28 ม.ค. 2022 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
[วิเคราะห์] Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) VS Spider-Man: No Way Home (2021) - ความเหมือนที่แตกต่าง และจุดเปราะบางของหนังฮีโร่
Spider-Man: Into the Spider-Verse VS Spider-Man: No Way Home
ล่าสุดผมเจอประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับนำทั้ง Spider-Man สองเวอร์ชันนี้มาเปรียบเทียบกัน
ถ้าใครขี้เกียจอ่านยาวๆ ผมขออนุญาตสรุปสั้นๆ ในมุมมองของผมว่า ทั้งสองเวอร์ชั่นมีความเหมือนตรงที่เล่นประเด็นที่ Multiverse เหมือนกัน แต่ในแง่ Film Language ต้องบอกว่าตัว ITS ถือว่าทำได้ดีกว่ามาก หรือมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ NWH โดดเด่นในเรื่องของการเซอร์วิสคนดูให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนใครที่ต้องการอ่านวิเคราะห์เต็ม สามารถเชิญอ่านต่อได้เลยครับ !
[ บทหนัง - ตัวกำหนดความสมจริงของเรื่อง ]
สิ่งที่ผมอยากจะใช้เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพมากที่สุดคือ เรื่อง "คุณภาพของบท"
ถ้าเปรียบเทียบบทของทั้งสองเรื่อง ทั้งสองเรื่องมีโทนหนังฮีโร่ / แฟนตาซีเหมือนกัน
Spider-Man: Into the Spider Verse
ต้องเข้าใจกันก่อนว่า หนังฮีโร่หรือหนังแฟนตาซีจะมีการเซ็ตโลกของตัวเองขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนเรื่องให้เป็นไปได้ตามจินตนาการของผู้สร้าง และสิ่งหนึ่งที่จะคอยควบคุมให้เรื่องเป็นไปได้ดีหรือไม่ดี ก็คือ "ความสมเหตุสมผล" บนเส้นเรื่อง คล้ายๆ กับถ้าเราได้ไปอยู่ในโลกนั้นแล้ว และโลกนั้นมีกลไก-ตรรกะของมัน (อาจจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ได้ตามโลกความเป็นจริง) สิ่งที่เกิดขึ้นบนนั้น มันเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลและสอดรับกับการกระทำหรือเหตุการณ์ที่ดำเนินไปหรือเปล่า
จุดนี้เองก็จะทำให้เราพอบอกได้ว่า หนังฮีโร่หรือหนังแฟนตาซี เรื่องนั้นมีคุณภาพบทที่ดีหรือไม่ดี (ทั้งนี้ยังอาจจะมีสิ่งอื่นๆ ที่นำมาช่วยในการชี้วัดได้นะครับ แต่วันนี้ผมอยากจะโฟกัสที่ประเด็นนี้ก่อน)
ดังนั้นถ้าพูดถึงในแง่นี้ ต้องบอกว่า ITS ทำได้ดีกว่า NWH ค่อนข้างเยอะ เราจะไม่รู้สึกถึงความไม่สมเหตุสมผลบนเส้นเรื่องของ ITS รวมถึงการดำเนินเรื่องที่ไม่มีดร็อปเลยตลอดทั้งเรื่อง... จากคุณภาพในส่วนนี้ ก็ทำให้ ITS เบียดแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ในปีนั้น และผงาดคว้าออสการ์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมด้วยคุณภาพของบทหนังที่ดี (รวมถึงเทคนิคนำเสนออื่นๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเสนอในลูกเล่นแบบ American Comics)
Spider-Man: No Way Home
ส่วน NWH อย่างที่ผมเคยรีวิวไปในโพสต์เก่าว่า บทยังมีปัญหาในแง่ความสมเหตุสมผล เพราะตรรกะหลายอย่างในเรื่อง มันทำให้เราไม่สามารถเชื่อได้ 100% ว่าเหตุผลแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตามสามัญสำนึก (Common Sense) ของมนุษย์ ซึ่งจริงๆ หนังฮีโร่หรือหนัง Blockbuster หลายๆ เรื่องก็เป็นแบบนี้ เพราะบางทีหนังก็อาจจะอยากสร้างความเอนเตอร์เทนหรือเซอร์วิสผู้ชมมากกว่า จึงไม่โฟกัสที่บทหนังอย่างละเอียด หรือบางทีก็อาจจะอยากเขียนบทให้มีเส้นเรื่องที่เซอร์วิสคนดูล้วนๆ จนส่งผลให้หนังขาดความเป็นเหตุเป็นผลได้
ในจุดนี้ก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของหนังว่าอยากจะโฟกัสสิ่งไหนมากกว่ากัน หนัง Commercial มีกลุ่มการตลาดเป็นคนดูทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่ต้องไปคุมคุณภาพให้แข็งอย่างหนังรางวัล เพราะแค่ทำหนังให้สนุกหรือมีคุณภาพที่ใช้ได้ก็กวาดรายได้ได้อย่างมหาศาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่คุณภาพหนัง การทำทั้งสองอย่างให้ดีก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ ในกลุ่มหนัง Marvel ก็มีบางเรื่องที่ทำจุดนี้ได้ดี เช่น Black Panther (2018) และ Avengers: Infinity War (2018) ทั้งสองเรื่องนี้พิสูจน์ให้แล้วว่า บทที่ดีและการเซอร์วิสคนดู สามารถทำควบคู่กันไปได้ (แต่จำเป็นต้องบาลานซ์ให้ดี)
Spider-Man: Into the Spider Verse
[ สรุป ]
ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง NWH กับ ITS ผมมองว่า NWH ถือเป็นหนังที่ดีในแง่ความสร้างสรรค์โดยเฉพาะการเซอร์วิสแฟนหนัง เหมือนหนังคิดมาหมดแล้วว่าจะเซอร์วิสแฟนหนังยังไงให้ผู้ชมโดนใจ และทำได้อย่างชาญฉลาด เพราะแฟนหนังหลายๆ คนก็ตื่นตาตื่นใจไปกับหนังตามเป้าที่วางไว้ แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพหนังในแง่ของศิลปะภาพยนตร์ / Flim Language ต้องขอบอกว่า ITS มีภาษาภาพยนตร์ที่โดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ
ป.ล. Spider-Man: Into the Spider-Verse ภาคสองที่มีชื่อว่า
Spider-Man: Across the Spider-Verse - Part One (2022) กำลังจะมาในปีนี้ ก็ถือว่าเป็นหนังน่าสนใจเหมือนกัน ต้องรอดูว่าจะคงคุณภาพได้เหมือนภาคแรกหรือเปล่า เราคงต้องมาดูกันอีกที
ป.ล.2 อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากคุยหรือติดต่อกับผมนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา