15 ม.ค. 2022 เวลา 17:15 • อาหาร
นิทาน น่าทาน
เรื่องเล่า ตำนาน นิทานที่สืบขานกันมาแต่โบราณ มีจำนวนมากเกี่ยวข้องกับอาหาร
ทำให้สงกะสัยว่า ผู้ที่คิดค้นคำว่า นิทาน คงมีจุดมุ่งหมายเล่าเรื่อง ถ่ายทอดเหตุการณ์ บอกต่อให้คนอื่นได้รับความรู้ ความสุนทรีย์ หรืออุทธาหรณ์สอนใจจากสิ่งนั้น ในขณะ “ทาน”อาหารร่วมกัน
อีกมุมก็อาจเป็นเกณฑ์ของการเล่าเรื่องเพื่อ เอ็นเทอร์เทน หรืออบรมสั่งสอนคนรุ่นหลังนั้น โดยคัดเรื่องที่เกี่ยวกับการ “ทาน” อาหารมาเป็นแกนดำเนินเรื่องและคติสอนใจ
.... ก็เป็นได้
ตัวอย่างเช่น
นายขนมต้ม ....อุ้ย เริ่มผิดเรื่อง
เอาใหม่
ตัวอย่างเช่น
ปลาบู่ทอง สะท้อนความรักสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว (เอื้อย) ที่สื่อสารกันผ่านอาหาร แม้ตัวจะตายก็ไปเกิดเป็นปลาบู่มาหาลูกทุกวัน และเมื่อถูกแม่เลี้ยงใจร้าย จับปลาบู่ไปฆ่า เอื้อยก็เอาเกล็ดปลามาฝังดิน แล้วอธิษฐานให้งอกเป็นต้นมะเขือ เพื่อจะได้มาบูชาทุกวัน
พระสังข์กับนางรจนา ก็สะท้อนอุบายของพ่อเจ้าสาว ในการทดสอบความสามารถของลูกเขยในการหาเลื้ยงดูลูกสาว โดยให้โจทย์ไปหาปลา หาเนื้ออย่างละร้อยตัว เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำครอบครัวที่ดีคือถ้าสามารถบริหารจัดการเรื่องปากท้องในครอบครัวได้ ก็จะมีครอบครัวที่มั่นคง
ศรีธนญชัย ตอนศรีธนญชัยเอาขนมไปเททิ้งแม่น้ำ เพราะผู้ใหญ่สั่งว่าให้เอาขนมไปขาย ขอให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่แน่ใจว่าให้คติสอนใจอย่างไร แต่โดยรวมแล้วคิดว่า ศรีธนญชัย เมื่อเห็นหรือได้ยินอะไรก็จะพลิกมุมตลอด เพื่อโชว์พาว เพื่อสนุกสะใจ หรือระบายความไม่พอใจ เหมือนอย่างแม่สั่งให้อาบน้ำให้น้อง “ล้างไส้ล้างพุง” ให้สะอาด ซึ่งเป็นการพูดเปรียบเทียบการอาบน้ำให้สะอาดสะอ้าน เหมือนกับการปรุงอาหารพื้นบ้านเวลาได้ปลามาทำอาหาร ก็ต้องนำมาผ่านขั้นตอนขอดเกล็ดปลา ผ่าท้องเอาไส้ออกมาล้างให้สะอาด ล้างเมือกปลาให้หมดจด จะได้ไม่เหม็นคาวเวลานำไปต้มแกง ต่างๆ
แม้ว่าหลายตอนของเรื่องนี้ดูเหมือนจะโหดร้าย ไร้มารยาทหรือไม่เคารพให้เกียรติผู้อื่น แต่การที่ประเทศอื่นในอาเซียนก็มีนิทานเรื่องศรีธนญชัยเหมือนกัน ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ อาจจะสะท้อนค่านิยมและภูมิปัญญาอาเซียนที่ให้คติว่า ความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณไหวพริบ มองต่างมุม เป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรมีและผู้ใหญ่ควรปล่อยให้แสดงออก (แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่ออนาคตที่ดีของเด็กคนนั้น หาไม่แล้วจะเจอดี หรือจุดจบอย่างอนาถ)
ชูชก ขอทานที่ละโมภกินอาหารที่พระราชามอบให้เป็นรางวัลเป็นจำนวนมาก จนท้องแตก สอนใจให้คนกินอาหารแต่พอดี
นิทานเกี่ยวกับอาหาร ยังมีอีกหลายเรื่อง และในหลายประเทศ เช่น นิทานขนมบ๊ะจ่างของชาวจีน เกี่ยวกับขุนนางตงฉินที่จมน้ำเสียชีวิตชาวบ้าจึงทำข้าวต้มมาโยนให้ปลากิน เพื่อจะได้ไม่กัดร่างที่จมน้ำ นิทานโมโมทาโร่ของญี่ปุ่น เกี่ยวกับเด็กชายลูกท้อที่ถูกส่งมาจากสวรรค์ให้กับตายายที่ไม่มีลูก การ์ตูนตะวันตกเรื่องป๊อปอายกินผักโขม
*หมายเหตุ นิทาน เป็นคำบาลี หมายถึง เรื่องที่เล่ากันมา เหตุ เรื่องเดิม
อ้างอิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 https://dictionary.orst.go.th/
กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. (2541). ศรีธนญชัยในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
กีรติกานต์ บุญฤทธิ์ และ สุนิฐา กำเนิดทอง. (2564). การศึกษาเปรียบเทียบอนุภาคนิทานพื้นบ้านเปาะเน-เมาะเนกับศรีธนญชัย ในฐานะนิทานมุกตลก. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, 8(1), 194-208.
http://sulaimanmty.blogspot.com/ สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2565
โฆษณา