5 ม.ค. 2022 เวลา 15:00 • สุขภาพ
ยาแก้ปวด #ทันใจ #ทัมใจ คือยาอะไร⁉
.
หลายคนคงเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง เจ้ายาแก้ปวดซองเล็กๆเขียวๆ "ทัมใจ" หรือชื่อเดิม ทันใจ ไม่ว่าจะเห็นตามร้านขายยาหรือจากคนในบ้านใช้หรือเราใช้เองก็ตาม ทราบหรือไม่ว่าคือยาอะไร มีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ และทำให้แพ้ได้หรือไม่❓ วันนี้มาทำความรู้จักยาทัมใจกัน...
.
ยาทัมใจ คืออะไร
คำว่า "ทัมใจ" เป็นเพียงชื่อการค้า หรือที่เราเรียกว่า ยี่ห้อ เท่านั้น ตัวยาที่แท้จริงคือ #แอสไพริน (𝐴𝑠𝑝𝑖𝑟𝑖𝑛) หรือ อะซิทิลซาลิไซลิก แอซิด (𝐴𝑐𝑒𝑡𝑦𝑙𝑠𝑎𝑙𝑖𝑐𝑦𝑙𝑖𝑐 𝑎𝑐𝑖𝑑)
ดังนั้นหลังจากนี้ เราจะขอเรียกยาทัมใจตามชื่อจริงของยาว่า ยาแอสไพริน (𝐴𝑠𝑝𝑖𝑟𝑖𝑛)
.
แอสไพริน (𝐴𝑠𝑝𝑖𝑟𝑖𝑛) คืออะไร
แอสไพริน เป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่นเดียวกันกับยา Ibuprofen, Ponstan(R), Diclofenac, Piroxicam เป็นต้น
.
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอสไพริน
ยาแอสไพรินจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งเอนไซม์ในร่างกายที่ทำให้เกิดสารอักเสบที่มีชื่อว่าไซโคลออกซีเจเนส (Cyclooxygenase) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ค็อกซ์ (COX)
นอกจากนี้ เอนไซม์ค็อกซ์ (COX enzyme) ยังไปกระตุ้นการสร้างสารที่ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่มีชื่อว่า ทร็อมบ็อกเซน-เอทู (Thromboxane-A2) ดังนั้น ผลที่ได้จากการใช้ยาแอสไพริน นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบแล้ว ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันได้ยากมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งขนาดยาที่สูงของแอสไพริน (ครั้งละ 375-650 มิลลิกรัม) จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ส่วนขนาดยาที่ต่ำของแอสไพริน (วันละ 75-150 มิลลิกรัม) จะได้ผลดีในแง่ฤทธิ์การต้านเกล็ดเลือด
1
ยาแอสไพรินสามารถดูดซึมได้ดีในระบบทางเดินอาหาร (หรือแม้แต่ดูดซึมเข้าทางผิวหนังโดยใช้ในรูปของยาทา) หลังการรับประทานยา ปริมาณยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ชั่วโมง และยาจะถูกทำลายที่ตับและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ 🚽
.
ตัวอย่าง: ชื่อการค้าของยาแอสไพริน
1
ทัมใจ, บวดหาย, ประสะบอแรด, ปวดบูรา, อาซ่าแทป (Asatab), แอสเพนท์-เอ็ม (Aspent-M), แอสพิเลทส์ (Aspilets), เบบี้แอสไพริน (Baby Aspirin), บี-แอสไพริน 81 (B-Aspirin 81) เป็นต้น
.
สรรพคุณของยาแอสไพริน:
✅ ใช้เป็นยาลดไข้ แก้อาการตัวร้อน (Fever) ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคไข้เลือดออก อีสุกอีใส หรือไข้หวัดใหญ่
✅ ใช้เป็นยาแก้อาการปวดทุกชนิด (Pain) เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดหู ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดประจำเดือน ปวดแผล เป็นต้น
1
✅ ใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บปวดบวมจากภาวะการอักเสบของข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคข้อเสื่อม, ข้ออักเสบจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นต้น
✅ มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด จึงมีการนำมาใช้เพื่อลดภาวะการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจ (โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ)
✅ ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน , ใช้รักษาและป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ใช้รักษาและป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
🧑🏻‍⚕️ ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาได้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
.
⚠ ผลข้างเคียงของยาแอสไพริน
1. ผลข้างเคียงของยาแอสไพรินที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น) กระเพาะอาหารอักเสบ ถ้ารุนแรงอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำได้ (ผลข้างเคียงนี้จะพบบ่อยขึ้นในผู้ใช้ยาที่มีอายุมาก)
2. เกิดภาวะกรดไหลย้อน ปวดแสบยอดอก อาหารไม่ย่อย จุกเสียดท้อง ปวดท้อง เบื่ออาหาร ตับอักเสบ มีไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง
3. อาจทำให้โรคภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ กำเริบได้
4. อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคัน บวมที่ตา ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือช่องคอ หายใจลำบาก หอบหืด หรือภาวะช็อกจากการแพ้
5. ถ้ารับประทานยานี้เกินขนาดมาก ๆ เช่น เด็ก 4 กรัม ผู้ใหญ่ 20-25 กรัม อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) และเป็นอันตรายได้‼️
.
รูปแบบยาแอสไพริน
💊 ยาเม็ด ขนาดหรือความแรงยาหลากหลายได้แก่ 60, 80, 81, 125, 162, 162.5, 227.5, 300, 325, 500, 600, 650, 800, 975, 1,000 และ 1,200 มิลลิกรัม (บางขนาดปัจจุบันอาจจะยกเลิกการผลิตแล้ว)
💊 ยาผง ขนาดหรือความแรงยา 650 มิลลิกรัม เช่น ยาทัมใจ
.
ประเภทยาตามกฎหมาย
เนื่องจากยาแอสไพรินมีหลายความแรง และแต่ละความแรงมีผลต่อการพิจารณาเลือกใช้ในการรักษาโรค หรือ มีผลต่อผลข้างเคียงมาก, น้อยจากการใช้ยา ดังนั้นยาตัวนี้จึงมีประเภทตามกฎหมายหลายประเภทเช่นกัน โดยอ้างอิงการแบ่งประเภทตามความแรงยาและข้อบ่งใช้ยา
▪ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 33 จัดให้ยาแอสไพริน ⚠ เป็นยาควบคุมพิเศษ (ยกเว้นที่ใช้สำหรับแก้ปวด ลดไข้)
▪ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 22 บางสูตรของยาแอสไพรินที่ใช้สำหรับแก้ปวด ลดไข้ จัดเป็น ⚠ ยาอันตราย, บางสูตร จัดเป็นประเภท ยาบรรจุเสร็จ ที่ต้องแสดงรายละเอียดแก่ผู้บริโภค
▪ ยาแอสไพริน ความแรง 325 mg ถูกยกเลิกการเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน
.
ดังนั้นไม่ว่าจะยาแอสไพริน รูปแบบใดก็ตาม มีข้อควรระวังในการใช้ ข้อห้ามใช้ และมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก การใช้ยานี้จะต้องใช้อย่างระมัดระวังและใช้ยานี้เมื่อได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น หากหาซื้อเองตามร้านขายยาควรให้เภสัชกรเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยเสมอ
.
⚠ ก่อนใช้ยาแอสไพริน
ข้อมูลที่ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
▪ ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาแอสไพริน (Aspirin) และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวอื่น รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
▪ โรคประจำตัว อาการ หรือโรคที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเฉพาะโรคกระเพาะหรือแผลในกระเพาะอาหาร,โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือเลือดออกง่าย, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้, โรคตับ, โรคไต, นิ่วในไต, โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือมีปัญเรื่องโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจ เป็นต้น
▪ หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
▪ ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร เพราะยาสามารถถูกขับออกมากับน้ำนมและส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในทารกได้
.
"ยาแอสไพรินเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี แต่ก็มีรายละเอียดการใช้ยาในขนาดของยาที่ใช้ วิธีการรับประทานยา และข้อควรระวังในการใช้ยาที่แตกต่างกันไป หากผู้ใช้ยานี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับยาและใช้ยาอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาและช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลงได้"
.
.
ขอบคุณข้อมูลจาก:
โฆษณา