14 ก.พ. 2022 เวลา 10:34 • คริปโทเคอร์เรนซี
หลังจากที่ได้ทำความรู้จัก Bitcoin ในบทที่ 8 และทำความเข้าใจประโยชน์ของมันในบทที่ 9 แล้ว บทนี้จะมาเก็บตกความรู้ต่างๆ เพื่อเสริมความเข้าใจใน Bitcoin กันครับ
📌การขุด Bitcoin สิ้นเปลืองพลังงานไหม?
การขุดเหรียญ คือการที่โนดต่างๆ นำกำลังไฟฟ้าและกำลังประมวลผล มาแข่งขันกันแก้สมการคณิตศาสตร์ที่ยากต่อการหาคำตอบ แต่ง่ายต่อการตรวจสอบ
กระบวนการนี้คือ Proof of work ที่เป็นหัวใจหลักในการแก้ปัญหาการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน (double spending) ซึ่งมันทำให้โครงข่ายของ Bitcoin มีความน่าเชื่อถือสูงมาก
ถึงแม้การนำเอากำลังไฟฟ้าและกำลังประมวลผลมหาศาลมาใช้อาจดูสิ้นเปลือง แต่มันก็เป็นวิธีเดียวที่สามารถทำให้การผลิตสินค้าดิจิทัลมีต้นทุนสูงอย่างมั่นคงได้
พลังงานที่ใช้กับ Bitcoin นั้นอาจจะมีปริมาณมาก แต่ผลที่ได้คือการที่เรามีเงินดิจิทัลที่สร้างยาก (hard money) และอาจเป็นเงินที่มั่นคง (sound money) ของมนุษยชาติได้
คำถามที่ว่าการขุด Bitcoin นั้นสิ้นเปลืองไหม ก็จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าผลที่ได้นั้นคืออะไร กระบวนการนี้ใช้พลังงานมากก็จริง แต่มันอาจเป็นการใช้พลังงานที่คุ้มค่ามากที่สุดแล้ว
📌เหตุใดจึงไม่มีใครเปลี่ยนแปลง Bitcoin ได้?
Bitcoin เป็นระบบที่ทำงานแบบไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง การควบคุมหรือเปลี่ยนแปลง Bitcoin ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้
ที่จริงแล้วการแก้ไขโค้ดของ Bitcoin นั้นเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำได้ เพียงแต่จะไม่มีใครยอมรับและใช้มันเท่านั้นเอง
ดังนั้นการปรับปรุง พัฒนาระบบนั้น ต้องได้รับฉันทามติโดยพร้อมเพรียงกันจากผู้ใช้ทุกคนในระบบ
สิ่งนี้ทำให้ไม่ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์จะเก่งขนาดไหน ก็ไม่สามารถควบคุม Bitcoin ได้ และถ้าต้องการปรับปรุงโค้ดจริงๆ ก็ต้องเป็นไปในทางที่ทุกคนยอมที่จะใช้เท่านั้น
นักขุดเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะมีกำลังประมวลผลมากขนาดไหน หากมีการพยายามเปลี่ยนกฎของระบบ บล็อกที่เขาสร้างขึ้นก็จะถูกปฏิเสธจากเครือข่าย และนั่นเท่ากับเป็นการโยนทรัพยากรในการสร้าง proof of work ทิ้งไปเปล่าๆ
เจ้าของโนดต่างๆก็ไม่มีอำนาจใดๆเหนือ Bitcoin ถ้าหากเขาตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่ตรงกับฉันทามติของเครือข่าย ธุรกรรมของเขาก็จะไม่ถูกยอมรับ ซึ่งทำให้ทุกโนดมีแรงจูงใจที่จะรักษากฎฉันทามติเดิมเอาไว้
โดยสรุปแล้ว Bitcoin เป็นระบบที่ออกแบบแรงจูงใจมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนปฏิบัติตามกฎฉันทามติ และลงโทษผู้ที่พยายามฝ่าฝืน
มันจึงเป็นระบบที่ทำงานได้เองโดยไม่มีใครควบคุม และไม่มีใครมีอำนาจ หรือมีความสำคัญต่อระบบอย่างขาดไม่ได้
📌Antifragility? ทำไมยิ่งทุบตี Bitcoin ยิ่งแข็งแกร่ง?
Antifragility หมายถึงสิ่งที่ได้รับประโยชน์จากภยันตรายต่างๆ หรือการที่ยิ่งถูกทุบตีก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น
ความพยายามในการโจมตี Bitcoin นั้นล้มเหลวมาตลอด และบ่อยครั้งมันก็ยิ่งทำให้ Bitcoin แข็งแกร่งขึ้น โดยมันทำให้นักพัฒนามองเห็นจุดอ่อนและช่วยกันแก้ไข
ทีมนักพัฒนาอาสาสมัคร นักตรวจสอบ แฮกเกอร์จากทั่วโลกล้วนหันมาให้ความสนใจ และช่วยกันพัฒนาโค้ด Bitcoin ไปเรื่อยๆ และความสำเร็จของ Bitcoin ก็เป็นเหมือนรางวัลให้กับคนเหล่านี้ ที่ต่างก็ถือ Bitcoin กันนั่นเอง
นอกจากนี้การโจมตีที่ล้มเหลวแต่ละครั้งก็เป็นเหมือนดาวประดับยศ เป็นเรื่องราวทางการตลาด ที่ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้ผู้คนตระหนักถึงความมั่นคงของระบบ
ในฐานะเทคโนโลยีใหม่ Bitcoin ถูกกล่าวถึงในแง่ลบบ่อยมาก มีข่าวหรือบทความที่บอกว่า “Bitcoin is dead” อยู่แทบทุกวัน แต่ Bitcoin ก็ไม่เคยตายและยิ่งเป็นที่สนใจมากขึ้น
ยิ่งประกาศมรณกรรมเหล่านี้มากเท่าไร กำลังประมวลผล จำนวนธุรกรรม และมูลค่า Bitcoin ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะมันยิ่งทำให้คนภายนอกสงสัยว่าทำไม Bitcoin ยังคงไปต่อได้ ถึงแม้จะมีข่าวร้ายและการโจมตีมากขนาดนี้
📌Bitcoin สามารถเติบโตได้จริงหรือ?
หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการขยายขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมของ Bitcoin
1
ด้วยขนาด Block เพียง 1 เมกะไบต์ที่รองรับได้เพียง 4 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ในขณะที่ระบบการชำระเงินแบบรวมศูนย์อย่าง visa หรือ mastercard นั้นทำได้ถึง 3,200 ธุรกรรมต่อวินาที
เครือข่าย Bitcoin ถือว่าเป็นรองอยู่มาก และหากปริมาณธุรกรรมเข้าใกล้ขีดจำกัดของระบบ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมก็จะยิ่งสูงขึ้นอีกด้วย
แต่คุณค่าที่ Bitcoin สามารถให้ได้คือการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ไม่ถูกตรวจสอบและไม่มีทางถูกยับยั้งได้
สำหรับคนที่ต้องการเก็บรักษามูลค่าระยะยาวในเงินดิจิทัล หรือทำธุรกรรมสำคัญโดยใช้ Bitcoin ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมก็คุ้มค่าพอที่จะจ่าย
นอกจากนี้ หากความนิยมใช้ Bitcoin ยังสูงขึ้นต่อไป ก็ยังมีแนวทางขยายขีดความสามารถอีกหลายรูปแบบ เช่น coinjoin หรือการนำธุรกรรมหลายๆอันมารวมเป็นอันเดียว, lightning network หรือระบบบัญชีนอกบล็อกเชนซึ่งจะรองรับธุรกรรมเพิ่มได้อีกมหาศาล
แนวทางต่างๆเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น layer2 ของ Bitcoin ที่เป็นการจัดการธุรกรรมต่างๆนอกบล็อกเชนหลัก แล้วสรุปยอดรวมลงไปในบล็อกเชนหลักอยู่เป็นระยะ เพื่อความน่าเชื่อถือของระบบ
โดยสรุปแล้ว Bitcoin ยังมีแนวทางอีกมากมายที่จะเติบโตโดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขโครงสร้างหลักของ Bitcoin เลย
ในอนาคตการพัฒนา layer2 จะยิ่งมีความสำคัญ และทำให้เกิดสถานบันการเงินใหม่ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับธนาคาร แต่มีการใช้ศาสตร์ cryptography และทำงานอยู่บนอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก
📌Bitcoin เป็นเงินอาชญากรไหม?
