29 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ซาอุดีอาระเบีย “พี่ใหญ่” แห่งดินแดนตะวันออกกลาง
การไปเยือนซาอุดีอาระเบียของท่านนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเดินทางไปเยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทยในรอบ 32 ปี
1
ซึ่งการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่จะเปิดโอกาสให้ไทยได้ขยายขอบเขตของธุรกิจ เข้าไปสู่ดินแดนที่เป็นเสมือน “พี่ใหญ่” แห่งตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะในด้านขนาดพื้นที่ที่คิดเป็น 4 ใน 5 ของคาบสมุทรอาหรับ หรือขนาดเศรษฐกิจ ที่ซาอุดีอาระเบียก็ยืนอยู่ในอันดับหนึ่งของทั้งสองคุณสมบัติ
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ประเทศซาอุดีอาระเบียก็มีเส้นทางการเติบโตที่ยากลำบากไม่ใช่น้อย ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ปกคลุมไปด้วยทะเลทรายเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีจุดพลิกผันสำคัญเรื่อยมาที่ทำให้มีผู้คนตัดสินใจเข้ามาอาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียตลอดมา
2
ในบทความนี้ ทาง Bnomics จึงจะพาทุกท่าน ไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศซาอุดิอาระเบีย “พี่ใหญ่แห่งดินแดนตะวันออกกลาง” กันว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญแต่ละครั้งคืออะไร และส่งผลอย่างไรต่อโครงสร้างของประเทศ
 
📌 เส้นทางการค้าสำคัญและการเป็นดินแดนกำเนิดศาสนาอิสลาม
แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทรายกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่ดินแดนของประเทศซาอุฯ ก็ยังสามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้มาเป็นระยะเวลานานหลายพันปีแล้ว ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนยอมเข้ามาใช้ชีวิตในดินแดนที่แร้นแค้นแบบนี้ ก็เพราะว่า บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมการค้า ระหว่างอารยธรรมที่รุ่งโรจน์สองแห่ง โดยหนึ่งแห่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) และอีกหนึ่งแห่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ คืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ (อียิปต์ในปัจจุบัน) ทำให้เมื่อสองอารยธรรมจะค้าขายกัน ก็ต้องเคลื่อนกองสินค้าผ่านบริเวณนี้ แล้วพอมีการเดินทางก็เกิดเป็นเมืองตามมาด้วย
โดยเมืองที่สำคัญในช่วงแรก ก็มักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่ง เช่น เมืองเจดดาห์ (Jeddah) และ เมกกะ (Mecca ) อย่างไรก็ดี ผู้คนก็ปรับตัวเข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณตอนกลางของประเทศด้วย เป็นกองคาราวานค้าขายเล็กๆ ที่รวมตัวกันใหญ่ ใหญ่ขึ้น จนมีความสำคัญและกลายเป็นเมืองในที่สุด
1
ดินแดนแห่งนี้คงบทบาทการเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญเรื่อยมาจนมาถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 – 7 หลังจากที่เอกบุรุษ ผู้เป็นศาสดาของหนึ่งในศาสนาเอกของโลกอย่างนบีมุฮัมหมัด ได้ทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และก็รวบรวมพื้นที่ของคาบสมุทรอาหรับไว้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน เกิดเป็นอาณาจักรอิสลามและก็ได้แพร่ขยายความเชื่อของศาสนาอิสลามต่อไปแม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้ว
การที่ศาสนาอิสลามแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลกลับเข้ามาที่ดินแดนแห่งนี้จำนวนมาก เนื่องด้วยบริเวณที่เป็นซาอุฯ .ในปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของสองเมืองที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม คือ เมกกะและเมดินาห์ ซึ่งจำนวนนักแสวงบุญจำนวนมากที่เข้ามานี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ จนทำให้บริเวณชายฝั่งตะวันตกของคาบสมทุรอาหรับ กลายเป็นดินแดนที่สร้างวิทยาการ และเป็นรากฐานของหลายสาขาวิชาต่อมา
ถัดจากการปกครองของอาณาจักรอิสลาม อาณาจักรสำคัญที่ได้เข้ามายึดครองบริเวณคาบสมุทรอาหรับ ก็คือ อาณาจักรออตโตมัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อจะสร้างหลักประกันว่า คนในอาณาจักรของตัวเองจะสามารถเข้ามาประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่นครศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองได้อย่างสะดวก ทำให้อาณาจักรออตโตปกครองบริเวณคาบสมุทรอาหรับแบบหลวมๆ เท่านั้น โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางไปจนถึงทางตะวันออก ที่ไม่ได้ทำการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะไปดูแลดินแดนที่ไม่มีทรัพยากรอะไรสำคัญ และมีภูมิอากาศโหดร้าย
ด้วยการปกครองแบบหลวมๆ แบบนี้ จึงเปิดโอกาสให้ในบริเวณตอนกลางของคาบสมุทร มีการสะสมกำลังพลของชนเผ่าท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งตนเป็นอิสระโดยเด็ดขาดจากการปกครองของอาณาจักรออตโตมันได้ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสหราชอาณาจักรได้ทำสงครามกับอาณาจักรออตโตมัน
ซึ่งทางสหราชอาณาจักรก็ได้มองหาพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับออตโตมัน โดยพันธมิตรคนสำคัญก็คือ Ibn Saud ที่ช่วยต่อสู้จนขับไล่คนของออตโตมันออกไปจากดินแดน และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรออตโตมันล่มสลายลงในที่สุด
1
หลังจากขับไล่ออตโตมันออกไปได้ ทาง Ibn Saud ก็ได้ทำการรวบรวมดินแดนโดยได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักรด้วย จนสามารถก่อตั้งเป็นประเทศซาอุดิอาระเบีย และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลอะซิส ในปี 1932
ซึ่งนี่ก็คือ ก้าวแรกของประเทศซาอุดิอาระเบียแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ที่ในช่วงแรกก็ยังทำมาหากินผ่านการเก็บภาษีการค้าและค่าธรรมเนียมของผู้มาแสวงบุญ จนกระทั่งการค้นพบน้ำมัน
📌 จุดพลิกผันสู่การเป็นเศรษฐีน้ำมัน
หลังจากที่ก่อตั้งเป็นประเทศในปี 1932 ถัดมาเพียงปีเดียว ทางซาอุดิอาระเบียก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกับ the Standard Oil Company of California (SOCAL) บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกา เพื่อทำการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันทันที แต่กว่าจะสำรวจค้นพบจนสำเร็จก็ต้องรอจนถึงปี 1938 ซึ่งการค้นพบน้ำมันนี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียไปอย่างมากเลยทีเดียว
โดยอ้างอิงข้อมูลจาก worldometers ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่น้ำมันสำรองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศเวเนซูเอล่าเท่านั้น และประเทศซาอุดิอาระเบียก็ยังเป็นประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ไม่อันดับหนึ่งก็สองตลอดมา
โดยบริษัทสำคัญที่ถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลการผลิตขุดเจาะและผลิตน้ำมันในซาอุดิอาระเบียในตอนแรกๆ ก็คือ Aramco หรือชื่อเต็ม the Arabia American Oil Company ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงแรก รัฐบาลของประเทศซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทนี้โดยตรงเลย ก่อนที่ต่อมาทางรัฐถึงเริ่มเข้าซื้อหุ้นส่วนของบริษัท เริ่มตั้งแต่ 25% ในปี 1973 และเพิ่มเป็น 60% ในปีต่อมา และก็เข้าซื้อ 100% ในปี 1980 พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น The Saudi Arabian Oil Company หรือที่รู้จักกันในชื่อ Saudi Aramco
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา Saudi Aramco ก็เป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันของโลกมาเสมอ พร้อมทั้งยังลงทุนทั้งกับโปรเจคของบริษัทเอง และก็เข้าไปถือหุ้นส่วนในบริษัทต่างประเทศด้วย โดยมีโครงการครั้งยิ่งใหญ่ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ก็ยังเป็นมรดกแห่งชัยชนะสืบทอดให้เห็นต่อมาอย่าง “The Tapline”
 
The Tapline หรือ ชื่อเต็ม The Trans-Arabian Pipeline เป็นท่อส่งน้ำมันความยาวกว่า 1,648 กิโลเมตร ที่ทำการเชื่อมชายฝั่งตะวันออกของประเทศซาอุฯ เข้ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้ลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรปไปอย่างมาก
5
โดยการก่อสร้างท่อน้ำมันนี้ ต้องใช้คนงานมากกว่า 16,000 คน และก็ต้องอาศัยท่อไปป์ส่งน้ำมันอีกกว่า 305,000 ตัน เป็นโครงการก่อสร้างขนาดมหึมา ที่ต้องลงทุนทั้งแรงเงินและแรงงานจำนวนมาก และเจ้าท่อนี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยสนับสนุนทวีปยุโรปที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้มีพลังงานพอใช้ จนสามารถฟื้นฟูกลับมารุ่งเรืองได้จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นวัตกรรมแทบทุกอย่างต้องมีวันจบ “The Tapline” ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นครับ เมื่อต่อมามีนวัตกรรมใหม่ที่เป็นแทงก์ขนาดยักษ์ที่สามารถขนน้ำมันได้มาแทนที่ ทำให้สุดท้าย ซาอุฯ ก็ตัดสินใจเลิกใช้งานมันไปในปี 2001
เหตุการณ์สำคัญต่อมาของ Saudi Aramco ที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง ก็คือ การประกาศขายหุ้นสู่สาธารณชน (IPO) เมื่อปลายปี 2019 มูลค่ากว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติเป็น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเงินทุนส่วนนี้จะมีบทบาทกับหัวข้อที่เราจะเล่ากันในส่วนต่อไปด้วย
1
📌 Vision 2030
อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียพึ่งพารายได้จากน้ำมันมหาศาลมาก ทำให้ช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำไปด้วย ประกอบกับในช่วงหลังที่กระแสการใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาด กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทางซาอุฯ ก็ใม่สามารถอยู่เฉยกับความเสี่ยงนี้ได้ จึงได้ประกาศแผนการในการปฏิรูปโครงสร้างประเทศในชื่อ “Vision 2030” ออกมาในปี 2016
โดยเป้าหมายสำคัญของแผนการนี้มีอยู่ด้วยกันสามเสาหลักๆ ก็คือ
  • 1.
    สร้างสังคมที่สดใส (A Vibrant Society)
  • 2.
    สร้างเศรษฐกิจที่พุ่งทะยาน (A Thriving Economy)
  • 3.
    สร้างชาติที่มุ่งมั่นทะเยอทะยาน (An Ambitious Nation)
โดยเราจะขอยกตัวอย่างจากเป้าหมายเสาที่สอง ในการสร้างเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานมาเล่าให้ฟังสักเล็กน้อย ที่ซาอุดิอาระเบียตั้งเป้าจะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลายๆ อุตสาหกรรม และก็ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันลง โดยมีการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม คือ จะเป็นประเทศ Carbon Net Zero ในปี 2060 เหมือนเป็นการให้คำสัญญากลายๆ ว่าประเทศจะลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกจากนี้ ซาอุฯ ก็ยังจะผลักดันอุตสาหกรรมการเงินและการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลางให้ได้ และจะมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์และให้โอกาสกับเด็กที่มีความสามารถ และก็ยังจะลงทุนกับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนก็ออกมาปรามาสว่า ยังไม่เห็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของแผนเท่าไรนัก และก็คงทำไม่สำเร็จภายในปี 2030 เป็นแน่
4
แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ซาอุดิอาระเบียก็ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ประกาศเข้าซื้อสองบริษัทเกมอย่าง ESL และ Faceit เป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินส่วนที่นำมาซื้อ ส่วนหนึ่งก็นำมาจากเงินที่ขายหุ้น IPO ของ Saudi Aramco นั่นเอง ที่เงินจาก IPO ครั้งนั้น ก็ถูกนำมาใช้สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในอีกหลายด้านด้วย
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียต้องเผชิญกับความท้าทายและจุดพลิกผันมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศเสมอ และในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ความท้าทายใหม่ของประเทศก็ปรากฏตัวขึ้น เมื่อน้ำมันที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจมานาน เริ่มไม่มั่นคงอีกต่อไป ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า แผนการ Vision 2030 จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญของประเทศซาอุดิอาระเบียอีกครั้งใหม่หรือเปล่า? หรือนี่จะเป็นแค่อีกโครงการหนึ่งที่จะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าล้มเหลว
#ซาอุดิอาระเบีย #Vision2030
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : National Geographic

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา