14 ม.ค. 2022 เวลา 16:36 • อาหาร
7 สิ่งมหัศจรรย์ระดับโลก ที่ปรากฎในอาหารของประเทศไทย
เมื่อพูดถึง เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก (7 wonders of the world)
คนก็จะนึกถึงสิ่งก่อสร้าง ประติมากรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เช่น กำแพงเมืองจีน ปิระมิดของอียิปต์ ทัชมาฮาลของอินเดีย และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในยุคต่อๆ มา
แต่ในมุมมองด้านอาหารไทยแล้ว มีลักษณะหลายอย่างที่น่าอัศจรรย์ ที่ทั่วโลกต้องอึ้งและทึ่ง ในความแปลก (แต่จริง) ความอร่อย และความนิยมแพร่หลายในทางปฏิบัติและสืบทอดต่อๆ กันมา
วันนี้ขอเสนอ 7 สิ่งมหัศจรรย์ ของอาหารไทย ดังต่อไปนี้
1. ใช้ปลา ทำอาหารหวาน เช่น ปลาแห้งแตงโม ไส้กรอกปลาแนม ปั้นขลิบไส้ปลา ข้าวเหนียวหน้าปลา ปลาหวานหรือปลาเสียบไม้ (ของกินเล่นทำจากเนื้อปลา)
เปรียบเทียบกับชาวโลกที่กินปลาเป็นอาหารคาวเท่านั้น
2. อาหารกระป๋องที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดคือ ปลากระป๋อง (ปลาซาดีน) (และอาจเป็นอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องชนิดแรกที่เริ่มก่อตั้งในประเทศไทยด้วย?) มีขายทุกซอกทุกมุม (ในร้านชำ หรือรถพุ่มพวง/ รถกับข้าว)
เปรียบเทียบกับชาวโลกที่นิยมกินอาหารกระป๋องแบบหลากหลาย หลายประเทศแทบไม่กินปลากระป๋องด้วยซ้ำ (แต่อาจกินทูน่ากระป๋องอยู่บ้างเป็นบางโอกาศ)
3. ใช้มะละกอ ทำอาหารคาว เช่น ส้มตำ แกงส้ม ผัดใส่ไข่
เปรียบเทียบกับชาวโลกที่กินแต่มะละกอสุก ซึ่งแม้แต่มะละกอสุกก็ไม่ได้นิยมหรือหาได้ทั่วไปหรือทุกประเทศ (หมายเหตุ ส้มตำมีที่ประเทศลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามด้วย)
4. กินผลไม้สด กับเครื่องปรุงรสเค็ม (กะปิ น้ำปลา เกลือ ปลาร้า) เช่น จิ้มพริกเกลือ กะปิหวาน น้ำปลาหวาน
เปรียบเทียบกับชาวโลกที่กินผลไม้สด แบบเพียวๆ ไม่ปรุงรสใดๆ
5. ศิลปะการแกะสลักผัก ผลไม้ รวมถึงศิลปะการทำบายศรี (ใส่ข้าวขวัญ)ที่ใช้ใบตอง ซึงมาจากต้นกล้วย
เปรียบเทียบกับชาวโลกที่การแกะสลัก เป็นศิลปะที่ใช้กับวัสดุกินไม่ได้ เช่น หิน ไม้ ปูน ภูเขา
6. นำของกินได้มาตั้งชื่อเด็กและสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ไก่ ปลา กุ้ง กบ หนู มะปราง มะนาว ชมพู่ น้อยหน่า ขนุน เงาะ
เปรียบเทียบกับชาวตะวันตกและอาหรับที่มีคำนามเฉพาะสำหรับนำมาตั้งชื่อ ส่วนชาวเอเชีย ชาวอาหรับ ชาวอินเดียแดง นิยมใช้คำนามหรือวิเศษณ์ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ สติปัญญา และสิ่งของตามธรรมชาติ อนึ่งคนไทยสมัยก่อนมีชื่อจริงเป็นของกินได้ต่างๆ แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่ใช้ตั้งชื่อเล่นเท่านั้น
7. เจ้าของกิจการหรือผู้ขายอาหาร ส่วนมากเป็นผู้หญิง เห็นได้จากกิจการ ขนมแม่... กับข้าวป้า...... กล้วยปิ้งยาย......
เปรียบเทียบกับชาวตะวันตกที่ตั้งชื่อตามนามสกุลผู้ขาย ชาวเอเชียตะวันออกอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดียผู้ขายอาหารส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (อ้างอิง?)
โฆษณา