Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wealth being
•
ติดตาม
11 ม.ค. 2022 เวลา 10:53 • คริปโทเคอร์เรนซี
อะไรก็ตามที่คงอยู่มานานเกินชั่วอายุคน คนรุ่นหลังจะเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือความจริง และไม่สามารถจินตนาการถึงทางเลือกอื่นนอกเหนือจากสิ่งนั้นได้เลย
ระบบการเงินในยุคปัจจุบันก็เช่นกัน เราอาจมองว่าทุกอย่างปกติดี และเข้าใจว่าโลกมันต้องเป็นแบบนี้แหละ โดยที่ไม่รู้เลยว่าระบบการเงินที่เราอยู่นั้นมันบิดเบี้ยวเละเทะ มันถูกควบคุมแทรกแซง และลิดรอนเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างรุนแรงที่สุด
1
เราไม่อาจจินตนาการถึงโลกของเงินที่มั่นคง และการมีเสรีภาพระดับบุคคล อย่างที่คนรุ่นก่อนๆเคยใช้ชีวิตอยู่ได้เลย นกที่เกิดในกรงย่อมไม่มีวันเข้าใจความงดงามของท้องฟ้ากว้าง
1
ในยุคที่รัฐบาลยังไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าอย่างทุกวันนี้ บทบาทของรัฐถูกจำกัดอยู่แค่เพียงการปกป้องพรมแดน ปกป้องทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนเท่านั้น
ในยุคที่ยังไม่มีธนาคารกลางมาควบคุมอุปทานเงิน การใช้เงินของรัฐก็จะตั้งอยู่บนความรับผิดชอบและความยั้งคิดมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าจะใช้เงินทำอะไรก็ได้เพราะมีความสามารถพิมพ์เงิน
รัฐควรจะเป็นคนควบคุมเงินหรือไม่? เสรีภาพทางการเงินมันเป็นอย่างไร? บทความนี้จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเงิน เสรีภาพ และอำนาจรัฐ มาเริ่มกันเลยครับ
📌แนวคิดเศรษฐศาสตร์หลากหลายสำนัก
ในยุคของเงินตรารัฐบาล เงินคือสิ่งที่รัฐเป็นคนกำหนด รัฐจึงสามารถจะทำอะไรกับเงินก็ได้
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสำนักเคนเซียนคือคำหลอกลวงแห่งยุคสมัย ที่สนับสนุนการให้อำนาจในการบริหารอุปทานเงินแก่รัฐ ซึ่งมันเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก
John Maynard Keynes เป็นนักลงทุนและนักสถิติตกอับที่ไม่เคยศึกษาเศรษฐศาสตร์ แต่เขามีเส้นสายกว้างขวางกับชนชั้นปกครองในอังกฤษ ทฤษฎีของเขาจึงถูกยกระดับเป็นความจริงทางเศรษฐศาสตร์ แม้มันจะมีความตรรกะวิบัติอยู่มาก
เศรษฐศาสตร์สำนักเคนเซียนให้ความสำคัญกับระดับการใช้จ่ายมวลรวมของสังคม ถ้าใช้จ่ายมากแปลว่าเศรษฐกิจดี และภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเป็นผลมาจากการลดระดับการใช้จ่าย
สำหรับเคนส์แล้ว การกระตุ้นการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและประชาชนสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มอุปทานของเงิน การพิมพ์เงินเพิ่มจึงเป็นเหมือนยาวิเศษของเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจเลยว่ายาวิเศษนี้จะทิ้งผลข้างเคียงอะไรไว้ในระยะยาว
ทั้งที่จริงๆแล้ว การพิมพ์เงินนั่นแหละคือต้นตอของปัญหา การบริหารอุปทานเงินนั้นคือปัญหาที่ปลอมตัวมาเป็นแนวทางในการแก้ไขของตัวมันเอง มันมีแต่จะทำให้เศรษฐกิจแย่และต้องพังลงในสักวัน
1
อีกหนึ่งสำนักความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลคือ “Monetarist” หรือการเงินนิยม แนวความคิดนี้ส่วนใหญ่จะคล้ายกับเคนเซียน มีเพียงข้อโต้แย้งเล็กๆน้อยๆเท่านั้น
Monetarist ถูกให้พื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดมากเกินเหตุ เพื่อสร้างบรรยากาศของการถกเถียงกับเคนเซียน เป็นละครปาหี่ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ผู้คนไม่สามารถคิดไปนอกกรอบของข้อถกเถียงนี้ได้
การถกเถียงนั้นตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า รัฐควรบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างไร? แต่ไม่เคยคิดถึงคำถามที่ว่า “รัฐควรบริหารจัดการเศรษฐกิจหรือไม่?
1
นั่นคือคำถามที่นำไปสู่แนวคิดตลาดเสรี เป็นแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน ที่สั่งสมกันมานานเป็นพันปี แต่กลับถูกกดให้ไม่มีที่ยืนในปัจจุบัน
แนวคิดแบบออสเตรียนมุ่งทำความเข้าใจสิ่งต่างๆตามหลักเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่หมกมุ่นกับสมการคณิตศาสตร์อันซับซ้อนที่ใช้ไม่ได้จริง
แนวคิดแบบออสเตรียนให้ความสำคัญกับการออม เพื่อสั่งสมทุนทรัพย์และลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เป็นแนวคิดที่ปลูกฝังการลดระดับ Time preference ของสังคม เมื่อสังคมชะลอการบริโภคในปัจจุบันออกไป สังคมนั้นก็จะมีระดับการบริโภคมากกว่าในระยะยาว
ผิดกับแนวคิดแบบเคนเซียนที่ปลูกฝังวัฒนธรรมการบริโภคเกินตัว มันทำให้ผู้คนใช้จ่ายซื้อสิ่งที่เขาไม่ได้ต้องการจริงๆ เพียงเพราะไม่อยากเห็นเงินเสื่อมค่าลงต่อหน้าต่อตา มันเป็นแนวคิดที่ทำให้สังคมมีระดับ Time preference สูงมาก
หากเทียบกับการทดลองมาร์ชเมลโลวของเด็ก เคนเซียนนั้นสนับสนุนให้เด็กหยิบมาร์ชเมลโลวกินตั้งแต่ก้อนแรก และจะทำการลงโทษเด็กที่รอ โดยหักมาร์ชเมลโลวออกครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ออสเตรียนให้รางวัลเด็กที่รอเป็นตามสมควร
📌เงินที่ไม่มั่นคงและสงคราม
ปี 1914 ถือเป็นปีแรกที่โลกก้าวออกจากมาตรฐานทองคำไปสู่ยุคของเงินที่ไม่มั่นคง และมันยังเป็นปีแรกที่เกิดสงครามใหญ่ระดับโลก และหลังจากนั้นก็ยังมีสงครามเกิดขึ้นอยู่เรื่อยมา
มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกัน มีเหตุผลอยู่สามประการที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างเงินที่ไม่มั่นคงและสงครามอันไม่จบสิ้น
1.)เงินที่ไม่มั่นคงนั้นเป็นกำแพงที่กีดกันการค้าระหว่างประเทศ มันทำให้มูลค่าของสินค้านำเข้า-ส่งออกถูกบิดเบือน และทำให้กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าออกประเทศ กลายเป็นประเด็นทางการเมือง
เมื่อสินค้าและเงินทุนไม่สามารถข้ามพรมแดนได้ สิ่งที่ข้ามไปจึงกลายเป็นทหารและระเบิดแทน
2.)เมื่อรัฐสามารถพิมพ์เงินได้ รัฐจึงสามารถผลิตเงินมาทำสงครามได้เรื่อยๆ จนกว่าค่าเงินจะพัง ไม่ใช่จนกว่าเงินจะหมดลง
หากเงินมั่นคง งบประมาณสงครามจะถูกจำกัดอยู่แค่ปริมาณภาษีที่เก็บได้ และเมื่อประชาชนไม่สนับสนุน สงครามก็จะต้องจบลงอย่างรวดเร็ว
3.)เงินที่ไม่มั่นคงส่งผลให้ผู้คนมีระดับ Time preference สูง และกระหายผลตอบแทนตรงหน้าโดยไม่สนอนาคต หวังที่จะชนะ ยึดครอง และมีอำนาจเหนือผู้อื่น
หากสังคมมีระดับ Time preference ต่ำ ก็จะเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง มันทำให้ทุกฝ่ายเสียหายและผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่าเลยถึงแม้จะชนะก็ตาม สังคมที่มีอารยะแบบนั้นจะนำไปสู่การร่วมมือกันมากกว่า
ในยุคของเงินที่มั่นคง เงินทุนนั้นเป็นข้อจำกัดของปฏิบัติการสงคราม การร่วมสงครามจำเป็นต้องระดมเงินภาษีจากประชาชน มันจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน
ในโลกแบบนั้น ประชาชนจะสนับสนุนด้านการป้องกันประเทศ มากกว่าการไปรุกรานประเทศอื่น กลยุทธ์การตั้งรับจึงมักจะได้เปรียบกว่าการรุกรานโดยธรรมชาติ เหล่าทหารจะมีหน้าที่เพียงปกป้องประเทศจริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น
ตามหลักทฤษฎีเกม จะไม่มีใครอยากรุกรานประเทศอื่น จะไม่มีใครอยากเป็นคนเริ่มสงคราม เพราะนั่นคือวิธีที่ดีที่สุดที่รัฐจะได้รับการสนับสนุน
แต่ภาพในปัจจุบันนั้นมันตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลต่างๆในประเทศที่เจริญแล้วให้งบประมาณกับการทหารมาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามก็เฟื่องฟูมากในหลายประเทศ
โลกอยู่ในสภาวะที่พร้อมที่จะห้ำหั่นกันตลอดเวลา สงครามยังคงไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่เงินยังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ตราบใดที่โลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้เงินที่มั่นคง
📌รัฐบาลที่มีอำนาจล้นฟ้า
ว่ากันว่าจุดจบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมทราม มันคือการพลิกผันครั้งใหญ่ หรือการที่แนวคิด Liberalism หรือเสรีนิยม ถูกแทนที่ด้วย Liberality หรืออารีนิยม
Liberalism นั้นมองว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือการทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรี ผู้คนสามารถรับผลประโยชน์และโทษจากการกระทำของตัวเอง
แต่ Liberality กลับมองว่ารัฐบาลมีบทบาทในการปกป้องผู้คนจากผลกรรมจากการกระทำของพวกเขาเอง รัฐจะต้องเป็นเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษที่สามารถให้พรได้ทุกประการ
รัฐบาลในรูปแบบ Liberalism นั้นเกิดขึ้นได้เพียงในโลกที่มีเงินมั่นคง ในโลกแบบนั้น รัฐสามารถหาเงินได้จาก 2 ช่องทาง นั่นคือ การเก็บภาษีและการขายพัธบัตร รัฐบาลจึงต้องทำตัวดีๆ เพื่อให้ได้รับความยินยอมจากประชาชน
1
ในทางกลับกัน โลกที่มีเงินไม่มั่นคง รัฐบาลจะมีช่องทางหาเงินทางที่สาม นั่นคือการผลิตเงิน สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลมีอำนาจล้นฟ้า และไม่จำเป็นต้องง้อประชาชนเลย
1
รัฐบาลสามารถนำเงินที่เสกขึ้นมานั้นไปซื้อความจงรักภักดีและความนิยม ผ่านโครงการสวัสดิการต่างๆที่รัฐคิดจะทำ จากแนวคิด Liberality ที่รัฐจะต้องดูแลประชาชน ทำให้ประชาชนยอมสนับสนุนแผนการอะไรก็ตามที่รัฐกุขึ้นมา
โดยประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงค่าใช้จ่ายของกระบวนการนี้เลย เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ความจริงจึงจะปรากฎออกมา ในรูปแบบเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยนั่นเอง
กระบวนการนี้ยิ่งอันตรายในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะเหล่าผู้ปกครองจะแข่งกันเพื่อเป็นผู้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ประชาชนก็จะเลือกคนที่ให้สิ่งดีๆกับพวกเขาได้มากที่สุด
1
ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นพิธีกรรมอุปทานหมู่ที่ทุกคนพร้อมใจกันฉีกกฏเศรษฐศาสตร์ โดยมีเงินที่ไม่มั่นคงเป็นใจกลางของความเพ้อฝันนี้ ที่ทำให้คนเชื่อว่ารัฐสามารถให้ทุกอย่างได้โดยไม่มีค่าเสียโอกาสเลย
2
ในความเป็นจริง การที่รัฐจะให้อะไรบางอย่าง ประชาชนก็ต้องจ่ายด้วยอะไรบางอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ราคาที่ต้องจ่ายอาจจะเป็นความจงรักภักดี สิทธิ์ในการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงชีวิต หรือโอกาสในอนาคต
ในระยะยาว เงินที่ไม่มั่นคงนี้จะทำให้รัฐมีอำนาจล้นฟ้า ที่สามารถควบคุมประชาชนได้ในทุกแง่มุมของชีวิต
ในทางกลับกัน เงินที่มั่นคงจะทำให้รัฐบาลที่ปกครองในรูปแบบใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย สาธารณรัฐ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็จะถูกจำกัดอำนาจด้วยเงินที่มั่นคง และประชาชนก็จะมีเสรีภาพได้ในระดับหนึ่ง
ที่จริงแล้วรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ หรืออะไรก็ตามแต่ที่โลกทุกวันนี้ให้ความสนใจ แต่มันคือระบบตลาดเสรี บนพื้นฐานของเงินที่มั่นคงต่างหาก
2
📌อำนาจเงินในโลกธุรกิจ
ในระบบตลาดเสรี ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ล้วนเป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่า เป็นธุรกิจที่สามารถแปลงต้นทุนเป็นผลผลิตที่มีค่ามากกว่าเดิมได้
แต่ในปัจจุบัน มีธุรกิจหรือองค์กรมากมายที่ไม่สร้างผลผลิต แต่ก็ไม่ต้องเผชิญบททดสอบของตลาดเสรี ธุรกิจสามารถอยู่ได้ ไม่ตายแต่ก็ไม่มีชีวิต เป็นซอมบี้ที่สูบเอาทรัพยากรของสังคม
ธุรกิจและองค์กรเหล่านี้อยู่ได้เพราะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล สำหรับพวกเขา ความสามารถในการเข้าถึงปากท่อทางการเงินนั้นสำคัญกว่าการสร้างผลผลิต
หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธนาคารบางแห่ง สถานศึกษาบางแห่ง ถือว่าเข้าข่ายนี้ ไม่ว่าองค์กรเหล่านี้จะไร้ประสิทธิภาพ หรือละเลยหน้าที่มากแค่ไหน ก็ไม่เคยต้องรับผลของการกระทำเลย
1
หน่วยงานเหล่านี้ได้รับเงินทุนที่ตัดขาดจากความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ มันเป็นเงินที่ได้มาจากการลักขโมยประชาชน และในที่สุดหน่วยงานเหล่านี้ก็จะกลายเป็นทาสรับใช้ และเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล
สำหรับองค์กรการศึกษา แทนที่นักเรียนจะได้ศึกษาองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ แต่หลักสูตรกลับถูกกำหนดให้สอดคล้องกับวาระทางการเมืองของรัฐบาล ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน
1
ในโลกวิชาการ แทนที่มันจะเป็นตลาดเสรีของความคิด แต่มันกลับถูกผูกขาดทุนวิจัยจากหน่วยงานของรัฐ และทำให้ผลงานวิจัยมีความคิดเอนไปในทางเดียวกัน และมันจะไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ให้ทุนนั่นเอง
สำหรับหน่วยงานข้าราชการ แทนที่จะมุ่งให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับกลายเป็นแค่องค์กรที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา และสูบเอาทรัพยากรมากมายไปอย่างไม่น่าให้อภัย
1
และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ธุรกิจธนาคาร ที่ควรจะอำนวยความสะดวกด้านการเงินและความน่าเชื่อถือ กลับกลายเป็นองค์กรที่ไร้ความรับผิดชอบและไม่น่าไว้วางใจมากที่สุด
ธนาคารในปัจจุบันแทบไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดสภาพคล่อง เพราะมีธนาคารกลางที่คอยพิมพ์เงินและเป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (Lender of last resort)
หากธนาคารล้มละลายจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ เหล่าธนาคารจึงรู้ดีว่าถ้าหากมีอะไรผิดพลาด รัฐจะต้องเข้ามาอุ้มแน่นอน
ธนาคารใหญ่ทั่วโลกจึงอยู่ในสถานะ “Too big to fail” สามารถทำกำไรไปได้เรื่อยๆอย่างไร้ความรับผิดชอบ และไม่ต้องกลัวล้มละลาย ความคิดแบบนี้ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่าง Subprime crisis ในปี 2008 มาแล้ว
1
เงินที่ไม่มั่นคงทำให้รัฐบาลมีอำนาจล้นฟ้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเนื่องจากอำนาจนั้นดึงดูดคนไม่ดีเสมอ ถ้าจะสรุปว่าเงินที่ไม่มั่นคงทำให้คนชั่วขึ้นมามีอำนาจก็คงไม่ผิดนัก
กระบวนการนี้จึงนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ไม่ดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามจะไม่มีวันจนสิ้น เสรีภาพระดับบุคคลจะถูกกัดกร่อนไปเรื่อยๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจจะบิดเบี้ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มีเพียงเงินที่มั่นคงเท่านั้นที่จะแก้สถานการณ์นี้ได้ มีเพียงเงินที่มั่นคงที่จะลดอำนาจของรัฐบาลและปลดแอกเสรีภาพของผู้คนอีกครั้ง หวังว่า Bitcoin จะเป็นการปฏิวัตินั้น ที่ทำให้นกในกรง ได้บินออกไปเชยชมท้องฟ้าอย่างที่ควร
1
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard
17 บันทึก
13
21
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สรุปหนังสือ The Bitcoin standard
17
13
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย