Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
almostmidnight
•
ติดตาม
13 พ.ย. 2021 เวลา 10:00 • หนังสือ
พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (the museum of innocence)
ความเหมาะสมจริงๆ คืออะไร สิ่งที่เราทำอาจไม่ใช่เรื่องผิด สังคมต่างหากที่คอยตั้งนานากฎเกณฑ์เพื่อตัดสินว่าแบบนี้สิเรียกว่าถูก แบบนี้สิเรียกว่าผิด
พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา งานเขียนอบอวลกลิ่นอายตุรกียุค 70’ s ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและสังคม ความรักที่ถูกตีตราว่าไม่เหมาะสม ความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจ วิธีการที่ต้องเอาชนะความลุ่มหลงเพื่อให้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในทุกๆ วัน
"แปดปีที่ผ่านมาได้ฝังความรักของเราไว้ลึกภายใน แต่ก็ยังรู้สึกได้แม้ในขณะที่เราแทบไม่ได้นึกถึง"
เคมาลชายจากตระกูลมั่งคั่งวัยสามสิบและฟูซุนสาวงามวัยสิบแปดเป็นญาติห่างๆ ที่ยากจน ความสัมพันธ์ที่ต้องหลบซ่อนจากสังคมแต่กลับส่งกลิ่นหอมหวานได้เพียงที่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในอพาร์ทเม้นท์เท่านั้น ขณะเดียวกันโลกภายนอกกลับยังมีหญิงสาวผู้เพียบพร้อม สิเบลคู่หมั้นที่ใครต่อใครก็ต่างบอกว่าเหมาะสมกับเคมาล
อิสตันบูลสำหรับเคมาลคือจักรวาลที่บรรจุเรื่องราวระหว่างเขาและฟูซุนโดยสะท้อนผ่านข้าวของสารพันที่เรียงรายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เขาสร้างขึ้น ทั้งหมดเป็นวัตถุไร้เดียงสา จากความรักที่ไร้เดียงสา และอยู่ในช่วงเวลาแห่งความไร้เดียงสา
ไม่คิดเลยว่าจะมีหนังสือที่เขียนได้ดีขนาดนี้บนโลก...
การอ่านเป็นอะไรที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาและสมาธิเพื่อจดจ่อซึมซับเรื่องเล่าจากตัวหนังสือที่ร้อยเรียงนับพันนับหมื่นตัวอักษร เมื่อมีจำนวนครั้งการอ่านที่มากขึ้นเราก็จะยิ่งวิเคราะห์และวิจารณ์งานที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน อันดับความชอบหนังสือแต่ละเล่มก็จะเปลี่ยนไปทุกครั้ง สำหรับตอนนี้พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาคือหนังสือที่เราปลาบปลื้มที่สุดในตอนนี้เลยค่ะ
ด้วยการบรรยายภาษาที่สวยงามเก็บรายละเอียดได้อย่างถี่ถ้วนสาย detail อย่างเราก็เลิฟเลย เนื้อหาค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่คำโปรยว่าต้องเกี่ยวกับความรักและสิ่งของแน่นอน ซึ่งก็ตามนั้นเลยค่ะ
หนังสือค่อนข้างหนาแต่อ่านได้ไม่เบื่อเลย ถ้าแบ่งก็คงแยกได้สามพาร์ทหลักๆ
1. ความลังเล
2. ความทรมาน
3. จุดจบ
อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่ามาตรฐานสังคมที่สนุกสนานกับการตัดสินไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องเคยผ่านความลังเลเมื่อต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างที่เป็นตัวกำหนดชีวิตของเราไปตลอดกาล เคมาลก็เป็นอีกคนที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ ถ้าเลือกแบบที่คนอื่นว่าดีมันจะดีจริงไหมนะ? แล้วถ้าไม่ได้เลือกแบบที่ทุกคนคาดหวังจะต้องมีปัญหาอะไรตามมาบ้าง? เคมาลคือผู้ที่ผ่านมาแล้วทั้งสองตัวเลือก ซึ่งนั่นก็เป็นบาดแผลเจ็บปวดขนาดใหญ่ที่เขาต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต
เคมาล ชายมั่งคั่งจากตระกูลร่ำรวยผู้ตกหลุมรักฟูซุนตั้งแต่แรกเห็น
ฟูซุน สาวน้อยฐานะยากจนแต่มากด้วยเสน่ห์ล้นเหลือที่หาได้ยากคือผู้ที่กุมหัวใจเคมาลและใครอีกหลายคนไปตลอดชีวิต
สิเบล สตรีผู้สมบูรณ์แบบ สูงสง่า หัวสมัยใหม่ รักเคมาลจนหมดใจ แต่สุดท้ายเมื่อรู้ว่าคู่หมั้นได้รักกับสาวอื่นก็ใช้ความอดทนและพยายามอย่างมากจนสุดท้ายก็หลุดพ้นจากการรักข้างเดียว
การอ่านหนังสือแปลเล่มแรกจากสัญชาติตุรกี...
ต้องสารภาพก่อนเลยค่ะว่ามีความรู้เรื่องประเทศตุรกีน้อยมาก เรียกได้ว่าค่อนข้างไกลตัว แต่การอ่านพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาทำให้เรามองเห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวตุรกีได้เป็นฉากๆ อย่างน่าอัศจรรย์
*เนื้อหาต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน
ในเรื่องเป็นการเล่าบ้านเมืองในยุค 70’ s เป็นช่วงที่ตุรกีมีการรัฐประหารวุ่นวายอลหม่านสะท้อนให้เห็นความรุนแรงและอันตรายต่อการดำเนินชีวิต มีอยู่หลายช่วงหลายตอนที่ตัวละครเคมาลเกิดอาการหงุดหงิด เพราะต้องแยกกับฟูซุนก่อนเวลาเพราะติดเคอร์ฟิว เหตุการณ์บ้านเมืองช่วงระยะเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เคมาลได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัวของฟูซุนก็ว่าได้
"ผมคิดว่าหนทางดีที่สุดที่จะเก็บรักษาความสุขไว้อาจเป็นการไม่รับรู้ว่ามีความสุขอยู่"
การพบฟูซุนคือความบังเอิญ แต่ตกหลุมรักคือความตั้งใจ...
เคมาลรักฟูซุนตั้งแต่แรกเห็น ทั้งคู่แอบมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนยากที่จะกลับไปอยู่ในสถานะญาติห่างๆ เมื่องานหมั้นของเคมาลและสิเบลจบลงฟูซุนก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย สิ่งนี้ทำให้เคมาลรู้ตัวว่าได้ตัดสินใจพลาดไปแล้วและต้องทุกข์ทรมารนานปีจนสิเบลอดทนอยู่ในสถานะคนรักให้เคมาลไม่ไหวและแยกทางกันไป
เมื่อเคมาลหาฟูซุนเจอแต่กลับพบว่าเธอแต่งงานไปแล้ว แต่เคมาลก็ทำทุกวิถีทางเพียงแค่ได้เห็นหน้าฟูซุนเขาก็รู้สึกว่าร่างกายกลับมาแข็งแรงมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นเวลาแปดปีที่เคมาลแวะไปกินข้าวเย็นพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวฟูซุนโดยอยู่ในสถานะญาติห่างๆ
ความรักของทั้งคู่ดูเหมือนจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นแต่สุดท้ายฝันก็สลาย
ถึงตอนจบจะรู้สึกเหมือนบทละครที่คุ้นเคยแต่เรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นในข่าวและชีวิตจริงหลายๆ ครั้ง เลยได้แต่กลับมานั่งคิดว่าชีวิตก็ละครดีๆ นี่เอง
อ่านมาทั้งเล่มว่าปลาบปลื้มแล้วแต่ช่วงบทท้ายๆ ยิ่งทำให้ชอบกว่าเดิมอีกค่ะ เพราะมีการเล่าถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสารวมไปถึงหนังสือด้วยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากพลิกหน้าสุดท้ายคือเสียน้ำตาเลย
“การบอกว่านี่เป็นเวลาแห่งความสุขที่สุดย่อมเป็นการยอมรับว่าเราตกอยู่ในอดีตอันห่างไกลและมันจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว"
เจอกันใหม่กับการรีวิวหนังสือเล่มต่อไป bye bye
พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (the museum of innocence)
ผู้เขียน Orhan Pamuk
ผู้แปล นพมาส แววหงส์
สำนักพิมพ์ มติชน
จำนวน 624 หน้า
#พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา #themuseumofinnocence #รีวิวหนังสือ #almostmidnight #กระซิบบอกต่อหนังสือเล่มนี้มีอะไร
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
What I read📚
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย