20 ม.ค. 2022 เวลา 14:33 • อาหาร
100,000 หวาน = 100,000 ดี (จะไม่มีอีกแล้ว?)
สิ่งใดที่แสนหวาน คนไทยให้ความหมายว่า นั่นเป็นสิ่งที่แสนดี ถูกอก ถูกใจ
รสหวาน คือลักษณะอาหารที่ทุกแห่งทั่วโลกแต่โบราณมา ต่างให้คุณค่า นิยมว่าเป็นสิ่งพึงปรารถนา มีความอร่อย พิเศษ ควรค่าแก่การมอบเป็นของขวัญ ของรางวัล และเลี้ยงฉลองในโอกาสสำคัญ
จึงไม่แปลกที่พบอาหารหรือขนมรสหวานที่สอดแทรกอยู่ในเทศกาล งานเฉลิมฉลองของกลุ่มชนต่างๆ ซึ่งมีการถ่ายทอดตำรับวิธีการปรุง การกิน และการแบ่งปันให้กับญาติสนิท มิตรสหาย หรือแจกจ่ายให้สาธารณชน
ยกตัวอย่าง
ขนมงานแต่งงาน
ขนมวันฉลองฤดูเก็บเกี่ยว ขนมฉลองความสำเร็จ
ขนมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ครบรอบสถาปนาก่อตั้ง วันเกิดญาติสนิทมิตรสหาย
ขนมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
ยุคต่อมา หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกเริ่มมีธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล โดยเฉพาะมีการปลูกไร่อ้อยซึ่งนำมาผลิตเป็นน้ำตาลทราย ในบางประเทศ การทำไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเชื่อมโยงกับการอพยพแรงงาน การค้าทาส การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศ ฯลฯ ขนมและอาหารรสหวานไม่ใช่ของกินที่ต้องรอโอกาสพิเศษที่นานๆ มีครั้งอีกต่อไป ขนมและอาหารหวานกลายเป็นสินค้า บริการและสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถจับจ่าย ซื้อหา หุงหา เปิดหา (ในตู้ ในถุง ในกล่องในบ้าน ที่ทำงาน และทุกๆ ที่) หรือนั่งอยู่เฉยๆ กดโทรศัพท์ไม่กี่ปุ่ม รอไม่กี่นาที ของหวานก็มาส่ง
สงครามการค้าและโฆษณาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของ 2 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลก ก็มีชนวนจากความหวานของน้ำตาลในเครื่องดื่มนี่เอง
นักวิจัยด้านรสชาติบอกว่าความหวานเป็นรสชาติที่มนุษย์ทุกคนยอมรับ ชื่นชอบและแสวงหามากที่สุดมาแต่โบราณ เพราะเกี่ยวเนื่องกับความอยู่รอด ทั้งนี้ก็เพราะอาหารรสหวานมีพลังงานจากน้ำตาล (ซึ่งในธรรมชาติมีหลายชนิดเช่น ฟรุกโตส แลคโตส) ทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน รู้สึกสดชื่น ปุ่มรับรสของเรามีระดับการรับรู้ (threshold) รสหวานที่สูงกว่ารสขม หมายความว่า รสหวานเป็นการส่งสัญญาณที่ร่างกายยอมรับไม่ต่อต้าน เพราะร่างกายได้รับพลังงานจากสิ่งนั้น ในขณะที่รสขม ร่างกายแม้ได้รับเพียงนิดเดียวก็รับรู้ได้ และพยายามหลีกเลี่ยง เพราะสัญชาติญาณบอกว่าสิ่งนี้อาจเป็นยาพิษ
อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมอาหารไทย และอีกหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย กลับยกย่องรสขม สนับสนุนให้คนฝึกกินขมๆ จนชินและชื่นชอบ เรียกว่า acquired taste ตัวอย่างอาหารไทยที่มีรสขมมีอยู่หลายชนิด เช่น ฝักเพกา มะระ
สำนวนไทย “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ก็สะท้อนการสั่งสอน ส่งเสริมให้กินอาหารรสขมบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย
ปัจจุบัน เทรนด์อาหารน้ำตาลต่ำ โลว์ชูก้าร์ สูตรไม่ใส่น้ำตาล ตำรับไม่หวาน และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย กำลังเข้ามาครอบครองส่วนแบ่งสินค้าบริการอาหารเครื่องดื่มทั่วโลก และทั่วไทย ใครกินอาหารเครื่องดื่ม zero sugar, diet drink กลายเป็นคูล ทันสมัย ดูแลสุขภาพ แม้แต่รัฐบาลก็ตั้งภาษีน้ำตาล
ต่อไปคำพูดหรือสำนวนที่เปรียบความหวาน หรือน้ำตาล กับความสวยงาม อ่อนโยน มีน้ำใจ
ก็ต้องยกเครื่องภาษากันใหม่
“ความจำ/อดีตที่แสนหวาน” จะเปลี่ยนเป็น “ความจำ/อดีตที่จืดสนิท/ความทรงจำรสน้ำใส/อดีตอันศูนย์หวาน”
ฝันหวาน จะเปลี่ยนเป็น ฝัน low carb/low fat/low salt
สิ่งใดที่ได้มาง่ายๆ เข้าทางที่ต้องการ “หวานปาก” จะเปลี่ยนเป็น “สุขภาพปาก” "เฮลท์ตี้ปาก" “พอดีไม่มีน้ำตาลในปาก”
“อ้อยเข้าปากช้าง” จะเปลี่ยนเป็น “น้ำดื่มเข้าปากช้าง”
คนรักก็จะไม่เรียก “หวานใจ” แต่เรียกว่า “แคลอรี่ต่ำดีต่อใจ” (หรือแฟนนักร้องนิโคล เทริโอ ก็จะบอกว่า”เปรี้ยวใจ”)
นางเอกที่เคยชอบกินน้ำส้ม ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว นางเอกชอบดื่มน้ำเปล่าใส่ขวดสปอร์ตดริ้งค์ (และใส่ชุดออกกำลังกายฟิตเนสตาหลอด)
 
Mintz, S. W. (1986). Sweetness and power: The place of sugar in modern history. Penguin.
โฆษณา