26 ม.ค. 2022 เวลา 16:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การนอนนั้นนับว่าเป็นส่วนสำคัญในชีวิตคนเราอย่างมาก แม้ว่าท่านจะได้กินอาหารดีๆออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ถ้าหากขาดการนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็ใช่ว่าท่านจะมีสุขภาพที่ดีจริงหรือไม่ครับ?
หลายวันก่อนผมได้ไปเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการนอน และมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวถึงเทคนิคการงีบหลับของเหล่าอัจฉริยะ ที่พวกเขาเหล่านั้นเองบอกกว่าเทคนิคนี้ช่วยให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
...ฟังดูเหลือเชื่องั้นเราไปอ่านรายละเอียดของเรื่องนี้กันเลยดีกว่าครับ
เทคนิคการงีบหลับที่เหล่าอัจฉริยะอ้างว่าช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มีอัจฉริยะหลายท่านอ้างว่าเทคนิคการงีบหลับแบบนี้ช่วยให้พวกเขามีความคิดและจินตนาการที่โลดเล่นเมื่อพวกเขาตื่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทอมัส แอลวา เอดิสัน ผู้ที่สร้างและคิดค้นนวัตกรรมมากมายที่เรียกได้ว่านวัตกรรมพลิกโลก ซัลวาดอร์ ดาลี จิตรกรสัญชาติสเปนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น จิตรกรหลุดโลก เพราะผลงานและนิสัยที่แปลกประหลาด รวมกับความเป็นศิลปินที่โพยพุ่งของเขา หรือแม้กระทั่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หนึ่งในนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ผู้หักล้างแนวคิดของไอแซก นิวตัน และผลงานอื่นๆอีกมากมายที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการฟิสิกส์กันเลยทีเดียว
Salvador Dali ( 1904 - 1989 ) ศิลปินสัญชาติสเปน
ซึ่งเทคนิคที่ว่านี้คือการ เอนตัวลงบนเก้าอี้หรือโซฟาในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน จากนั้นให้กำวัตถุเช่น ลูกบอล ช้อนโลหะ หรืออะไรก็ตามที่เมื่อตกแล้วจะทำให้เกิดเสียงดังพอที่จะปลุกคุณให้ตื่นได้
เมื่อผ่อนคลายได้สักครู่หนึ่งและเริ่มผล็อยหลับ วัตถุที่กำไว้ในมือจะตกลงสู่พื้นและเกิดเสียงดังขึ้น ปลุกผู้ที่กำลังงีบหลับให้ตื่นขึ้นมา แม้ว่าในขณะนั้นจะมีความรู้สึกงัวเงียอยู่บ้าง แต่จะพร้อมทำงานที่ค้างไว้โดยเกิดความคิดใหม่ ๆ หรือพบวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้นสำหรับงานนั้นทันที
ฟังดูเกินจริงมากๆ แต่มีทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศสได้ทดสอบเทคนิคดังกล่าว และตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมองกรุงปารีส หรือ ICM
โดยให้คนทั่วไปที่สุขภาพดี นอนหลับง่ายและมีระดับสติปัญญาปานกลางจำนวน 103 คน ได้งีบหลับด้วยวิธีพิเศษนี้ โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography) เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าคนผู้นั้นอยู่ในภาวะการนอนหลับขั้นใด
ก่อนจะให้กลุ่มทดลองเริ่มการทดสอบ นักวิจัยได้ให้พวกเขาทำโจทย์คณิตศาสตร์ โดยจะบอกวิธีทำให้ 2 วิธี แต่ก็ยังมีวิธีแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งซ่อนอยู่ในโจทย์ หากมองออกหรือค้นพบวิธีนี้ ก็จะสามารถทำโจทย์ได้รวดเร็วขึ้น
ผลปรากฏว่าเมื่อกลุ่มทดลองตื่นจากการงีบหลับด้วยวิธีการนี้และกลับมาทำโจทย์อีกครั้ง มีคนจำนวนหนึ่งที่ทำได้ดีขึ้นเนื่องจากมองเห็นวิธีแก้โจทย์ที่ซ่อนอยู่ โดยผลการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชี้ว่า คนเหล่านี้อยู๋ในขั้นตอนหนึ่งของการนอนหลับที่เรียกว่า N1 เป็นเวลาประมาณ 15 วินาที ซึ่งคนที่งีบหลับได้ในลักษณะนี้จะมีโอกาสถึง 83% ที่จะค้นพบวิธีแก้โจทย์เลขที่ถูกซ่อนไว้ ส่วนกลุ่มที่นอนไม่หลับระหว่างการทดลอง มีโอกาสดังกล่าวน้อยกว่าเพียง 30% เท่านั้น
คนเราใช้เวลานอนหลับในขั้น N1 เพียง 5% ของแต่ละคืนซึ่งในระยะ N1 จะมีอาการ เป็นช่วงที่เราเริ่มจะนอนหลับ หรือ เคลิ้มหลับไปจนตกอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น หรือ hypnagogia โดยทั่วไปจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในระยะนี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ถ้าถูกปลุกให้ตื่นในระยะนี้ อาจจะรู้สึกว่าเรายังไม่ได้นอน บางทีอาจมีการกลอกตาไปมาช้าๆได้
แต่ความพิเศษของขั้นการหลับนี้คือเราจะสามารถจินตนาการถึงสี รูปร่าง รูปทรง และภาพความฝันต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ยังได้ยินเสียงจากโลกแห่งความเป็นจริงนี้ไปพร้อมกันด้วย นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้เกิดการเชื่อมโยงแปลก ๆ ที่มักไม่เกิดขึ้นบ่อยๆในขณะตื่นอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง
ดร.เดลฟีน อูเดียตต์ ผู้นำทีมวิจัยยังกล่าวอีกว่า "เคล็ดลับก็คือ คุณจะต้องผล็อยหลับง่าย แต่ไม่เผลอหลับลึกจนเกินไป เพราะหากวงจรการนอนหลับพ้นจากขั้น N1 เข้าสู่ขั้น N2 ที่เป็นการหลับลึกแล้ว โอกาสเกิดความคิดสร้างสรรค์ก็จะหายไปทันที"
ขอบคุณสำหรับการอ่านจากผู้อ่านที่รักยิ่งทุกท่าน สำหรับวันนี้ขอลาไปงีบหลับก่อน สวัสดีครับ ^_^
เรียบเรีบงข้อมูล :
NanoZ Science & Technology
ขอบคุณภาพจาก Adrian Swancar from Unsplash
โฆษณา