หนึ่งในความเข้าใจผิดที่แพร่หลายที่สุดคือความคิดที่ว่า Bitcoin เป็นเงินที่ดีมากสำหรับอาชญากรและเรื่องเทาๆ ดำๆ ทั้งหลาย
มีการเผยแพร่บทความจำนวนมากในสื่อต่างๆ เพื่อโจมตีว่า Bitcoin เป็นเงินอาชญากร โดยไม่มีหลักฐาน แต่ความคิดเหล่านี้ก็ฝังเข้าไปในใจคนจำนวนมาก
บัญชี Bitcoin นั้นเป็นบัญชีร่วมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้ มันจะบันทึกข้อมูลทุกอย่างไว้ตราบเท่าที่ Bitcoin ทำงานอยู่
การเชื่อมโยงสืบระหว่างตัวตนจริงกับ Bitcoin address นั้นสามารถทำได้ ถึงแม้จะเป็นต้นทุนอยู่บ้าง ดังนั้น อาชญากรที่คิดจะใช้ Bitcoin ก็จำเป็นต้องซ่อนตัวตนได้เก่งมาก
แต่หากเทียบกับการซ่อนตัวในอินเตอร์เน็ตแล้ว การกำจัดคอมพิวเตอร์ อีเมลแอดเดรส หรือไอพีแอดเดรสทิ้งนั้น ง่ายกว่าการลบเส้นทางการเคลื่อนที่ของเงินในบล็อกเชนมาก
และหากอาชญากรคนนั้นสร้างความเสียหายไว้มาก ต้นทุนในการสืบหามันก็คุ้มค่าพอที่จะจ่าย
โดยสรุปแล้ว Bitcoin ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับอาชญากร เนื่องจากสถานะความนิรนามเพียงกึ่งหนึ่งของมัน อาชญากรที่ฉลาดควรเลือกใช้เงินสดมากกว่าใช้ Bitcoin
📌Bitcoin จะถูกทำลายอย่างไรได้บ้าง?
1
1.การแฮก : การแฮกเพื่อแก้ไขบัญชีธุรกรรม จำเป็นต้องสร้างโนดที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา แล้วทำให้ทั้งระบบยอมรับมันเพื่อสร้างบล็อกต่อๆไปขึ้นไปจากบล็อกนั้น
แต่เนื่องจากคนอื่นในเครือข่ายต้องการให้ Bitcoin อยู่รอดต่อไปได้ ผู้โจมตีจึงไม่มีทางชนะได้เลย หมายความว่าการปลอมแปลงบัญชีสามารถทำได้ในเชิงเทคนิค แต่แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ทำให้มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น
2.การโจมตีแบบ 51% : คือการใช้กำลังประมวลผลมหาศาลในการสร้างธุรกรรมที่ฉ้อฉล มันคือการใช้ความเร็วในการสร้าง proof of work มาทำการ double spending หรือดึงเงินที่เคยใช้ไปแล้วกลับคืนมา
การโจมตีแบบนี้ตรงไปตรงมาในเชิงเทคนิค แต่ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ คนที่สามารถโจมตีแบบนี้ได้จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในอุปกรณ์ขุด และถ้าหากทำสำเร็จ Bitcoin ทีไ่ด้มาก็จะไร้ค่า เนื่องจากมันเสื่อมเสียชื่อเสียงไปแล้ว
กล่าวคือ กระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการปล้น แต่ของที่ปล้นมาจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่า ดังนั้นคนที่มีทุนทรัพย์มากขนาดนั้น ก็มักจะลงเอยด้วยการมาขุด Bitcoin อย่างซื่อตรงมากกว่า
3.ช่องโหว่ในฮาร์ดแวร์ : การดัดแปลงหรือแอบใสมัลแวร์บางอย่างในอุปกรณ์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของ Bitcoin แล้วทำการควบคุมหรือแฮกผ่านช่องทางนั้น
นี่อาจถือเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรงของ Bitcoin เนื่องจากมันมีความเป็นไปได้ และมันจะทำลายความเชื่อมั่นของ Bitcoin ลงไปมาก
แต่เกราะป้องกันหลักของ Bitcoin ก็คือผู้ใช้งาน Bitcoin นี่เอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความรู้ทางเทคนิคมาก และเขาก็ตรวจสอบฮาร์ดแวร์อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้เมื่อ Bitcoin โตขึ้น ก็จะยิ่งมีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายรายมากขึ้น และจะทำให้ไม่มีผู้ผลิตคนใดสำคัญกับระบบมากเกินไป
4.การทำลายอินเตอร์เน็ต : การปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อทำให้ Bitcoin ตาย แต่มันเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก Bitcoin นั้นเป็นเพียงมาตรฐานซอฟต์แวร์ ที่ทำงานจากคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ และเครือข่ายของ Bitcoin ก็กระจายมาก
การปิดอินเตอร์เน็ตจะทำให้ทุกอย่างในสังคมนั้นเสียหายไปหมด ยกเว้น Bitcoin กรณีเดียวที่จะหยุด Bitcoin ได้คือการทำลายอินเตอร์เน็ตทั้งโลกพร้อมกัน ซึ่งมันคงเป็นเหตุวิปโยคที่ทำให้ไม่มีใครสนใจแล้วว่า Bitcoin จะเป็นอย่างไร
5.ต้นทุนในการเปิดโนดสูงขึ้นและจำนวนโนดลดลง : ความสามารถในการเป็นเงินมั่นคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตั้งอยู่บนความยากลำบากในการเปลี่ยนฉันทามติของระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ปริมาณโนดมีมากพอที่ทำให้การสมรู้ร่วมคิดกันเป็นไปได้ยาก
หากต้นทุนในการรันโนดสูงขึ้นจนทำให้ปริมาณโนดลดลง ระบบก็อาจศูนย์เสียสถานะในความ decentralized ไปได้
6.การทำลายอัลการิทึมในการสร้างแฮช SHA-256 : ในอนาคตหากมีคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังมหาศาล มันอาจจะสามารถคำนวณแฮชย้อนหลังได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ Bitcoin พังได้เลย
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยังถือเป็นอนาคตที่อยู่อีกไกล และเมื่อวันนั้นใกล้มาถึง ผู้ใช้งาน Bitcoin ก็สามารถอัพเกรดระบบไปสู่ hashing algorithm ที่แข็งแกร่งกว่านี้ได้
7.การหวนกลับสู่เงินที่มั่นคง : นี่อาจเป็นแนวทางการทำลาย Bitcoin ทีมีประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากมันคือการทำลายเหตุผลในการมีอยู่ของ Bitcoin
หากรัฐบาลยอมปล่อยอำนาจในการควบคุมเงินที่มีอยู่ แล้วกลับไปใช้มาตรฐานทองคำ หรือ หากมีเงินที่มั่นคงชนิดใหม่เกิดขึ้นและทำได้ดีกว่า Bitcoin ก็คงพร้อมที่จะตาย
เทคโนโลยีที่ดีกว่านั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆนี้ ส่วนการจะให้รัฐยอมปล่อยมือจากอำนาจเงินนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในตอนนี้ Bitcoin จะยังต้องไปต่อ
📌Altcoin ตัวอื่นๆจะมาสู้ Bitcoin ได้หรือไม่?
Bitcoin คือตัวอย่างแรกของเงินสดดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลาง แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่ตัวอย่างสุดท้าย ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Bitcoin ทำให้มีผู้คนมากมายอยากเลียนแบบ
มีเหรียญ cryptocurrency สกุลใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน แต่ไม่มีเหรียญไหนเลยที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งของ Bitcoin
ประเด็นใหญ่ที่สุดที่ทำให้เหรียญอื่นทั้งหมดต่างจาก Bitcoin ก็คือ การมีศูนย์กลาง ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ Ethereum ที่ถือเป็นเหรียญอันดับสอง ก็ยังมีศูนย์กลางอย่างเห็นได้ชัด
และเนื่องจาก Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพต่ำมาก แต่มันมีประโยชน์อย่างเดียวคือการตัดศูนย์กลางออกไป ดังนั้นเครือข่ายที่ยังมีศูนย์กลางแต่ดันทุรังใช้ Bloclchain ก็เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลมาก
เหรียญส่วนใหญ่เหล่านี้เกิดมาเพื่อหลอกเอาเงินคน โดยใช้ Blockchain ไว้เพื่อเหตุผลทางการตลาดเท่านั้น มันไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับโลก มีแต่จะทำให้ผู้สร้างมันรวยขึ้นเท่านั้น
เหรียญอื่นๆบางส่วนอาจเกิดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ดี แต่มันก็ยังต้องผ่านการทดสอบทางเทคนิคและทางตลาดอีกมากมาย มันอาจจะสร้างคุณค่าบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่การเป็นเงินที่มั่นคงเหมือนอย่าง Bitcoin
📌Blockchain คือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจริงหรือไม่?
หลายคนชอบพูดกับว่า “Bitcoin นั้นไม่สำคัญหรอก แต่เทคโนโลยี Blockchain ที่อยู่เบื้องหลังมันต่างหากคือของจริง” นี่คือคำพูดของคนที่ไม่เข้าใจ Bitcoin และ Blockchain เลย
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพต่ำมาก มันทั้งช้า และมีต้นทุนสูง แต่มันมีประโยชน์อย่างเดียวคือการตัดศูนย์กลางออกไป
ระบบใดๆก็ตามที่อยากจะนำ Blockchain มาใช้ต้องมั่นใจว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการกระจายศูนย์นั้นมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนที่ต้องจ่าย และต้องมั่นใจว่ามันจะกระจายศูนย์ได้จริงๆ
การกำจัดศูนย์กลางออกไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป และเทคโนโลยี Blockchain ก็ไม่ได้มีคุณค่ามากขนาดนั้น แต่มันกลับมีการสร้างกระแส งานสัมมนา และถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้
แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีตัวอย่างความสำเร็จในการนำ Blockchain มาใช้เพื่อการกระจายศูนย์อย่างแท้จริง นอกจาก Bitcoin เลย
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Blockchain คือการมองว่ามันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานของ Bitcoin มากกว่าที่มันจะมาเปลี่ยนเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา