19 ม.ค. 2022 เวลา 16:11 • อาหาร
ข้าว อาหารสามัคคี
สังคมใดที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก จะมีวัฒนธรรมล้อมวงกินข้าว มีสำรับกับข้าววางตรงกลาง ให้สมาชิกร่วมวงตักกับข้าวมาใส่จานตนเอง กินทีละคำ หรือกรณีข้าวเหนียว ก็ปั้นข้าวเหนียวจ้ำหรือกินควบคู่กับกับข้าวที่หยิบจากกลางวง มากินทีละคำ
เหตุก็เพราะ ดั้งเดิมนั้นกว่าจะมาถึงขั้นตอนนั่งล้อมวงกินข้าว เขาเหล่านั้นก็ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ตั้งแต่ไถนา ตกกล้า ดำนา หรือหว่านข้าว หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน นอนเฝ้านา ไล่ฝูงแมลงและสัตว์ต่างๆ (ทำหุ่นไล่กา) เกี่ยวข้าว นวดข้าว ขนเข้าใส่ยุ้งหรือเล้าข้าว แม้กระทั่งตำข้าว (ที่อาจจะมีการแชร์ครกตำข้าวกันหลายครัวเรือน) เพื่อแยกเปลือกข้าวออกจากเมล็ด แล้วจึงนำมาหุงกินกันในครอบครัว
ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง/ ฉายเดี่ยว/ แต่ลำพัง สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว เก็บเป็นเสบียงตลอดปี (สมัยก่อนทำนาปีละครั้ง) ทุกขั้นตอนต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะลงแขกเกี่ยวข้าว
ปัจจุบันนี้ การผลิตข้าวและได้มาซึ่งข้าวที่หุงสุกพร้อมรับประทาน ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมเหมือนในอดีต
แต่แบบแผนการล้อมวงกินข้าว และอาหารต่างๆ ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ความสามัคคีของหมู่คณะ หรือแสดงนัยของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างเช่น นโยบาย school lunch ของญี่ปุ่น (shokuiku) ที่จัดอาหารให้นักเรียนห้องเดียวกันกินอาหารด้วยกันในชั้นเรียน ช่วยกันตักเสิร์ฟ ช่วยกันเก็บภาชนะ ก็เพราะต้องการสร้างสายใยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นให้กับเด็กที่จะสานต่อไปในอนาคต (แม้ว่าต่างคนต่างกินในถาดของตัวเอง)
โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมของไทยก็มีแทบทุกที่ทั่วประเทศ ภาพเด็กนักเรียนพักรับประทานอาหารพร้อมกัน ในโรงอาหารหรือห้องเดียวกัน อาหารชนิดเดียวกัน ก็สามารถเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความรักสามัคคีในหมู่นักเรียนและเด็กไทยรุ่นใหม่ได้ดีทีเดียว
โฆษณา