30 ธ.ค. 2021 เวลา 23:05 • ศิลปะ & ออกแบบ
เดินเที่ยวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
วันสุดท้ายของปีนี้ และเริ่มต้นปีหน้า ด้วยงานชุดใหม่ ที่เรา blue bangkok ได้มีโอกาสร่วมแสดง Bangkok design week 2022
เส้นทางการเดินทาง เคยเขียนเล่าไว้แล้ว
แผนที่ตึกเก่าที่เราสำรวจไว้บ้าง ลองเดินทางตามได้เลย ร้านข้างทางก็น่าสนใจนะ ทั้งอาหาร ขนม ของใช้ ของเล่น ช่วยอุดหนุนชุมชนท้องถิ่นกัน
Thanon Song Wat Series
ไปเดินเล่น แม้ในวันเงียบเหงาจากโรคระบาด แต่เมื่อผ่อนคลายและระวังตัวก็ไปสำรวจกันได้
วิธีเดินทาง หากสะดวกสุดคงเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Mrt เลือกขึ้นที่วัดมังกร หรือ หัวลำโพง ย่อมได้ เพราะถนนทรงวาดนี้ เป็นจุดเชื่อมกึ่งกลางระหว่างสองสถานี
ในอดีตถนนสายนี้ถูกตัดสร้างขึ้นจากเหตุผลด้านการป้องกันอัคคีภัย บ้างเล่าว่าจากพระราชดำริของร.5 แล้ว สมเด็จครู(สมเด็จฯนริศ) ท่านใช้ดินสอลากตัดชุมชนตลาดน้อยที่เป็นเมืองท่าเรือ(มีเจ้าสัวหลายท่านในย่านนี้)บนแผนที่ ขนานถนนเยาวราชที่ครั้งนั้นเติบโตเป็นชุมชนใหญ่ ควรมีช่องให้รถดับเพลิงหรือยามฉุกเฉินเข้าออกได้
ตึกแขก ในเอกสารออนไลน์ น่าจะเรียกแบบนั้น ตั้งหัวมุมถนนทรงวาดติดท่าเรือราชวงศ์ ทางซ้ายไปสำเพ็ง ทางขวาถนนทรงวาด (มาเรือด่วนหรือข้ามฝากก็ย่อมได้ อากาศสบายดี หากมาจากห้าง icon siam หรือ ล้ง1919(Lhong1919) ตึกแขกใช้เรียกตึกที่ทุบไปแล้วของชาวมัวส์ขายผ้าสมัยก่อน ชุมชนละแวกนี้เป็นเมืองท่า มีหลายศาสนา รูปแบบอาคารมีทั้งก่ออิฐผสมไม้ ที่น่าสนใจของอาคารหลังนี้คือ เป็นอาคารปิดมุมถนนมีมุขไม้ยื่นออกมาสองปีกด้านข้างและตรงกลาง สวยงามรับมุมขนานถนนไปตามแยก เครื่องไม้ฉลุลายประณีต สียังมีเค้าให้เห็น กระจกสีและบานกรอบหน้าต่างทรงยอดแหลมคล้ายศิลปะมุสลิม กับแบบโกธิคของคริสเตียน แม้ว่าจะผุพังตามกาลเวลาแต่ยังมีความทรงจำเดิมให้พบเห็นและปรับใช้เข้ากับชีวิตแต่ละช่วงจนถึงปัจจุบันที่มีกันสาดผ้าใบและสายไฟระโยงระยาง
ชอบตึกนี้เพราะระเบียงไม้แกะสลัก เป็นมุขยื่น
ตึกแขกที่ไม่ใช่ตึกแขก
คนไทยนิยมเรียกแบบดูด้อยค่าชาติเชื้ออื่น แต่ไม่แยกว่า แขกชาติใด เช่น อินเดียที่มีสีผิวแบบ แขกเข้ม แขกขาว ซึ่งนับถือศาสนาทั้ง พราหมณ์-ฮินดู ลัทธิเชน ซิกส์ หรือแขกตะวันออกกลางที่ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม
ตึกแขก เดิมที่สันนิษฐานคือ ตึกขายผ้าของชาวมัวส์(มุสลิม)ที่เป็นอาคารเดี่ยวสองชัันที่ถูกรื้อไปแล้วแถบย่านตึกแดงตึกขาว ไม่ใช่ตึกหัวมุมถนนทรงวาดออกเขียวขาวนี้
ส่วนที่น่าสนใจของ อาคารหัวมุมถนนสามชั้นระะบียงไม้นี้คือ กรอบหน้าต่างทรงโค้งแบบ volt
ที่คล้ายศิลปะโกธิก(คริสเตียน) แต่เดาว่าเป็นจะงอยแบบมุสลิม เพราะแถบนี้น่าจะเป็นร้านขายผ้าของชาว(แขก)มัวส์ ซึ่งเข้ามาขายค้ากับสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นพวก ขัณฑี หรือกลุ่มนักรบรับจ้าง จากบันทึกต่างๆ โครงสร้างกรอบซุ้มหน้าต่างแบบมุสลิมนี้ มีตัวอย่างเช่น วังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ลพบุรี
การฉลุลายไม้ตกแต่งป็นลายพรรณพฤกษา สัตว์ หรือสัญลักษณ์เดือนเสี้ยวดาว ผสมอาคารก่ออิฐถือปูน หรือบางครั้งเป็นลายลูกกรงปูนปั้นประดับ น่าจะเป็นความนิยมของชาวมุสลิมที่ใช้ประกอบอาคารหรือร้านค้าในช่วงนั้น
ลองค้นเพิ่มเติม ตึกแขกที่ว่า มีชื่อเดิมว่า ราชา ราชา ตามเอกสารของ ศิลปะวัฒนธรรมออนไลน์ https://www.silpa-mag.com/songwad-century/article_78282
ชาวมุสลิมจากชาติตะวันออกกลาง ทำการค้ากับเมืองท่าต่างๆเป็นระบบ ส่วนตัวคิดว่าตัังแต่เกิดเส้นทางสายไหมทะเลหลังสงครามศาสนาที่ตัดเส้นทางสายไหมทางบกออก สยามได้รับสินค้าจากตะวันออกกลางที่จะผ่านช่องแคบมะละกา สิงคโปร์ ที่ผ่านทางอินเดีย โดยมีพม่ารับมาอีกทอด (งานผ้าทางภาคใต้ โดยเฉพาะผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ น่าจะได้รับการถ่ายทอดจากเส้นทางการค้าทางทะเลนี้ เช่น ผ้าลาซ้อมที่ขึ้นชื่อทางภูเก็ตที่มีที่มาจากเมืองลาเซ็มบางผืนมีอายุราวเจ็ดรัอยปีก่อน ลวดลายและการผลิตผ้าพิมพ์ตะกั่วกั้นด้วยเทียนก่อนนำไปย้อมสีเกิดเป็นลายเถาพฤกษาและสัตว์) นอกจากผ้ายังมีเครื่องแก้วเป่า เครื่องแก้วเจียระไน(ตัวอย่างจากร้าน อีแอมกาติ๊บ ตึกหัวมุมหลังกระทรวงฯที่จำหน่ายภาชนะเครื่องแก้ว) หรือเครื่องประดับจากชาวมุสลิม ที่เป็นคนกลางเช่นเดียวกับเครื่องเทศ (ผงแกงกะหรี่ ยังมีร้านผลิตเครื่องแกงในย่านเส้นถนนเจริญกรุงผลิตขายอยู่จนถึงปัจจุบัน)
มัสยิดหลวงโกชา ก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาคารหัวมุมนี้ หรือตึกห้างร้านแขกอื่นๆที่ขึ้นชื่ออีกหลายร้านก็อยู่ใกล้ตามเส้นทางถนนตัดใหม่ยุคร.4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงตระกูลนานา อันเก่าแก่และคนทั่วไปทราบว่าเป็น เจ้าที่ดินตั้งแต่ยุคนั้นจนวันนี้ ขนาดถึงขั้นที่ร.5 ทรงออกกฎหมายการถือครองห้ามตระกูลนานาและอีกตระกูลหนึ่งครอบครองที่ดินเพิ่มแล้ว จากคำบอกเล่าของ ดร.มนัส นานา จากเทปวิดีทัศน์ ประวัติความเป็นมาของตระกูลนานากับโรงเรียนอันยุมันอิสลาม
ข้อมูลจากการสันนิษฐาน อ่าน เดินทาง ดูจากวีดิทัศน์ หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ก่อน เจตนาเล่าเรื่องประกอบงานออกแบบ ไม่ได้หวังทำร้ายทำลายกัน
เดินไปตามถนนขนานถนนเยาวราชและแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางหัวลำโพง จะพบตึกเก่าแต่ละยุคตลอดสองข้างทาง ร้านค้าหรือกิจการทั้งเก่าและใหม่ มีร้านกาแฟ โฮสเทล ร้านอาหาร แม้กระทั่งแกลเลอรี ตัดกับร้านขายส่งเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร อุปกรณ์ ร้านอาหารจีน
หรือร้านสตรีทฟู้ดประปราย ผ่านดงตึกแถวที่คนนิยมเรียก ตึกผลไม้ เพราะปูนปั้นประดับหน้าบันอาคารที่หลายคนต้องพักชมหรือถ่ายรูป(สวยแต่เราชอบตึกอื่นมากกว่า ความงามแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน)
ตึกร้านขายของเล่นปากตรอกสะพานญวน ย่านนี้เคยมีชาวเวียดนามอพยพมาอาศัย มีแม้กระทั่งที่พำนักของ ซุนยัดเซ็น ครั้งท่านมาเยือนไทยระยะเวลาหนึ่ง อาคารนี้สีสันสดใสจากสีครีม ตัดด้วยขอบหน้าต่างสีน้ำตาลที่มีบานหน้าต่างสีฟ้า และเห็นทั้งด้านหน้ากับด้านข้าง มีกันสาดน่ารักเล็กๆรับกับหน้าต่าง ถูกใช้งานเป็นร้านของของเล่นที่มีกันสาดผ้าใบยุคใหม่สีสด
เป็นอาคารที่ 2 ที่ไม่รู้ที่มาหรือย่านรอบๆ
ปกติถ้าไม่รู้ตึกก็ต้องรู้ย่าน หรือแหล่งบ่งชี้
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยมีน้อยเพราะ
1.ส่วนกลางรวมศูนย์กด สร้างแต่ภาพจำส่วนกลาง
2.การจัดเก็บระบบข้อมูล ไม่มีคลัง กระจาย
3.ขาดคนทำด้านนี้จริงจัง เพราะนโยบายอาจไม่มี
แต่คาดว่าตึกนี้เกี่ยวกับย่านเวียดนามจากชื่อ
หรือรูปแบบก็ธรรมดาคล้าย shop house ปกติ
ที่น่ารักคือสีและการตกแต่ง มีกันสาดเหนือหน้าต่าง
ใช้คู่สีน้ารักหวานตัดเข้ม ดีสุดคือเห็นด้านข้าง
ความกว้างอาจไม่มากหรือพื้นที่ด้านในอาจมีซ่อน
แค่ภายนอกล้อไปตามแนวถนน
ขายของเล่นแบบส่งในย่านขายสินค้าเกษตร
สีกันสาดที่หลายคนมองว่าไม่งาม แต่เหมาะกับใช้
กันสาดมีเพราะอาคารปกป้องมรสุมได้ไม่ดีพอ
คนส่วนมากให้ความสำคัญเยาวราช
แต่เพิ่งทราบว่าจริงๆแล้ว สำเพ็ง ทรงวาด สำคัญกว่า
ทรงวาดเป็นแหล่งมหาเศรษฐีของไทย
เพราะทำเลเอื้อการทำธุรกิจ ศูนย์รวมและกระจาย
เริ่มแต่เรือ รถ จนถึงรถไฟ
ระบบซอยจากถนนอาจเป็นเส้นแรกในพระนคร
เครือข่ายซับซ้อนทั้งถนนและคน นานาชาติ
ยังไม่ได้ตามต่อเรื่องชุมชนคนเวียดนาม
คาดว่าคงมีข้อมูลน่าสนใจ อาจโยงถึงอนัมนิกาย
เดินไปตามทาง จนพบแยกใหญ่ที่จะออกไปทางเยาวราช จะมีตรอกเล็กๆ สังเกตจากตึกเก่าปิดมุมสามด้าน ตึกนี้ก็สวยนะ หลายคนชอบถ่ายรูปกัน
แต่เราพบว่ามีอีกอาคารหากเดินเข้ามา ที่รูปร่างของทรงหลังคาโค้งเป็นโดม เป็นงานแกะสลักไม้ประณีต หาที่มาไม่พบ ซึ่งส่วนตัวคาดเดาจากรูปแบบว่าอาจเป็นงานกลุ่มอิสลามหรือไปทางชาติอื่น เพราะความประณีต ไม่ใช่ฝีมือแบบไทยหรือจีน ด้านล่างเป็นอาคารตึกยุคใหม่แบบโมเดิร์น จึงเป็นความแปลกตาที่เหมือนการผสมยุคสมัยทางศิลปะ ลึกลับเพราะอยู่ในซอก และหาประวัติไม่ได้จากเอกสารส่วนกลาง เป็นความงามเฉพาะถิ่นสงวนไว้ด้วยเวลา
ตึกที่เดาอะไรไม่ได้ ไม่มีอะไรจะเล่า
มันเหมือนมืด และสนุก เพราะติดค้างในใจ
มีความโมเดิร์นผสมเครื่องไม้ แถมด้วยหลังคาโค้ง
ดูผิดแปลกแตกต่างในแต่ละยุค ไม่เคยเจอ
เหมือนสร้างคนละยุคแล้วต่อขึ้นไปของตึกอิฐ
แต่ดันสวมด้วยหลังคาโค้งจากไม้ แถมยอดสัญลักษณ์
ตลกบางคนบอกสวยคลาสสิก
จะคลาสสิกได้ต้องมีรูปแบบ
หรือคนในบางกลุ่ม ที่นิยมอนุรักษ์ด้วนอักษร
มักชอบแช่งแข็งทุกอย่าง ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีต้นทุน
การหาที่มาแล้วพยายามเข้าใจมันสนุก
เราเรียนรู้และอยู่ร่วมกันได้ เพราะปรับตัวจึงรอด
ตึกเก่า แต่ก่อนก็ใหม่ นานไปมันต้องอยู่ ใช้
บางอย่างไม่สวยแต่อยู่สบาย ในช่วงนั้นๆ
ชอบตึกนี้เพราะความลึกลับและรูปแบบงุนงง
ไม่กล้ากดออดคุยเจ้าของบ้าน
แถมหลบในซอก ที่อยู่ในซอย มุมอับ
ตึกลับที่เราจะแวะไปเสมอแน่แท้ถ้าผ่าน
ไปยืนจ้องมอง ค้นหาคำตอบ สิ่งแวดล้อม
บางทีคำตอบคงเป็น ปริศนาเงียบแบบเสี้ยนตำ
เดินออกมามุ่งไปตามถนนทรงวาดเช่นเดิม จนผ่านวัดปทุมคงคา ที่มีตึกแถวยาวเป็นรั้ววัด ตรงนี้มีร้านของถังไม้น่ารัก และฝั่งตรงข้ามมีร้านก๋วยเตี๋ยวแบบริมทาง เครื่องต้มน้ำซุปหอมเสมอ มีคนนั่งกินหลายคนตลอดเวลาที่เดินผ่าน เคยแวะชิมด้วยนะ หรือกลุ่มร้านอะไหล่เครื่องจักรยนต์ น่าถ่ายรูปเพราะความดิบเทห์ จนถึงแยกใหญ่ถนนตัดกัน
ฝั่งตรงข้ามจะเห็นตึกสีเหลืองมีทรงสูงและยาวไปด้านข้าง เดินมาจนพบนกยูงปูนปั้นที่พอเหลือเค้าเดิม กับอักษรห้าบันตึกว่า ลออหลิ่มเซ่งท่าย (สืบค้นเอกสารจนพบว่าคุณยายท่านนี้มีคุณูปการทางศาสนาและการศึกษา และสันนิษฐานส่วนตัวว่าเป็น แลนด์ลอร์ด ยุคนั้นเพราะท่านมีที่ดินและบริจาค สร้างโรงเรียนลอออุทิศ บริจาคให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศ ฯลฯ) รูปแบบอาคารก็น่าสนใจเป็นแบบยุคโมเดิร์นที่มีการผสมการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ทรงแปลกไม่ค่อยมีทำเป็นตึกแถวแนวยาวขนานถนนแล้วมีอาคารสูงแบบหอคอยเหลี่ยมยุคใหม่ตรงมุมถนนที่ตัดเป็นสี่แยกคล้ายมุขที่โดนยืดขึ้น ใช้สีเหลืองเด่นเป็นสง่า รูปปูนปั้นนกยูง(อาจเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวท่าน ลองสังเกตอีกนิดว่าด้านบนสุดมีสัญลักษณ์คล้ายนกยูงที่ลดทอนเหมือนพระอาทิตย์ ตรงนี้เพิ่งสังเกตเองว่าคล้ายตึกในตรอก ที่มีสัญลักษณ์นี้ และรูปแบบอาคารโมเดิร์นผสมก็คล้ายกัน)
ตึกที่มีดอกไม้ สายลม แสงแดด
สองปีที่เดินทางไปกลับบ้านกับตจว.ด้วยรถไฟ
ผ่านตึกนี้บ่อยเพราะเดินจากหัวลำโพงไปสวนกุหลาบ
หลังขึ้นรถไฟเที่ยวเช้ามืดจากที่ทำงานมาก๋วยเตี๋ยวรู
ขากลับเดินผ่านตลาดน้อยมาเยาวราชตัดสำเพ็ง
ไปโผล่อีกทีปากคลองตลาดที่คุ้นเคย mrt เพิ่งมี
ตึกสีเหลืองแปลกตาเพราะกินพื้นที่หัวมุมทั้งสูงขึ้นอีก
สร้างแบบสมัยใหม่ คงเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว
ชื่อบนอาคารตอนแรกไม่ใส่ใจจนได้ทำตึกจิ๋วนี้
ค้นเจอว่าตระกูล และชื่อเจ้าของอาคารเป็นใคร
ตระกูล หลิมเซ่งท่าย โดยคุณยายละออ ท่านมีชื่อ
เดิมเป็นเครือญาติเจ้าสัว(เจ๊ซัว) ที่ตลาดน้อย
ชุมชนท่านานาชาติ เจ้าสัวมากมาย มีบ้านสมัยร.3
คุณยายอาจเป็น เจ้าที่ดิน อีกท่านในยุคนั้น
บริจาคที่เพื่อการศึกษาหลายแห่ง
ดังสุดคง ละอออุทิศ หรือ วัดไตรมิตร อาชีวะตลาดน้อยตรงกรมเจ้าท่า หรือใกล้วัดโพธิ์ รวมถึงตึกในวัดบวรนิเวศฯ เหมือนท่านแสดงเจตจำนงค์ด้านการสร้างรากฐานการศึกษาและศาสนา
เดิมผมคิดว่ารูปปั้นหน้าอาคารด้านถนนมุ่งไปเยาวราช เป็นหงส์ แต่มาคิดว่าอาจเป็น นกยูง เพราะอาคารชื่อบางอย่างที่ใช้กับงานศาสนาพุทธ และโครงสร้างเหล็กเส้นที่เหลือของประติมากรรม คล้ายท่าแพนหาง เพราะหงส์คงไม่มีท่าแบบนี้ และคุณยายเลื่อมใสศาสนาตามบันทึกที่อ่านเจอ
นอกจากอักษรป้ายหน้าบันด้านบนที่ทำให้สืบค้นได้ ด้านล่างใกล้ประตูบานเฟี้ยมไม้มีชื่อภาษาต่างชาติ อาจเป็นกิจการเดิมที่แสดงถึงห้างร้าน ส่วนอาคารทางไปถนนที่บรรจบกับเจริญกรุง เป็นอาคารทรงสูงคล้ายหอคอยเด่นสง่าบนฐานอาคารชุดนี้เป็นแนวยาวและอาคารปิดมุม ผสมทั้งสามรูปแบบของลักษณะการใช้งาน ที่น่าสนใจคือแม้รูปแบบจะเหมือนยุคโมเดิร์น แต่คำนึงถึงกันสาดเหนือทางเดินเท้าด้านล่างแบบ shop house ทางภูมิภาคมรสุม เช่นที่เมืองภูเก็ต
แค่เปลี่ยนการเจาะเป็นซุ้มเดินลอดเป็นกันสาดแนวยาวบังทางเท้าให้ ด้านหน้าตรงนี้จึงก่อกันสาดเป็นทรงโค้งประดับปูนปั้นด้านบน น้อยอาคารริมถนนจะทำแบบนี้ได้ สื่อถึงความทันสมัยและสถานะ ต่างจากการใช้งานทั่วไป หรือพยายามแสดงตัวตนของเจ้าของผ่านภาษาสถาปัตยกรรม ไม่ใช่อาคารแถวชุดที่สร้างแบบมาตรฐาน
ชอบมองต้นไม้รากย้อย เปลี่ยนทุกฤดู เหี่ยวแห้งสีน้ำตาลกรอบ เป็นเขียวสดชื่น และมีดอกไม้แซมให้เห็นบางจังหวะเวลา จำไม่ผิดมีทั้งม่วงและเหลือง
ไม่ไกลกันทั้งเส้นถนน จะพบร้านบ้านตึกเก่ายาวเป็นแถบ หน้าตาแบบนี้แต่มีต้นไม้ประดับ หรือกลิ่นอาหารจีน ขนมอบเครื่องเทศ อาหารแปรรูป การเดินดื่มด่ำยามเช้าต่างจากช่วงเวลาอื่นๆ แต่ยามสายหรือบ่ายให้เดินตัดเข้าทรงวาด
จะเห็นบรรยากาศขนเมล็ดพันธุ์หรือกลิ่นเครื่องเทศอีกแบบที่ไม่ใช่การปรุงอาหาร
อาคารนี้เป็นแรงบันดาลใจ ให้ลองทำงานชุดเยาวราชโดยซ่อนสัญลักษณ์สัตว์บางอย่าง ตามประวัติที่ค้นมาได้ คล้าย easter egg ซึ่งสนุก และถ้ามีโอกาสอยากให้ค้นหา
หวังว่าจะได้ทำงานชุดใหม่ๆ เล่าเรื่องจากการค้นหา ดัดแปลงข้อมูลสู่งานออกแบบ เคยเจอกรณีไม่น่ารักของร้านค้าที่นำมาทำตึกจิ๋ว แต่ด้วยเจตนาและหวังค่ามีคนชอบ ไปเดินดู ค้นคว้า และอุดหนุนย่านชุมชน เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่แช่แข็งหรือบอกเพียงภาพและอักษร
ตรงแยกนี้สามารถเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าสถานีหัวลำโพง หรือนั่งรถประจำทางสาย 1 (ผ่านเยาวราช) หรือดินไปทางบางรักได้ตามถนนเจริญกรุงทางขวาตัดผ่านย่านตลาดน้อย อาหารร้านค้าแถวนี้มีน่าสนใจ หรือลัดเข้ากรมเจ้าท่า ท่าน้ำสี่พระยาก็ไปได้
หวังว่าจะสนุกกับผลงานชุดนี้ของเรา blue bangkok
ขอบคุณที่สนับสนุนเราเสมอมา และขอให้ท่านมีความสุข
สมุดภาพงานต้นแบบปีหน้า แอบให้ดูว่ามีอะไรบ้าง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา