Mae Sot Media รายงานว่า ทหารของไทยได้ออกลาดตระเวนในเมืองแม่สอดตะเข็บชายแดนเมียนมา-ไทย เนื่องจากกระสุนปืนใหญ่จำนวนหนึ่งจากกองกำลังทหารเมียนมาพลัดตกที่ฝั่งไทยด้านอำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีบ้านเรือนประชาชน 2-3 หลัง ได้รับผลกระทบ
ภายหลังการสังหารหมู่ในหมู่บ้านโมโซ รัฐคะเรนนี องค์กร Save the Children ได้ออกแถลงการณ์ในคืนวันคริสต์มาส ประณามการโจมตีโดยกองกำลังทหารเมียนมาในเมืองพะยูโซ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ของ Save the Children 2 คน หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะทำงานสังคมสงเคราะห์ในชุมชนใกล้เคียง คำแถลงยืนยันว่า พบยานพาหนะส่วนตัวของพวกเขาถูกทำลายและถูกไฟเผา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงยังคงจงรักภักดีต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และต่อสู้กับญี่ปุ่นและพันธมิตรของขบวนการชาตินิยมเมียนมา ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเกลี้ยกล่อมรัฐบาลอาณานิคมให้สร้าง ‘รัฐกะเหรี่ยง’ เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงนำโดย ซอบาอูจี (Saw Ba U Gyi) จึงก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเพื่อเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อเอกราช ในไม่ช้าพวกเขาก็ได้จัดตั้งองค์กรป้องกันดินแดน และบุกเบิกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง เพื่อปกป้องชุมชนชาวกะเหรี่ยง
ซอบาอูจี (Saw Ba U Gyi)
The Rangoon Nation รายงานว่า ในวันคริสต์มาสอีฟ ปี 1948 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษมอบเอกราชให้กับประเทศเมียนมา ขณะที่มีประชาชนชาวกะเหรี่ยงประมาณ 80 คน ถูกสังหารในเมืองปุล่อ (Palaw) ภูมิภาคตะนาวศรี ในเหตุการณ์การขว้างระเบิดมือเข้าไปในโบสถ์คริสต์ กองกำลังทหารเมียนมาเริ่มปฏิบัติการโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงหลายชุมชน รวมทั้งในย่างกุ้งและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอยาวดีหรืออิระวดี ปฏิบัติการโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงในครั้งนั้นถูกบันทึกไว้ในหนังสือ The Union of Burma: A Study of the First Years of Independence (1957) โดย ฮิวจ์ ทินเคอร์ (Hugh Tinker) บรรยายว่า ทั่วทั้งเดลตา (หมายถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี) ท้องฟ้ายามค่ำคืนเปลี่ยนเป็นสีแดงจากเปลวไฟที่ลุกไหม้เผาหมู่บ้าน