26 ม.ค. 2022 เวลา 13:59 • อาหาร
แบบทดสอบคนไทยเรื่องข้าว (Thai Rice Quiz)
โปรดเติมคำในช่องว่าง
1. วิธีกินข้าว คนไทยทำอย่างไร................................................................................
2. วิธีปลูกข้าว คนไทยทำอย่างไร.....................................................................
หากคุณไม่สามารถตอบได้ ก็คงต้องเรียนรู้จากชาวฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์ได้เขียนอธิบายแทนชาวสยามให้โลกได้รับรู้ ตั้งแต่ พ.ศ.2230 หรือ 300 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งอธิบายไว้ดังนี้*
ข้าวเป็นพืชผลและอาหารหลักของชาวสยาม ข้าวช่วยเพิ่มพลังและน้ำหนักตัว ชาวสยามรู้จากประสบการณ์ว่าหุงข้าวต้องใช้น้ำ ไฟ และเวลาเท่าไร โดยไม่ทำให้เม็ดข้าวแฉะ เพื่อใช้กินเป็นอาหารเหมือนที่เรากินขนมปัง แต่เขาไม่ได้นำข้าวไปคลุกกับอาหารอื่นเหมือนแบบที่เรากินขนมปัง ยกตัวอย่าง เมื่อพวกเขากินเนื้อ หรือปลา เขาก็กินเนื้อแยกกันกับปลา เมื่อเขากินข้าวก็กินแยก (กับอาหารอื่น) เขาใช้ปลายนิ้วมือตะล่อมข้าว แล้วบีบให้เป็นก้อนแล้วใส่ปาก ...ส่วนชาวจีนไม่ใช้มือสัมผัสอาหารนอกจากจะใช้ตะเกียบคีบ ซึ่งเปรียบได้กับการใช้ส้อม เขาถือถ้วยเคลือบจ่อที่ริมฝีปากล่างในขณะที่กินข้าว โดยใช้มือซ้ายจับให้มั่นแล้วพุ้ยข้าวเข้าปากด้วยตะเกียบในมือขวา
คนแถบปาเลสไตน์ หรือตะวันออก (ของยุโรป) บางครั้งต้มข้าวใส่เนื้อ พริกไทย แล้วใส่หญ้าฝรั่น (saffron) แล้วตั้งชื่อว่าพิเลา (pilau) ซึ่งไม่ใช้วิธีกินแบบชาวสยาม กล่าวโดยทั่วไปคือเขาต้มข้าวในน้ำเปล่า บางครั้งก็ใช้นม เหมือนกับที่เรากินในวันถือศีลอด
สยาม ในที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง เขาปลูกข้าวสาลี โดยใช้ถังตักน้ำรดเหมือนกับที่เราปลูกต้นไม้ในสวน หรือใช้วิธีปล่อยน้ำเข้านา ซึ่งเขาเก็บกักไว้ในฝายที่อยู่สูงขึ้นไป แต่ไม่ว่าด้วยเหตุความสนใจหรือค่าใช้จ่าย หรือเป็นเพราะมีข้าวเพียงพอ จึงมีเพียงกษัตริย์สยามเท่านั้นที่มีข้าวสาลี หรืออาจจะด้วยความสงสัยใคร่รู้ มากกว่าอยากได้ข้าวสาลีจริงจัง เขาเรียกข้าวนี้ว่า ข้าวโภชน์สาลี คำว่าข้าว แปลตรงตัวคือ Rice แต่ชาวอาหรับ ตุรกี เปอร์เซีย ไม่เรียกว่าข้าว ได้ยินคนเล่าว่าแขกมัวร์เป็นคนนำข้าวสาลีมาสู่สยาม ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในสยามได้นำเข้าจากสุรัต (Surat เมืองฝั่งตะวันตกของอินเดีย) แต่ที่ใกล้กับสยาม (หมายถึงเมืองหลวงอยุธยา) มีโรงสีข้าวโพด (windmill) และมีอยู่ละโว้อีกที่หนึ่ง
โดยสรุป ขนมปังที่ชาวสยามทำมาให้เรา มีความแข็ง จนตัวเองคิดอยากกินข้าวต้มแทน ถึงแม้จืดชืดก็ตาม ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจนักกับรายงานเรื่องความสัมพันธ์กับจีน ที่บอกว่ากษัตริย์สยาม แม้ว่ามีขนมปัง ก็โปรดข้าวมากกว่า แต่ชาวยุโรปบางคนได้ยืนยันข้าพเจ้าว่าขนมปังชาวสยามอร่อย และที่ว่าขนมปังแข็ง ก็เป็นเพราะได้เอาเกสรข้าวมาผสมในขนมปัง เพราะกลัวว่าขนมปังจะอบไม่ขึ้น
ในสยาม ข้าพเจ้าเจอเมล็ดถั่วไม่เหมือนของเรา ชาวสยามก็เหมือนเราที่เพาะปลูกมากกว่าหนึ่งชนิด แต่ที่ดินของเขาปลูกเพียงหนึ่งชนิดต่อปี ในความคิดของข้าพเจ้า ไม่ใช่ว่าดินไม่อุดมสมบูรณ์จึงไม่สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เหมือนอย่างที่ได้ยินว่าปลูกกันในบางพื้นที่ของอินเดีย ถ้าน้ำท่วมไม่นาน เขาปลูกข้าวสาลีพันธุ์ตุรกีในสวน เขาต้มข้าวทั้งรวงในน้ำโดยไม่เอาเปลือกออกแล้วจึงนำส่วนเมล็ดข้างในมากิน...
พวกเขาใช้แรงงานจากวัวและควายเท่าๆ กัน โดยใช้เชือกสอดเข้ารูจมูกและมัดเงื่อนที่ปลายสองข้างสำหรับจูง เชือกนี้ร้อยเข้าปลายไถซึ่งทำจากไม้ขุด
ไถของชาวสยาม เป็นแบบเรียบ ไม่มีล้อ มีไม้ท่อนยาวที่ต่อติดกับหางเสือ ไม้อีกชิ้นหนึ่งงอๆ เป็นที่จับ อีกชิ้นหนึ่งสั้นๆ หนาๆ นำไปฝังเข้าตรงปลายส่วนใต้ที่มือจับ ซึ่งเป็นชิ้นที่รับน้ำหนักทั้งหมด เขาไม่ใช้ตะปูตอกไม้ 4 ชิ้นนี้เข้าด้วยกัน แต่พันด้วยแผ่นหนัง
วิธีนวดข้าว เขาใช้สัตว์ใหญ่ ย่ำต้นข้าวให้เมล็ดหลุดออก แล้วนำมาฝัดให้ลมพัดเศษฟางออกเหลือแต่เมล็ด เปลือกข้าวนั้นแข็งเหมือนเมล็ดสเปล์ท (spelt) ซึ่งเป็นข้าวโพดชนิดหนึ่งปลูกมากในแคว้นฟลองเดอร์และที่อื่นๆ เขาทุบเปลือกโดยใช้ครกไม้และสากขนาดใหญ่ หรือใช้เครื่องสีข้าวด้วยมือทำจากไม้ ซึ่งเขาไม่สามารถอธิบายวิธีใช้ให้ข้าพเจ้าได้
ชาวสยามไม่ได้ปรับดินเป็นอย่างอื่น ในฤดูทำนาและเกี่ยวข้าว เขาไถดินและหว่านข้าวเมื่อฝนตกลงมาจดินอ่อนตัว เขาเกี่ยวข้าวเมื่อน้ำในนาลด บางครั้งถ้าน้ำยังไม่ลด ก็ต้องใช้เรือ ดินที่แห่งที่น้ำท่วมถึงก็ใช้ปลูกข้าวได้หมด คนบอกว่ารวงข้าวจะโผล่พ้นน้ำเสมอ ถ้าน้ำหลากสูงขึ้น 1 ฟุตใน 24 ชั่วโมง ต้นข้าวก็จะยืดตัวขึ้น 1 ฟุตใน 24 ชั่วโมงเช่นกัน แม้ว่าคนยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อยากเพราะความที่มีน้ำท่วมเยอะ คิดแต่ว่าถ้าน้ำท่วมเมื่อไรก็จะทำให้ต้นเน่ามากกว่า
เขาเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีปริมาณมากกว่า (ที่ปลูกในดินน้ำท่วมถึง) เก็บรักษาและคงสภาพได้นานกว่า ข้าวอีกชนิดหนึ่ง เมื่อปลูกได้สูงระดับหนึ่ง ก็ย้ายไปปักดำในดินแปลงใหม่ที่เตรียมไว้ และปล่อยน้ำเข้านาเหมือนที่เราทำนาเกลือ กระทั่งดินอ่อนตัวมาก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องทำคันนาเพื่อขังน้ำไว้รอบแปลง แล้วจึงปล่อยน้ำเข้านา ปรับดินให้เสมอกัน แล้วปักดำต้นกล้าทีละต้น โดยใช้นิ้วโป้งกดรากลงดิน
*แปลโดยผู้เชียนโพสต์ จาก La Loubère, Simon de. (1693). A new historical relation of the kingdom of Siam by Monsieur De La Loubere ... ; done out of French, by A.P. Gen. R.S.S. — Du royaume de Siam. English
ดูเพิ่มเติม
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับแปลภาษาไทย 2 ฉบับ
1.ฉบับแปลโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/z39?ctx_ver=Z39.88-2004&genre=Book&title=จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช&creator=ลาลูแบร์, ซิมมอน เดอ, คศ 16421729&type=Text&language=tha&format=applicationpdf เล่ม&date=1914&publisher=ปรีดาลัย&bibid=48304
2.ฉบับแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
de La Loubère, S. (1969). A New Historical Relation of the Kingdom of Siam (Vol. 1). London : Printed by F.L. for Tho. Horne, Francis Saunders, and Tho. Bennet
โฆษณา