26 ม.ค. 2022 เวลา 02:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ซีรีส์โลกพิศวงงงงวย ตอน 5
เพาะเลี้ยงสมองขั้นกว่า
เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเซลล์ในช่วง 20-30 ปีมานี้ก้าวหน้าไปมาก โดยมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับการที่สามารถสกัดเอาสเต็มเซลล์ออกมาเพาะเลี้ยงนอกร่างกายได้
“สเต็มเซลล์ (stem cell)” ก็คือ เซลล์ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างและหันไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังคงมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้งอยู่
ปัญหาใหญ่ของสเต็มเซลล์คือ มันอยู่น้อยมากในร่างกาย การสกัดออกมาใช้ประโยชน์ก็ยาก เลยเกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่โรงพยาบาลมีแพ็กเกจเก็บรกและสายสะดือของทารกแรกเกิด เพราะเป็นแหล่งหนึ่งที่มีสเต็มเซลล์อยู่มากเป็นพิเศษ
โดยหวังว่าหากจำเป็นต้องใช้ ก็จะสามารถนำออกมาใช้ในภายหลังได้ วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งการเตรียมให้อยู่ในสภาพเหมาะจะนำกลับมาใช้งาน กับค่าใช้จ่ายรายปีในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก
ความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งที่ทลายข้อจำกัดการหาสเต็มเซลล์ได้ยาก คือการที่มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นคิดค้นวิธีการทำเซลล์ทั่วๆ ไปที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ให้กลับมาเป็นสเต็มเซลล์ได้อีกครั้ง ด้วยการใส่ท่อนดีเอ็นเอจำเพาะเข้าไป 3-4 ท่อน เป็นการกระตุ้น ทำให้ได้สเต็มเซลล์ง่ายขึ้น และมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เลยเอามาทดลองต่างๆ กันยกใหญ่ แบบหนึ่งก็คือ การนำมาเพาะเลี้ยงในจานเลี้ยง แล้วพยายามใส่สารกระตุ้นให้กลายเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นี้เรียกว่า ออร์แกนอยด์ (Organoid) หรือ “อวัยวะจิ๋ว”
ความสำเร็จก่อนหน้านี้ก็มีเช่น การเลี้ยงจนได้เนื้อเยื่อหัวใจซึ่งเต้นตุบๆ ได้เหมือนหัวใจจริงๆ!
อีกหนึ่งความสำเร็จได้แก่ การเพาะเลี้ยงจนได้ท่อน้ำตาซึ่ง....หลั่งน้ำตาได้แบบท่อน้ำตาจริงๆ!
อัศจรรย์มากจริงๆ ใช่ไหมครับ
มีหลายแล็บพยายามเพาะเลี้ยงให้ได้ “สมองจิ๋ว” ขึ้นมาและทำสำเร็จซะด้วย แต่ไม่ได้เป็นสมองก้อนโตเท่าจริงนะครับ เล็กจิ๋วแค่ประมาณยางลบบนหัวดินสอแค่นั้น ล่าสุดมีแล็บที่กระตุ้นให้เกิด optic cup ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นจอตา (retina) ได้ต่อไป (ดูรูป)
ถือเป็นครั้งแรกเลยที่สามารถทำให้เกิดเนื้อเยื่อแบบนี้ได้ภายนอกร่างกาย!
โดยจะเริ่มเกิดขึ้นหลังเพาะเลี้ยงได้ 30 วัน และเจริญต่อไปจนถึงราววันที่ 50 อันเป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนในครรภ์ และสุดท้ายยังสามารถสร้าง “เลนส์” และเนื้อเยื่อกระจกตา (cornea) ได้อีกด้วย
อวัยวะจิ๋วพวกนี้ น่าจะมีประโยชน์สำหรับใช้ศึกษากลไกการเจริญที่ผิดปกติและนำไปสู่การรักษาโรคตาบางอย่างได้ในที่สุด
ภาพสมองจิ๋ว (brain organoid) ที่มี optic cups. CREDIT Elke Gabriel https://www.eurekalert.org/multimedia/781762

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา