18 ม.ค. 2022 เวลา 10:38 • คริปโทเคอร์เรนซี
เราได้เห็นกันมาแล้วว่าเงินนั้นเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัย ตามเงื่อนไขทางเทคโนโลยี ภูมิศาสตร์หรือการเมืองของสังคมนั้นๆ
กรรมวิธีผลิตโลหะสามารถสร้างเงินที่มีคุณสมบัติดีกว่าเปลือกหอย เกลือ ลูกปัด ฯลฯ
เหรียญเงินเหรียญทองที่มีขนาดมาตรฐานทำหน้าที่เป็นเงินได้ดีกว่าแท่งโลหะที่มีขนาดไม่เท่ากัน
ระบบธนาคารที่มีทองคำหนุนหลังทำให้ทองคำกลายเป็นมาตรฐานการเงินของโลก และทำให้แร่เงินถูกยกเลิกไป
และการรวบรวมทองคำไว้ที่ศูนย์กลางทำให้รัฐมีอำนาจควบคุมเงิน นำไปสู่ยุคของเงินตรารัฐบาล
และในปี 2008 ด้วยความพร้อมทางเทคโนโลยี และปัญหามากมายที่เกิดจากเงินตรารัฐบาล ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง
Bitcoin ได้ถือกำเนิดขึ้น จากการนำเอาหลายๆ นวัตกรรมที่เกิดก่อนหน้ามันมาประยุกต์ใช้ และพัฒนาต่อยอดไปเป็นระบบเงินดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ตั้งแต่ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้น มันทำงานได้อย่างไม่มีข้อบกพร่องมาตลอด มันตอบโจทย์ปัญหาของเงิน ทั้งในเชิง Salability ทั้ง 3 ด้าน, การมี Stock-to-flow ที่สูง, และยังตอบโจทย์ด้านความเป็นอธิปไตยด้วย
มันคือนวัตกรรมทางการเงินที่ไม่มีใครสามารถจินตนาการถึงได้ก่อนที่มันจะเกิดข้ึน
ในบทนี้จะพาไปทำความรู้จัก Bitcoin ตั้งแต่พื้นฐาน เพื่อที่จะเข้าใจวิธีการทำงาน และคุณสมบัติในการเป็นเงินของมัน รวมถึงเล่าประวัติคร่าวๆของ Bitcoin ไปเริ่มกันเลยครับ
📌Bitcoin as a digital cash
ในโลกยุคก่อน Bitcoin เราสามารถจำแนกวิธีการชำระเงินออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.การชำระด้วยเงินสด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายแบบตัวต่อตัว ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วและจบสิ้นการทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อใจจากตัวกลางใดๆ
จุดอ่อนของวิธีนี้คือการที่ทั้งสองฝ่ายต้องมาอยู่ในสถานที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน มันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกกายภาพที่คนเจอกันได้โดยตรง
2.การชำระผ่านตัวกลาง ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บัตรเครดิต บริการทางการเงินทุกรูปแบบ การชำระแบบนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องมาเจอกัน
แต่จุดอ่อนหลักของวิธีนี้คือการที่เราต้องเชื่อถือตัวกลางในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ตัวกลางนั้นอาจตกเป็นเป้าสอดแนมและกีดกันจากอำนาจทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การลิดรอนอธิปไตยทางการเงิน
หากลองโอนเงินข้ามประเทศก็จะรู้ว่ามันต้องผ่านตัวกลางหลายต่อ ทำใ้ห้ใช้เวลานานและค่าธรรมเนียมสูง และถ้าหากเงินนั้นเป็นเงินก้อนใหญ่ เราก็อาจจะถูกสงสัยหรือตรวจสอบ ราวกับว่าเราไม่มีอำนาจเหนือเงินของเราเอง
การใช้เงินสดถูกจำกัดอยู่ในโลกกายภาพ ส่วนการชำระเงินบนโลกดิจิทัลก็ถูกควบคุมโดยบุคคลที่สามทั้งสิ้น แต่เมื่อ Bitcoin ถือกำเนิดขึ้น มันทำให้ผู้คนสามารถชำระเงินให้กันโดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามได้
Bitcoin คือ “digital cash” ที่ไม่ต้องเชื่อใจบุคคลที่สามในการทำธุรกรรม มันนำเอาคุณสมบัติที่ดีของเงินสด มาอยู่บนโลกดิจิทัลได้เป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านั้น การส่งข้อมูลบนโลกดิจิทัลทั้งหมดล้วนเป็นการทำคัดลอกแล้วส่งไป เช่นถ้า A ส่งรูปให้ B สุดท้ายแล้วทั้งสองคนก็จะมีรูปนั้น ซึ่งเราไม่สามารถทำแบบนี้กับเงินได้
แต่ Bitcoin ทำให้เกิด “digital scarcity” ได้เป็นครั้งแรก กล่าวคือ ถ้า A ส่ง Bitcoin ให้ B เมื่อสิ้นสุดธุรกรรม B จะได้ Bitcoin และ A จะต้องไม่มี Bitcoin จำนวนนั้น
นี่คือการแก้ปัญหา double spending ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งระบบการทำงานของ Bitcoin ทำให้ความมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นได้จริง ทีนี้มาลองดูกันครับว่ามันทำงานอย่างไร
ในระบบ Bitcoin ทุกคนในโครงข่ายจะบันทึกบัญชีที่แสดงยอดเงินและธุรกรรมต่างๆ เหมือนกันทุกคน โดยสมาชิกแต่ละคนคือโนด
เมื่อมีการส่งเงินเกิดขึ้น ทุกโนดจะทำการตรวจสอบความถูกต้อง ว่าผู้ส่งเงินนั้นมีเงินจริงและใช้ได้จริง เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะยืนยันและบันทึกธุรกรรมลงไป
ทุกโนดจะแข่งกันเพื่อเป็นคนแรกที่ตรวจสอบธุรกรรมสำเร็จ ผ่านการแก้สมการคณิตศาสตร์อันซับซ้อน ผู้ชนะจะได้รางวัลเป็น Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั่นเอง กระบวนการนี้จึงถูกเรียกว่าการขุดเหมือง (Mining) และผู้ตรวจสอบแต่ละคนจึงถูกเรียกว่านักขุด (Miner)
การยืนยันธุรกรรมแต่ละครั้งคือการสร้าง Block และเมื่อมันถูกเรียงร้อยต่อกันไปเรื่อยๆจึงกลายเป็น Chain เทคโนโลยีนี้จึงถูกเรียกว่า “Blockchain” นั่นเอง
หากยังจำกันได้ การทำงานลักษณะนี้เหมือนหินรายแห่งเกาะแยป ที่เคยเล่าในบทที่ 2 มาก แต่สำหรับ Bitcoin มันไม่จำเป็นต้องให้คนมาชุมนุมกันเหมือนหินราย มันจึงสามารถขยายโครงข่ายไปได้อย่างไม่จำกัด
ปริมาณ Bitcoin ที่จะถูกขุดขึ้นมานั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยในช่วง 4 ปีแรกการขุดแต่ละครั้งจะได้ 50 Bitcoin และหลังจากนั้นจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี สิ่งนี้เรียกว่า “Bitcoin halving”
สำหรับเงินประเภทอื่นๆ หากมูลค่ามันสูงขึ้น ก็จะมีความพยายามที่จะผลิตเพิ่มขึ้นเสมอ แต่สำหรับ Bitcoin ไม่ว่ามูลค่ามันจะสูงขนาดไหน ไม่ว่าจะใช้ความพยายามเท่าใด มันก็จะไม่สามารถผลิตเพิ่มมากไปกว่านี้ได้
Bitcoin จึงเป็นเงินที่สร้างได้ยาก มีระดับการเพิ่มของอุปทานและอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ได้ และมีค่า Stock-to-flow สูงขึ้นเรื่อยๆ
คุณสมบัตินี้ทำให้ Bitcoin มี salability across time สูง สามารถเก็บมูลค่าข้ามผ่านกาลเวลาได้ นอกจากนี้ด้วยความที่มันสามารถส่งไปได้ทุกที่ ทำให้มี salability across space สูง และคุณสมบัติในการแบ่งย่อยได้ไม่สิ้นสุด ก็ทำให้มี salability across scale สูงด้วยเช่นกัน
2
เมื่อเทียบกับเงินประเภทอื่นๆที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์แล้ว Bitcoin ถือว่าทำได้ดีกว่าในทุกๆด้าน ซึ่งแม้แต่ทองที่เป็นเงินที่มั่นคงที่สุดมาตลอด 5,000 ปีก็ยังสู้ไม่ได้
นอกจากนี้ Bitcoin ยังมีการออกแบบทาง game theory ที่มหัศจรรย์ จนทำให้มันสามารถอยู่รอดได้แม้ไม่มีใครควบคุม
2
ระบบ Difficulty adjustment algorithm ทำให้มีการปรับระดับความยากในการขุด Bitcoin ไปตามปริมาณกำลังขุดของทั้งระบบ หากมีคนมาร่วมขุดมากมันก็จะขุดยากขึ้น แต่ถ้าคนขุดน้อยมันก็จะง่ายลง ทำให้มีการปรับสมดุลเกิดขึ้นเสมอ
ไม่ว่าราคา Bitcoin จะลงหนัก หรือมีใครสั่งแบนการขุด จนคนไม่อยากขุด ระบบจะปรับความยากให้ลดลง และทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะขุดมากขึ้น
กลับกันถ้าราคา Bitcoin พุ่งแรงจนทำให้คนแห่กันเข้ามาขุด มันก็จะปรับให้ยากขึ้น เพื่อไม่ให้คนผลิตเงินได้ง่าย เพื่อรักษาค่า Stock-to-flow ไม่ให้ต่ำลง
ระบบ Bitcoin ยังออกแบบแรงจูงใจให้คนไม่โกงด้วย หากใครคิดจะเล่นไม่ซื่อ โดยปกติแล้วจะถูกจับได้ทันที เนื่องจากทุกคนในระบบตรวจสอบกันอยู่เสมอ
หรือถ้าต้องการจะคุมทั้งระบบให้ได้ ก็จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาลเพื่อนำมาเป็นกำลังในการขุด แต่ถ้าหากโกงได้สำเร็จ แน่นอนว่า Bitcoin จะหมดความน่าเชื่อถือและไม่เหลือค่าใดๆ
พูดง่ายๆว่าการจะโกงนั้นมีต้นทุนสูงมาก แต่รางวัลที่ได้จากการปล้นจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่า การออกแบบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจนี้ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว คนที่เลือกที่จะซื่อสัตย์ต่อระบบเท่านั้นที่จะได้รางวัล
การที่ Bitcoin อยู่รอดได้ก็เพราะมันทำประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งาน นักขุด ผู้ดูแลโนด ต่างได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการที่มีปฏิสัมพันธ์กับ Bitcoin
1
ภายใต้การออกแบบแรงจูงใจอันชาญฉลาดนี้ คนเหล่านี้จึงหล่อเลี้ยง Bitcoin ให้มีชีวิตและเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ
โดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมระบบนี้ได้อย่างแท้จริง ไม่มีใครกุมชะตาของ Bitcoin ได้ ไม่มีใครสำคัญต่อ Bitcoin อย่างขาดไม่ได้ และไม่มีใครยับยั้งมันได้เช่นกัน นี่คือความ “Decentralized” ที่แท้จริง
📌เส้นทางสู่การเป็นเงิน
ระบบ Bitcoin เริ่มทำงานในเดือนมกราคม 2009 ในช่วงเวลานั้นมันเป็นเพียงโปรเจคเพี้ยนๆ ที่มีเพียงผู้ใช้งานเป็นกลุ่มนักเข้ารหัสสุดเนิร์ดไม่กี่คน มีการขุดและส่ง Bitcoin เล่นกันไปมา และมีการเก็บ Bitcoin ไว้เป็นเหมือนของที่ระลึกเท่านั้น
จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2009 เมื่อมีตลาดสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่งนำ Bitcoin มาขายที่ราคา 0.000994 USD ณ จุดนี้ Bitcoin ได้เปลี่ยนจากเหรียญโง่ๆ มาเป็นของที่มีราคา
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2010 มีการใช้ Bitcoin ซื้อของในโลกจริง โดยมีคนจ่าย 10,000 Bitcoin เพื่อซื้อพิซซ่า 2 ถาดมูลค่า 25 USD ทำให้ ณ เวลานั้น Bitcoin มีราคา 0.0025 USD
และเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมีคนเริ่มรู้จักและสนใจที่จะซื้อมัน มันก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ Bitcoin ได้เปลี่ยนจากของสะสมเป็นของที่มีมูลค่าเมื่อมีคนต้องการมันมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยทั่วไปแล้วเงินก็ถือกำเนิดจากสินค้าทั่วไปในตลาด หากมีคุณสมบัติที่คู่ควร มันก็จะถูกเลือกมาใช้เป็นเงิน Bitcoin ก็ได้ผ่านบททดสอบการคัดเลือกของตลาดแล้ว ผู้ใช้งานสมัครใจที่จะใช้มัน โดยไม่มีการบังคับใช้ใดๆทั้งสิ้น
หลังจากนั้น Bitcoin ก็เริ่มมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เหล่านักขุดหรือนักลงทุนกลับไม่สามารถเร่งอัตราการผลิตได้ มันเลยทำให้ Bitcoin ยิ่งมีค่ามากขึ้นไปอีก
ในเดือนตุลาคม 2017 Bitcoin มีราคาอยู่ที่ 4,200 USD คิดเป็นการเติบโตจากปี 2009 ที่ 422,520,000% และมีมูลค่าตลาดรวม 100 billion USD หากเปรียบเป็นประเทศ มูลค่าสกุลเงินนี้จะสูงเป็นลำดับที่ 33 ของโลก
ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในโลกดิจิทัล ที่ถือกำเนิดมาด้วยความสมัครใจของผู้ใช้งานและการคัดเลือกโดยตลาดเสรีล้วนๆ และเป็นปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งสำหรับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาได้เพียง 9 ปี
1
*ปัจจุบัน Bitcoin มีอายุ 13 ปีแล้ว ราคา Bitcoin อยู่ที่ประมาณ 42,000 USD เติบโตจากเนื้อหาในหนังสือไปอีก 10 เท่า
2
ราคาที่พุ่งสูงและความสำเร็จที่น่าทึ่งนี้ส่งผลให้มีคนจำนวนมากอุทิศกำลังไฟฟ้าและกำลังประมวลผลมาขุด Bitcoin มากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ระบบแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
ในปัจจุบันมีคนมากมายใช้ Bitcoin ในการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า (Store of value) ที่มั่นคงกว่าเงินตรารัฐบาล และได้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ
การถือไว้เฉยๆ เพื่อรักษาหรือเพื่อให้ purchasing power สูงขึ้นนั้น คือ use case หลักของ Bitcoin ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ราคา Bitcoin ยังคงผันผวนอยู่มาก เนื่องจากมันยังใหม่ และขนาดตลาดยังเล็กอยู่ แต่เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น มีสภาพคล่องดีขึ้น ความผันผวนก็ควรจะลดลง
เมื่อมีคนยอมรับ Bitcoin มากขึ้น จากราคาที่นิ่งขึ้น จะเริ่มมีคนใช้ Bitcoin เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of account) ของสิ่งต่างๆ และก็จะมีการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) เหมือนเงินทั่วๆไป
และในที่สุดเมื่อถึงจุดอิ่มตัว จุดที่ Bitcoin ไม่ได้อยู่ในช่วงเติบโตอีกต่อไป เม็ดเงินที่ไหลเข้า-ออกจากตลาดจะมีขนาดพอๆกัน ราคาก็จะเสถียร
และมันจะไม่ดึงดูดการลงทุนความเสี่ยงสูงอีกต่อไป มันจะเป็นเหมือนเงินทั่วๆไป ที่มีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปีเท่านั้น
ในจุดนี้ Bitcoin จะทำหน้าที่เป็นเงินได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเงินที่มั่นคงและไร้ศูนย์กลางสกุลแรกของมนุษยชาติ และจะไม่มีใครเปลี่ยนความจริงข้อนี้ได้ ตราบใดที่ Bitcoin ยังทำงานได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง อย่างที่เป็นมาตลอดตั้งแต่วันแรก
จบไปแล้วกับการทำงานและประวัติของ Bitcoin นะครับ ในบทหน้าจะเป็นการเล่าถึงประโยชน์ด้านต่างๆ ของ Bitcoin รอติดตามกันนะครับ
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา