16 ม.ค. 2022 เวลา 10:00 • หนังสือ
ทฤษฎีของความอ่อนไหว ง่ายเป็นพิเศษ (The Handbook For Highly Sensitive People)
ทำไมหนังเรื่องนี้เศร้าจังเลยนะ ดูซีรีส์เกาหลีทีไรเป็นต้องร้องไห้ทุกครั้งไป ดูดซับความรู้สึกได้ง่ายเกินไปจนบางทีก็เริ่มไม่โอเค เข้ากับสังคมไม่ค่อยได้เลย
1
Highly Sensitive People (HSP) ส่วนใหญ่มักเจออะไรแบบนี้อยู่บ่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วอาการของคน HSP เป็นอีกหนึ่งบุคลิกภาพของมนุษย์ ไม่ใช่ความอ่อนแอหรือจิตใจที่เปราะบางกว่าคนทั่วไป
มาทำความรู้จักกันว่า Highly Sensitive People (HSP) แท้จริงแล้วคืออะไร และมีวิธีรับมือแบบไหนบ้างที่จะทำให้เราไม่ต้องแบกรับความรู้สึกแย่ๆ มากเกินไปจนทำให้เกิดความวิตกกังวล
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Mel Collins ที่ปรึกษาทางด้านจิตบำบัด เล่าถึงประสบการณ์การทำงานเป็นนักจิตบำบัดคนไข้ที่เรือนจำ สอดแทรกกับประสบการณ์โดยตรงจากตัวเธอเองในฐานะเป็นบุคคล HSP
The Handbook For Highly Sensitive People
“เป้าหมายของฉันคือการช่วยให้พวกเขาเข้าใจ ยอมรับ และยินดีกับอาการที่ตัวเองเป็น” Mel collins
เนื้อหาจะแบ่งเป็น 3 ส่วน หลักๆ คือ
- ความอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษคืออะไร
- กลยุทธ์ช่วยเหลือตัวเอง
- ทัศนคติด้านจิตวิญญาณ
The Handbook For Highly Sensitive People
หนังสืออ่านง่าย ไม่ซับซ้อน วันนี้เราจะลองยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนที่รู้สึกว่ามีความน่าสนใจมาให้ได้ลองอ่านกันค่ะ
ส่วนที่ 1 HSP คืออะไร
  • ลักษณะอาการของ HSP
ประสาทรับรู้ไวโดยกำเนิด มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย คอร์ล ยุง ต่อมา ดร.เอเลนย์ อารอน ได้สร้างงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ HSP งานวิจัยของเธอแสดงให้เห็นว่า อาการรับรู้ประสาทไวมาก คือสภาวะอารมณ์แปรปรวนแต่กำเนิด ไม่ได้เป็นความผิดปกติหรือโรค คนเป็น HSP จะมีการกระตุ้นใช้สมองส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับความตระหนักรู้ ความรู้สึก มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็น HSP
งานวิจัยเกี่ยวกับสมองที่มีประสาทรับรู้ไวมากค้นพบว่า คนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษจะแสดงอาการตื่นตัวหวาดระแวงเพิ่มขึ้น และตอบโต้กับสิ่งเร้าทางบวกและทางลบได้มากกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น การอยู่ในฝูงชนหนาแน่น การได้ยินเสียงไซเรนได้ดังขึ้น หรือการอยู่ในที่แสงสว่างเกินไป สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการใช้สมาธิ หรือบางคนอาจมีปัญหาเรื่องนอนหลับ ปวดหัว ใจสั่น กันเลยทีเดียว
1
จากประสบการณ์ส่วนตัวเราเสียสมาธิได้ง่ายมากไม่ต้องถึงขั้นได้ยินเสียงไซเรน แค่รถธรรมดาก็เสียงดังมากแล้วสำหรับเรา อีกอย่างที่โดนคนถามบ่อยๆ คือทำไมห้องมืดจัง คือเราชอบแสงสีส้มๆ ค่ะ ไฟทุกดวงที่ใช้เลยจะเป็นวอร์มไลท์หมด เวลาที่โดนถามก็จะบอกว่าไฟสว่างมันแสบตา รู้สึกอยู่แล้วไม่สบายใจ จนมาได้คำตอบจากหนังสือเล่มนี้ว่า อ้อ มันเป็นอาการของ HSP นี่เอง
  • ความอ่อนไหวคือพรสวรรค์ ไม่ใช่ข้อบกพร่อง
มี HSP หลายคนที่มองว่าตัวเองเป็นสิ่งบกพร่อง และเรื่องนี้ควรได้รับการเยียวยารักษา มาอ่านนิทานปลอบประโลมใจกันหน่อย เราเห็นว่าได้กำลังใจดีเลยสรุปสั้นๆ มาให้อ่านกัน
คนหาบน้ำคนหนึ่งต้องแบกหาบน้ำทุกวันไปที่บ้านเจ้านาย ถังใบแรกสมบูรณ์ดีแต่อีกถังมีรอยรั่ว น้ำจึงเหลือเพียงครึ่งถังเท่านั้นเมื่อมาถึงบ้าน ถังรั่วรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าและไม่ดีพอ วันหนึ่งถังรั่วที่รู้สึกผิดจึงขอโทษคนหาบน้ำที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ไม่ดีพอ แต่คนหาบน้ำกลับบอกให้ถังรั่วลองมองกลับไปทางที่เราเพิ่งผ่านมา สิ่งที่ถังรั่วเห็นคือดอกไม้ที่เติบโตตามทางซึ่งมีดอกไม้อยู่แค่ฝั่งของถังรั่วเท่านั้น คนหาบน้ำบอกต่อว่าตนได้หว่านเม็ดพันธุ์เอาไว้อยู่เสมอเพราะรู้ว่าน้ำจะหยดลงทุกวัน ถ้าไม่มีถังรั่วก็คงไม่ได้เห็นดอกไม้สวยๆ พวกนี้
นิทานเรื่องนี้เป็นอะไรที่เปิดมุมมองอีกด้านกับเรามาก ถังรั่วไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองไม่ดี แต่ถังรั่วทำอะไรได้มากกว่าการบรรจุน้ำ ถึงจะได้น้ำมาใช้ได้แค่ครึ่งเดียวแต่ถังรั่วได้สร้างความงามและทำให้ธรรมชาติมีสีสัน ส่วนถังที่สมบูรณ์ก็บรรจุน้ำได้เต็มที่เพื่อนำประใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด คนเราต่างมีความถนัดในแบบของตัวเอง จะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความเป็นตัวเรา เป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
ยิ่งเรายอมรับและให้คุณค่ากับคุณสมบัติความอ่อนไหวที่สวยงามได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งใช้พวกมันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในชีวิต เพื่อช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายทั้งหลายที่คนเป็น HSP ต้องเผชิญได้มากเท่านั้น
2
ส่วนที่ 2 กลยุทธ์ช่วยเหลือตัวเอง
  • จัดระเบียบเศษซากทางอารมณ์
เป็นเรื่องสำคัญมากที่ HSP จะต้องยอมรับความเจ็บปวดทางอารมณ์ บางทีพวกเขาจะไม่แสดงความเป็นคนอ่อนไหวอย่างที่เป็น บางครั้งอาจถูกอารมณ์ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ถูกแช่เเข็งทางอารมณ์ หรือความรู้สึกอึดอัดท่วมท้น
  • การประมวลผลทางอารมณ์
เปรียบการทำงานของอารมณ์เป็นกระบวนการกรองน้ำ มีส่วนแรกคือตะแกรงดักจับเศษกิ่งไม้ ผ่านทรายหยาบ ส่งต่อสู่ทรายละเอียด และสูบน้ำเพื่อนำไปใช้งานต่อ ขณะที่เราค่อยๆ เติบโต ประสบการณ์ต่างๆ จะทำให้เก็บสะสมอารมณ์จำนวนมาก HSP มีแนวโน้มจะได้รับประสบการณ์ทางอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป เราควรรับรู้และดักจับซากปัญหาทางอารมณ์ หาต้นตอ และแก้ไขปัญหาเหมือนระบบกรองน้ำ
ส่วนที่ 3 ทัศนคติด้านจิตวิญญาณ
  • เติบโตและใช้ชีวิตตามความตั้งใจของคุณในฐานะ HSP คนหนึ่ง
HSP หลายคนเป็นเหมือนดอกตูม บ้างยังไม่เจอกับปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโตและเบ่งบาน บ้างต้องฝ่าฟันพายุ บ้างถูกเด็ดเหยียบย่ำหรือกำจัดทิ้ง ในขณะที่บางส่วนพรางกายเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่คุณไม่ได้เกิดมาเป็นดอกตูมตลอดไป เม็ดพันธุ์ทั้งหมดเริ่มจากการถูกฝังไว้ใต้ดิน ท่ามกลางความมืด แต่เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นกลับเติบโตมุ่งหน้าเข้าหาแสงได้โดยสัญชาตญาณ
หากช่วงเวลาวัยเด็กไม่ได้มอบรากที่ทำให้รู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัยในฐานะที่เป็น HSP คนหนึ่ง เช่นนั้นก็ใช้โอกาสนี้ปลูกมันใหม่ในดินแดนแห่งการรับรู้ถึงตัวตนของคุณ และรับรู้ว่านี่คือตัวตนที่ถูกกำหนดมาให้เป็นอย่างแท้จริง
ที่ยกตัวอย่างมาสรุปให้อ่านเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของหนังสือ ในเล่มคือเนื้อหาละเอียดกว่านี้มากค่ะ มีอธิบายวิธีปรับความคิดสำหรับคนที่มีปัญหากับการเป็น HSP เป็นขั้นเป็นตอนละเอียดยิบ ใครที่สนใจว่า เอ๊ะ ตัวเราเป็น HSP รึเปล่านะ หรืออยากหาข้อมูลก็สามารถหาซื้ออ่านได้เลย
1
ส่วนตัวเราก็เป็น HSP คนหนึ่งที่พยายามใช้ชีวิตในสังคม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งมันยากมากจริงๆ ตอนนี้ก็ยังคงพยายามปรับแก้ไขอะไรหลายๆ อย่าง แต่ที่เห็นผลเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนคือการ move on จากอะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกไม่เป็นตัวเอง พยายามหาพื้นที่ที่รู้สึกว่ามีอิสระ หรือจะเรียกว่าพื้นที่ความเป็นส่วนตัวก็ได้นะคะ อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัวเลย ค่อยๆ เริ่มไปที่ละสเต็ป ตอนนี้รู้สึกดีกับการเป็น HSP มากขึ้น แล้วก็เริ่มเอาบุคลิกนี้ไปทำงานที่ถนัด สำหรับใครที่เป็น HSP เหมือนกันก็อยากจะบอกเหมือน Mel Collins นะคะ ยืมประโยคมาใช้เลยดีกว่า “จงเติบโตและใช้ชีวิตตามความตั้งใจของคุณในฐานะ HSP”
ทฤษฎีของความอ่อนไหว ง่ายเป็นพิเศษ (The Handbook For Highly Sensitive People)
ผู้เขียน Mel Collins
ผู้แปล เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล
สำนักพิมพ์ Cactus Publishing
จำนวน 237 หน้า
#HSP #ทฤษฎีของความอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ #รีวิวหนังสือ #almostmidnight #กระซิบบอกต่อหนังสือเล่มนี้มีอะไร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา