31 ม.ค. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
《อยู่ข้ามปีไปด้วยกันก่อนดิ | 除夕 》
วันฉูซี(除夕)เป็นวันส่งท้ายปีเก่าของชาวจีน ซึ่งเป็นวันที่ครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าเป็นใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในเทศกาลเซ่นไหว้บรรพบุรุษดั้งเดิมของจีนอีกด้วย
.
วันฉูซีมีความหมายที่ลึกซึ้งสำหรับชาวจีนเป็นอย่างมาก คือเป็นวันสิ้นปีที่สำคัญ คนไกลได้กลับบ้าน ครอบครัวได้มาเจอกัน อำลาปีเก่าด้วยเสียงประทัดและต้อนรับปีใหม่ด้วยดอกไม้ไฟ
ความเป็นมาพอสังเขป|历史渊源简介
“ฉูซี(除夕)” หรือ “คืนก่อนปีใหม่” เป็นหนึ่งในเทศกาลดั้งเดิมและเทศกาลเซ่นไหว้บรรพบุรุษของจีน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 หรือ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน(农历腊月廿九或三十)นอกจากนี้ยังสามารถเรียกชื่ออื่นๆ ได้ว่า “ซุ่ยฉู(岁除:หนึ่งปีผ่านไป)” “ต้าเหนียนเย่(大年夜:คืนก่อนปีใหญ่)” และ “ฉูซีเย่(除夕夜:คืนในวันสิ้นปี)” เป็นต้น
.
คำว่า “ฉู(除)” มีความหมายว่า “กำจัด/จากไป(去)” ส่วนคำว่า “ซี(夕)” มีความหมายว่า “ค่ำคืน” ดังนั้นจึงแปลได้ว่า คืนที่กำลังจะจากไป หรือ คืนส่งท้ายปีนั่นเอง
.
วันฉูซีมีปรากฏในเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดเรื่อง “พงศาวดารภูมิทัศน์ท้องถิ่น” หรือ “เฟิงถู่จี้《风土记》” ที่เขียนโดยโจวชู่แห่งยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก(西晋周处撰著)มีข้อความวรรคหนึ่งระบุว่า: “คืนก่อนวันฉูซีจะเรียกว่า ‘ฉูซีเล็ก(小除夕;小年夜)’ และ เรียกวันฉูซีว่า ‘ฉูซีใหญ่(大除夕;大年夜)’”
ตำนานของ “ซี”|“夕”的传说故事
ในตำนานและเทพนิยายจีนโบราณกล่าวถึงสัตว์ประหลาดสี่ขาชนิดหนึ่งชื่อว่า “ซี(夕)” เมื่อถึงช่วงฤดูหนาว แน่นอนว่าปริมาณอาหารย่อมขาดแคลน นั่นจึงทำให้มันมักเข้าไปใกล้เขตชุมชนหรือหมู่บ้านเพื่อหาอาหาร ด้วยร่างกายที่ใหญ่โต อารมณ์และอุปนิสัยที่ดุร้าย ทำให้เป็นชนวนเหตุแห่งภัยพิบัติมาสู่หมู่บ้านนั้นๆ
ทุกปีเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือน 12(腊月)ผู้คนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมซื้อผ้าและอพยพเด็กและคนชราเข้าไปในป่าไผ่ใกล้ๆ เพื่อซ่อนตัวจากซี ต่อมามีเด็กฉลาดคนหนึ่งนามว่า “เหนียน(年)” ได้สอนให้ผู้คนรู้จักวิธีกำจัดซี เมื่อถึงวันที่ 30 เดือน 12(农历腊月三十)ชาวบ้านได้นำไผ่มาเผาให้เกิดเสียงดังเหมือนประทัดเพื่อขับไล่ซี นานวันเข้าก็ไม่มีใครพบเห็นซีอีกเลย ในสมัยหลังๆ ชาวบ้านถึงเปลี่ยนจากการเผาไผ่มาเป็นการจุดประทัดและประดับหมู่บ้านด้วยของสีแดงเพื่อป้องกันการกลับมาของซี จนกลายมาเป็นธรรมเนียมการประดับบ้านเรือนด้วยของสีแดงในยุคหลัง นอกจากนี้ยังเป็นที่มาของคืนก่อนปีใหม่ที่ชื่อว่า “ฉูซี(除夕:กำจัดซี)” อีกด้วย
ประเพณีนิยมในคืนฉูซี|除夕习俗
1. กินข้าวส่งท้ายปี|年夜饭
กินข้าวส่งท้ายปี(年夜饭)ยังเรียกอีกอย่างว่า “ถวนหยวนฟ่าน(团圆饭:กินข้าวพร้อมครอบครัว)” วัฒนธรรมอาหารของชาวจีนภาคเหนือจะนิยมทานเกี๊ยวนึ่ง(水饺)ปลา(鱼)ขนมเข่ง(年糕)ผัดกวางตุ้ง(长年菜)เป็นต้น เหตุที่ทานเกี๊ยวเพราะว่ามีลักษณะเหมือนเงินหยวนเป่า(元宝)ซึ่งหมายถึงทรัพย์สมบัติและเกียรติยศ; การทานปลาหมายถึงมีกินมีใช้ตลอดปี(年年有余); การทานขนมเข่งหมายถึงเจริญรุ่งเรืองตลอดปี(年年高升); การทานผัดกวางตุ้งหมายถึงทำให้อายุยืน(年岁长寿)
.
ส่วนชาวจีนภาคใต้จะทานไก่(鸡肉)เนื้อย่าง(烧肉)สาหร่ายดำ(发菜)ซอสหอยนางรม(蚝豉)เหตุที่ทานสาหร่ายดำและซอสหอยนางรมก็เพราะเสียง “ฟ่าช่ายห้าวซื่อ(发菜蚝豉)” ไปพ้องกับ “ฟาฉายห้าวซื่อ(发财好市:เงินทองมั่งคั่ง)” นั่นเอง
1
2. ติดชุนเหลียน (ตุ้ยเหลียน)|贴春联
ชุนเหลียน(春联)หรือในอีกชื่อ “ตุ้ยเหลียน(对联)”เป็นกลอนคู่ที่นิยมติดตรงสองข้างของประตูบ้าน เนื้อหาส่วนใหญ่จะพรรณนาถึงความปรารถนาต่างๆ ด้วยถ้อยคำที่ประณีตลึกซึ้งที่ถูกเขียนลงบนกระดาษเซวียนจื่อ(宣纸)สีแดงและสอดรับสอดคล้องกันไปมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน
3. ติดภาพตรุษจีน (ภาพมงคล)|贴年画
ภาพมงคลและชุนเหลียนนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการพิมพ์ภาพ “เทพทวารบาล(门神)” ด้วยบล็อกพิมพ์ลายมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ลักษณะเนื้อหาภาพไม่จำกัดเพียงแค่รูปเทพเจ้า แต่ค่อยๆ ผสมผสานจนหลากหลาย เช่น รูปฮกลกซิ่ว《福禄寿三星图》ภาพฟ้าประทานพร《天官赐福》ห้าธัญพืชอุดมสมบูรณ์《五谷丰登》เป็นต้น
1
4. ติดกระดาษลายมงคลที่หน้าต่าง|贴窗花
การตกแต่งหน้าต่างด้วยกระดาษลวดลายมงคลไม่เพียงสร้างบรรยากาศของความเป็นเทศกาลแล้ว แต่ยังเป็นการผสมผสานศาสตร์แห่งการตกแต่ง การชมและการใช้จริงได้อย่างลงตัว
1
5. การบูชาบรรพบุรุษ|祭祖
การบูชาบรรพบุรุษจะจัดขึ้นอย่างอู้ฟู่ในวันฉูซี(除夕)ลูกหลานจะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อสักการะเหล่าบรรพชนผู้ล่วงลับ หลังเซ่นไหว้เสร็จจะทำการเสี่ยงทายและเผากระดาษเงินกระดาษทอง แล้วคนในครอบครัวจึงจะมาร่วมทานกับข้าวกันอย่างอบอุ่น
2
6. จุดประทัดรับปีใหม่|燃爆竹
มีคำกล่าวชาวบ้านที่ว่า “เปิดประตูรับปีใหม่ด้วยการจุดประทัด(开门爆竹)” กล่าวคือเมื่อถึงปีใหม่สิ่งแรกที่ทุกครัวเรือนจะทำเพื่อต้อนรับปีใหม่นั่นคือ “การจุดประทัด(放鞭炮、燃爆竹)” เพราะการจุดประทัดทำให้บรรยากาศในช่วงปีใหม่รื่นเริงและสนุกสนาน
7. โต้รุ่งรับปีใหม่|守岁
ตามเรื่องเล่ากล่าวว่าเป็นการป้องกันไม่ให้สัตว์ประหลาดที่กลัวสีแดงมาบุกรุก ผู้คนจึงใส่เสื้อแดง แขวนโคมแดง ติดกระดาษแดง เป็นต้น แล้วทำการโต้รุ่ง ซึ่งเรียกว่า “โส่วซุ่ย(守岁)” นอกจากนี้ ในคืนนี้ผู้คนจะงดการพูดคำหยาบและอุปมงคล ไม่เช่นนั้นจะเคราะห์ร้ายจะมาในปีถัดไป
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
.
สามารถอ่านฉบับย่อได้ที่
โฆษณา