12 ม.ค. 2022 เวลา 11:17 • ประวัติศาสตร์
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: ใต้ภาพลักษณ์ประเทศล้ำสมัย สิทธิมนุษยชนยังถูกจำกัด อำนาจกษัตริย์เข้มข้น
  • หลังการถอนตัวจากอ่าวอาหรับของอังกฤษ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ก่อตัวขึ้นในปี 1971 จากการรวมตัวของผู้ครองรัฐทั้ง 7 โดยผู้ริเริ่มเป็นทั้งกษัตริย์องค์แรกและประธานาธิบดีในเวลาเดียวกัน
  • รัฐดูไบ ศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองที่ร่ำรวย ทันสมัย และหรูหรา แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ของประเทศที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดยังคงมีปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งการจำคุกผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ และความเท่าเทียมทางเพศ
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของสื่อโลกมาโดยตลอด นโยบายของรัฐบาลหรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศนี้จึงอาจส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อทิศทางของโลกในอนาคต
  • กำเนิดประเทศ และวิสัยทัศน์ประธานาธิบดีองค์แรก
ณ ดินแดนที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาหรับ มีชนพื้นเมืองชาวเบดูอินอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล จนกระทั่งในปีคริสต์ศักราช 630 ทูตจากศาสดามูฮัมหมัด (Prophet Muhammad: PBUH) ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามายังดินแดนแห่งนี้หลังจากเมืองเมกกะกำเนิดขึ้น อารยธรรมอิสลามเจริญรุ่งเรืองอยู่ในภูมิภาคมาเป็นเวลายาวนาน อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการค้าขายทางทะเล มีเมืองอาบูดาบีและดูไบเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ
ปีคริสต์ศักราช 1498 เมื่อชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกเข้ามาถึงคาบสมุทรอาหรับ อิทธิพลจากยุโรปก็เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น ในช่วงปี 1720-1968 จักรวรรดิอังกฤษได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก Qawasims เจ้าผู้ปกครองในขณะนั้นพ่ายแพ้ให้กับจักรวรรดิอังกฤษ จึงมีการลงนามข้อตกลงระหว่างชีคหรือผู้ปกครองของแต่ละรัฐเพื่อยุติสงครามในภูมิภาค จากเดิมที่สงครามระหว่างเผ่าอาหรับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 1968 จักรวรรดิอังกฤษประกาศว่าจะถอนตัวออกจากคาบสมุทรอาหรับภายในปี 1971 และในปีนั้นเองที่ชีคของรัฐต่างๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ The United Arab Emirates (UAE) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 1971 เริ่มจาก 6 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี, ดูไบ, ชาร์จาห์, อุมม์อัลไกไวน์, ฟูไจราห์ และอัจมาน ในปีต่อมารัฐราสอัลไคมาห์ก็ได้เข้ามารวมตัวด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงประกอบด้วย 7 รัฐ จนถึงปัจจุบัน
ชีค ซายิด บิน สุลฏอน อัลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan)
กษัตริย์องค์แรกของ UAE คือ ชีค ซายิด บิน สุลฏอน อัลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan) ในช่วงที่พระองค์ประสูติ ประเทศยังอยู่ในสภาพยากจนและด้อยพัฒนา เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการประมง การดำน้ำหาไข่มุก และการเกษตรที่เรียบง่าย พระองค์ใช้เวลาขณะที่ยังหนุ่มเดินทางทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจสภาพของประเทศและผู้คน จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 1930 เมื่อบริษัทน้ำมันเข้ามาสำรวจภูมิประเทศ จุดเปลี่ยนในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา อาบูดาบีส่งออกน้ำมันรายการแรกเมื่อปี 1962 รายได้จากน้ำมันทำให้พระองค์เพิ่มเงินบริจาคให้กองทุน Trucial States Development Fund มากขึ้นทันที และเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย
ในปี 1946 พระองค์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ปกครองในเขตตะวันออกของอาบูดาบี ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรงสนับสนุนให้เครือญาติมีส่วนร่วมในการพัฒนา มีการจัดการทรัพยากรน้ำให้ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น จนกลายเป็นโอเอซิสแห่งใหม่และศูนย์กลางการตลาดที่โดดเด่นแห่งหนึ่ง จนเมื่อพระองค์ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองของรัฐอาบูดาบีในปี 1966 จนเกิดการเร่งพัฒนาประเทศเรื่อยมา กระทั่งอังกฤษถอนตัวออกจากอ่าวอาหรับ พระองค์จึงร่วมมือกับผู้ปกครองดูไบ ชีค ราชิด บิน ซาอีด อัล มัคทูม (Sheikh Rashid bin Saeed Al Maktoum) เพื่อรวมประเทศเป็นสหพันธรัฐ ไม่เฉพาะ 7 รัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกาตาร์และบาห์เรนด้วย
พระองค์จัดตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งชาติในปี 1970 ปีต่อมาจึงมีรัฐสภากลางแห่งชาติ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าจนได้รับรางวัล Gold Panda จากกองทุนสัตว์ป่าโลก
ทัศนคติในด้านศาสนา ชีค ซายิด บิน สุลฏอน อัลนะฮ์ยาน เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2002 ไว้ว่า “ชาวมุสลิมยืนหยัดว่า ใครก็ตามที่นับถือศาสนาอิสลามแล้วพยายามกระทำการก่อการร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ ผู้ก่อการร้ายนั้นย่อมเป็นศัตรูของอิสลามและมนุษยชาติ ในขณะที่มุสลิมที่แท้จริงเป็นมิตรกับเพื่อนมนุษย์ทุกคน เป็นพี่น้องกับมุสลิมคนอื่น รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตาและความอดทน”[1]
บทบาทของพระองค์ในระดับนานาชาติ ในช่วงปี 1990 ทรงมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศโดยการส่งกองทัพเข้าร่วมกับกองกำลังป้องกันอาหรับ และกองกำลังรักษาสันติภาพและการฟื้นฟูของสหประชาชาติในโซมาเลียช่วงต้นปี 1999 เป็นหนึ่งในผู้นำโลกกลุ่มแรกที่สนับสนุนการตัดสินใจขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) เพื่อบังคับให้เซอร์เบียยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโคโซโว อีกทั้งยังมีการสนับสนุนกองทุนด้านการพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ชีค ซายิด บิน สุลฏอน อัลนะฮ์ยาน สิ้นพระชนม์ในปี 2004 ทิ้งชื่อเสียงในฐานะพระบิดาแห่งชาติและหลักปรัชญาในการพัฒนาประเทศไว้ให้กับผู้ปกครองคนต่อไป
  • การเมืองการปกครองภายใต้อำนาจกษัตริย์
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวถูกตราขึ้นในปี 1971 ก่อนจะแก้ไขให้เป็นฉบับถาวรในปี 1996 แต่ละรัฐจะมีเจ้าผู้ปกครองของตนเอง โดยผู้ปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลกลางจะเป็นเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี ขณะที่ตำแหน่งรองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ เจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 7 จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและกฎหมายต่างๆ และเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในสภาสูงสุด
โครงสร้างทางการเมืองของ UAE ประกอบด้วย 4 สถาบันหลัก ได้แก่ สภาสูงสุด (Federal Supreme Council), คณะรัฐมนตรี (Federal Council of Ministers), สภาแห่งชาติของสหพันธรัฐ (Federation National Council) และศาลสูงสุด (Federal Supreme Court) ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติฯ 20 คน และอีก 20 คน จะมาจากการแต่งตั้งของเจ้าผู้ครองแต่ละรัฐ การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2006 อย่างไรก็ตาม สภาแห่งชาติฯ ไม่ได้มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย แต่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายและข้อเสนอต่างๆ เพื่อเสนอต่อสภาสูงสุด
จากเว็บไซต์ The United Arab Emirates’ Government portal ระบุอำนาจของประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนี้
  • เป็นหัวหน้าสูงสุดของรัฐสภาและเป็นผู้จัดการการอภิปราย
  • เรียกหรือเลื่อนการประชุมสภาตามขั้นตอนของพระราชกฤษฎีกาภายใน
  • เรียกประชุมร่วมระหว่างสภาสูงสุดกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางเมื่อมีความจำเป็น
  • ลงนามและออกกฎหมายของรัฐบาลกลาง กฤษฎีกาและคำตัดสินที่รับรองโดยสภาสูงสุด
  • แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ยอมรับการลาออกหรือให้พ้นจากตำแหน่งโดยความเห็นชอบของสภาสูงสุด
  • แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ยอมรับการลาออกหรือขอให้ลาออกจากตำแหน่งตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
  • แต่งตั้งผู้แทนทางการทูตสำหรับการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ยอมรับการลาออกหรือการเลิกจ้างตามพระราชกฤษฎีกาและกฎหมายของรัฐบาลกลาง
  • ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้แทนทางการทูตไปยังต่างประเทศ และยอมรับหนังสือรับรองผู้แทนทางการทูตของประเทศอื่นที่มายังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย กฤษฎีกา และการตัดสินใจของรัฐบาลกลางผ่านคณะรัฐมนตรี
  • เป็นตัวแทน (represent) ของประเทศทั้งในประเทศและในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมด
  • สามารถใช้สิทธินิรโทษกรรม ลดโทษ หรืออนุมัติโทษประหารตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของรัฐบาลกลาง
  • มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญเกียรติยศของทั้งพลเรือนและการทหารตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • อำนาจอื่นๆ ในสภาสูงสุดตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐบาลกลาง
กษัตริย์องค์ปัจจุบันของ UAE คือ ชีค เคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan) บุตรชายองค์โตของกษัตริย์องค์ก่อน ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2004 หลังจากพระบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้เรียนรู้การทำงานของพระบิดาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อมีพระชันษา 18 ปี ก็ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองเขตตะวันออกและดำเนินการพัฒนาตามรอยพระบิดา ในปี 1976 ได้รับการเสนอชื่อเป็นรองผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี 1981 ได้ก่อตั้งคณะกรรมการเคาะลีฟะฮ์ (Khalifa Committee) หรือแผนกบริการสังคมและอาคารพาณิชย์แห่งอาบูดาบี เพื่อให้สินเชื่อแก่ประชาชนในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ ประธานสภาปิโตรเลียมสูงสุดที่รับผิดชอบอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ชีค เคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan)
หลังจากได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในปี 2004 พระองค์ก็ได้เปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกที่เน้นเรื่องการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน พระองค์ได้ริเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกสมาชิกของสภาแห่งชาติโดยผสมผสานระหว่างการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลอีกด้วย พระองค์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2009 สำหรับบทบาทในการต่างประเทศ ทรงสนับสนุนสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศต่างๆ อีกทั้งมูลนิธิ Khalifa bin Zayed Al Nahyan Foundation ยังเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศอีกด้วย
ชีค เคาะลีฟะฮ์ ได้รับการจัดอันดับเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอันดับ 4 จากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] ในปี 2019 นอกจากรายได้จากน้ำมันแล้ว รายได้หลักของประเทศยังมาจากการค้าและการท่องเที่ยวในรัฐดูไบจำนวนมหาศาล
  • สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ข้อท้าทายในระดับนานาชาติ
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ UAE ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งขุดทองของแรงงานทั่วโลก ทำให้ประชากรแรงงานจำนวนมากหลั่งไหลเข้าประเทศอยู่เรื่อยๆ ประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในเชิงศีลธรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจหากต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาหรับที่ออกกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ มีการลงนามความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกับประชาคมโลกในอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการยื่นรายงานเสนอต่อสหประชาชาติเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นประเทศที่บริจาคเพื่อการพัฒนารายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2016
ทว่าอีกด้านหนึ่ง รายงานในปี 2018 ขององค์กร Human Rights Watch เผยว่ามีผู้วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐถูกรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สั่งคุมขังและบังคับให้สูญหาย มีการตัดสินจำคุกนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน อาเหม็ด มานซัวร์ (Ahmed Mansoor) เป็นเวลา 10 ปี จากการโพสต์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศบนอินเทอร์เน็ต เขาถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2017 ฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายต่อความสามัคคีของชาติ โดยไม่ได้รับสิทธิให้มีทนายความและถูกจำกัดการเข้าเยี่ยมของครอบครัว อีกทั้งยังมีนักวิชาการชื่อ นาสเซอร์ บิน-ไกห์ (Nasser bin-Ghaith) ได้รับโทษจำคุก 10 ปี ในปี 2017 เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐโดยสันติก็ตาม
1
อาเหม็ด มานซัวร์ (Ahmed Mansoor)
นาสเซอร์ บิน-ไกห์ (Nasser bin-Ghaith)
เช่นเดียวกัน การบังคับใช้บทบัญญัติบางอย่างในกฎหมายแรงงานยังอ่อนแอ จากสถิติในปี 2011 พบว่ามีชาวต่างชาติในสัดส่วนของประชากร UAE ถึง 88.5 เปอร์เซ็นต์ มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับค่าแรงต่ำและเป็นกลุ่มเปราะบาง มีระบบที่เรียกว่า ‘The Kafala’ (Visa-sponsorship) ซึ่งผูกมัดแรงงานข้ามชาติกับนายจ้างไว้ หากลาออกจะทำให้ถูกลงโทษฐานหลบหนี อาจถูกปรับและจำคุกได้ แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเมื่อปี 2017 แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายดังกล่าวยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างและแรงงานอยู่ อีกทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติเรื่องการให้เงินเดือนตามสัญชาติของแรงงาน
การมีส่วนร่วมทางการทหารของ UAE กับกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในเยเมนตั้งแต่ปี 2015 อาจนับได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม มีการโจมตีเรือที่บรรทุกผู้อพยพชาวโซมาเลียและผู้ลี้ภัยนอกชายฝั่งเยเมนจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย มีการสนับสนุนนโยบายด้านความมั่นคงของกองกำลังเยเมนด้วยการใช้กองกำลัง UAE จับกุมและกักขังสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องสงสัยที่ทางการต้องการตัว มีการล่วงละเมิด คุกคาม ข่มขู่ ไปจนถึงถูกทำให้สูญหาย ซึ่งองค์กร Human Rights Watch ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Security Council) คว่ำบาตรผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกลุ่มพันธมิตร และผู้บัญชาการของกองทัพ UAE ต้องได้รับการลงโทษจากความผิดทางอาญาในฐานะผู้สั่งการ
การเลือกปฏิบัติทางเพศต่อผู้หญิงไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในปี 2015 อย่างชัดเจน กฎหมายของรัฐบาลกลางฉบับที่ 18 ปี 2005 ยังมีบทบัญญัติบางประการที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เช่น สามีมีสิทธิหย่าภรรยา ในขณะที่ภรรยาต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอหย่า ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี หากทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามีจะถือว่าไม่เชื่อฟัง มีมาตราที่กำหนดให้มีการลงโทษทำร้ายร่างกายได้ตราบใดที่ไม่เกินขอบเขตของกฎหมายอิสลาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกฎหมายลงโทษผู้มีความสัมพันธ์นอกสมรส ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และผู้หญิงข้ามเพศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ UAE จะมีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2015 อามาล อัล กุไบซี (Amal Al Qubaisi) เป็นผู้นำหญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติของรัฐบาลกลาง ปี 2017 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของประเทศมีผู้หญิง 9 คน และในปี 2020 มีการเพิ่มบทลงโทษในความผิดจากการสังหารผู้หญิงโดยสมาชิกในครอบครัว เป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีชีค เคาะลีฟะฮ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2020 โดยเหตุผลเบื้องหลังการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้สึกมั่นคงของนักลงทุนจากต่างชาติ และอาจเกี่ยวข้องกับการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลางในการเจรจา
รายงานของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า UAE เป็นผู้นำในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในตะวันออกกลาง โดยมีช่องว่างทางเพศ (gender gap) แคบลงร้อยละ 4.4 อยู่ในอันดับที่ 72 จาก 153 ประเทศ จากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 120 ข่าวน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสถิติดังกล่าวคือการมีนักบินอวกาศหญิงคนแรก นูรา อัล-มาตรูชี (Noura al-Matroushi) ได้รับการเสนอชื่อในโครงการอวกาศของประเทศ เธอไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวในอุตสาหกรรมนี้ เพราะทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการมีผู้หญิงถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลก็มีส่วนทำให้ผู้หญิงเริ่มท้าทายการเลือกปฏิบัติมากขึ้นเช่นกัน
นูรา อัล-มาตรูชี (Noura al-Matroushi)
ในปี 2021 รัฐบาล UAE ประกาศว่าจะก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในรัฐอาบูดาบี เพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีหลักการจัดตั้งตามหลักการปารีส (Paris Principles)[3] ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในปี 1993 การประกาศดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าจะสามารถทำตามหลักการปารีสได้จริงหรือ ฮิบา ซายาดิน (Hiba Zayadin) นักวิจัยจาก Human Rights Watch มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพให้ดูเป็นประเทศที่เปิดกว้างเท่านั้น เพราะยังมีคนจำนวนมากถูกจำคุกอยู่ ก้าวแรกที่จะพิสูจน์ความมุ่งมั่นของ UAE เรื่องสิทธิมนุษยชนได้ก็คือ การอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบจากองค์กรอิสระระดับนานาชาติเข้าถึงประเทศก่อน
รายงานของ Freedom House ในปี 2020 ระบุว่า UAE เป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาหรับ อีกทั้งนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงในการถูกดำเนินคดีและทารุณกรรม การประกาศว่าจะก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงดูเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต
  • ราชวงศ์ UAE ในสายตาสื่อโลก
ข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกคือ การที่เจ้าหญิงลาติฟา (Princess Latifa) พระธิดาของเจ้าผู้ครองรัฐดูไบหลบหนีออกจากประเทศในปี 2018 เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างเสรีในต่างประเทศ แต่ก็ถูกบังคับให้กลับดูไบ ระหว่างการถูกคุมขังเจ้าหญิงได้บันทึกวิดีโอส่งไปหาเพื่อนๆ ของพระองค์ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งพระองค์ก็หยุดส่งวิดีโอ จึงเกิดการเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติเข้าช่วยเหลือ โดยเพื่อนๆ ของพระองค์ตัดสินใจเผยแพร่วิดีโอดังกล่าวเพราะเป็นห่วงเรื่องสวัสดิภาพ
ต่อมาในปี 2019 เจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล ฮุสเซน พระชายาคนที่ 6 ของเจ้าผู้ครองดูไบซึ่งเป็นชาวจอร์แดน ก็หลบหนีออกจาก UAE เช่นกัน เพราะเมื่อทราบความจริงเบื้องหลังการถูกบังคับนำตัวกลับของเจ้าหญิงลาติฟา จึงรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วไปซ่อนตัวอยู่ในลอนดอน หากพระสวามีต้องการเรียกตัวพระองค์กลับก็จะกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากต่อการทูตอังกฤษ
พระบิดาของเจ้าหญิงลาติฟา ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคทูม (Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) เจ้าผู้ครองดูไบ พยายามพัฒนาดูไบให้เป็นเมืองที่ทันสมัย หรูหรา เหมาะแก่การลงทุน แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนสะท้อนว่า รัฐดูไบยังไม่ได้ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
นอกจากนี้ ชีค โมฮัมเหม็ด ยังมีชื่อเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตทางการเงินระดับโลกอีกด้วย เว็บไซต์ของผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เผยว่าชีคของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการสนับสนุนบริษัทผิดกฎหมาย โดยบริษัท SFM Corporate Services ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต ให้การสนับสนุนบริษัทกว่า 2,977 แห่ง ทั้งใน UAE หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และศูนย์การเงินนอกอาณาเขตอื่นๆ ในจำนวนบริษัทเหล่านั้นมีมากกว่า 20 รายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรทางการเงินและให้บริการเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่ผิดกฎหมาย
ICIJ ตรวจสอบข้อมูลพบว่าเจ้าของอาคารที่ทำการของบริษัท SFM คือ ชีค ฮัซซา บิน ซายิด อัล นะฮ์ยาน (Sheikh Hazza bin Zayed Al Nahyan) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และน้องชาย ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซายิด (Sheikh Mohammed bin Zayed) องค์รัชทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี เอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมยังมีข้อมูลอีกว่า มีสมาชิกในราชวงศ์ของ UAE ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนอกอาณาเขตเหล่านั้นอย่างน้อย 35 ราย หนึ่งในนั้นก็คือ ชีค โมฮัมเหม็ด เจ้าผู้ครองดูไบด้วย
ชีค โมฮัมเหม็ด มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนอกอาณาเขตในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน 2 แห่ง หนึ่งในนั้นคือบริษัท Dark Matter ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน UAE ที่มีข้อกล่าวหาว่าสอดแนมนักสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ แต่บริษัทได้ปฏิเสธและไม่ได้ถูกตั้งข้อหาแต่อย่างใด และจากกรณีที่เกิดขึ้น ICIJ ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากราชวงศ์ รัฐบาล UAE และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความสัมพันธ์ระหว่าง UAE กับอิสราเอลก็เป็นประเด็นใหญ่ระดับภูมิภาค เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เมื่อ UAE ประกาศข้อตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล จึงมีชาวปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นประท้วงในวันที่ 14 สิงหาคม 2020 เพื่อต่อต้านการประกาศดังกล่าว พวกเขารวมตัวกันที่มัสยิดบนภูเขาในกรุงเยรูซาเล็ม มีการนำโปสเตอร์รูป ชีค เคาะลีฟะฮ์ มาเหยียบย่ำและพยายามจุดไฟเผา แต่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีชาวปาเลสไตน์รวมตัวประท้วงที่เขตเวสต์แบงค์และกาซาซึ่งทำกิจกรรมลักษณะเดียวกันอีกด้วย
นาบิล อาบู รูเดเนห์ (Nabil Abu Rudeineh) โฆษกของประธานาธิบดี มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) แห่งปาเลสไตน์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ UAE หรือใครก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิ์พูดในนามของชาวปาเลสไตน์ และจะไม่ยอมให้มาแทรกแซงสิทธิอันชอบธรรมในบ้านเกิดของพวกเขา ในขณะที่ อันวาร์ การ์กาช (Anwar Gargash) รัฐมนตรีการต่างประเทศของ UAE ชี้แจงว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือร่วมกันและฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพ
ความเปลี่ยนแปลงของ UAE ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ชีค เคาะลิฟะฮ์ และรัฐบาล จึงน่าจับตามอง ด้วยสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจย่อมสร้างผลกระทบต่อสังคมโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน ภายในมกราคม 2022 จะมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ของประเทศ ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมและออกกฎหมายใหม่กว่า 40 ฉบับ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งกฎหมายที่ครอบคลุมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ การลงทุนของบริษัทต่างๆ การคุ้มครองสตรี การศึกษา กฎหมายลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการควบคุมเนื้อหาบนสื่อและภาพยนตร์ที่อาจลดความเข้มงวดลง แล้วใช้มาตรฐานการจัดประเภทตามอายุผู้ชมอย่างเคร่งครัดแทน
เชิงอรรถ
[1] “Muslims stand against any person of Muslim faith who will try to commit any terror act against a fellow human being. A terrorist is an enemy of Islam and of humanity, while the true Muslim is friendly to all human beings and a brother to other Muslims and non-Muslims alike. This is because Islam is a religion of mercy and tolerance.”
[3] หลักการปารีส (Paris Principles) คือหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกิดขึ้นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการของสหประชาชาติที่กรุงปารีสในปี 1991 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อให้แต่ละประเทศนำไปเป็นแนวทางจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน มีสาระสำคัญ 5 เรื่องคือ การจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบัน, องค์ประกอบและหลักประกันในความเป็นอิสระและความหลากหลาย, วิธีการดำเนินงานของสถาบัน และหลักการเพิ่มเติมสำหรับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีอำนาจกึ่งตุลาการ
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
อ้างอิง
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: กระทรวงการต่างประเทศ
  • ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดราแฉ ราชวงศ์ UAE เอี่ยว บ.ออฟชอร์ให้บริการลูกค้าผิด กม. เพียบ
  • เจ้าผู้ครองนครดูไบ: เจ้าหญิงลาติฟา เผยแพร่วิดีโอขอความช่วยเหลือขณะถูกพระบิดา “ขัง” ไว้ในวัง
  • เจ้าผู้ครองนครดูไบ: พระชายาหลบหนีไปอังกฤษ หวั่นความปลอดภัยในชีวิต
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปฏิรูปกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษครอบครัวที่สังหารผู้หญิง
  • เว็บไซต์ทางการของ The United Arab Emirates’ Government portal
  • About the UAE: Embassy of The United Arab Emirates in Washington DC
  • United Arab Emirates Events of 2018, Human Rights Watch
  • UEA’s new human rights institute: Real change or ‘image washing’?
  • UAE: A model for women’s rights in the Middle East?
  • Palestinians on Temple Mount Trample, set fire to picture of UAE leader
  • From women protection to investment, from cinema to trade: UAE’s legal reform reflects its future aspirations
เขียน: ชัญญา อินทร์ไชยา
โฆษณา