15 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ยูเออีเลื่อนบังคับใช้ระบบสีไฟจราจรบนฉลากอาหาร Traffic Light Labelling
ปัจจุบันกลุ่มประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ประกอบด้วย บาห์เรน คูเวต กาตาร์ โอมาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต (ยูเออี) เป็นประเทศที่กำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดย สมัครใจ (Voluntary) โดยรัฐออกระเบียบเพื่อกำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใด อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวยังไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก
ในปี 2562 รัฐบาลประเทศยูเออีออกประกาศคณะรัฐมนตรียูเออีฉบับที่ 5034:2018 (standard No. UAE.S 5034: 2018) เรื่องข้อกำหนดสำหรับการติดฉลากโภชนการสินค้าอาหารแปรรูปด้วยระบบสี "ไฟจราจร" (Traffic Light Labelling) กำหนดให้อาหารที่บรรจุแล้วเสร็จต้องติดฉลากแสดงข้อมูลทางโภชนาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลอาหารที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตรงความต้องการและมีความปลอดภัย ซึ่งเดิม กำหนดให้มีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้สินค้าแปรรูปหลายชนิดแสดงฉลากโภชนาการ โดยสมัครใจมาตั้งแต่ปี 2561
อย่างไรก็ตาม การทําให้บริษัทและผู้ผลิตเปลี่ยนมาใช้ระบบฉลากรหัสสีไฟจราจรในผลิตภัณฑ์อาหารทั้งระบบ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมากในการเตรียมการ และผู้ผลิตบางรายให้ความเห็นว่าระบบดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้ ข้อมูลโภชนาการในกล่อง nutrition fact ได้แสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคแล้ว ดังนั้น เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลยูเออีจึงได้ประกาศเปลี่ยนระเบียบข้อกำหนดสำหรับการติดฉลากโภชนาการสินค้าอาหารแปรรูปด้วยระบบสีไฟจราจร (Traffic Light Labelling) ดังกล่าว จากการที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลากแบบบังคับใช้ (Mandatory) เปลี่ยนเป็นให้ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) ไม่ถือเป็นข้อบังคับ ผู้ผลิตอาหารสามารถตัดสินใจได้ว่าต้องการแสดงฉลากระบบสีไฟจราจร บนผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทหรือไม่
อะไรคือฉลากสีไฟจราจร
การติดฉลากระบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light Labelling) เป็นข้อกำหนดที่ให้ระบุปริมาณสารอาหาร ควบคู่ไปกับรหัสสีแดง เหลือง เขียว เพื่อแสดงปริมาณสารอาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้สามารถ เลือกซื้อและรู้ได้ว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล เกลือ รวมถึงปริมาณแคลอรีในระดับสูง ปานกลาง หรือต่ำ ต่อปริมาณอาหาร 100 กรัม ซึ่งความหมายของสีทั้งสาม คือ ไฟแดง = สูง ไฟเหลือง = ปานกลาง ไฟเขียว = ต่ำ หากถ้าเห็นสีเขียวนั้นหมายถึงอาหารดังกล่าวคือทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ฉลากสีแดงใช้กับอาหารด้อยโภชนาการทั้งหลาย จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอาหารที่มีคุณประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศแรกที่ใช้ คือ สหราชอาณาจักร (2549) ประเทศที่ใช้ตามมา เช่น เอกวาดอร์ (2556) อิหร่าน (2558) ศรีลังกา (2559) ฝรั่งเศส (2560)
ระเบียบฉลากอาหารของยูเออี
ปัจจุบัน ยูเออี มีระเบียบการใช้ฉลากอาหาร The UAE standard UAE S.9: 2017 “Labelling for Prepackaged Food Stuffs” โดยจะต้องมีข้อมูลประกอบด้วย
• ชื่อผลิตภัณฑ์และแบรนด์
• รหัสล็อต/หมายเลขล็อต
• แสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้
• ประเทศผู้ผลิต
• ชื่อผู้ผลิต
• คําแนะนําสําหรับการจัดเก็บและการใช้งาน
• ที่อยู่ผู้ผลิต
• ปริมาณสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก
• รายการส่วนผสมและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร ( โดยใช้ตัว” “E” ตามด้วยรหัสของวัตถุเจือปน อาหาร ตามลําดับสัดส่วนจากมากไปหาน้อย )
• ไขมันและน้ำมันทั้งหมดที่ใช้เป็นส่วนผสม
• บาร์โค้ดผลิตภัณฑ์
• ชื่ออาหาร ผู้แบ่งบรรจุ เพื่อจำหน่าย ผู้จัดจําหน่ายหรือผู้นําเข้า
• ข้อมูลทางโภชนาการ
• คำเตือนต่างๆ (ถ้ามี)
ทั้งนี้ ฉลากต้องเป็นภาษาอาระบิก หรือภาษาอาระบิก/อังกฤษ บางครั้งสามารถใช้สติกเกอร์ภาษาอาระบิกได้ (หมายเหตุ: ต้องพิมพ์แสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้บนบรรจุภัณฑ์เท่านั้น)
ไขมันและส่วนผสมของสัตว์ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ฮาลาล ห้ามใช้ไขมันหมูหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมูทั้งหมดเป็นส่วนผสม
อาหารสัตว์เลี้ยง ฉลากจะต้องพิมพ์เป็นภาษาอาระบิก อนุญาตให้ใช้ฉลากภาษาอาหรับ /อังกฤษเช่นเดียวกับ การใช้สติกเกอร์ และฉลากอาหารสัตว์เลี้ยงต้องมีข้อความว่า “Not fit for human consumption" ต้องมีวันผลิต/วันหมดอายุสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง
หากระบุ "GMO Free" บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจะต้องแสดงใบรับรองปลอด GMO จากหน่วยงานที่มีอํานาจของประเทศต้นทาง
กรณีผลิตภัณฑ์ Organic หรือใช้ organic logo บนฉลาก จะต้องแสดงใบรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง และยอมรับจากทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ผลิตภัณฑ์ฮาลาล (ฮาลาลโลโก้ถูกพิมพ์บนฉลาก) ผู้ส่งออก /ผู้นําเข้าจําเป็นต้องแสดงเอกสารใบรับรองฮาลาล ในประเทศไทยการขออนุญาตใช้เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล ผู้ผลิตจะต้องติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ “สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท)”
การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยูเออี
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไทยไปยูเออีปี 2564 มีมูลค่าขยายตัวขึ้น ในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) โดยมีการส่งออกอาหารมูลค่ารวม 6,298.7 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.02% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในยูเออีและภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูเออีเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยสินค้าอาหารที่ส่งออกมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ปลากระป๋อง (+47.5%) ผลไม้กระป๋อง (+53.7%) เครื่องดื่ม (-3.9%) ผลไม้สด (+55.1%) บะหมื่กึ่งสำเร็จรูป (-19.1%) ข้าว (-59.1%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+45%) ผักกระป๋อง (+17.7%) เนื้อปลาสด (-27.5%) ผลิตภัณฑ์ข้าว (+8.4%)
โฆษณา