นอกจากมุมมองทางเศรษฐกิจข้างต้น เมื่อมองทางด้านรากฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งสองประเทศก็มีรากเหง้าร่วมกันไม่น้อย โดยผู้นำคนปัจจุบันของรัสเซียอย่างวลาดิเมียร์ ปูติน ก็เคยกล่าวไว้ว่า รัสเซียและยูเครนเหมือนเป็นเป็นดังประเทศเดียวกัน เป็นผู้คนกลุ่มเดียวกัน (Russian and Ukrainians were one people)
จากรากฐานที่มีต้นกำเนิดเหมือนกัน ที่เป็น “ทายาทของอาณาจักร Ancient Rus” เคยผูกพันกันด้านภาษา ที่เมื่อก่อนทั้งบริเวณก็ใช้ภาษา “Old Russian (หรือบางคนอาจจะเรียก Old East Slavic)”
เราเริ่มเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียชัดพอสมควร คราวนี้เพื่อให้ปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น เราจะหันไปมองการสานความสัมพันธ์ของยูเครนกับประเทศสหรัฐอเมริกาและ NATO กันบ้าง
ประเด็นความขัดแย้งในด้านอธิปไตยเชิงพื้นที่แบบนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทางยูเครนยากจะยอมรับได้ แต่ด้วยตนเองไม่มีกำลังมากพอจะต่อกรได้ จึงจำเป็นต้องหาตัวช่วย ซึ่งพอลองมองซ้ายแลขวา ตัวเลือกที่เห็นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีกองกำลังทหารด้วยและมีพี่ใหญ่สุดก็คือ อเมริกา
ต้องเล่าเพิ่มเติมอีกนิดว่า ในช่วงก่อนหน้าปี 2014 ทางยูเครนก็เคยมีความคิดที่จะเข้าร่วมกับ NATO มาก่อน แต่ก็ยังกลับไปกลับมา เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทีหนึ่งก็เปลี่ยนแนวคิดทีหนึ่ง จากอยากเข้าร่วมเป็นไม่อยากเข้าร่วม และจากไม่อยากเข้าร่วมเป็นอยากเข้าร่วม
ส่วนทางอเมริกาขณะนั้น ถึงจะมีการสนับสนุนบ้างว่า อยากให้ยูเครนเข้ามาร่วมกับ NATO โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิล ยู. บุช ที่ประกาศกร้าวเลยว่า จะพายูเครนเข้ามาร่วม NATO ให้ได้ แต่ทางอเมริกาก็ไม่เคยเสนอแผนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ยูเครนอย่างชัดเจนว่า อะไรที่พวกเขาต้องทำบ้างเพื่อให้สามารถเข้าร่วมกับ NATO ได้จริงๆ
ที่บอกว่า NATO จะสามารถช่วยเหลือยูเครนได้ ก็เพราะว่าในสนธิสัญญาของพวกเขามีข้อตกลงอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุว่า “ถ้าเกิดภัยหรือการบุกรุกกับประเทศสมาชิก กองกำลังของ NATO ก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ” แต่ถ้ายูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ทาง NATO ก็อาจจะไม่ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือก็ได้ ดังนั้นถ้าอยากการันตีว่ามีคนคุ้มกัน ก็ต้องเข้าร่วม NATO ให้ได้
นอกจากประโยชน์ทางการทางทหารแล้ว การเข้าร่วม NATO ก็อาจจะเปิดทางให้กับยูเครนเพื่อเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป หรือทำการค้าในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศอื่นได้มากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันนี้ พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการค้ากับประเทศรัสเซียเป็นอันดับที่ 1 อยู่
ความต้องการเข้าร่วม NATO ของยูเครนนี่เอง เป็นต้นเหตุของความไม่สบายใจของรัสเซีย ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปที่ที่มาของ NATO ก็จะยิ่งเข้าใจว่า ทำไมรัสเซียถึงเป็นกังวลใจต่อเรื่องนี้พอสมควร
หากจะเล่าโดยย่อ บทบาทของ NATO ในช่วงสงครามเย็นก็มีขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังสำหรับถ่วงดุลกองทัพของโซเวียต แม้ช่วงหลังจากจบสงครามเย็นไปแล้ว ที่ทางรัสเซียไม่ได้ประกาศว่า NATO เป็นศัตรูคนสำคัญอีกต่อไป แต่การที่จะให้ยูเครนที่เป็นเหมือน “สนามหลังบ้าน” ของตนเองไปอยู่ในเครือข่ายของ NATO ซึ่งสามารถใช้เป็นที่ตั้งของฐานกำลังและอาวุธต่างๆ จึงนับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อรัสเซีย
หากดูจากบทบาทของ NATO หลังสงครามเย็น จะเห็นได้ว่า พวกเขาพยายามผูกมิตรกับประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเก่า และพยายามดึงประเทศเหล่านั้นให้เข้ามาร่วมกับ NATO เพราะพวกเขาเชื่อว่า วิธีนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะสร้างเสถียรภาพการปกครอง สร้างแนวกันชน และช่วยป้องกันความขัดแย้งในระยะยาวในดินแดนทวีปยุโรป
แต่ในกรณีของยูเครน มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านออกมาตั้งคำถามเช่นกันว่า การเข้าไปสู่ยูเครนของ NATO อาจจะไม่ใช่หนทางสู่เสถียรภาพ แต่จะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น และทำให้รัสเซียไม่พอใจแทน
การที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO เอง แม้จะไม่มีเรื่องของรัสเซียมาเกี่ยวข้องเลยก็ทำได้ยากพอสมควรอยู่แล้ว เพราะทาง NATO ก็มีกฎเกณฑ์ที่สูงพอควร บางประเทศกว่าจะเข้าร่วมได้ก็ใช้เวลาปรับปรุงตัวเป็นสิบปี
ถ้าจะเข้าร่วมได้ ประเทศสมาชิก NATO ทุกประเทศก็ต้องยกมืออย่างพร้อมเพรียง จะขาดประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ทำให้ถ้าบางประเทศยังมีความกังวลใจว่า จะสร้างความขุ่นเคืองให้รัสเซียก็อาจจะไม่สนับสนุนยูเครนก็ได้