9 ม.ค. 2022 เวลา 07:02 • ครอบครัว & เด็ก
กับดักความเป็นชายและความตายจากรัฐ ในนวนิยาย ‘ใครฆ่าพ่อ’ (Qui a tué mon père) โดย เอดูอาร์ด หลุยส์
เอดูอาร์ด หลุยส์ (Édouard Louis) เป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายไฟแรงของฝรั่งเศสที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ณ ขณะนี้ ผลงานวรรณกรรมของเขาเป็นงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติที่สอดแทรกมิติของสังคมและการเมืองไว้อย่างแหลมคมและเข้มข้น หนึ่งในผลงานของเขาที่ WAY เคยเผยแพร่บทวิเคราะห์คือ ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง (Histoire de la Violence)
ในบทความชิ้นนี้ เราจะเชิญชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับผลงานเขียนอีกชิ้นของเขาซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้… ใครฆ่าพ่อ (Qui a tué mon père) คืองานเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตผู้เป็นพ่อของเอดูอาร์ดซึ่งถูกบงการโดยอุดมคติความเป็นชาย และความตายของพ่อที่มีเหตุเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ หนังสือเล่มนี้จะช่วยสะท้อนและตอกย้ำกับผู้อ่านว่า การเมืองและชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแนบแน่นจนมิอาจแยกออกจากกันได้
เนื้อเรื่องของ ใครฆ่าพ่อ นำเสนอในรูปแบบของบทสนทนาภายในใจของเอดูอาร์ดถึงพ่อของเขา (ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตลงแล้ว) เอดูอาร์ดบอกเล่า ตั้งคำถาม อธิบาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงสังคมวิทยา) ตลอดจนเผยความในใจที่มีทั้งหมดที่ทั้งเคยบอกให้พ่อรับรู้หรือที่ตัวเขาเองเก็บงำไว้ การดำเนินเรื่องจึงมีความคล้ายคลึงกับบทละครมากกว่าจะเป็นนวนิยาย และนี่คือประโยคเปิดเรื่อง
หากตัวบทนี้เป็นบทละครสักเรื่อง นี่คงเป็นประโยคแรกๆ ที่จะปรากฏในหนังสือ “พ่อและลูกชายของเขาอยู่ห่างจากกันประมาณ 2-3 เมตร ในพื้นที่ขนาดใหญ่ กว้าง และว่างเปล่า (…) ลูกชายพยายามพูดกับพ่อของเขา แต่ก็ไม่มีใครรู้เลยว่าเหตุใดพ่อจึงทำราวกับไม่ยินเสียงนั้น”
ประโยคเปิดเรื่องด้วยกลิ่นอายสไตล์ Nouveau Roman (นูโว โรมอง – สไตล์การเขียนของนักเขียนฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ท้าทายการเขียนตามแบบขนบ) ได้เผยให้เห็นถึงช่องโหว่ในความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกชาย (เอดูอาร์ด) เหตุผลหลักของความห่างเหินนั้น เกิดจากเพศวิถีของเอดูอาร์ดที่ไม่สอดรับกับบรรทัดฐานทางเพศของสังคม เอดูอาร์ดไม่อาจเป็น ‘ลูกชาย’ ของพ่อได้ แม้ว่าเขาจะพยายามมากเพียงไรก็ตาม
หลังจากที่พ่อค่อยๆ รับรู้และเข้าใจว่าอากัปกิริยา ‘ตุ้งติ้ง’ ของลูกชายเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธได้ยากขึ้นทุกที พ่อของเอดูอาร์ดจึงมักจะแสดงออกซึ่งความเมินเฉยและเย็นชากับเขาเรื่อยมา
ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งพ่อยังกลบเกลื่อนความผิดหวังของตัวเองด้วยการแกล้งหยอกล้อให้เอดูอาร์ดรู้สึกอับอายต่อหน้าคนอื่นๆ ราวกับว่าเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดแปลกแตกต่างนั้น ซึ่งนั่นยิ่งตอกย้ำระยะห่างระหว่างพ่อกับลูก
อีกหนึ่งเหตุผลที่ซ้ำเติมบาดแผลนี้คือ อุดมคติความเป็นชายที่พ่อของเอดูอาร์ดยึดถือไว้เป็นเสมือนหลักการสูงสุดในการดำรงชีวิต ความเป็นชายสั่งห้ามให้พ่อแสดงอารมณ์หรือความอ่อนไหวใดๆ เพราะการแสดงออกทางอารมณ์ถือเป็น ‘ความตุ้งติ้ง’ แบบหนึ่งที่คนเป็น ‘ผู้ชาย’ (ในทัศนคติของพ่อและคนในชุมชนของพ่อ) จะไม่กระทำกัน อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งเหตุผลในเบื้องลึกของหัวใจผู้เป็นพ่อที่ผูกโยงมิติเรื่องเพศกับชนชั้นไว้อย่างแนบแน่น ซึ่งเอดูอาร์ดวิเคราะห์ไว้ดังนี้
ฉันเชื่อว่าพ่อแสร้งทำเป็นรังเกียจความสุขเพื่อหลอกตัวเองว่า หากชีวิตของพ่อแสดงท่าทีที่ดูไม่มีความสุข นั่นเป็นเพราะพ่อเป็นผู้เลือกเอง ราวกับพ่อหลอกตัวเองว่าพ่อเป็นผู้ควบคุมความโชคร้ายของชีวิตตนเอง ราวกับพ่อต้องการแสดงออกให้รับรู้ว่าเหตุผลที่ชีวิตพ่อเป็นไปอย่างยากเย็นแสนเข็ญ เพราะพ่อต้องการให้มันเป็นแบบนั้น ด้วยการแสดงออกซึ่งความขยะแขยงต่อความสุขและความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อความพึงพอใจในชีวิต
ความห่างเหินทำให้เอดูอาร์ดค่อยๆ ชินชาจนไร้ความรู้สึก ไม่ว่าจะเสียใจ โกรธ เกลียด ละอายใจ หรือแม้แต่รัก… แม้ว่าบางครั้ง พ่อตั้งใจแสดงออกให้เขารับรู้ว่า ลึกๆ แล้วพ่อเองก็ทั้งรักและเป็นห่วง แต่การแสดงออกนั้นไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้เลยในปริมณฑลของหัวใจที่เหือดแห้งและตายด้าน
เอดูอาร์ดเล่าถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพ่อในฐานะผู้บังคับบัญชาและสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน (แม่ พี่ชาย พี่สาว เอดูอาร์ด น้องชาย) ที่เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา สัญญะของศูนย์กลางแห่งอำนาจที่ชัดเจนคือ ‘โทรทัศน์’ พ่อเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิ์เลือกว่าคนในบ้านจะดู/ไม่ดูอะไร ตอนไหน และอย่างไร มองผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยจนอาจไร้ความหมาย แต่โทรทัศน์สำหรับครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพที่ใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลเมืองใหญ่หรือเมืองหลวงนั้น ถือเป็นแหล่งข้อมูลเดียวหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์เดียวที่เชื่อมประสานโลกทัศน์ของสมาชิกทุกคนในบ้านกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองของประเทศฝรั่งเศสและโลกทั้งใบ
จุดพลิกผันหนึ่งในชีวิตของพ่อของเอดูอาร์ด เกิดจากวันหนึ่งพ่อประสบอุบัติเหตุในที่ทำงาน เนื่องจากเขาแบกของที่หนักเกินกำลังจนเกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณสันหลัง เอดูอาร์ดเล่าว่าพ่อนอนร้องโอดครวญทุกคืนในช่วงแรกจากอาการบาดเจ็บ
จนในที่สุด หมอบอกกับพ่อและแม่ว่า พ่อไม่อาจกลับไปทำงานเดิมได้ เพราะอาการบาดเจ็บครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของพ่อไปแล้วโดยสมบูรณ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า พ่อผู้เป็นกำลังหลักเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการหาเลี้ยงครอบครัวไม่สามารถทำมาหากินได้แล้ว เขาทำได้เพียงรอรับเงินสวัสดิการจากรัฐเพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัว
แม่ของเอดูอาร์ดเคยขอออกไปทำงานเพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการหาเลี้ยงครอบครัว แต่ต่อมา เมื่อเธอสามารถหาเงินได้มากกว่าพ่อ พ่อก็หาเรื่องให้แม่หยุดทำงาน โดยกล่าวโทษสารพัดว่าการที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องน่าอับอายและสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่นักแก่ครอบครัว ถึงขั้นบอกว่าเงินที่พ่อหาได้เพียงพอแล้วสำหรับปากท้องของสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยที่แม่ไม่จำเป็นต้องออกไปทำเรื่องน่าอับอายแบบนั้น แต่เอดูอาร์ดเล่าให้ฟังว่า อันที่จริงพ่อรู้สึกอับอายมากกว่าที่หาเงินได้น้อยกว่าแม่ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า พ่อให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นชายมากกว่าคุณภาพชีวิตของทุกคนในบ้าน
สุดท้าย แม่ก็ต้องยอมทำตามคำสั่งของพ่อในฐานะ ‘หัวหน้าครอบครัว’
พ่อพยายามหางานใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครอยากรับแรงงานที่ศักยภาพทางกายภาพทรุดโทรม ซึ่งนั่นทำให้เอดูอาร์ดเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของโลกทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นแรงงานซึ่งมีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคนชนชั้นกลางหรือพวกนายทุนมหาเศรษฐี และเรื่องราวในชีวิตของพ่อถือเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เอดูอาร์ดแสดงตัวชัดเจนว่า เขาเป็นฝ่ายซ้ายและเรียกร้องต่อสังคมถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ถูกเพิกเฉยมาอย่างยาวนานในฝรั่งเศส
พ่อทำได้แต่นั่งหน้าจอโทรทัศน์ทั้งวันและรอเวลาดื่มสุรากับเพื่อนตอนเย็น ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาเดียวของวันที่พ่อรอคอย… ถือเป็นรูปแบบชีวิตที่แทบจะไร้ความพยายามที่จะรักษาลมหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไป
เหล้าเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์แห่งความเป็นชายและสะท้อนวิถีชีวิตของคนชนชั้นกรรมาชีพ เอดูอาร์ดเล่าให้ฟังว่าบรรดาพวกผู้ชายที่มีชีวิตอยู่ในชุมชนเดียวกับเขาเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งตัวเอดูอาร์ดเองก็เคยดื่มเพื่อพยายาม ‘เป็น’ เหมือนกับเด็กผู้ชายคนอื่นๆ แต่คุณสมบัติของเหล้าที่สะท้อนเอกภาพแห่งความเป็นชายนั้นเกิดขึ้นแค่ช่วงวัยเด็กของพวกเขาเท่านั้น เพราะเมื่อพวกเขาเข้าสู่ช่วงสูงวัย เหล้าได้ผันเปลี่ยนนัยในตัวของมันเอง
พ่อไม่ใช่คนแรกที่มีปัญหาเรื่องการติดเหล้า เพราะอันที่จริง เหล้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อมาตั้งแต่ก่อนพ่อเกิดเสียอีก เรื่องราวเกี่ยวกับการติดเหล้าสืบทอดต่อกันมาในหมู่พวกเรา (…) จริงอยู่ เหล้ามีส่วนช่วยเติมเต็มความปรารถนาที่จะลืมโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งโลกแห่งความเป็นจริงต่างหากที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เหตุใดฉันจึงต้องกล่าวโทษโลกใบนี้ ก็เพราะโลกใบนี้นั่นล่ะที่สร้างเงื่อนไขชีวิตอันบีบบังคับให้คนรอบตัวของพวกเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพยายามที่จะลืม… ลืมด้วยเหล้า และลืมโดยเหล้า
แต่แท้ที่จริง มันคือความอยากลืมหรือความอยากตาย หรือทั้งอยากลืมและอยากตาย
จะลืมหรือจะตาย หรือลืมและตายเพื่อความดึงรั้นที่จะลืม
เหล้าสะท้อนความพยายามที่จะหลบหนี ความท้อแท้ อ่อนแอ สิ้นหวัง และขมขื่น ทั้งหมดนั้นคือความพยายามกล่าวโทษตัวเองของพ่อที่ไม่อาจบรรลุฝันแห่งความเป็นชายได้ แต่แท้ที่จริงแล้วพ่อ (รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว) ไม่เคยตระหนักรู้เลยว่าปัญหาทั้งหมดนี้แท้ที่จริงแล้วมันเป็นกลไกทางสังคมที่ถูกผลิตซ้ำจากรุ่นสู่รุ่น ราวกับเป็นกับดักที่ฝังอยู่ในชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งกักขังคนแบบพวกเขาให้มีชีวิตที่ต้องสยบยอมต่ออำนาจของโลกทุนนิยม
จะว่าไปแล้ว… เรื่องนี้ไม่น่าจะเกินจินตนาการของคนไทยที่จะเข้าใจได้ เพราะถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีให้เห็นในบ้านเรามาเนิ่นนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อกระแสหลัก แต่ความซับซ้อนของประเด็นนี้ในบ้านเราคือ เหล้าถูกผูกโยงกับศีลธรรมบนฐานของศาสนา ซึ่งนั่นทำให้เรามีแนวโน้มที่จะใช้บรรทัดฐานทางสังคมที่เชื่อมโยงกับศีลธรรมทางศาสนาไปตัดสินคนติดเหล้า โดยละเลยการมองปัญหาในระดับโครงสร้างหรืออุดมคติของสังคม เช่น วาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ของรัฐซึ่งสะท้อนทัศนคติอันคับแคบของการมองปัญหาและความรังเกียจเดียดฉันท์ที่มีต่อคนชนชั้นแรงงานในทัศนคติของคนชนชั้นนำ รวมถึงชนชั้นกลาง
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการติดเหล้า ‘การศึกษา’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เอดูอาร์ดพยายามอธิบายปัญหาของมันที่ผูกโยงกับ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ชนชั้นแรงงาน’
(…) ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของฉันชกครูของเขาหน้าชั้นเรียน ถือเป็นเรื่องที่ครอบครัวเราพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ราวกับว่าเป็นวีรกรรมของฮีโร่ ความเป็นชายสามารถวัดได้จากการออกจากระบบการศึกษาโดยไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความประพฤติของเด็กผู้หญิงและตุ๊ด และหากมันเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ ยิ่งถือเป็นการวัดระดับพลังแห่งความเป็นชายในตัวมากเท่านั้น รวมถึงยังเป็นการแสดงออกซึ่งศักดิ์ศรีลูกผู้ชายที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันหลีกเลี่ยง เราจึงสรุปได้ว่าการสร้างความเป็นชายคือการพรากตัวเองออกจากทางเลือกชีวิตแบบอื่น อนาคตแบบอื่น ชะตากรรมทางสังคมแบบอื่นที่การศึกษาจะสามารถปูทางให้ ความเป็นชายได้ผลักไสไล่ลงพ่อไปสู่ความยากจน ไร้ทุนทรัพย์ ความรังเกียจความรักเพศเดียวกันในที่นี้จึงเท่ากับความยากจนไปโดยปริยาย
แม้ว่าเอดูอาร์ดต้องผ่านประสบการณ์แห่งความเป็นอื่นซึ่งนำพาเขาไปเผชิญกับความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบเมื่อวัยเด็ก แต่การศึกษา… หรือพูดให้ลึกที่สุดคือ ‘ความรักเพศเดียวกัน’ ก็ช่วยให้เอดูอาร์ดหลุดพ้นจากชะตากรรมชีวิตแบบที่ผู้ชายส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับเขาประสบ
การสอบเข้าโรงเรียนใหญ่ในเมืองอาเมียงส์ได้ สำหรับเอดูอาร์ดถือเป็นจุดเริ่มต้นและหมุดหมายสำคัญของชีวิตที่ผลักเขาออกจากพื้นที่เดิม ความรู้ในด้านการละคร วรรณกรรม สังคมวิทยา ปรัชญา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้เขาหลุดพ้นภาพฝันในวัยเด็กที่ไม่เคยมองเห็นอนาคตของตัวเองอยู่ที่อื่นนอกจากในโรงงาน เฉกเช่นเดียวกับพี่ชายของเขา พ่อของเขา ปู่ของเขา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ตัวบทที่มีจุดประสงค์จะสั่งสอนให้คนที่มีชีวิตในชนชั้นกรรมาชีพหันมาตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อที่จะหลุดพ้นจากการถูกสังคมทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบ แต่เจตนารมณ์ของเอดูอาร์ดคือ การชี้ให้เห็นถึงกลไกของสังคมชายเป็นใหญ่ภายใต้โลกทุนนิยมที่ได้สร้างโศกนาฏกรรมให้แก่คนชนชั้นแรงงานเฉกเช่นเขามานานนับ จากรุ่นสู่รุ่น และถือเป็นการ ‘ส่งเสียง’ ให้คนชนชั้นแรงงานซึ่งน้อยครั้งนักที่รัฐบาลฝ่ายขวาหรือกลุ่มคนชนชั้นกลางจะได้ยินเสียงของเขา
การหลงอยู่ในกับดักความเป็นชายที่ทำให้ชีวิตของพ่อไร้ทางเลือก ผนวกกับเงื่อนไขชีวิตที่บั่นทอนสุขภาพ รวมถึงสภาพร่างกายที่ไม่อาจผลักดันไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บั้นปลายชีวิตของพ่อของเอดูอาร์ดเป็นไปอย่างยากลำบาก มิหน้ำซ้ำ ความเป็นคนโมโหร้ายและความเคยชินกับการถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในบ้านยังบีบคั้นให้แม่ไม่อาจทนอยู่กับเขาได้อีกต่อไป ทั้งคู่จึงตัดสินใจจบความสัมพันธ์ด้วยการหย่าร้าง
พ่อของเอดูอาร์ดต้องดูแลตัวเองตามลำพัง ช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตเดินหน้าไปเรื่อยๆ พร้อมกับโรคร้ายที่รุมเร้าจากการดื่มเหล้า อาการบาดเจ็บจากการทำงาน และคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับพ่อ ชีวิตของพ่อเหลือสิ่งเดียวที่ประคับประคองไว้คือสวัสดิการจากรัฐ พ่อตกอยู่ในสถานะของผู้รับความช่วยเหลือจากรัฐโดยสมบูรณ์ และเอดูอาร์ดได้บรรยายสถานะของพ่อของเขา ณ ขณะนั้นไว้ว่า
ส่วนมากพวกคนชนชั้นนำของสังคมมักจะคิดว่าการเมืองเป็นเพียงเรื่องการตั้งคำถามเชิงสุนทรียะ วิถีแห่งการขบคิดถึงการดำรงคงอยู่ของตัวเอง มุมมองต่อโลก และการก่อร่างสร้างตัวตน แต่สำหรับคนอย่างพวกเรา การเมืองคือความเป็นและความตาย
ในตอนท้ายของเรื่อง เอดูอาร์ดได้เขียนบรรยายถึงการเปลี่ยนนโยบายของรัฐตั้งแต่ช่วงปี 2006 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อเขาโดยตรง
ปี 2006 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซาวิเยร์ แบร์ทรองด์ (Xavier Bertrand) ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฌากส์ ชีรัค (Jacques Chirac) ประกาศถอดถอนรายชื่อยา 10 กว่าชนิด ในรายการสวัสดิการสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นยาเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารที่พ่อของเอดูอาร์ดต้องกินเป็นประจำ (เนื่องจากพ่อของเอดูอาร์ดต้องนอนทั้งวัน เพื่อรักษาและฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยจากการทำงานซึ่งส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร)
ปี 2009 รัฐบาลของ นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) เปลี่ยนนโยบายจาก RMI (Revenu minimum d’insertion หรือ เงินช่วยเหลือจากรัฐที่จ่ายให้บุคคลไร้อาชีพ) เป็น RSA (Revenu de solidarité active) ที่พยายามให้บุคคลไร้อาชีพกลับเข้าสู่ภาคแรงงาน ซึ่งนั่นทำให้พ่อของเอดูอาร์ดต้องแบกสังขารกลับไปทำงานให้ได้เพื่อรักษาสิทธิ์ในรัฐสวัสดิการของเขาไว้ แม้ว่าร่างกายจะยังคงเจ็บปวดจากเงื่อนไขการทำงานที่เคยประสบ และค่าตอบแทนอันน้อยนิดที่เพียงพอสำหรับค่าน้ำมันรถในแต่ละเดือนเท่านั้น
ปี 2017 รัฐบาลของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ลดเงินช่วยเหลือบุคคลยากไร้ 5 ยูโรต่อเดือน (ถือเป็นจำนวนเงินที่อาจจะดูไม่ได้มากมายอะไร แต่สำหรับคนที่เงื่อนไขในชีวิตคล้ายคลึงกับพ่อของเอดูอาร์ด เงินจำนวนนี้สามารถช่วยให้มีค่ากับข้าวหรือช่วยแบ่งเบาภาระค่าเช่าบ้านได้เลยทีเดียว) แต่กลับลดภาษีให้แก่กลุ่มคนชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเชื่อว่า ‘คนจนรวยเกินไป และคนรวยยังรวยไม่มากพอ’
นอกจากจะกล่าวถึงชื่อของประธานาธิบดีและรัฐมนตรีที่ผ่านมาแล้ว เอดูอาร์ดยังเขียนถึงพวกเขาไว้อีกว่า
เรื่องราวในชีวิตของพ่อเป็นหนึ่งในประวัติของบุคคลเหล่านั้นผู้ซึ่งรับช่วงต่อกันมาเพื่อทำร้ายพ่อ เรื่องราวความเจ็บปวดทางกายภาพของพ่อเป็นหนึ่งในประวัติของรายนามเหล่านั้นซึ่งรับช่วงต่อกันมาเพื่อทำลายชีวิตพ่อ และเรื่องราวความเจ็บปวดทางกายภาพของพ่อจะย้ำเตือนความโหดร้ายในประวัติศาสตร์การเมือง
อย่างไรก็ตาม นี่คงไม่ใช่ตัวบทที่เขียนขึ้นเพื่อประณามความเลวทรามของนักการเมืองเหล่านี้ในระดับตัวบุคคล แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น เอดูอาร์ดเคยให้คำอธิบายเชิงปรัชญาว่าด้วยความรุนแรงเอาไว้ว่า โดยปกติเราจะรู้กันดีว่าการใช้ความรุนแรงมักนำมาซึ่งความรุนแรงเสมอ แต่แท้ที่จริงแล้ว ความรุนแรงในตัวของมันเองสามารถเปลี่ยนไปสู่การต่อต้านความรุนแรงได้ หากเราตระหนักรู้ถึงมัน คิดถึงมัน พูดถึงมัน และเขียนถึงมัน เอดูอาร์ดเคยให้สัมภาษณ์ว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมฝรั่งเศส (รวมถึงโลกใบนี้) จะต้องหันกลับมามองสภาพชีวิตของคนชนชั้นแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญ แต่กลับถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างถึงที่สุด
จากชีวิตในฐานะหัวหน้าครอบครัวสู่ผู้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เอดูอาร์ดบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของพ่อของเขาที่ตกอยู่ในกับดักแห่งอุดมคติความเป็นชาย ชนชั้นแรงงาน และความรุนแรงในเชิงโครงสร้างสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านสายสัมพันธ์ของรัฐกับชีวิตพลเมือง
ฉัน… ในฐานะของคนชนชั้นกลางคนหนึ่ง คงไม่อาจเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับความเป็นของพลเมืองได้มากหากชีวิตไม่เดินมาถึงจุดที่…
ได้ยิน… คำพูดที่ว่า ‘โควิดกระจอก’ ในวันที่เด็กจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อนรอบตัวหลายคนตกงาน และกิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่หลายรายทยอยกันปิดตัว เพราะไปต่อไม่ไหว
ได้อ่าน… มุกตลกที่สร้างเสียงหัวเราะในหมู่คณะผู้บริหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และได้เห็น… ท่านปล่อยใจสบายๆ ริมชายหาด ราวกับไม่รู้สึกรู้สาใดๆ กับความเดือดร้อนที่ท่านเป็นคนก่อ
เขียน: ณัฐ วิไลลักษณ์
โฆษณา