข้างต้นยกตัวอย่างได้ดังนี้ค่ะ สมมุติว่า
เราต้องใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทในการดำรงชีพ
หลังเกษียณ เราตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และ
คาดว่าจะเสียชีวิตตอนอายุ 80 ปี
เมื่อได้ข้อมูลดังนี้ เราจึงนำมาคำนวณเป็นจำนวน
เงินที่เราต้องมี ณ วันเกษียณอายุได้ดังนี้ค่ะ
===============================
เงินก้อนเกษียณ = (30,000 x 12) x (80 - 60)
เงินก้อนเกษียณ = 7,200,000 บาท
===============================
จากสมการนี้หมายความว่า หากตอนอายุ 60 ปี
เรามีเงิน 7.2 ล้านบาท เราจะมีเงินใช้เดือนละ
3 หมื่นบาท และเมื่อครบระยะเวลา 20 ปี เงินจะ
หมดลง
ที่สำคัญอายุการเสียชีวิตของเราเป็นเพียงแค่ตัวเลข
ประมาณการ ไม่มีใครรู้วันเสียชีวิตของตนเอง หากจะ
กล่าวให้เห็นภาพก็คือ ถ้าตอนนั้นเราอายุ 80 ปี เงินที่
เราเตรียมไว้หมดลง แต่เรายังแข็งแรงและมีชีวิตอยู่
เราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
ดังนั้นวิธีการใช้เงินต้นเพียงอย่างเดียวจึงเป็นวิธีที่
สุ่มเสี่ยงเกินไป เนื่องจากนับวันเงินก็มีแต่จะพร่องลง
[ MON€Y LECTURE ]
02 || วิธีใช้กระแสเงินสด ||
วิธีนี้สามารถช่วยทุ่นแรงได้มากกว่าวิธีแรกที่เรา
จะต้องเก็บเงินด้วยตัวเองเท่านั้น
แต่เป็นวิธีที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากเราต้อง
นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่สร้างผลตอบแทน
เป็นกระแสเงินสด เพื่อให้เรานำกระแสเงินสดเหล่านั้น
ไปใช้จ่าย
ส่วนเงินต้นที่เราเก็บหอมรอมริบไว้ ก็นำไปลงทุนเรื่อย ๆ
เปรียบเสมือนเครื่องจักรผลิตเงินให้เราใช้ทุกเดือน
สูตรคำนวณทุนเกษียณอายุสำหรับวิธีนี้ คือ . . .
=====================

เงินก้อนเกษียณ
= 

(เงินเดือนเกษียณ x 12 เดือน)
÷
ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ
=====================
จากสมการข้างต้นสามารถอธิบายให้เห็นภาพ
ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้ค่ะ . . .
หากเราต้องใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทในการ
ดำรงชีพหลังเกษียณ และ หลังเกษียณเราคาดว่า
จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ปีละ 5% 

เมื่อได้ข้อมูลดังนี้ เราจึงนำมาคำนวณเป็นจำนวน
เงินที่เราต้องมี ณ วันเกษียณอายุได้ดังนี้ค่ะ
===============================
เงินก้อนเกษียณ = (30,000 x 12) ÷ 0.05
เงินก้อนเกษียณ = 7,200,000 บาท
===============================
สังเกตว่าสมการนี้จะไม่มีเรื่องอายุขัยเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะเราสะสมเงินต้นให้ได้จำนวนที่ต้องการ ณ วัน
เกษียณ พอเกษียณอายุเรานำเงินต้นก้อนนี้ไปลงทุน
จากนั้นในแต่ละเดือนก็นำดอกผลไปใช้จ่าย
ส่วนเงินต้นที่เรานำไปลงทุนจะไม่ได้ถูกถอนออกมา
เพราะดอกผลที่เราได้นั้น เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายใน
แต่ละเดือนแล้ว ดังนั้นเงินต้นจึงถูกปล่อยไว้ดังเดิม
เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเราไปเรื่อย ๆ
สิ่งนี้หมายความว่า ถ้าเราจะอายุ 80 ปี แล้ว ยังแข็งแรง
ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินใช้ เพราะเครื่องจักรผลิตเงิน
(เงินต้น) ของเราก็ยังคงผลิตเงินให้เราใช้ 30,000 บาท
ทุกเดือนต่อไป
[ MON€Y LECTURE ]
03|| วิธีใช้เงินต้นและกระแสเงินสดผสมกัน
เป็นวิธีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างวิธีที่ 1 และ 2 เหมาะ
สำหรับคนที่มีความรู้ทางการเงินบ้าง แต่เก็บเงิน
ไม่ทัน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจมาจากหลายสาเหตุ
เช่น เริ่มต้นวางแผนการเงินช้าเกินไป หรือ รับความ
เสี่ยงได้ไม่มากจนทำให้ไม่มีเวลาเก็บสะสมเงินต้น
มากพอที่จะสร้างกระแสเงินสดตามจำนวนที่เรา
ต้องการได้
ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้ 2 วิธีผสมกัน โดยการ
เก็บเงินต้นให้ได้มากที่สุดและนำเงินจำนวนนั้นไป
ลงทุนสร้างดอกผล จากนั้นนำดอกผลที่ได้รับมาใช้
หากไม่เพียงพอก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเบิกเงินต้นมา
สมทบด้วย
[ อิคิ ∙ 生き : นั่นหมายความว่าเงินเราจะหมด
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ]
ในการคำนวณเงินก้อนเกษียณสำหรับวิธีนี้จะมี
ความซับซ้อนมาก หนังสือจึงแนะนำให้ใช้
แอปพลิเคชัน EZ Financial Calculators ซึ่งเป็น
แอปพลิเคชันที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อน ๆ สามารถ
ดาว์นโหลดโดยแสกน QR CODE ตามภาพ
ด้านล่างได้ค่ะ
เมื่อดาว์นโหลดแล้ว ให้เลือกหัวข้อ
Retirement Planner และ หัวข้อย่อย
How Much Money Will I Need?
โดยใส่ค่าต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับลงในช่อง
Annual Return Rate (%)
อายุจากวันเกษียณจนถึงเสียชีวิตลงในช่อง
Retirement Years
โปรแกรมจะแสดงภาพคำตอบเป็นแผนภูมิแท่ง
ตามจำนวนเงินที่เราต้องการใช้ต่อเดือน
[ เพื่อน ๆ ดูแผนภูมิได้ตามภาพด้านล่างนะคะ ]
จากแผนภูมิที่แสดง หากเราต้องการใช้เงินเดือนละ
10,000 บาท เราต้องมีเงินต้น 1,495,465 บาท
เพื่อดำรงชีวิตหลังเกษียณตั้งแต่อายุ 60 - 80 ปี
โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนหลัง
เกษียณ 5% ต่อปี
แต่ถ้าเราต้องการใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ก็ให้
นำ 1,495,465 บาท x 3 เท่า = 4,486,400 บาท

ซึ่งเงินจำนวนนี้จะสร้างกระแสเงินสดให้เราในเดือน
แรก แค่เพียง6,200 บาท ซึ่งหมายความว่าเราต้อง
ถอนเงินต้นออกมาสบทบอีก 23,800 บาท
เมื่อถอนเงินต้นออกแล้ว เครื่องจักรผลิตเงินของเรา
เราจะมีขนาดเล็กลง เพราะเงินต้นลดลง ส่งผลให้
ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินลดลงเช่นกัน แม้จะมี
อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5% เท่าเดิมก็ตาม
แม้จะเป็นเช่นนี้แต่อย่างไรวิธีนี้ก็ยังดูดีกว่า
วิธีที่หนึ่งที่ใช้เงินต้นของเราเพียงอย่างเดียว
การมีดอกผลหลังเกษียณอายุ 5% ต่อปีมาช่วยทุ่นแรง
ส่งผลเงินก้อนเกษียณที่เราต้องจัดเตรียมมีมูลค่าลดลง

ในกรณีนี้ เงินก้อนเกษียณที่เราต้องจัดเตรียมเพื่อใช้จ่าย
เป็นเวลา 20 ปีหลังเกษียณ คือ 4,486,400 บาท ซึ่งคิด
เป็นมูลค่าน้อยกว่าวิธีที่หนึ่งมากถึง 37.7% หรือ
2,713,600 บาท
[ คำนวณจาก 7,200,000 บาท ลบ 4,486,400 บาท ]
••••••••••••••••••••••••••••••••••
[ MON€Y LECTURE ]
==================
แม่มณีจันทร์ไม่ถูกใจสิ่งนี้
==================
ในตอนนี้ผู้เขียนได้เปรียบเปรยว่า ถ้าแม่มณีจันทร์
แห่งทวิภพ ได้เดินทางข้ามเวลาจากสมัยรัชกาลที่ 5
มายังปัจจุบัน เธอจะต้องตกใจว่า ทำไม่อะไร อะไร
ในยุคสมัยนี้ก็แพงกว่าสมัยที่เธอจากมา หลายร้อย
หลายพันเท่า
เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ เงินที่เรามีวันนี้มันจะ
ด้อยค่าลงทุกวัน เหตุเพราะเงินเฟ้อนั่นเอง

ซึ่งการคำนวนเงินก้อนเกษียณทั้ง 3 วิธีข้างต้น
ยังไม่ได้นำเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมาพิจารณาด้วย

ดังนั้นในบทต่อไป คุณลงทุนศาสตร์จะมาแถลงไข
เรื่องเงินเฟ้อให้ทุกท่านได้ฟังนะคะ ส่วนวันนี้
เพื่อน ๆ ลองตอบคำถามท้ายบทรอไปพลาง ๆ
ก่อนค่ะ
[ MON€Y LECTURE ]
=============
แบบฝึกหัดท้ายบท
=============
คุณคาดว่าต้องใช้เงินเดือนละกี่บาทตอนเกษียณ
②
คุณต้องเตรียมเงินสำหรับเกษียณเท่าไหร่
หากคำนวณด้วยวิธีใช้เงินต้น
คุณต้องเตรียมเงินสำหรับเกษียณเท่าไหร่
หากคำนวณด้วยวิธีใช้กระแสเงินสด
คุณต้องเตรียมเงินสำหรับเกษียณเท่าไหร่
หากคำนวณด้วยวิธีใช้เงินต้นและกระแสเงินสด
ผสมกัน
คุณคิดว่าจะใช้วิธีไหนในการเตรียมเงินเกษียณ
ของตัวเองเพราะอะไร
หมายเหตุ : ทุกท่านสามารถปรับค่าตัวแปรต่าง ๆ
เช่น อายุเกษียณ อายุขัยและผลตอบแทนที่คาดว่า
จะได้รับให้เหมาะสมกับแต่ละท่านได้
ในทัศนคติของคุณลงทุนศาสตร์ เป้าหมายเงิน
เกษียณอายุ ถือเป็นเป้าหมายทางการเงินระยะกลาง
ที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
เหมือนที่คุณลงทุนศาสตร์กล่าวไว้ค่ะ อิคิ ∙ 生き ก็
จำได้เช่นกันว่าสมัยเด็ก ๆ เราเคยได้ยินว่าดอกเบี้ย
เงินฝากธนาคารสูงถึง 16% - 17%
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่สมการชีวิตของคนรุ่นพ่อ
รุ่นแม่ของ อิคิ ∙ 生き คือ ทำงานให้หนัก เก็บเงิน
ให้มาก เพื่อตอนแก่จะได้มีเงินใช้ไม่ลำบาก
แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากเหลือเพียง 0.25% - 1.5%
เท่านั้น
ดังนั้น หากเราจะใช้สมการอย่างที่รุ่นพ่อ รุ่นแม่เรา
กล่าวไว้เพียงอย่างเดียว อิคิ ∙ 生きคิดว่าชีวิตยาม
เกษียณของเราจะต้องลำบากอย่างแน่นอนค่ะ
ทกวันนี้จึงเหมือนกับว่าทุกคนถูกสถานการณ์บังคับ
ให้ต้องคิด วางแผนการเงิน และ ศึกษาเรื่องการเงิน
การลงทุน แต่เนิ่น
สมการชีวิตที่ว่า ทำงานหนัก เก็บเงินให้มาก
คงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
สำหรับ อิคิ ∙ 生き การวางแผนเกษียณ เป็นขั้นตอน
ที่เราแต่ละคนจะต้องพูดคุยกับตัวเองอย่างลึกซึ้งค่ะ
ว่าเราอยากเห็นภาพตัวเราเองตอนอายุ 60 70 80 ปี
ของเราเป็นแบบไหน คิดให้ละเอียดเลยนะคะว่า . . .
• เราจะอยู่ที่ไหน
• อยู่กับใคร
• กิจวัตรของชีวิตแต่ละวันเราะจะทำอะไรบ้าง
• สุขภาพร่างกายเราจะเป็นแบบไหน
• กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราจะทำในวันนั้นเป็นอย่างไร
• ฯลฯ
อิคิ ∙ 生き บอกเลยค่ะว่าในความเป็นจริงชีวิตของเรา
อาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดวันนี้เสมอไป แต่อย่างน้อย
การที่เรามีภาพที่ชัดเจนก็จะทำให้เราวางแผนได้ชัดเจน
หากวันใดวันนึงมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลง อย่างน้อย
เราก็เพียงกลับมาพิจารณาแผนที่วางไว้ ว่ามีส่วนไหน
ต้องปรับแก้บ้าง โดยที่เราไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่
ทั้งหมด
จากนั้นเราก็นำข้อมูลที่เราคิดไปในอนาคตมาประกอบ
กับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันว่าวันนี้เราใช้จ่าย
มากน้อยแค่ไหน
ในอีก 20 30 40 ปีข้างหน้า เราจะใช้จ่ายมากขึ้นหรือ
น้อยลง และ ในวันนี้เรามีศักยภาพในการเก็บออมมาก
เท่าไหร่ หรือ เราต้องเก็บเงินเพิ่มอีกแค่ไหนจึงจะบรรลุ
เป้าหมายเกษียณ
จากนั้นเราก็นำเป้าหมายเงินก้อนเกษียณมาลงรายละเอียด
เป็นแผนดำเนินการรายเดือน รายปี ในลำดับต่อไป
อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าหากเพื่อน ๆ ทำเช่นนี้ เพื่อน ๆ จะได้
เป้าหมายเงินก้อนเกษียณ ที่เราจะนำมาใช้จ่าย
ในยามเกษียณแบบมีที่มาที่ไป ไม่ใช่แค่เพียงคิดว่า
ในตอนเกษียณเราน่าจะใช้เท่านั้นเท่านี้
อิคิ ∙ 生き เคยเขียนถึงแผนชีวิตยามเกษียณของตัวเอง
ไว้ในบทความนี้ค่ะ
แม้จะเป็นแผนเชิงคุณภาพที่ยังไม่แตกออกมาเป็น
ตัวเลขเชิงปริมาณ แต่ภาพในอนาคตที่เราได้คิดไว้
เป็นรากฐานในการใช้ชีวิตของ อิคิ ∙ 生きในปัจจุบัน
รวมไปถึงแผนเกษียณอายุของ อิคิ ∙ 生き ด้วยค่ะ
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き อยากชวนเพื่อน ๆ ลองหาเวลา
และสถานที่เงียบ ๆ อยู่กับตัวเองคนเดียวนะคะ
จากนั้นเพื่อน ๆ ลองหลับตาจินตนาการดูว่าเราต้องการ
อะไรในชีวิต ในตอนที่เราอายุ 60 70 80 ปี
คิดให้ละเอียดทุกแง่มุม อย่างที่ อิคิ ∙ 生き
ได้กล่าวไว้ข้างต้นเลยนะคะ
แต่ อิคิ ∙ 生き มีเคล็ดลับอีกอย่างที่ยังไม่ได้
บอกเพื่อน ๆ ไป ส่วนตัว อิคิ ∙ 生き นั้น พบว่า
หากเพื่อน ๆ สามารถจินตนาการถึงวันที่เราจาก
โลกใบนี้ไปได้ว่าเราอยากจากไปแบบไหน
สิ่งนี้จะทำให้เพื่อน ๆ ละเมียดละไมกับการใช้
ชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นค่ะ
อิคิ ∙ 生き เคยเล่าถึงภาพสุดท้ายของชีวิต
ไว้ใน . . .
Podcast “วิวัฒนาการของคำว่า WHY
ตอนที่ 2⎮ออกกำลังกาย คือ ชีวิต EP.11”
การจินตนาการถึงวันที่เราจากโลกใบนี้ไป
จะทำให้เราพบหนทางการใช้ชีวิตที่เหมาะกับ
ตัวเรามากขึ้น ที่สำคัญสิ่งนี้ยังเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต
หากมีวันใดวันนึงที่เราหลงออกนอกเส้นทาง เข็มทิศ
ชีวิตนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรา “ไม่” หลงทางไปไกลค่ะ
และนี่คืออีกวิธีที่ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้ใช้ชีวิต
แบบที่อยากมีชีวิต
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอให้เพื่อน ๆ ได้มีชีวิต
แบบที่อยากใช้ชีวิตเช่นกันนะคะ แล้วพบกันใหม่
ในตอนต่อไปของ Money Lecture ในวันพุธหน้า
สำหรับวันนี้ราตรีสวัสดิ์ค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจอยากรีบวางแผนการเงินของตนเอง จนอดใจรอ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละบทไม่ไหว เพื่อน ๆ ก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ https://www.naiin.com/Product/Detail/509724?gclid=CjwKCAiAv_KMBhAzEiwAs-rX1HDPUGqFAoZi1Sf92jNRAxLAMPnoRJtKUXs1OYqAy_XoiliPqgau7xoCaCoQAvD_BwE
#สัปดาห์ละบทสองบท #moneylecture

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา