Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
10 มี.ค. 2022 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์
“เหตุการณ์จบ แต่ทำไมอารมณ์ไม่จบ ?”
“ … เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น แล้วเหตุการณ์มันก็จบลง
แต่ทำไมอารมณ์ของเรามันกลับไม่จบลง ?
เหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธ
มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว
แต่เรายังมีความโกรธอยู่ ยังมีความคุกรุ่นอยู่
บางครั้งมันยิ่งกลับเกิดความโกรธ
เกิดความคับแค้นใจที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น ?
บางคนก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ชีวิตไม่ได้รับความยุติธรรม
รู้สึกถูกเขารังแก คับอกคับใจ น้อยเนื้อต่ำใจต่าง ๆ
จมอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ
บางเหตุการณ์ มันผ่านไปแล้ว
แต่เราก็ยังติดอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ
ก็เรียกว่า คนในยุคสมัยนี้ก็เผชิญกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน
โดยเฉพาะทุกข์ หรือความบีบคั้นของจิตใจ
หนักหนาสาหัสทีเดียว ในโลกของยุคสมัยนี้
บางคนก็เคยทำผิดพลาดไป
เกิดความรู้สึกผิด เกิดแผลในใจ เกิดปมในใจ
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์มันจะผ่านไปนานแล้ว
เราก็ยังรู้สึกผิดอยู่
ยังรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องราวนั้นอยู่
ไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้
มันก็ทำให้เราจมอยู่กับความเศร้า
จมอยู่กับความรู้สึกผิด
จมอยู่กับความเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ร่ำไป
ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นน่ะ ?
เหตุการณ์มันเกิดขึ้น แล้วมันผ่านไป
แต่ความรู้สึกของเรา มันกลับยังค้างคาอยู่
แล้วกลับติดนึกฝังลึก อยู่กับอารมณ์นั้น ๆ
ที่เราติดอยู่ หรือจมอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ
ก็คือ การหลงติดอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเอง
เวลามันมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ถ้ามันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกพอใจ รู้สึกชอบใจ
มันจะเกิดสิ่งที่ “ฝังเข้าไปในใจของเรา”
เช่น เราได้ดูหนังที่เราชอบ ได้ฟังเพลงที่เราชอบ
ได้เที่ยวพาผู้คน ผู้หญิงผู้ชายที่เรารัก ที่เราชอบ
มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สิ่งที่ฝังเข้าไปในใจของเรา
1
จากนั้นมันก็จะเกิด กามวิตก ขึ้นมา
การตรึกนึกถึงสิ่งนั้นอยู่ซ้ำ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แล้วเราก็จมอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ
…
แล้วถ้าเราประสบกับเหตุการณ์ที่เราไม่พอใจ
ทำให้เรารู้สึกโกรธ รู้สึกไม่ชอบใจ รู้สึกคับแค้นใจ
เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น มันเข้าไปในใจ
ไปฝังในใจของเราแล้วเนี่ย
เหตุการณ์มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ผ่านไป
แต่สิ่งที่มันมาฝังในใจเรานี่สิ
มันค้างคาอยู่ในใจของเรา
แล้วมันก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พยาบาทวิตก
เกิด วิหิงสาวิตก
การตรึกนึกในเรื่องของความอาฆาตพยายาท
การตรึกนึกในเรื่องของการจองเวร
อยากจะเอาคืน อยากจะแก้แค้น อยากจะทำให้เขาเจ็บปวดบ้าง
อารมณ์อย่างนี้มันจะกรุ่นขึ้นมา
แล้วมันก็จะตรึกอยู่กับเรื่องราวอย่างนั้น
ยิ่งตรึกมันก็เหมือนยิ่งบิ้วท์อารมณ์ตัวเอง
ให้เราจมอยู่กับอารมณ์นั้นมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น
ภาษาพระท่านเรียกว่า เกิดไฟในใจ ขึ้นมานั่นเอง
ไฟแห่งราคะ
ความกำหนัดในกามคุณอารมณ์ได้ถูกจุดขึ้นมา
ไฟแห่งโทสะ
ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความคับแค้นใจ
ความที่อยากจะทำลายทุกอย่างได้ถูกจุดขึ้นมา
ไฟแห่งโมหะ
ความหลงต่าง ๆ ได้ถูกจุดขึ้นมา
ในแต่ละวัน กี่เรื่องล่ะที่เข้ามาในชีวิตของเรา
ถ้าเรื่องเหล่านั้นมันต้องเข้าไปฝังในใจ
แล้วมันก็จุดไฟในใจเราขึ้นมา
เราจะมีชีวิตที่มีความสุข ความสบาย ได้อย่างไร ?
มันมีแต่ไฟที่เผาเท่านั้นนั่นแหละ
…
แล้วเมื่อมันเผาไฟในใจของเราแล้ว
บางทีมันไม่ได้อยู่แค่ใจเรานะ
มันเริ่มออกมาแล้ว ทางกาย ทางวาจา
ก็เริ่มลามไปถึงคนรอบข้าง
ไปถึงครอบครัว ไปถึงผู้อื่น ก็ยิ่งหนักยิ่ง ๆ ขึ้นไป
แล้วมันไม่ได้เผาเราแค่ช่วงชีวิตนี้เท่านั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้”
เมื่อไฟเหล่านี้มันถูกจุดขึ้นมา
ให้เรามีจิตใจเร่าร้อนกระวนกระวาย
มีจิตใจเศร้าหมอง
นอกจากชาติปัจจุบันแล้วนี้
เรายังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดความทุกข์แล้วนะ
ชีวิตหลังความตายของเรา มันจะโหดร้ายทารุณกว่านี้อีกมากนะ
เพราะฉะนั้นอย่ามองแค่ชีวิตในปัจจุบันเท่านั้น
ควรคำนึงถึงชีวิตหลังความตายด้วย
ถ้าเรารักสนุก รักสบาย ใช้ชีวิตไปวัน ๆ
ใช้ชีวิตอย่างประมาท
เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ
หลงไปกับเรื่องของโลก ปล่อยจิตใจให้เศร้าหมอง
ชีวิตหลังความตายต้องดิ่งลง จมอยู่กับความทุกข์ในอบายภูมิ
มันคุ้มกันแล้วหรือ ?
ในทางกลับกัน
เราไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป
ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
การฝึกปฏิบัติธรรม อบรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ อยู่เนือง ๆ
จะทำให้เรามีศักยภาพที่จะหลุดออก
คลายออกจากความเจ็บปวด
จากความทุกข์ทรมานทั้งหลายทั้งปวง
เรียกว่า ยาดีที่สุดแล้ว
แล้วเมื่อชีวิตปัจจุบัน เรามีจิตใจที่ผ่องใส
จากการอบรมสติปัฏฐาน ๔
ชีวิตหลังความตายของเราก็ไปสบาย อย่างน้อยก็สุคติภูมิ
แล้วบางท่านอาจหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้นะ
เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ
ในการเรียนรู้ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เยี่ยมชม
youtube.com
เหตุการณ์จบ แต่ทำไมอารมณ์ไม่จบ ? | ธรรมให้รู้•2565 : ตอนที่ 7
Photo by : Unsplash
5 บันทึก
12
8
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกล็ดธรรมคำครู
5
12
8
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย