Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
3 ก.พ. 2022 เวลา 01:19 • ปรัชญา
“ไม่มีหลักสูตรตายตัว”
“ … เราต้องฝึก ทุกวันทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ
ในที่สุด เราก็จะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา
จิตผู้รู้ดวงนี้ มันจะเกิดทีละขณะเท่านั้น
มันเป็นขณิกสมาธิ เพราะเราทำฌานไม่ได้
ถ้าทำฌานได้แล้วก็ไปเจริญปัญญาในฌาน
ในอัปปนาสมาธิก็ทำได้
สำหรับคนที่ชำนาญในฌาน มีวสีในฌาน
แล้วก็ชำนาญในการดูจิต ก็จะไปเดินปัญญาในฌานได้
รองลงมาก็คือเข้าฌาน
พอถอยออกจากฌาน จิตมันทรงในอุปจารสมาธิ
เดินปัญญาอยู่ข้างนอก เรียกว่าใช้สมาธินำปัญญา
ของเราก็เหมือนกันใช้ปัญญานำ
จะใช้สมาธินำพวกเราทำไม่ได้
หรือใช้สมาธิกับปัญญาควบกันทำไม่ได้
จะควบกันได้ต้องมีวสีในฌาน ชำนาญในการดูจิตจะควบได้
สมาธิกับปัญญาควบกันอันหนึ่ง
อีกแบบหนึ่งก็คือเข้าสมาธิ
ออกจากสมาธิแล้วมาเจริญปัญญา
อันนี้ก็ใช้สมาธินำปัญญา
เข้าสมาธิก่อน ออกมาแล้วเจริญปัญญาไป
อีกอันหนึ่งก็ใช้ปัญญานำสมาธิ
คือมีแค่ขณิกสมาธิแล้วเจริญปัญญาไป
แล้วต่อไปอัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นเอง
เกิดขึ้นเองอย่างแน่นอน พูดอย่างไม่กลัวใครเลย
ขณิกสมาธิทำให้มากเถอะ แล้วเจริญปัญญาให้มาก
ดูธาตุดูขันธ์แสดงไตรลักษณ์ไปให้มาก ๆ
ถึงจุดหนึ่งจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิโดยอัตโนมัติ
มันรวมเอง ไม่ได้เจตนารวม
มันรวมของมันเอง ฟึบเข้าไปเอง
แล้วก็ไปดำเนินกระบวนการของอริยมรรค อริยผล
ตรงนี้ในตำราเขาบอกมี 7 ขณะ
มันก็ 7 ขณะจริง ค่อยๆ ดูไป
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกให้ได้ คือจิตที่เป็นผู้รู้
คอยรู้ทันเวลาจิตมันหลง
หรือจิตมันไปเพ่งอะไร รู้ทันจิต
การที่เราคอยรู้ทันจิต เราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง
ฉะนั้นการฝึกสมาธิ ท่านถึงเรียกว่า จิตตสิกขา
เรียนเรื่องจิตแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง
พอได้สมาธิที่ถูกต้อง เราเจริญปัญญา
สติระลึกรู้กายบ่อยๆ ก็ใช้กายานุปัสสนาเป็นหลัก
สติชอบระลึกรู้เวทนาเป็นหลัก เราก็ใช้เวทนานุปัสสนาเป็นหลัก
สติชอบระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เราก็ใช้จิตตานุปัสสนาเป็นหลัก
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ทางใครทางมัน
ไม่มีทางไหนวิเศษกว่าทางไหนทั้งสิ้นหรอก
ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะรู้เลย มันมาได้ทุกทาง
เพราะทุกทางนั้นพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น ไม่ใช่มีทางเดียว
ต้องอย่างนี้แล้วต้องไปอย่างนี้
หลักสูตรตายตัวไม่มีหรอก ทางใครทางมัน
ขออย่างเดียว ให้เราได้จิตผู้รู้ขึ้นมาเสียก่อนเถอะ
แล้วสติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายไม่ใช่จิต
กายไม่ใช่เรา กายเป็นของถูกรู้
อย่างร่างกายนั่ง รูปนั่งเป็นของถูกรู้
นาม จิตเป็นตัวนาม เป็นตัวรู้
เรียกรูปมันเคลื่อนไหว นามเป็นคนรู้
หรือเจตสิกเกิดดับเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง
นามเป็นคนรู้ มันแยกขันธ์ แยกออกไป
แยกจิต แยกเจตสิก
เจตสิกก็พวกเวทนา พวกสังขารอะไรพวกนี้ก็แยกออกไปต่างหาก
ตัวจิตนั้นคือตัววิญญาณ แต่วิญญาณเป็นจิตทุกๆ ชนิด
เป็นจิตที่ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส
ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปหลงไปทางโน้นทางนี้
จิตผู้รู้ก็อยู่ในกลุ่มของวิญญาณขันธ์เหมือนกัน
เป็นจิตชนิดหนึ่งในหลายสิบชนิดของจิต
จิตมันมีกลุ่มใหญ่ๆ จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล
จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล
อย่างเวลาเราไปงานศพ เราได้ยินพระสวด
กุสะลาธัมมา อะกุสะลาธัมมา อัพยากะตา ธัมมา
คือธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล
ธรรมที่ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล
เกิดที่จิตทั้งหมดเลยธรรมเหล่านี้
1
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ตัวจิตผู้รู้เป็นจิตที่เป็นกุศลชนิดหนึ่ง
ภาษาปริยัติเรียกว่า มหากุศลจิตญาณสัมยุต
คือประกอบด้วยปัญญา พร้อมที่จะเจริญปัญญา
มหากุศลจิตญาณสัมยุต อสังขาริกังๆ
คือไม่ได้เจตนาให้เกิด เกิดขึ้นอัตโนมัติ
แต่มันเกิดได้เพราะอะไร
เพราะเราฝึกหลงแล้วรู้ๆ ไป มันจะได้จิตผู้รู้อัตโนมัติขึ้นมา
ฉะนั้นเรามีมหากุศลจิตญาณสัมปยุต อสังขาริกังแล้ว
มันยังมี 2 แบบ ดวงหนึ่งจะประกอบด้วยความสุขทางใจ
ดวงหนึ่งประกอบด้วยอุเบกขาทางใจ
เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้มี 2 ลักษณะ
บางดวงมีความสุขอยู่ในตัวเอง
บางดวงเป็นอุเบกขาอยู่ในตัวเอง
ผู้รู้จะมี 2 แบบนี้เท่านั้น
ฝึกเรื่อยๆ หลงแล้วรู้ๆ ไป
ในที่สุดจะได้ผู้รู้ที่แข็งแรงขึ้นมา พอได้ผู้รู้ที่แข็งแรงแล้ว
สติระลึกรู้กาย มันก็จะเห็นกายแยกออกจากจิต
สติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาแยกออกจากจิต
สติระลึกรู้สังขาร กุศล อกุศลอะไรพวกนี้
กุศล อกุศล สังขารทั้งหลาย มันก็จะแยกออกจากจิต
นี่ล่ะเรียกว่าเราแยกขันธ์ได้จริงๆ แยกรูปแยกนามได้จริงๆ
พอเราแยกได้แล้ว เหลือเป็นตัวๆ แล้ว
รูปส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง
เราก็จะเริ่มเห็น รูปก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ตรงนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว
ดูเวทนาก็เห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เป็นวิปัสสนาแล้ว
ดูจิตตสังขาร จิตที่โลภ จิตที่ไม่โลภ
จิตที่โกรธ จิตที่ไม่โกรธ
จิตที่หลง จิตที่ไม่หลง
ดูจิตตสังขาร โลภ โกรธหลงทั้งหลาย
ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตอีก
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไตรลักษณ์
“ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ”
สุดท้ายมันลงมาที่จิต
ตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เช่นเดียวกับขันธ์ตัวอื่นๆ นั่นล่ะ
ไม่วิเศษกว่าตัวอื่นในเรื่องของการที่เกิดแล้วจะต้องดับ
ผู้รู้เองก็เกิดแล้วก็ดับ
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้โกรธ เดี๋ยวก็เป็นผู้โลภ
เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวเป็นผู้หดหู่
สารพัดจะเป็น
ฉะนั้นจิตหลากหลาย วิจิตรพิสดาร
แล้วจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
จิตไม่ได้มีดวงเดียว พระพุทธเจ้าสอน
จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน
บางท่านท่านก็บอก อุ๊ย จิตมีดวงเดียวล่ะ
นั่นไม่ใช่พุทธหรอก นั่นฮินดู
พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น
ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน
เราค่อยๆ ภาวนา ถ้าจิตมันเที่ยง ก็เป็นอัตตาตัวตน
จิตผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง ฉะนั้นตัวผู้รู้เองก็ไม่ใช่อัตตาตัวตน
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นควรหรือที่จะเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา มันก็ไม่ควร
คือประโยคที่พระพุทธเจ้าถามปัญจวัคคีย์
ฉะนั้นพวกเราต้องฝึกทุกวัน
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้
ทำอย่างนี้ไม่นาน เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา
พอได้จิตผู้รู้แล้วอย่าอยู่เฉยๆ
สติระลึกรู้กาย ก็ให้รู้สึกลงไป
กายนี้ของถูกรู้ จิตมันเป็นคนรู้ กายกับจิตมันคนละอันกัน
สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนาก็ของถูกรู้ จิตที่เป็นคนรู้
ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คนละอันกัน ดูไป แยกๆๆ ไปเรื่อยๆ
แล้วต่อไปจะเห็นทุกตัวนั่นล่ะเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
กระทั่งตัวผู้รู้เองก็เกิดแล้วดับ
สุดท้ายก็ปัญญาแจ่มแจ้ง ก็จะเข้าใจว่า
ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ
บทนี้ๆ มันจะขึ้นมา
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
เป็นองค์ธรรมที่พระโสดาบันเข้าถึง
พระโสดาบันเห็นว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร
เฝ้ารู้เฝ้าดูทำอย่างที่หลวงพ่อสอนนั่นล่ะ
อันแรกเลยก็คือฝึกให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้องเป็นผู้รู้ขึ้นมา
ถัดจากนั้นก็แยกขันธ์ไป
แล้วก็ดูขันธ์แต่ละขันธ์แสดงความเป็นไตรลักษณ์ไป
ในที่สุดจิตมันสรุปว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา
ก็เป็นพระโสดาบัน
แล้วก็ถัดจากนั้นก็ภาวนาอย่างเดิมนั่นล่ะ
ภาวนาไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ
พระโสดาบันก็ยังหลงโลกไม่ได้ต่างกับปุถุชนหรอก
ยังหลงโลก แต่ไม่หลงรุนแรงถึงขนาดทำผิดศีล 5
ยังหลงโลกไหม ยังหลง
เพราะฉะนั้นยังเวียนว่ายตายเกิดได้อีกตั้ง 7 ชาติ
พอเป็นพระสกิทาคามีความหลงโลกมันลดลงแล้ว
มันไกลโลกออกมา มันห่างโลกออกมาแล้ว
แต่จะขาดจากโลกเสียทีเดียวก็ยังเสียดายอยู่
แต่ว่าจะให้ไปคลุกกับโลกก็รู้สึกว่าไม่ไหว
มันทุกข์เกินกว่าจะเข้าไปคลุกด้วย
ประเภทคาบลูกคาบดอกอยู่ จะทิ้งโลกไปเลย
ใจก็ยังไม่เด็ดพอ ยังเสียดายอยู่
จะให้ไปอยู่กับโลกก็ไม่ได้รู้สึกว่าโลกมีความสุขจริง
เป็นความเคยชินที่จะอยู่กับโลกเท่านั้นล่ะ
พระสกิทาคามีจะเป็นแบบนี้
เพราะฉะนั้นไม่หลงโลก อยู่ห่างๆ
ให้ไปคลุกกับโลกก็ไม่เอาหรอก
แต่ให้ไปหนีโลกไปเลย ทิ้งโลกไปเลย ก็ยังใจไม่ถึง
ยังยอมไม่ได้
จนกระทั่งเป็นพระอนาคามี จิตจะวางจากโลกข้างนอก
เข้าไปสู่โลกภายในคือรูปโลก อรูปโลก โลกของฌาน
โลกของรูปฌาน อรูปฌาน จิตจะไปพอใจอยู่ที่นั่น
ค่อยๆ ดูไปเรื่อย
1
ถึงจุดหนึ่ง ทำลายเชื้อเกิดได้
ทำลายตัวอวิชชาได้ จิตก็จะหลุดออกจากโลกเด็ดขาด
ที่สำคัญจิตผู้รู้มันสลายตัว จิตนี้มันสลายตัว
อย่างถ้าพวกเราภาวนา
เราจะรู้สึกจิตเรามีขอบเขตอยู่ มีขอบเขต
คนซึ่งบุญบารมีน้อย จิตนี้เล็กนิดเดียว
มีขอบเขตเล็กนิดเดียว ใจแคบๆ
ภาวนาแล้วใจมันกว้างขึ้น แต่มีขอบเขตไหม มี
ขอบนี้มันจะใหญ่ๆๆๆ ขึ้นไป
ขอบนั้นคือกรอบของอาสวะที่ห่อหุ้มเราอยู่นั่นเอง
ห่อหุ้มจิตเอาไว้
ถึงจุดนั้นอาสวะแตกสลายไป จิตไม่มีขอบเขต
ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา
มันกลายเป็นธาตุชนิดหนึ่งขึ้นมา เป็นธรรมธาตุ
เป็นวิญญาณธาตุ ไม่ใช่จิตอย่างที่พวกเรารู้จัก
บางท่านบอกว่าจิตมีอันเดียว
ไปพูดถึงจิตดวงที่เป็นธรรมธาตุ จิตหนึ่ง
จิตหนึ่งก็หนึ่ง จิตหนึ่ง จิตเดิมแท้อะไรนี่
ไปเอามาปนกับจิตทั่วๆ ไป
แล้วบอกว่าจิตมีดวงเดียว ไม่ใช่ ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติ
พยายามฝึก ถ้าไม่เลิกปฏิบัติเสียก่อน
เราเดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกแล้ว
วันหนึ่งค่อยพิสูจน์ว่าที่หลวงพ่อบอกจริงไม่จริง
ค่อยสรุป อย่าเพิ่งเชื่อตอนนี้ อย่าเพิ่งปฏิเสธตอนนี้
เชื่อตอนนี้ก็โง่ ปฏิเสธตอนนี้ก็โง่อีกล่ะ
ภาวนาไปแล้วดูสิ จริงไม่จริง
มีคนมาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ ว่า
โอ๊ย ภาวนาแทบเป็นแทบตาย
ฟังหลวงพ่อแล้วไปภาวนาตั้งนาน วันหนึ่งก็เข้าใจเลย
ที่ทำอยู่มันผิด ที่ถูกคืออย่างที่หลวงพ่อบอกนั่น
หลวงพ่อบอกธรรมดาๆ นี่ล่ะ
แต่เราตีความเสียลึกซึ้งเกินไป
ตีความแล้วเอาไปปฏิบัติ เอาไปทำ
ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้
จนวันหนึ่งไม่ทำนั่นล่ะ เข้าใจขึ้นมา. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 มกราคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
เยี่ยมชม
dhamma.com
ทางใครทางมัน
ทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนวิเศษกว่าทางไหนทั้งสิ้นหรอก ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะรู้เลย มันมาได้ทุกทาง เพระทุกทางพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น
Photo by : Unsplash
5 บันทึก
22
12
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
5
22
12
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย