22 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ การรับมือภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น
กระแสความช่วยเหลือของนานาชาติกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศตองกา หลังจากเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาต้องประสบกับเหตุคลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่ง อันเป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล “ฮองกา” ทำให้เบื้องต้นมีการประเมินกันว่า อาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มากถึง 80,000 คน
อย่างไรก็ดี มีอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนนำมาซึ่งความเสียหายต่อประเทศมาตลอด โดยหากนับเพียงแค่ “สึนามิ” อย่างเดียว ก็มีมากถึง 142 ครั้งแล้ว ที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 684
ประเทศนั้นก็คือ “ญี่ปุ่น” ผู้ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เปรียบเสมือนเป็นสมรภูมิ ท่ามกลางภัยพิบัติธรรมชาติ
1
ในวันนี้ครับ ทาง Bnomics จึงจะพาทุกท่าน ไปถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นกันว่า พวกเขาทำอย่างไร? จึงสามารถปรับตัวและรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ที่อาจจะสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศได้
📌 ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับความท้าทายจากภัยพิบัติธรรมชาติมากที่สุดในโลก เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์ ที่เป็นเกาะ อยู่ท่ามกลางมรสุมมากมาย และก็ยังตั้งอยู่บน “วงแหวนแห่งไฟ” ที่เป็นส่วนของเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด
ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องเจอกับภัยพิบัติธรรมชาติหลากหลายประเภทมาตั้งแต่อดีต นำโดย “สึนามิ” หรือก็คือ คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่ง ที่ดันตัวสูงขึ้นมาจากการขยับตัวของเปลือกโลก
จากการจดบันทึกกันไว้ มีคลื่นยักษ์ที่ถูกจัดว่าเป็นสึนามิ พัดเข้าถล่มฝั่งของประเทศญี่ปุ่นถึง 142 ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 684 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล
โดยสึนามิลูกใหญ่ที่สุดที่เคยพัดถล่มญี่ปุ่น มีความสูงถึง 90 เมตร (เทียบกับสึนามิที่ตองกาล่าสุด สูงแค่ 1.2 เมตรเท่านั้น) เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1741 โดยสึนามิลูกนี้ลูกเดียวก็ได้คร่าชีวิตของประชาชนไปกว่า 1,607 คน
นอกจากสึนามิแล้ว ภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวก็เป็นภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง
โดยมีการคำนวณกันว่า ญี่ปุ่นยังมีภูเขาไฟมีพลัง (active volcanoes) ที่สามารถปะทุได้ในอนาคต เหลืออยู่ถึง 55 ลูก และก็มีอยู่ภูเขาไฟมีพลังใต้ทะเลอีกหนึ่งแห่งด้วย
และจากการจดบันทึกไว้ ในช่วง 1300 ปีหลัง มีเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟครั้งสำคัญมากถึง 130 ครั้ง หรือคือเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 10 ปี ญี่ปุ่นจะเจอกับการระเบิดของภูเขาไฟ 1 ครั้ง ซึ่งก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วอีกนับหลายพันคน
ในส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหว นับรวมๆ แล้ว ปีๆ หนึ่ง ญี่ปุ่นเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งเล็กทั้งใหญ่ ประมาณ 1500 ครั้ง
โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ถูกบันทึกไว้ ก็มีด้วยกันหลายครั้ง เช่น
  • 1.
    Kamakura earthquake ในปีค.ศ. 1293 ,
  • 2.
    Nankai earthquake ในปีค.ศ. 1498
  • 3.
    The Great Kantō earthquake ในปี 1923 (ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่มีการบันทึกไว้ มากกว่า 100,000 คน)
แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ จนมีส่วนในการแก้ไขกฎหมายของญี่ปุ่น (ที่เราจะเล่าในส่วนต่อไป) เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1995 โดยถูกเรียกกันว่า “The Great Hanshin earthquake” ตั้งชื่อตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหว หรือบางคนอาจเรียกว่า “Kobe earthquake” เนื่องจาก Kobe ก็เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งนี้
แต่ก่อนจะเกิดการแก้ไขกฎหมายครั้งสำคัญในปีค.ศ. 1995 ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นก็ได้มีกฎหมายสมัยใหม่ที่เป็นรากฐานในการรับมือกับภัยพิบัติ มาก่อนหน้าประมาณ 30 ปีแล้ว ในชื่อ “The Disaster Countermeasures Basic Act”
และภัยพิบัติที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายในตอนนั้น ที่ทำให้รัฐบาลร่างกฎหมายนี้ออกมา ไม่ใช่สึนามิ แผ่นดินไหว หรือ ภูเขาไฟระเบิด แต่เป็นเหตุการณ์การพัดถล่มของไต้ฝุ่น Ise Bay ในปีค.ศ. 1959 ต่างหาก
📌 การสร้างกฎหมายที่จริงจังในการแก้ปัญหา
ในช่วงเวลาหลังสงครามครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นต้องเจอกับปัญหารุมเร้าหลายด้าน ซึ่งรวมถึงปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ ที่หลังจากแพ้สงคราม ระบบการป้องกันภัยในญี่ปุ่นก็อ่อนแอลงไปด้วย ทำให้ความเสียหายจากภัยพิบัติเหล่านี้ ยิ่งซ้ำเติมการฟื้นตัวของประเทศ
จนถึงปีค.ศ. 1959 เมื่อญี่ปุ่นได้เผชิญกับการถล่มของไต้ฝุ่น Ise Bay ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5000 คน ก็เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการที่จริงจัง ในการป้องกันภัยเหล่านี้สักที
ทำให้เกิดเป็นกฎหมาย “The Disaster Countermeasures Basic Act” ที่ประกาศใช้ออกมาในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตั้งหน่วยงานเพื่อป้องกัน และจัดการในภาวะที่เกิดภัยพิบัติขึ้นมาโดยเฉพาะ ตั้งแต่ระดับประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับภาคเอกชน
และก็มีการร่างแผนการ “The Basic Plan for Disaster Management” ที่เป็นร่างแนวปฏิบัติกลางสำหรับการรับมือภัยพิบัติ ที่หน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชน ก็จะนำเป็นแบบอย่างและปรับใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตัวเอง
และก็ต้องมีการจัดกองทุนและงบประมาณสำหรับการรับมือภัยพิบัติโดยเฉพาะ ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการการันตีว่า เงินที่นำมาใช้ช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติธรรมชาติ จะมีอยู่เสมอและไม่กระทบต่อภาพรวมการเติบโตของประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนที่กฎหมายนี้จะออกมาไม่นาน ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประกาศให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็น “วันป้องกันภัยพิบัติ (Disaster Prevention Day)” เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้และความตระหนักถึงของประชาชนด้วย
โดยในญี่ปุ่น จะมีการสอนความรู้ และการป้องกันตัวจากภัยพิบัติกันในโรงเรียนด้วย โดยสอนกันตั้งแต่อายุ 3-18 ปี
กฎหมายแม่บทหลักในการรับมือภัยพิบัติข้างต้น ก็ใช้ต่อมาจนถึงหมุดหมายสำคัญที่เราเกริ่นไปแล้ว เมื่อในปี ค.ศ. 1995 ได้เกิดแผ่นดินไหว The Great Hanshin จนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก
จนทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ดีมากยิ่งขึ้นเรื่อยมา พร้อมทั้งรวมเป้าหมายที่ว่า “จะสร้างญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยและสบายใจที่จะใช้ชีวิต (making Japan a safe and comfortable place to live)” เข้าเป็น 1 ใน 5 ของเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ (the five fundamental objectives of national development)
โดยมีรายละเอียดในการปรับปรุงที่น่าสนใจ เช่น
  • Social Infrastructure Development Priority Plan ที่เป็นการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสาธารณภัย ทั้งในแง่การป้องกันน้ำท่วม และภัยพิบัติอื่นๆ โดยตรง รวมไปถึงการวางผังเมือง และสร้างระบบที่เอื้อต่อการติดตามข้อมูลสถานการณ์จริงอย่างใกล้ชิด และให้สามารถส่งความช่วยเหลือในภาวะวิกฤติได้อย่างทันท่วงที
  • Disaster Risk Reduction Information Sharing Platform ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถแชร์ข้อมูล เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น
  • Warning systems ที่ทางภาครัฐได้ทำการศึกษา และจับตาดูความเป็นไปได้ในการเกิดภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น เคลื่อนตรวจจับแผ่นดินไหว ที่สามารถตรวจจับได้ตั้งแต่แรงสั่นสะเทือนเบื้องต้น (P-wave)
  • และที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ ระบบแจ้งเตือนภัยที่ทางสื่อทุกแขนงในประเทศ มีหน้าที่ต้องรายงานและแจ้งเตือนอย่างทันทีทันใด เมื่อสัญญาณเตือนจากภาครัฐเกิดขึ้น
นอกจากกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 1995 แล้ว ญี่ปุ่นก็มีการปรังปรุงแก้ไขกฎหมายย่อยๆ ให้ดีขึ้นอยู่ตลอด เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม กฎหมายป้องกันดินถล่ม กฎหมายการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กฎหมายการส่งทีมช่วยเหลือ และกฎหมายมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร เป็นต้น
ซึ่งการแก้ไขกฎหมายอย่างจริงจังทั้งหมดนี้ ก็เป็นใบเบิกทางสำคัญอันนำมาสู่การปฏิบัติงานจริง จนทำให้ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะ จากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
📌 บทบาทของญี่ปุ่นในการช่วยเหลือประเทศอื่น
จากการตระหนักในผลของภัยพิบัติต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้นอกจากจะวางรากฐานการป้องกันในประเทศแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีบทบาทสำคัญ ในการนำองค์ความรู้ และความช่วยเหลือทั้งผู้เชี่ยวชาญและเงินทุน ไปสู่นานาชาติเมื่อประสบภัยพิบัติด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากการระเบิดของภูเขาไฟ Pinatubo ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ญี่ปุ่นเข้าไปช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุน และการวางแผนสำหรับควบคุมเสียหายจากโคลนลาวา หรือการส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือหลายประเทศเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทั้งเวเนซูเอล่า โคลอมเบีย ฟิจิ เม็กซิโก เป็นต้น
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีบทบาทสำคัญในองค์กรป้องกันภัยพิบัติในระดับนานาชาติ เช่น Office of the United Nation Disaster Relief Coordinator และ the World Meteorological Organization ที่ก็มีการช่วยเหลือทั้งองค์ความรู้และเงินทุน และญี่ปุ่นก็ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยร่าง หนังสือคู่มือการบรรเทาภัยพิบัติ (Guidelines on Disaster Mitigation) ที่เป็นหนังสือแนวทางสำคัญ สำหรับการพัฒนาระบบป้องกันภัยในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมระดับนานาชาติ
ท้ายที่สุดนี้ บทเรียนราคาแพงของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างมหาศาลแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับบทเรียนมา ญี่ปุ่นก็ปรับเปลี่ยน ปรับตัว และเตรียมพร้อมเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายที่เคยเผชิญมา
ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนอื่น ที่ถ้ามองเห็นความเสี่ยงที่ยังมาไม่ถึงก็ควรจะป้องกันไว้ หรือถ้าเคยได้รับบทเรียนมา ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทาย ในตอนที่ความเสียหายเกิดขึ้น จากหนักจะได้กลายเป็นเบา
#สึนามิ #ญี่ปุ่น #Tsunami
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา