Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
7 ม.ค. 2022 เวลา 07:49 • ศิลปะ & ออกแบบ
Patani Artspace: เหยียบย่ำ ยิ้มเยาะ เลือดเย็น ศิลปะจากชายแดนใต้ที่ไม่ยอมจำนน
นักปรัชญาฝรั่งเศสคนสำคัญอย่าง ชีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) เคยพูดไว้ทำนองว่า หน้าที่ของดนตรีคือการทำเสียงที่ไม่มีวันได้ยินให้ดังสนั่นกังวาน ส่วนหน้าที่ของภาพเขียนคือการทำสิ่งที่ไม่มีวันมองเห็นให้ปรากฏปะทะสายตา อาจกล่าวในทำนองเดียวกันได้ว่า หน้าที่ของศิลปะคือการทำสิ่งที่ไม่มีทางรับรู้ได้ ให้รับรู้ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำให้สิ่งที่ขาดหายหรืออยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส เกิดปฏิสัมพันธ์กับประสาทสัมผัส
ภายใต้คำถามแห่งประวัติศาสตร์ภาพเขียนที่ว่า “เราจะมองเห็นพลัง (force) ที่ไม่มีวันมองเห็นได้อย่างไร” ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) เป็นจิตรกรคนหนึ่งที่เดอเลิซเห็นว่าพยายามตอบคำถามได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะภาพที่เบคอนวาด คือการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เช่น การกรีดร้อง กับพลังที่มองไม่เห็น (invisible force) เช่น ความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อชีวิตประจันหน้ากับความตาย
สำหรับเดอเลิซ สิ่งที่ปรากฏในงานของเบคอนคือสถานการณ์ที่ชีวิตสัมผัสได้ถึงความตาย และเมื่อชีวิตสัมผัสได้ถึงความตาย การกรีดร้องก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความตายปรากฏตัวขึ้น
Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953)
Study for the Nurse from the Battleship Potemkin (1957)
ฟรานซิส เบคอน เป็นภาพลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนงานของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวปัตตานี หากมองเข้าไปในงานของเขาซึ่งแขวนอยู่บนผนังในห้องแสดงงานศิลปะ ณ Patani Artspace เราจะมองเห็นใบหน้าบิดเบี้ยวแบบเดียวกับที่มีในงานของเบคอน แต่ที่ต่างไปคือ บนศีรษะของเจ้าของใบหน้านี้กำลังสวมชฎา (ซึ่งเป็นเหมือนลายเซ็นของอนุวัฒน์) ลำตัวสวมคลุมด้วยเสื้อคอปกลายพราง แขนทั้งสองข้างกำลังประคองเหน็บวัตถุรูปร่างคล้ายปืนอยู่
องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านี่คือการปรากฏตัวของทหารที่อ้างอิงอำนาจชนชั้นสูง (อย่างที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าชฎามีสถานะเป็น ‘ของสูง’) ส่วนสิ่งที่ปรากฏบนใบหน้าที่บิดเบี้ยว ก็มีรูปร่างที่ทำให้รู้สึกถึงความเหิมเกริม ราวกับมันกำลังยิ้มเยาะอะไรบางอย่างอยู่ ข้อสังเกตดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้มากขึ้น หากลองเปรียบเทียบใบหน้าดังกล่าวกับ ‘Trollface’ ภาพการ์ตูนที่ใช้เป็นมีมสำหรับเย้ยหยันบุคคลอื่น
trollface
คำถามคือ ทหารชนชั้นสูงนายนี้กำลังเย้ยหยันอะไร?
หากมองไปยังภาพที่จัดแสดงในห้องเดียวกัน เราจะพบร่างกายมนุษย์ที่ถูกตรึง เหยียบย่ำ เปลือยเปล่า และถูกทิ่มแทง ผลงานชิ้นหนึ่งในบริเวณเดียวกันแสดงร่างกายที่ไหล่ซ้ายขวาถูกย่ำด้วย ‘รองเท้าบูท’ วัตถุซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของบรรดาทหารทั้งหลาย โดยหากเราจินตนาการเชื่อมต่อให้บุคคลในภาพของอนุวัฒน์เป็นเจ้าของรองเท้าบูทนี้แล้ว ก็คงเห็นได้ไม่ยากว่า สิ่งที่ทหารผู้นี้กำลังเย้ยหยัน คือ ‘ความเป็นมนุษย์’
ความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ร้อยเรียงผลงานทุกชิ้นใน Patani Artspace เข้าไว้ด้วยกัน งานทุกชิ้นใน Patani Artspace คือการแสดงให้เห็นสิ่งที่ขาดหายไปในพื้นที่แห่งความรุนแรง พื้นที่ซึ่งเป็นสภาวะยกเว้น (state of exception) ภายใต้เอกสารราชการที่ชื่อว่า ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เอกสารกฎหมายซึ่งทางพฤตินัยดูจะใหญ่คับฟ้ายิ่งกว่ากฎหมายสูงสุดอย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’
สถานะบุคคลทางกฎหมายปรากฏชัดเจนผ่านความเป็นพลเมือง ภาพถ่ายบนบัตรประชาชนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของการเป็นพลเมืองในรัฐรัฐหนึ่ง ทั้งนี้ ภาพถ่ายบนบัตรประชาชนก็ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพที่บุคคลหนึ่งพึงมีในรัฐเท่านั้น ตรงกันข้าม ในหลายๆ โอกาส เราจะเห็นภาพถ่ายบัตรประชาชนปรากฏบนเอกสารที่บ่งบอกถึงการเป็นบุคคลอันตรายซึ่งรัฐสามารถใช้อำนาจและความรุนแรงในการเบียดบังสิทธิเสรีภาพได้ อย่างในพื้นที่เมืองปัตตานี เราจะเห็นภาพถ่ายบนบัตรประชาชนปรากฏอยู่ตามโปสเตอร์ที่มีข้อความเขียนกำกับว่า ‘อาชญากรรมความมั่นคง’ อยู่ตลอดทั้งเมือง (โดยเฉพาะตรงด่านทหาร)
สิ่งเหล่านี้ปรากฏบนแผ่นป้ายที่ถูกจัดวางไว้หน้านิทรรศการ ‘Stop! Torture’ (หยุด! ซ้อมทรมาน) มันคือแผ่นป้ายที่จำลองพื้นหลังบัตรประชาชนที่ถูกกำกับไว้ด้วยสัดส่วนความสูงอยู่ด้านหลัง โดยในวันเปิดนิทรรศการ แผ่นป้ายนี้เป็นหนึ่งในฉากสำหรับ performance art ที่ศิลปินจะมายืนเทียบความสูงกับแผ่นป้ายนี้ โดยศีรษะถูกมัดคลุมด้วยถุงดำ มือทั้งสองข้างถูกจับมัดไขว้หลัง จากนั้นผู้ชมผลัดกันปา ‘สีน้ำเงิน’ ใส่ศิลปินทีละถุงๆ ไปเรื่อยๆ การแสดงศิลปะชิ้นนี้จึงทำให้คิดได้ว่า เมื่อรัฐประกาศว่าใครเป็นภัยความมั่นคง หรือศัตรูของรัฐ (enemy of the state) ไปแล้ว เขาผู้นั้นก็อยู่ในสถานะที่เปลือยเปล่าซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ เขาผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อที่รัฐหรือบุคคลที่อ้างอิงกับอำนาจรัฐจะกระทำอย่างไรก็ได้ ไม่ว่านั่นจะเป็นสิ่งผิดมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงก็ตาม
ครั้นเดินกลับเข้าไปในตัวอาคารด้านหน้า เราจะถูกดึงสายตาด้วยกองทรายรูปคนที่มีตำแหน่งอยู่ตรงกลางห้อง เมื่อเดินเข้าไปใกล้มากขึ้นก็จะพบบรรดาหุ่นทหารตัวเล็กๆ ถือปืนเดินไต่อยู่ตามตัว ราวกับทหารเหล่านี้กำลังเดินกดทับ ฝังกลบซากศพโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘ผู้ถูกกระทำ’ ของ อิซูวัน ชาลี
เมื่อมองไปบนผนังที่ห้อมล้อมกองทรายรูปคนที่ฝังอยู่กลางห้าง ก็จะพบกับภาพและวิดีโอที่แสดงภาพคนกำลังนอนดิ้นทุรนทุรายบนผืนผ้าใบสีขาวที่ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง และเช่นเคย หัวของเขาถูกคลุมด้วยถุงดำ มือถูกจับมัดไขว้หลัง ทั้งหมดนี้คืองานของ เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินที่เป็นทั้งเจ้าของผลงานและผู้ก่อตั้ง Patani Artspace
การคลุมหัวด้วยถุงดำและจับมัดมือไขว้หลัง เป็นสูตรการซ้อมทรมานขั้นพื้นฐาน ในเชิงกายภาพมันคือการลดประสิทธิภาพการตอบโต้ของมนุษย์ผู้ถูกกระทำ มนุษย์ผู้ถูกกระทำสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถขยับเขยื้อน พูด หรือมองเห็น ได้อย่างมนุษย์ปกติกระทำกัน นั่นนำมาซึ่งการลดทอนสิ่งที่เป็นคุณค่าพื้นฐานอย่างเสรีภาพและมนุษยธรรม ทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏชัดในงาน ‘ความเจ็บปวดที่ปาตานี’ ของ มูฮัมหมัดซุรียี มะซู ซึ่งแทนภาพคนในพื้นที่ปัตตานีด้วยนก และถูกซ้อนทับด้วยข้อความภาษาไทยที่พูดถึงขั้นตอนการซ้อมทรมานในแต่ละแบบ พร้อมมีวงกลมสีแดงตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ บนร่างกาย
การมีบางอย่างซ้อนทับบดบังตัวตนดังกล่าว ดูจะล้อไปกับงาน ‘ดุอาอ์’ (ขอพร) ของ สูรีนา เจ๊ะมะ ที่เราอาจตีความให้เส้นด้ายที่บดบังร่างกายของหญิงชาวมุสลิมว่าเป็นดั่งลวดหนามของทหารที่กำลังทิ่มแทงและจำกัดอาณาเขต ไม่ให้เธอได้ขยับเขยื้อนได้อย่างมีอิสระ
การทิ่มแทงนี้ทำให้งานของ มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซะ ที่ชื่อ ‘Torture in Patani’ มีพลังขึ้นมา เพราะมันแสดงหุ่นที่รูปร่างและขนาดเทียบเท่ามนุษย์กำลังถูกท่อนเหล็กพุ่งเสียดตรึงร่างให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือ ‘มีชีวิต’ ได้
อย่างไรก็ดี ความรุนแรงไม่ว่าจะผ่านทางกฎหมาย การซ้อมทรมาน หรือการอุ้มหาย ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยคนคนเดียว ความรุนแรงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการโครงสร้าง เป็นความรุนแรงเชิงระบบที่ครอบงำไปถึงระดับวิธีคิด ทัศนคติ และการตั้งคำถาม งาน ‘Under 2021’ ของ กรกฎ สังข์น้อย แสดงสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน มันคือการแสดงภาพ ‘เท้า’ ขนาดใหญ่ ที่ในด้านหนึ่งทั้งกดคนจำนวนมหาศาลอยู่เบื้องล่าง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ต้องอาศัยคนจำนวนมหาศาลเบื้องล่างในการยกย่องเชิดชู ให้มันลอยอยู่เหนือหัวด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ร้อยเรียงงานศิลปะเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันคือ เสียงเรียกของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไป มองไม่เห็น ไม่ถูกได้ยิน การแสดงงานเหล่านี้ ตลอดถึงการมีอยู่ของ Patani Artspace จึงเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจดิบ อำนาจความรุนแรง กระทั่งอำนาจที่ ‘มองไม่เห็น’ เข้ากับสิ่งพื้นฐานที่ขาดหายไปอย่างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันเผยให้เห็นสิ่งที่อำนาจกระทำย่ำยีต่อความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็น
Patani Artspace จึงเป็นพื้นที่และชุมชนทางศิลปะที่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง เป็นพื้นที่ซึ่งทั้งเรียกร้องความยุติธรรม และปกป้องความเป็นมนุษย์
บางทีสิ่งที่อธิบายความหมายของงานศิลปะและสถานที่แห่งนี้ได้ดีที่สุด อาจเป็นคำพูดของ เจะอับดุลเลาะ ที่ว่า
“ผมไม่มีผลประโยชน์จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผลประโยชน์ของผมคือความเป็นมนุษย์ ตรงนี้ผมจะต้องปกป้องความเป็นมนุษย์ให้ได้ หน้าที่ผมทำแค่นี้”
อ้างอิง
Deleuze, Gilles. 2017. Francis Bacon: The Logic of Sensation. Bloomsbury Publishing. P. 41-46.
เรื่องและภาพ: อภิสิทธิ์ เรือนมูล
ชายแดนใต้
ซ้อมทรมาน
ปัตตานี
บันทึก
1
5
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย