20 ม.ค. 2022 เวลา 10:51 • ประวัติศาสตร์
[ตอนที่ 55] "นูซันตารา" จากชื่อเมืองหลวงใหม่ในอนาคตของอินโดนีเซีย สู่บริบททางภาษาและประวัติศาสตร์ของดินแดนหมู่เกาะเครื่องเทศ
1
ภาพแผนที่ปิดทองแสดง "นูซันตารา"หรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา [Credit ภาพ : Gunawan Kartapranata]
จากข่าวในสัปดาห์นี้ ที่รัฐสภาของอินโดนีเซีย ประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากขนาดประชากรและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้) ได้เห็นชอบกฎหมายการปกครองเมืองหลวงใหม่ที่จะย้ายจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียตั้งแต่ได้รับเอกราช ไปยังบริเวณตะวันออกของเกาะบอร์เนียวในปี ค.ศ.2024
ชื่ออย่างเป็นทางการของเมืองหลวงแห่งใหม่ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นี้คือ “นูซันตารา” (Nusantara) ซึ่งเป็นชื่อที่คนศึกษาด้านภาษา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรน่าจะรู้จักกันดี เรามาทำความรู้จักเรื่องราวของชื่อ “นูซันตารา” ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม และที่มาของคำศัพท์กันครับ
(ดนตรีที่แนะนำให้เปิดฟังคลอระหว่างอ่านบทความ)
เพลง Nusantara เพลงร้องประสานเสียงภาษาอินโดนีเซียโดยวง
The Resonanz Children's Choir และดนตรีโดย Elwin Hendrijanto https://www.youtube.com/watch?v=2Fe--u9qM2E
ชื่อ “นูซันตารา” (Nusantara) เป็นชื่อมาจากภาษาชวาเก่า (Old Javanese) ที่แปลว่า “หมู่เกาะรอบนอก” ที่คนอินโดนีเซียใช้กล่าวถึงภูมิภาคในความหมายหลายแล้วแต่บริบทต่าง ๆ ดังนี้
- ภูมิภาค "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร" (Maritime Southeast Asia) หรือ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนหมู่เกาะ" (Insular Southeast Asia) ที่หลายครั้งไม่นับรวมฟิลิปปินส์กับปาปัวนิวกินี
แผนที่แสดงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แบ่งเป็น "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนแแผ่นดินใหญ่" (Mainland Southeast Asia) และ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนหมู่เกาะ" (Insular Southeast Asia) [Credit แผนที่ : University of Texas Libraries]
- ใช้เป็นชื่อเรียกเจาะจงเพื่อสื่อถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย
- ในบริบททางภาษาและวัฒนธรรมออสโตรนีเซีย จะครอบคลุมอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ภาคใต้ของไทย ฟิลิปปินส์ บรูไน ติมอร์-เลสเต และไต้หวัน
3
[ชื่อ “นูซันตารา” ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ การเมืองและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย]
ชื่อ “นูซันตารา” ที่ใช้สื่อถึงดินแดนหมู่เกาะแถบประเทศอินโดนีเซีย-สิงคโปร์-มาเลเซีย-บรูไนให้เป็นพื้นที่หนึ่งเดียวนั้น ย้อนกลับไปถึงอาณาจักรสิงหะส่าหรี (Singhasari) อาณาจักรฮินดู-พุทธทางตะวันออกของเกาะชวาในช่วง ค.ศ.1222-1292 (ตรงกับช่วงอาณาจักรหริภุญชัย-สุโขทัย-ละโว้-นครศรีธรรมราช)
ชื่อ “นูซันตารา” ในความหมายถึงหมู่เกาะแถบอินโดนีเซียเริ่มมีในอาณาจักรสิงหะส่าหรีเมื่อปี ค.ศ.1255 และกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรแห่งนี้เคยใช้คำว่า “จักรวาลมณฑลทวีปันตระ” (Cakravala Mandala Dvipantara) ในความหมายเดียวกับคำ “นูซันตารา” ในปี ค.ศ.1275 ซึ่งในช่วงนั้นพระองค์ทรงมีแนวคิดที่จะรวมอาณาจักรและดินแดนต่าง ๆ ตามหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้อยู่ภายใต้อาณาจักรสิงหะส่าหรีเพื่อต้านการขยายอำนาจของมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ที่ปกครองแผ่นดินจีน
แผนที่แสดงอาณาจักรสิงหะส่าหรี ทางตะวันออกของเกาะชวา (พื้นที่สีส้มเข้ม) และพื้นที่อื่นที่เคยตกเป็นรัฐบรรณาการของสิงหะส่าหรี (พื้นที่สีส้มอ่อน) เช่น บางส่วนของคาบสมุทรมลายูกับเกาะสุมาตรา [Credit ภาพ : Gunawan Kartapranata]
แต่ชื่อ “นูซันตารา” เริ่มมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอินโดนีเซียจากคำปฏิญาณในปี ค.ศ.1336 ของกาจะฮ์ มาดา (Gajah Mada) ผู้นำทางทหารและดำรงตำแหน่ง “มหาบดี” (Maha patih - ตำแหน่งเสนาบดีที่มีอำนาจมากที่สุดแห่งอาณาจักรมัชปาหิต) ในช่วง ค.ศ.1329-1364 (ตรงกับช่วงอาณาจักรล้านนา-สุโขทัย-ละโว้-นครศรีธรรมราช) ผู้สร้างอิทธิพลและอำนาจของอาณาจักรมัชปาหิตถึงจุดสูงสุด
1
แผนที่แสดงอาณาจักรมัชปาหิต ทางตะวันออกของเกาะชวา (พื้นที่สีส้มเข้ม) และพื้นที่อื่นที่เคยตกเป็นรัฐบรรณาการของมัชปาหิต (พื้นที่สีส้มอ่อน) เช่น คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะติมอร์ และพื้นที่ชายฝั่งของเกาะบอร์เนียว ในปี ค.ศ.1365 ช่วงที่มัชปาหิตแผ่อำนาจได้ไกลที่สุด [Credit ภาพ : Gunawan Kartapranata]
คำปฏิญาณดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “ซุมปะฮ์ ปาลาปา” (Sumpah Palapa) ปรากฏใน “ปาราราตน” (Pararaton) จดหมายเหตุภาษาชวาเก่า มีเนื้อความในคำปฏิญาณว่ากาจะฮ์ มาดาตั้งปฏิญาณว่าจะกินเพียงอาหารจืดชืด ไม่กินอาหารที่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ (ซึ่งอินโดนีเซียเป็นดินแดนอุดมด้วยเครื่องเทศ) ตราบใดที่ตนไม่สามารถรวมพิชิตดินแดนหมู่เกาะให้เป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรมัชปาหิตได้สำเร็จ เพื่อผลักดันให้มัชปาหิตได้เป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้
ภาพกราฟิกแสดงกาจะฮ์ มาดา มหาบดีแห่งอาณาจักรมัชปาหิต ตามที่ปรากฏในเกมแนวบริหารบ้านเมือง Civilization 5 ซึ่งกาจะฮ์ มาดา เป็นผู้นำของอินโดนีเซียในเกมนี้
คำปฏิญาณดังกล่าวใกล้เคียงกับธรรมเนียมปูวาซา มูติฮ์ของเกาะชวา (Puasa Mutih) ในปัจจุบันที่ผู้ปฏิญาณตนจะกินเพียงข้าวสวยและน้ำเปล่า ไม่กินอาหารที่ปรุงรสจากเครื่องเทศเพื่อละความสุขตามสัมผัสจากรสชาติอาหารไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายได้
- เนื้อความคำปฏิญาณ “ซุมปะฮ์ ปาลาปา” ในภาษาชวาเก่าที่ถอดเป็นอักษรโรมัน
Sira Gajah Madapatih Amangkubhumi tan ayun amuktia palapa, sira Gajah Mada: "Lamun huwus kalah nusantara isun amukti palapa, lamun kalah ring Gurun, ring Seran, Tañjung Pura, ring Haru, ring Pahang, Dompo, ring Bali, Sunda, Palembang, Tumasik, samana isun amukti palapa"
- เนื้อความคำปฏิญาณ “ซุมปะฮ์ ปาลาปา” แบบแปลภาษาไทย
ท่านกาจะฮ์ มาดา มหาบดีผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ต้องการจะยุติการจำกัดอาหาร ท่านกาจะฮ์ มาดากล่าวว่า “หากพิชิตหมู่เกาะรอบนอก (นูซันตารา) ได้ ข้าจะเลิกจำกัดอาหาร หากหมู่เกาะกูรุน เกาะเซอรัน อาณาจักรตันจุงปูรา อาณาจักรฮารู เมืองปะหัง ดินแดนดมโป เกาะบาหลี อาณาจักรซุนดา เมืองปาเล็มบัง เกาะตูมาสิกล้วนถูกพิชิต ข้าจะเลิกจำกัดอาหาร"
แผนที่แสดงดินแดนทั้งสิบแห่งที่ปรากฏในคำปฏิญาณ “ซุมปะฮ์ ปาลาปา”โดยเรียงตามลำดับในคำปฏิญาณ [Credit ภาพ : Gunawan Kartapranata]
ในเวลาต่อมา เมื่อเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 Ernest Douwes Dekker นักเขียนและนักการเมืองสายชาตินิยมชาวอินโดนีเซีย-ดัตช์ ที่มีแนวคิดสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากการเป็นอาณานิคมภายใต้เนเธอร์แลนด์ ได้เสนอชื่อ “นูซันตารา” ในปี ค.ศ.1920 เพื่อเป็นชื่อของประเทศเมื่อเป็นเอกราชแล้ว เนื่องจากชื่อนี้ดูไม่เกี่ยวข้องกับชื่อของอินเดีย หรือชื่อ “อินเดียตะวันออก” (East Indies) ที่ใช้เป็นชื่อของอินโดนีเซียสมัยเป็นอาณานิคม
ความแตกต่างของความหมายชื่อ “นูซันตารา” ระหว่างข้อเสนอในปี ค.ศ.1920 กับสมัยอาณาจักรมัชปาหิต คือ
- ความหมายในข้อเสนอปี ค.ศ.1920 : ใช้เป็นชื่อของรัฐเพียงหนึ่งเดียว ตามแนวคิดแบบรัฐศาสตร์สมัยใหม่
- ความหมายในสมัยมัชปาหิต : หมู่เกาะต่าง ๆ ที่ถูกพิชิตแล้วอยู่ภายใต้ชื่อ “นูซันตารา” ยังมีกษัตริย์ปกครองแต่ต้องส่งบรรณาการภายใต้อาณาจักรมัชปาหิต ตามแบบแนวคิดเรื่อง “มณฑล” รูปแบบอำนาจทางรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยก่อน
ชื่อ “นูซันตารา” ยังใช้เป็นชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอินโดนีเซียในปัจจุบัน ได้แก่...
- ชื่อมหาวิทยาลัยเอกชนในอินโดนีเซีย เช่น Bina Nusantara University และ Multimedia Nusantara University)
- ชื่อสายการบินในอินโดนีเซีย เช่น Merpati Nusantara Airlines
- ชื่อเกี่ยวกับดาวเทียม เช่น PT Pasifik Satelit Nusantara บริษัทดาวเทียมสื่อสารของอินโดนีเซีย และ Nusantara Satu หนึ่งในดาวเทียมสื่อสารของอินโดนีเซีย (ส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2019)
- “Great Nusantara” ชื่อความสามารถเฉพาะตัวของชาติในเกมแนวบริหารบ้านเมือง Civilization 6 หากผู้เล่นเลือกเล่นเป็นอินโดนีเซีย
แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองหลวงของอินโดนีเซียทั้งกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงชั่วคราวในช่วงที่อินโดนีเซียสู้รับกับเนเธอร์แลนด์เพื่อเอกราช (เมืองบูกิตติงกีกับเมืองยกยาการ์ตา) และเมืองหลวงในอนาคต (เมืองนูซันตารา) ซึ่งเมืองนูซันตาราตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางประเทศมากกว่า [Credit แผนที่ : Uwe Dedering]
- ชื่อทางการของเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ตามนโยบายของโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ที่มีเป้าหมายย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาในปี ค.ศ.2024 เนื่องจากกรุงจาการ์ตาประสบปัญหาความแออัด การทรุดตัวลงของแผ่นดิน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
[ชื่อ “นูซันตารา” ในแง่มุมที่มาของคำศัพท์]
ถึงแม้ชื่อ “นูซันตารา” จะเป็นคำในภาษาชวาเก่า แต่ก็มีรากฐานส่วนหนึ่งมาจากภาษาสันสกฤต โดยเป็นคำสนธิระหว่างคำ 2 คำคือ “นูซา” กับ “อันตารา”
1) คำ “นูซา” (Nusa) แปลว่า “เกาะ”
คำนี้สืบทอดมาจากภาษาโปรโตมาลาโย-โพลีเนเซีย (Proto-Malayo-Polynesian) ภาษาบรรพบุรุษของกลุ่มภาษามาลาโย-โพลีเนเซีย (Malayo-Polynesian languages) กลุ่มภาษาที่มีภาษามลายู (รวมภาษามาเลเซีย-ภาษาอินโดนีเซีย) ภาษาชวา ภาษาซุนดา และภาษาตากาล็อกเป็นสมาชิก
แผนที่แสดงจังหวัดของประเทศอินโดนีเซีย 2 แห่งที่มีคำว่า "นูซา" ในชื่อ ได้แก่ จังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก (West Nusa Tenggara) และจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก (East Nusa Tenggara) ซึ่งสองจังหวัดนี้อยู่ระหว่างเกาะบาหลีกับประเทศติมอร์-เลสเต [Credit แผนที่ : User 'Burmesedays' @ Wikimedia.org]
2) คำ “อันตารา” (Antara) แปลว่า “ระยะห่าง ช่วงห่าง ระหว่าง ท่ามกลาง”
คำนี้ได้รับมาจากภาษาสันสกฤต ได้แก่ คำ अन्तर “อันตระ/antara” (ภายใน ตอนกลาง ช่วงห่าง ความแตกต่าง) กับคำ अन्तरा “อันตรา/antarā” (ตรงกลาง ระหว่าง)
เมื่อรวมคำทั้งสองเป็น “นูซันตารา” แล้ว จะมีความหมายว่า “หมู่เกาะรอบนอก” ตามมุมมองจากศูนย์กลางที่เกาะชวา นอกจากจะเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Nusantara แล้ว ในอักษรชวาจะเขียนเป็น ꦤꦸꦱꦤ꧀ꦠꦫ และ ᬦᬹᬲᬵᬦ᭄ᬢᬭ ในอักษรบาหลี
จากเรื่องราวที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ชื่อ “นูซันตารา” แม้จะมีความหมาย “หมู่เกาะรอบนอก” ที่สื่อถึงหมู่เกาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร แต่มีขอบเขตความหมายหลากหลายตามบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะสื่อถึงหมู่เกาะภายในอินโดนีเซียเท่านั้น หรือรวมถึงหมู่เกาะและดินแดนใกล้เคียงด้วย
ชื่อนี้มีรากฐานสำคัญในแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ในสมัยโบราณ (ดินแดนที่ถูกพิชิตจนยอมเป็นรัฐบรรณาการภายใต้อาณาจักรมัชปาหิตที่มีอำนาจเหนือกว่า) และภูมิรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (ชื่อที่เคยถูกเสนอเป็นชื่อประเทศหลังได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์) ก่อนที่จะเป็นชื่อที่คนอินโดนีเซียใช้เป็นคำทางเลือกเพื่อสื่อถึงพื้นที่แถบประเทศอินโดนีเซีย และกลายเป็นชื่อเมืองหลวงใหม่ในอนาคตของอินโดนีเซียครับ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าคิดต่อว่า ขณะที่อินโดนีเซียมีแผนย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังนูซันตาราแล้ว ประเทศไทยที่มี "เมืองเทพสร้าง" เป็นเมืองหลวงที่เผชิญปัญหาความแออัด แผ่นดินทรุดตัว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลเช่นเดียวกับกรุงจาการ์ตา อีกทั้งสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของไทยกระจุกตัวที่บางกอกและปริมณฑล ประเทศไทยจะมีแผนรับมือกับความเสี่ยงที่พื้นที่แถบเมืองหลวงอาจจะจมทะเลในอนาคตอย่างไร
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา