25 ม.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ในขณะที่นโยบายทางการเงินตึงตัวมากขึ้น
1
📌 สหรัฐอเมริกา
ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน
2
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงปลายปี 2564 ได้ทำให้เกิดปัญหาความแออัดของท่าเรือ ขณะที่คนงานจำนวนมากต้องหยุดงานเนื่องจากการเจ็บป่วย ส่งผลให้การขนส่งเกิดความล่าช้าและราคาที่สูงขึ้นตามมา
1
ในเดือนธันวาคมปี 2564 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 39 ปี
2
โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 7% YoY
1
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 5.5% YoY
1
เนื่องจากราคาค่าเช่าบ้านและรถยนต์มือสองที่สูงขึ้น ราคาค่าที่พักเพิ่มขึ้น 4.1% YoY
ส่วนราคารถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น 37.3% YoY โดยเป็นผลจากปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้การผลิตรถยนต์ต้องหยุดชะงัก
ในขณะเดียวกัน พายุเฮอริเคนไอดาในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนก็ได้ทำให้รถยนต์เสียหายไปหลายพันคัน
ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมานั้นถือว่าสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
1
แม้ว่าประธานเฟดจะยังไม่ได้ระบุเวลาที่ชัดเจน แต่ได้กล่าวไว้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่ในระดับสูงที่สูงเช่นนี้นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ เฟดจะมีการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
1
รูปที่ 1: อัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 7% ในเดือนธันวาคม
📌 ยูโรโซน และสหราชอาณาจักร
ในยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้หลังมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง
โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดพุ่งขึ้นสูงถึง 5% YoY ในเดือนธันวาคม ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นตามความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
โดยราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากจำนวนการผลิตจากรัสเซียมีน้อยลง
ส่วนปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานในยุโรปก็ยังคงทำให้เกิดการขนส่งที่ล่าช้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น
ซึ่งธนาคารกลางยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการยุติโครงการซื้อพันธบัตรในโครงการ PEPP ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร ในเดือนมีนาคมของปีนี้เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับประเทศอังกฤษ
อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมก็ได้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.4% YoY ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.2% YoY ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992
โดยสาเหตุหลักมาจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้ครัวเรือนมีรายได้และกำลังซื้อที่ลดลง
สำหรับการดำเนินนโยบาย ธนาคารกลางอังกฤษเป็นธนาคารกลางที่สำคัญแห่งแรกของโลกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็น 0.25% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565
รูปที่ 2: ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้น
รูปที่ 3: เงินเฟ้อยูโรโซน
📌 Market Reaction
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นหลังจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
ส่วนดัชนีหุ้นยุโรปและเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย
ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.28%
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.11% และ 0.23% ตามลำดับ
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับขึ้น 2 bps อยู่ที่ 1.74%
1
การเร่งตัวของเงินเฟ้อส่งผลทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในตลาดทองคำกันมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% อยู่ที่ 1825.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ในทางกลับกัน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ลดลง 0.7% สู่ระดับ 94.97 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
📌 ประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.17% YoY ในเดือนธันวาคม และตลอดทั้งปี 2564
อัตราเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้น 1.23% เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และราคาผักที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้ผลผลิตลดลง
โดยอธิบดีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (TPSO) ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2654 ยังคงอยู่ในระดับคงที่และอยู่ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้ออย่างอ่อนของธปท. ที่ 1-3% ซึ่งถือว่าเหมาะสมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
1
เมื่อเร็วๆ นี้ ราคาสินค้าที่จำเป็นต่างๆ เช่น ค่าเรือ ค่าทางด่วน ราคาไก่ ไข่ และเนื้อหมูได้พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นจาก 150 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ประมาณ 240 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลทำให้ร้านอาหารหลายร้านต้องขึ้นราคาอาหารตามไปด้วย
ดังนั้น รัฐบาลได้มีแผนที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มอุปทานในตลาด การเพิ่มการนำเข้าเนื้อสัตว์ และการห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยเกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ตลอดจนปัญหาการผลิตทั่วโลกและปัญหาคอขวดของการขนส่งสินค้า
ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อีกทั้งรัฐบาลยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปีนี้
รูปที่ 4: ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
#เศรษฐกิจโลก #เงินเฟ้อ #Inflation #ดัชนีหุ้น
#Bnomics #Global_Economic_Update #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา