19 ม.ค. 2022 เวลา 15:45 • สุขภาพ
โอละพ่อ!!! ปิดเคส "เดลตาครอน" ไม่มีอยู่จริง
20
แต่ "โอมิครอน" ก็ยังไม่ใช่สายพันธ์ุสุดท้ายเช่นกัน
22
(19 ม.ค.2565) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความยืนยันความชัดเจน กรณีประเทศไซปรัสพบการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง "เดลตา" กับ "โอไมครอน" โดยใช้ชื่อว่า "เดลตาครอน" โดยระบุว่า จากกรณีนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ได้ออกข่าวไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งว่า ได้พบไวรัสก่อโรค "โควิดสายพันธุ์ใหม่" ล่าสุด และตั้งชื่อเรียบร้อยด้วยว่า
"เดลตาครอน" (Deltacron) เพราะเชื่อว่าเป็นการผสมพันธุ์กันระหว่างไวรัสเดลตากับไวรัส "โอไมครอน"
ต่อมาสื่อของประเทศไทยบางแห่ง ก็ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวด้วยเช่นกันทำให้เกิดเป็นประเด็นของความตื่นเต้นไปทั่วว่า มีไวรัสตัวใหม่เกิดขึ้น ขณะนี้มีความชัดเจนเรียบร้อยแล้ว คือ GISAID หน่วยงานกลางระดับโลก ที่มีหน้าที่ทางวิชาการในการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิดมาตลอดสองปี โดยจะมีหน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ส่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสไปให้ GISAID ตรวจสอบ และทำการจัดหมวดหมู่ ก่อนจะประกาศรับรองต่อไป
สรุปได้ความถึงขณะนี้ว่า GISAID ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากไซปรัส 24 ตัวอย่าง ที่ได้ส่งมาให้ทำการตรวจสอบ ออกจากฐานข้อมูลแล้ว เนื่องจากพบว่า ตัวอย่างไวรัสดังกล่าว มีรหัสเกือบทั้งหมดเป็นของไวรัส "สายพันธุ์เดลตา" และมีเพียง 2 ตำแหน่งใน 30,000 ตำแหน่งที่เป็นของ "โอไมครอน" คือ A67V และ 69-70 Del ในสองตำแหน่งที่เป็นของ "โอไมครอน" นั้น จะพบเหมือนกันในทั้ง 24 ตัวอย่าง โดยที่รหัสพันธุกรรมของเดลตาในแต่ละตัวอย่าง มีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว
ผู้เขียนเห็นว่า การตรวจสอบขององค์กรระหว่างประเทศคือ GISAID นั้นถูกต้องแล้ว คือไม่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หากแต่เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตาเดิมนั่นเอง จึงไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ตั้งชื่อว่า Deltacron และค่อนข้างชัดเจนว่า น่าจะเป็นการปนเปื้อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์สารพันธุกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนบางขั้นตอน เช่น น้ำยาถอดรหัสพันธุกรรม เป็นต้น เป็นอันจบเรื่องไวรัสสายพันธุ์ Deltacron ดราม่าระดับโลกโดยสมบูรณ์
แต่ในขณะเดียวกันสำหรับ "โอมิครอน" WHO ก็เตือนยังไม่จบ ชี้ติดเชื้อทั่วโลกที่ระดับสูงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การกลายพันธุ์เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
4
ต่อกรณีที่หลายองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโรคระบาดทั้งใน และต่างประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) จะยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19)
เพราะมีการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่มีอาการรุนแรงน้อยกว่า โดยหากทุกคนรติดเชื้อก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างภูมิตามธรรมชาติ และสุดท้ายโควิด-19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปในที่สุด
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19  สายพันธุ์โอมิครอน จะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายในการแพร่ระบาดครั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในบางประเทศจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม
พร้อมเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ระดับสูงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การกลายพันธุ์เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
4
แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO กล่าวว่า กำลังได้ยินผู้คนจำนวนพูดว่า โอมิครอนจะเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์สุดท้ายและทุกอย่างจะจบลงหลังจากนี้ และนั่นไม่จริง เพราะไวรัสนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 20% ทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมเกือบ 19 ล้านราย
อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงแวน เคอร์คอฟ ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ไม่ได้รายงานอาจทำให้จำนวนตัวเลขจริงสูงกว่านี้มาก
แพทย์หญิงแวน เคอร์คอฟ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม
พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับมาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมโควิด-19 ให้ดีขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคตเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
สำหรับสายพันธุ์ต่อไปหากมีจริง มีโอกาสสูงที่จะมีชื่อว่า "พาย" หรือ PI ซึ่งเป็นอักษรกรีกตัวที่ 16
12
ที่มา คมชัดลึก, TNN

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา