24 ม.ค. 2022 เวลา 07:33 • ข่าว
🙋‍♀️ขอเล่าถึงมุมมองจากที่อยู่ประเทศนี้มาหลายปี
🚗🇨🇭วินัยการจราจรของคนสวิส เกิดจากระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และจิตสำนึกที่ปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
ข่าวหมอกระต่ายที่ถูกรถมอเตอร์ไซด์ชนระหว่างการข้ามทางม้าลาย เป็นข่าวที่ปวดใจกันไปทั้งประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสูญเสียหนึ่งชีวิตไปโดยใช่เหตุ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสูญเสียบุคลากรมีค่าที่หายาก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประมาทเลินเล่อของผู้ที่ควรรักษากฎหมายที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า
เรื่องที่ปวดใจมากจริง ๆ ก็คือว่ามันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
หากรัฐยังไม่เข้มแข็ง ผู้คนยังไม่ตื่นตระหนักถึงการนำกฎหมายที่เข้มงวดทางจราจรมาใช้ ชีวิตเราทุกคนก็ยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายทุกวันในการใช้ท้องถนน
อยากเล่ามุมมองสองมุมที่พบเห็นด้วยคนเองเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อการใช้รถและใช้ถนน
มุมที่หนึ่ง “ผู้ใช้ถนน” ในฐานะคนเดินคนข้ามถนนนี่แหละ
เมื่อมาอยู่แรก ๆ ความภูมิใจของฉันที่เป็นคนเดินถนนนั้นมีสูงมาก เรารู้ว่าเมื่อยืนอยู่ตรงฟุตบาทข้างทางม้าลาย แม้ยังไม่เหยียบลงไป รถที่วิ่งมาแต่ไกลก็จะชะลอให้เราข้ามอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี เราก็เดินข้ามถนนได้อย่างเชิดหน้าสง่างาม
พอมีลูกสาวถึงวัยที่ต้องส่งไปโรงเรียน ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ชั้นอนุบาลหนึ่ง เด็กอายุ 4 ขวบได้รับการอบรมการข้ามถนนด้วยตนเองแล้วจากตำรวจจราจรโดยตรง ไม่เพียงแค่สอนกันทางทฤษฎีเท่านั้น พาออกมาเรียนรู้ทางปฎิบัติกันจริงจังด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น คุณตำรวจจะมาอบรมทุกปีจนกว่าจะพ้นประถม 6 โดยมีหลักสูตรเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก ๆ
ไม่ใช่แค่ข้ามถนนอย่างเดียว มีเรื่องอื่นปลีกย่อยตามมาอีกมากมาย อาทิ
ปีที่แล้ว เด็ก ๆ ได้ไปเยือนบริษัทรถบรรทุก เพื่อเรียนรู้มุมมองของคนขับรถใหญ่ ว่ามีมุมมองที่เห็นคนเดินถนนต่างไปจากรถยนต์ทั่วไป ดังนั้นการข้ามถนน หรือใช้ถนนที่มีรถใหญ่หรือรถบรรทุก เด็กควรยืนอยู่ในจุดไหน ที่จะทำให้คนขับมองเห็น ทั้งนั้นเด็ก ๆ จะได้ลองไปนั่งใกล้กับคนขับเพื่อได้เห็นภาพจริงด้วย
ปีนี้ป.3-4 เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กฎจราจรเพิ่มในการขี่จักรยาน ได้เรียนทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ ขี่จักรยานบนถนนจริง ตามเส้นทางที่กำหนด โดยปล่อยให้เด็กขี่มาทีละคน มีคุณตำรวจ ครู และอาสาสมัครมาช่วยยืนเช็คความถูกต้องตามจุดต่าง ๆ
นี่คือการปลูกฝังกฎกติกามารยาทในการใช้ถนนให้กับผู้คนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ให้ได้รับรู้มุมมองการใช้ถนนอย่างถูกต้องและมีมารยาท เด็ก ๆ เมื่อข้ามถนนจะส่งสัญญาณมือขอบคุณผู้ที่จอดรถให้ทั้งสองฝั่งในน้ำใจไมตรีที่มีให้
มันไม่ใช่ mindset อย่างที่ฉันคิดไว้ว่า คนข้ามถนนมีเกียรติและศักดิ์ศรีในการข้ามถนน แต่มันคือน้ำใจไมตรีที่เรามีร่วมกันในการใช้ถนนร่วมกันต่างหาก
ซึ่งเรื่องนี้ลูกเป็นคนสอนโดยการทำให้ดู และฉันก็ตระหนักรู้ขึ้นมาเอง
เราต่างมีเกียรติเท่ากันบนถนนแห่งนี้โดยมีกฎหมายเข้ามาควบคุม น้ำใจไมตรีต่างหากที่ควรปลูกฝัง
มุมที่สอง “ผู้ใช้รถ”
การต้องสอบใบขับขี่เต็มขั้นตอนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทำให้ฉันรู้เหตุผลว่า ทำไมทุกคนถึงพยายามเคารพกฎจราจรกันอย่างเคร่งครัด
เพราะกว่าที่ทุกคนจะได้ใบขับขี่มานั้นมีขั้นตอนเยอะแยะมากมายและค่าใช้จ่ายสูง ใครอยากอ่านรายละเอียดลึก ๆ ขอให้ตามไปอ่านที่นี่👇👇เคยเขียนไว้แล้ว
นอกไปจากนั้นค่าปรับในการทำผิดนู่นนี่นั่นยังยิบย่อยไปหมดด้วย
ป้ายกำหนดความเร็วมีติดไว้เยอะแยะเต็มไปหมด
รู้กันอยู่ว่าถนนในเมืองขับไม่เกิน 50 กม/ชม นอกเมือง 80 กม/ชม แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางช่วงขับ 30 บางช่วง 60 บางช่วง 70
การขับขี่รถบนท้องถนนสายตาจึงต้องมองป้ายกำหนดความเร็วตลอดเวลา ไม่สามารถใจลอย และคิดไปเองได้เลยว่า อ่าาา ตอนนี้ในเมืองความเร็ว 50 ล่ะมั้ง
เพราะตอนนั้นอาจจะอยู่โซน 40 หรือ 30 ก็ได้
หรือพ้นเขตเมืองมาแล้วจะมโนว่าขับ 80 ได้ล่ะมั้งออกมาข้างนอกแล้ว ความจริงเส้นนั้นอาจจะเกิตอุบัติเหตุบ่อย และถูกกำหนดให้ขับ 60 ก็ได้
ซึ่งกล้องตรวจจับความเร็ว มีทั้งแบบติดตั้งถาวรที่ใครทุกคนก็รู้ว่ามีกล้อง กับแบบเคลื่อนย้ายไปมา ที่แล้วแต่ว่าคุณตำรวจอยากจะเอากล้องไปแอบตั้งแอบซ่อนไว้ตรงไหน ซึ่งค่าปรับก็แล้วแต่เลยว่าจะเหยียบมาเกินกำหนดมากน้อยแค่ไหน
การสอบใบขับขี่ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จะมีช่วงของ “เบรคฉุกเฉิน”
เจ้าหน้าที่คุมสอบที่นั่งไปกับเรา จะสั่งหรือตะโกน (แบบจำลองเหตุการณ์) ขณะที่เราขับมาในความเร็ว 50 ว่า
“เบรค!!!” เพื่อดูว่าเราสามารถเบรคแบบฉุกเฉินเป็นหรือไม่ ซึ่งการเบรคฉุกเฉิน ต้องเป็นการกระทืบเบรคอย่างแรงและเร็วเพื่อให้รถหยุดทันที (จนท จะไปเลือกจังหวะถนนที่ไม่มีรถตามมา)
ในการสอบรถจักรยานยนต์ก็มีสอบ “เบรคฉุกเฉิน” เช่นกัน ซึ่งเราถูกฝึกตั้งแต่ไปลงคอร์สเรียนตามกฎหมายแล้ว ครูจะสอนให้เบรคฉุกเฉินตั้งแต่ความเร็ว 30 จนไปถึง 80 เลยทีเดียว เพื่อให้เราได้คุ้นเคยกับรถ
และรู้ว่าเวลาเบรคฉุกเฉิน รถใช้ระยะทางในการหยุดจริงกี่เมตรในแต่ละความเร็ว
เมื่อได้ใบขับขี่รถยนต์มาแล้ว ภายใน 1 ปีก็ต้องเข้ารับการอบรมอีกครั้งเป็นการทบทวนกฎจราจรอีกครั้ง
ทดลองเบรคฉุกเฉินบนสนามจำลอง ในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะถนนลื่น ถนนเปียก ทางโค้ง
ทำให้ผู้ขับขี่เข้าใจมากขึ้นว่า มันจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมายที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นให้ยึดถือกฎจราจรที่เรียนมา ที่สอบมาอย่างเคร่งครัด
1
ส่วนตัวคิดว่า ค่าปรับและกฎที่เข้มงวดมาก ๆ ของที่นี่ มาพร้อมกับการอบรมที่เหมือนจะสะกดจิตเราไปด้วยในตัว เพราะตอนลงคอร์สเรียนตามกฎหมายอย่างน้อย 10 ชั่วโมงนั้น ครูผู้สอนจะสอนย้ำ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
ถึงกฎจราจรที่ยิบย่อยหลายเรื่อง แล้วยังต้องไปอบรมทฤษฎีอีกหลายชั่วโมง
ยังไม่รวมการสอบใบขับขี่ที่เข้มข้นเป๊ะ ๆ
พอได้ใบขับขี่มาแล้ว ก็ยังต้องกลับไปอบรมเพิ่มอีก มีความเยอะและมีความแพงมาก กว่าจะได้เป็นผู้ใช้รถบนท้องถนนที่นี่
ขอพูดถึงเรื่องทางม้าลายตอนที่ฉันสอบใบขับขี่สักนิดนึง เจ้าหน้าที่ผู้ที่สอบฉันบอกว่าเกือบจะไม่ใช้ฉันผ่านเพราะว่าฉันไม่ชะลอเท่าที่ควรเมื่อเห็นคน “กำลัง” จะข้าม แต่ฉันมาลดความเร็วเอาใกล้ทางม้าลายเกินไป
มันทำให้คนที่ “กำลัง” จะข้ามถนน
ไม่แน่ใจว่าฉันจะหยุดหรือไม่หยุดกันแน่ ตอนนั้นฉันเถียงในใจว่า “พี่จะดูกันขนาดนี้เลยเหรอ นี่ก็จอดให้ข้ามแล้วนะคะ”
ถึงจะเถียงในใจไปแบบนั้น แต่เรื่องพวกนี้มันฝังใน Mindset ไปแล้วนะ เพราะทุกวันนี้แค่ฉันเห็นคน “กำลัง” จะข้าม หรือบางทีถึงขั้นอ่านใจกันไปเลยว่า
คนนั้นที่กำลังเดินมาใกล้ทางม้าลายน่าจะมาข้ามถนน ฉันก็ชะลอให้แต่ไกลแล้วล่ะ
ประเด็นที่อยากจะบอกก็คือ การที่คนสวิสเคารพกฎก็เพราะ
- กฎหมายเค้าเข้มแข็ง ปรับเยอะปรับจริง และปรับแรง
- กว่าจะได้ใบขับขี่ไม่ง่าย ต้องเรียนรู้กฎเยอะมาก
- ต่อให้ไม่สนใจจะรู้ ก็จะถูกบังคับให้รู้กฎและความปลอดภัยต่าง ๆ เพราะบังคับอบรมทั้งก่อนและหลังได้ใบขับขี่
- ปลูกฝังและสอนเรื่องการใช้รถใช้ถนน มารยาทและกฎเบื้องต้นกันตั้งแต่เด็ก
1
สุดท้ายนี้ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวหมอกระต่ายด้วยจากใจจริง
ขอให้การสูญเสียครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของกฎหมายจราจรในประเทศไทยค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา