30 ม.ค. 2022 เวลา 14:34 • ไลฟ์สไตล์
“EP.08 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 3/3”
“ … ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ ๑๑ ของทั้งหมดหรือว่าข้อที่ ๓ ของหมวดที่ (๓) เรียกว่า ทำจิตให้ตั้งมั่น
ทำจิตให้ตั้งมั่น
ขั้นที่ ๑๐ มันทำจิตให้บันเทิง
เดี๋ยวนี้มาถึงขั้นที่ ๑๑ นี้ทำจิตให้ตั้งมั่น
สมาหิโต แปลว่าตั้งมั่น
ชื่อในภาษาอานาปานสติเรียกว่า สมาทหํ
ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้าหายใจออก
จิตตั้งมั่นหายใจเข้า จิตตั้งมั่นหายใจออก นี่หายใจเข้า หายใจออก อยู่ด้วยจิตที่มีลักษณะตั้งมั่น
ตั้งมั่นมีความหมายมาก เดี๋ยวจะพูดกัน จิตตั้งมั่นในที่นี้ได้บัญญัติไว้ให้กำหนดได้ง่าย ๆ ว่า
๑ จิตบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีกิเลสนิวรณ์รบกวน นี่จิตบริสุทธิ์มันก็ตั้งมั่น เพราะไม่มีอะไรรบกวน
๒ ทีนี้จิตชนิดนี้มันมั่นคงที่สุด เพราะว่ามันรวมกำลัง
ธรรมดากระแสจิตนั้นพร่า พร่าออกรอบตัว เหมือนกระแสไฟ ดวงไฟมันก็ไม่แรง ถ้ารวมกระแสทั้งหมดนั้นเข้าเป็นจุดเดียว มันก็แรง
เหมือนกับว่าแก้วรวมแสง เลนส์โค้ง รวมแสงแดดเข้มข้นจนลุกเป็นไฟขึ้นมาจากแสงแดดธรรมดา นี่จิตนี้มันก็ถูกรวมรวมกำลังเข้าเป็นจุดเดียว มันจึงมีลักษณะตั้งมั่น เรียกว่าจิตตั้งมั่นด้วยอำนาจ ด้วยกำลังอย่างถึงที่สุด นี่ก็เป็นคุณสมบัติของจิตที่มีสมาธิ
๓ กัมมนียะ เหมาะสมที่จะทำหน้าที่
กัมมนียะ นี่แปลว่า เหมาะสมที่จะทำหน้าที่การงาน ภาษาเด็กนักเรียนหรือภาษาฝรั่ง ก็เรียกว่า active activeness มันมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ ภาษาบาลี เรียกว่ากัมมนียะ นิ่มนวลอ่อนโยนพร้อมที่จะทำหน้าที่
ก่อนนี้จิตแข็งกระด้างให้ทำอะไรก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้จิตถูกอบรมจนเหมาะสมพร้อม นิ่มนวลอ่อนโยนที่จะให้น้อมไปในทางไหนก็ได้
ให้น้อมไปในทางพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็น้อมไปได้อย่างดี นี้ก็เรียกว่าพร้อมที่จะทำหน้าที่
นี่จิตเป็นสมาธิต้องประกอบด้วยอาการ 3 อย่าง อย่างนี้
๑ บริสุทธิ์ไม่มีอะไรรบกวน
๒ ตั้งมั่นด้วยการรวมกำลังเป็นจุดเดียว แล้ว
๓ พร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเลย ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว
จิตบริสุทธิ์เรียกว่า ปริสุทโธ
จิตตั้งมั่นเรียกว่า สมาหิโต
จิตพร้อมที่จะทำการงานเรียกว่า กัมมนีโย
ลักษณะของสมาธิมีเป็น 3 อย่าง อย่างนี้
เอ้า ใครมีบ้างในชีวิตประจำวัน คิดดูว่าเรามีหรือไม่มี
จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตพร้อมที่จะทำหน้าที่
ถ้ามีนั่นแหละ คือสมาธิในพระพุทธศาสนา
แม้จะไม่เคยเล่าเรียนธรรมะ
ไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนามาก่อน
แต่ถ้ามีจิตในลักษณะครบถ้วนอย่างนี้
นั่นแหละคือจิตที่มีสมาธิ เป็นสมาธิอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา
จำคำ ๓ คำไว้ดี ๆว่า
ปริสุทโธ - บริสุทธิ์
สมาหิโต - ตั้งมั่น
กัมมนีโย – เหมาะสมแก่หน้าที่การงาน
นึกดูเถิดว่าบางคราวเราอยากจะทำอะไร แต่จิตมันไม่ทำ จิตมันฟุ้งซ่านไปด้วยทางอื่น
ถ้าอย่างนี้แล้วจะเขียนจดหมายให้ดีสักฉบับหนึ่งก็ทำไม่ได้ดอก ทำไม่ได้ดอก
อึดอัดขัดใจอยู่นั่น เพราะมันไม่พร้อมที่จะทำการงาน
ถ้าจิตพร้อม มันเข้ารูปเข้ารอย มันก็ทำสนุกไปเลย
นี่แม้แต่การปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน
ก็ต้องการจิตชนิดนี้ คือ Active ในหน้าที่
เป็นคุณสมบัติอันหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าตั้งมั่น หรือเป็นสมาธิ
ตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างนี้มันมีความสุข มันมีความสุข จะทำเพียงเพื่อความสุขก็ได้
หรือจะเป็นเพื่อปฏิบัติธรรมมะให้สูง สูงขึ้นไปจนบรรลุมรรค ผล นิพพานก็ได้
แม้แต่มีความสุขอยู่ในชีวิตประจำวัน เท่านี้มันก็กำไรเหลือหลายแล้ว
แล้วมันเป็นเหตุให้มีความก้าวหน้าทางจิต
บรรลุมรรค ผล นิพพาน มันก็ยิ่งมีผลมากขึ้นไปอีก
ทีนี้ก็มาดูว่าจะทำให้มันตั้งมั่นได้อย่างไร ?
เอ้า ข้อนี้มันก็มีการพูดอย่างเดียวกันอีกแหละว่า ถ้าฝึกปฏิบัติในหมวดที่ (๑) คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานมาแล้ว มันก็คือข้อที่ ๔ ของกายานุปัสสนานั่นแหละ ว่าทำกายสังขารให้ระงับ ทำลมหายใจให้ระงับ ร่างกายระงับ มีความตั้งมั่น นี้มันก็เป็นความตั้งมั่นโดยกายสังขารมันระงับ
ในหมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนา ทำปีติและสุขอันลุกโพลงให้ระงับ มันก็เป็นจิตตสังขารระงับ โดยระงับกายสังขารและจิตตสังขาร คือทำให้ตั้งมั่น มันเพียงแต่ย้อนกลับไปหาการปฏิบัติเบื้องต้นที่ผ่านมาแล้วใน ๒ ขั้นนั้น ก็เอามาทำให้จิตตั้งมั่นได้ดีที่สุด
คำว่า จิตตสังขาร คือปีติและสุขนั้น มันเป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าปีติบังคับไม่อยู่มันก็ฟุ้งซ่านเหมือนกัน มีปีติปราโมทย์ฟุ้งซ่านอยู่ในใจ มันก็ทำอะไรไม่ได้ คือว่าหลงใหลอยู่ด้วยความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อย มันก็ทำอะไรไม่ได้
ฉะนั้นปีติและสุขนั้นต้องบังคับได้ ต้องสงบระงับ มีจิตตั้งมั่นอย่างนี้ แล้วก็ทำอะไรได้ดี
ลองใคร่ครวญดูให้ดีว่า ที่มันบังคับไม่ได้แล้วมันก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ แม้แต่ปีติก็ใช้ไม่ได้ ความสุขมันก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นกิเลสไปเสียอีก มันกลุ้มรุมจิตใจ จนไม่มีความแจ่มใส ไม่มีสมรรถนะ ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย
คำว่าเป็นสมาธิสมาธินี้ มีความหมายกว้างขวางที่สุด สูงสุด น่าพอใจที่สุด แต่ว่าคนมันรู้กันแคบ ๆ แม้แต่พระเณรเรียนนักธรรมเรียนอะไร ก็ว่าเมื่อจิตกำหนดอารมณ์แล้วมันก็เป็นสมาธิ รู้กันเพียงเท่านี้
แต่ความหมายทั้งหมดมันเกินกว่านั้น มันมากกว่านั้น บทนิยาม นิยามของคำว่าสมาธิที่ถูกต้อง ที่สมบูรณ์ที่สุดนั้น มันมีว่า “เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์”
ฟังดูก็แปลกสำหรับคนที่ไม่เคยฟังและอาจจะรำคาญก็ได้ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขอร้องให้ช่วยจำไว้หน่อยว่า “เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์”
เอกัคคตาจิตก็ไม่ได้มากมายอะไรไปกว่าว่า จิตที่มีอารมณ์เดียว จิตที่มีความมุ่งหมายเดียว มียอดเดียว
เอกะ แปลว่า เดียว อัคคะ แปลว่า ยอด
เอกัคคตา แปลว่า ความมียอดเดียว อารมณ์เดียว จิตมีความมุ่งมั่นอย่างเดียว จุดเดียว โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ถ้าอย่างนี้แล้วกว้างขวางใช้ได้หมดทั้งโลก ครอบงำโลกเลย
ความตั้งจิตที่จะพบกันกับความสงบเย็น แต่ใช้คำว่านิพพานแทนที่จะใช้คำว่าสงบเย็น จิตที่มีความมุ่งมั่นไปสู่ความสงบเย็นแห่งชีวิตนั่นแหละ คือสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ
อย่าโง่ไปนักเลย อย่าโง่ว่าต้องมานั่งหลับตาที่วัดในป่า กำหนดนั่นกำหนดนี่ มีอารมณ์เป็นกสิณ เป็นซากศพ เป็นอะไรก็ไม่รู้มันมากมายแหละ ถ้าอย่างนี้มันก็หลายสิบอย่างแหละ แล้วมันก็เป็นแต่คำพูดหรือรูปแบบที่พูด
แต่ถ้าหัวใจแท้ ๆ ของมัน ก็คือว่า จิตที่มีอารมณ์เดียวเป็นจุดเดียว มุ่งต่อความสงบเย็นของชีวิตเป็นอารมณ์
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า มันไม่เฉพาะในทางศาสนาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ เกี่ยวกับคนธรรมดาสามัญทั่วไปก็ได้ ถ้ามีชีวิตมีความรู้สึกนึกคิดอย่างมนุษย์แล้ว มันทำได้แหละ มันมีความมุ่งมั่นจ่ออยู่ที่สิ่งเดียว คือความสงบเย็นในชีวิต
ความสงบเย็นในชีวิต คือ ความหมายของคำว่านิพพาน
นิพพาน แปลว่า เย็น นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย
ที่ในโรงเรียนเขาสอนอย่างโง่เขลาที่สุด ที่สอนเด็ก ๆ ว่า
นิพพานแปลว่าตายของพระอรหันต์
นี้มันขบถต่อพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
ถ้าครูคนไหนสอนอยู่อย่างนี้ นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย
คำว่านิพพานไม่ได้เกี่ยวกับคำว่าตาย
คำว่า นิพพาน ทั้งพระไตรปิฎกไม่ได้เกี่ยวกับคำว่าตาย เกี่ยวกับคำว่า เย็น เย็นเพราะไม่มีไฟ คือกิเลสทั้งนั้น ถ้าคำว่าตายมีคำอื่นใช้ คำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น เย็นของอะไรก็ได้เรียกว่านิพพานทั้งนั้น แต่ในทางธรรมะทางสูงก็เย็นของจิตใจ ที่ไม่มีกิเลส
กิเลส คือ ไฟ ไม่มีไฟก็คือเย็น
เมื่อใดจิตไม่มีกิเลสรบกวน
เมื่อนั้นจิตเย็น เมื่อนั้นจิตอยู่กับนิพพาน
มุ่งหมายนิพพานนั้น คือความเย็นอกเย็นใจ
ความสงบเย็นแห่งชีวิตนั้น คือนิพพาน
ถ้าจิตเกิดความมุ่งหมาย มุ่งมั่นที่จะลุถึงสิ่งนี้เมื่อใด นั่นแหละคือสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องตามความหมายของคำว่าสมาธิ
แต่เดี๋ยวนี้เราเอามาใช้ในทางที่ว่า ลงมือทำเป็นพิธีรีตองอะไรต่าง ๆ มันก็เลยมากเรื่องมากราว จนไม่ได้รับประโยชน์อะไร
ขอให้มุ่งหมายว่า จิตที่มุ่งมั่นต่อความเย็นอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตจิตใจ นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ ขอให้มุ่งมั่นหมายมั่น มุ่งอยู่ที่จะเป็นอย่างนี้ ที่จะมีความเยือกเย็นแห่งจิตใจเถิด ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ
ในบทนิยามที่ว่าเอกัคคตาจิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ บทนิยาม definition ของคำว่าสมาธิ มันว่าเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตที่มุ่งมั่นเพียงอย่างเดียวต่อพระนิพพาน คือความสงบเย็นแห่งชีวิต
เมื่อเป็นดังนี้ ก็เห็นได้ว่าทุกคน ทุกประเภท ทุกชนิด ทุกบุคคล ควรจะมีความรู้เรื่องสมาธิจิต มุ่งมั่นต่อความเยือกเย็นแห่งชีวิต เป็นเอกัคคตาจิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ในขณะนั้นมันมีประโยชน์เหลือหลาย มันเป็นความสุขอยู่ในตัวมันเอง จิตชนิดนั้นมันเป็นความสุขอยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็ทำให้เกิดปัญญาสูงขึ้นไปจนบรรลุมรรค ผล นิพพาน
สมาธิจิตล้วน ๆ มันก็เป็นความสงบเป็นความสุข แต่ยังไม่สูงสุด ถ้าสูงสุด จิตที่เป็นสมาธิต้องเป็นปัจจัยแก่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน คือวิปัสสนาญาณอันดับสุดท้ายที่ดับกิเลสทั้งหลายได้
ดังนั้นสมาธิจิตที่พร้อมกับการดับกิเลสนั่นแหละ จะเรียกว่าเป็นเรื่องของสมาธิที่แท้จริง
ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจเรื่อง ทำจิตให้ตั้งมั่น เป็นสิ่งที่ยึดถือ เป็นหลักประจําใจ อยู่โดยทั่ว ๆ ไปด้วยกันทุกคน
ทีนี้ก็มาถึงขั้นต่อไปคือขั้นที่ ๑๒ ของทั้งหมด หรือขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ (๓) คือ ทำจิตให้ปล่อย ทำจิตให้ปล่อย อภิโมจยังจิตตัง ทำจิตให้ปล่อย หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ ด้วยการที่จิตมีการปล่อย
คำว่าปล่อย ปล่อยนี้ พูดได้เป็น 2 โวหาร
โวหารที่ 1 จิตเป็นฝ่ายปล่อย
อีกโวหารหนึ่ง อารมณ์ร้ายมันหลุดออกไปจากจิต มันปล่อยตัวเองออกไปจากจิต อย่างนี้ก็ได้
จิตมีสติมีปัญญา สลัดอารมณ์ร้ายออกไปเสียจากจิต พร้อมทั้งเหตุของกิเลสนั้น ๆ อย่างนี้เรียกว่า จิตเป็นฝ่ายปล่อย จิตประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา ระงับการเกิดแห่งกิเลส หรือกิเลสที่กำลังเกิดอยู่ให้ระงับไป นี้เรียกว่าจิตเป็นฝ่ายปล่อย
ที่นี้มองกลับอีกทางหนึ่งว่า อารมณ์ร้ายหรือกิเลสเหล่านั้น จะเป็นนิวรณ์ 5 ก็ดี เป็นประยุตฐานะกิเลส เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่กำลังรบกวนจิตอยู่ก็ดีนี้ ทำให้มันระงับไป ให้มันหลุดไปจากจิต ก็เรียกว่าอารมณ์ร้ายหลุดไปจากจิต
ให้อารมณ์หลุดไปจากจิต หรือให้จิตหลุดจากอารมณ์ จะมองในแง่ไหนก็ได้ แล้วผลมันก็เท่ากัน ผลมันก็เท่ากัน
นี่จะต้องมีอำนาจเหนือจิต หรือมีการกระทำที่ทำให้มีอำนาจเหนือจิตอย่างถูกต้องและสมควร โดยวิธีธรรมดา ๆ ของคนทั่วไปก็ทำได้ โดยวิธีทางเทคนิค มันเทคนิคคือว่าทำอย่างละเอียดปราณีต ของทางธรรมะของทางศาสนาก็ได้
เหมือนอย่างว่าคนธรรมดา มีเรื่องกลุ้มรุมจิตใจ รำคาญหงุดหงิดอยู่ ‘กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย’ อย่างนี้ก็ได้ นี่สลัดออกไปอย่างนี้ก็ได้ แล้วมันก็เป็นความจริงอย่างนั้นด้วย
ขอบอกให้ทราบว่าเป็นเคล็ดอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก ถ้าอะไรมันจะรบกวนจิตใจให้เป็นทุกข์ เราก็สลัดมันไปเสียเลยล่วงหน้า
ยกตัวอย่างว่ามันเกิดเรื่องขึ้นมา ที่จะทำให้ต้องเสียเงินหรือเสียของอะไรออกไป มันแสดงว่ามันจะต้องทำให้เสียเงินเสียทอง ก็อย่าให้มันทรมานจิตใจอยู่เลย สลัดมันไปเสียเลย ว่าเสียแล้ว ๆ ยอมเสียแล้ว ยอมเสียแล้ว
สิ่งที่มีเค้ามีเงื่อนมีท่าว่าต้องเสียน่ะ เสียมันไปเสียเลย สลัดไปเสียเลย อย่าให้มันมาเป็นทุกข์รบกวนจิตใจอยู่ อย่างนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก หรือสำคัญมาก
แต่คนเขาจะไม่เข้าใจ และไม่ยอมใช้ จะเอามาเป็นเรื่องทุกข์ร้อนนอนไม่หลับอยู่นั่นแหละ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็เป็นบ้าเลย เป็นบ้าเลยเพราะมันสลัดออกไปจากจิตไม่ได้
ถ้าว่ามันจะต้องเสียแล้วก็สละมันไปเลย แต่ว่าไม่ใช่ว่าสละเฉย ๆ ยังคงกระทำทุกอย่าง ต่อสู้ป้องกันทุกอย่าง ที่จะไม่ต้องเสีย ที่จะให้มันกลับมานั่นแหละ ก็ทำอยู่ ทำอยู่ แต่ในจิตใจว่ายอม เสียไปแล้ว สละไปแล้ว ให้มันเสียไปแล้ว เพื่อจะไม่เป็นทุกข์
แล้วก็กระทำต่อไปในลักษณะที่ถูกต้อง ที่ควรกระทำ แล้วมันก็ไม่เสีย แล้วเราก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์ ตลอดเวลาเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มิฉะนั้นเราก็ต้องเป็นทุกข์ทันทีแหละ เป็นทุกข์ทันที แล้วบางทีก็เสียไปด้วย ทั้งเป็นทุกข์ด้วย มันก็ขาดทุน ๒ หน
เดี๋ยวนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์ ถึงมันจะเสียไปจริง ๆ ก็ไม่เป็นทุกข์ และถ้าว่าทำอยู่อย่างนี้ส่วนมากมันจะถูกต้อง มันจะกลายเป็นไม่ต้องเสีย จะเป็นการต่อสู้ที่ถูกต้อง ก็รักษาเอาไว้ได้ไม่ต้องเสีย นี่เป็นเรื่องที่ควรจะสนใจ ที่ควรจะสนใจ
การปล่อยสิ่งที่รบกวนอยู่ในจิตใจให้ออกไปเสีย ให้ออกไปเสียให้พ้น นั่นแหละเป็นศิลปะ ยอดศิลปะ ยอดสุดของศิลปะ ที่พุทธบริษัทควรจะมี ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้ได้เปรียบกว่าพวกอื่นที่ไม่ใช่พุทธบริษัท
นี่ขอให้เราทุกคนสนใจที่จะรู้จักการเปลื้อง หรือปลดปล่อยสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตให้หลุดพ้นออกไปเสียจากจิต ไม่ให้รบกวนต่อไป จะแก้ไข จะต่อสู้ จะปรับปรุงอย่างไร ก็ทำไปเถอะ ทำไป ทำตามไปก็ได้ แต่เราจะไม่เป็นทุกข์ เพราะว่าเรายอมสลัดมันออกไปเสียก่อนแล้ว
เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่า เรามีอำนาจเหนือจิต เป็นนาย เป็นนายเหนือจิต มีอำนาจเหนือจิต สามารถบังคับจิตให้ทำในลักษณะที่ต้องการ คือไม่เป็นทุกข์ มิฉะนั้นเราจะต้องเป็นทุกข์ จะต้องเป็นทุกข์แล้วเป็นทุกข์มากเกินกว่าจำเป็น
หรือว่าเรื่องที่ไม่ควรจะทุกข์ ก็เอามาทุกข์ได้ เพราะความโง่
จะต้องไม่เป็นทุกข์ ไม่ว่ากรณีใด ๆ เรื่องที่มาทำให้เป็นทุกข์ สลัดออกไปเสียก่อน คือว่ายอมว่าเป็นอย่างนั้นไปเสียก่อน ไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็ทำการแก้ไขตามหลัง อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน นี้ก็อยู่ในจำพวกที่เรียกว่า ทำจิตให้ปล่อย
สิ่งใดเป็นอารมณ์ร้าย รบกวนจิต แม้แต่เรื่องไม่สบายใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สลัดออกไป เช่น เรื่องนิวรณ์ 5 กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็สลัดออกไปเสียก่อน ได้จิตที่ปล่อยอารมณ์มา แล้วก็ดำเนินต่อไป
นี่ทำได้โดยวิธีธรรมดาธรรมดาอย่างที่ว่ามาแล้วเมื่อตะกี้นี้ คนธรรมดาสลัดความรู้สึกที่ไม่ต้องการออกไปเสียจากจิตใจ ก็ทำได้
ที่นี้ทำตามวิธีเทคนิคของการปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนานี้ก็ทำได้ แต่ต้องศึกษา ต้องเอาจริง ต้องสนใจจริง ต้องทำจริง จึงจะทำได้
เรื่องอานาปานสติภาวนาได้พูดมาแล้วกี่ปี ๆ ๒๐ - ๓๐ ปีแล้ว แล้วอยากจะรู้ว่าใครทำได้กี่คน นี่เพราะว่าไม่ได้สนใจโดยแท้จริง ไม่ได้จับฉวยเอาอย่างถูกต้องแท้จริงและสมบูรณ์ มันก็ทำไม่ได้
แล้วก็ควรจะทำได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด เวลาว่างมีเท่าไร ก็เอามาสนใจเรื่องนี้กันดีกว่า คือการพัฒนาจิต พัฒนาจิตให้สูงขึ้นไป จะเรียกว่าสมาธิภาวนา แปลว่า ทำจิตให้เจริญด้วยวิธีของสมาธิ ดังนี้ก็ได้
นี่เกิดมาเป็นคนทั้งที ขอให้ได้มีโอกาสพัฒนาจิตให้สูงสุด ๆ สูงสุดยิ่งขึ้นไป ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
ขอให้สนใจในการที่เรียกว่า ทำจิตให้ปล่อยจากอารมณ์ หรือทำอารมณ์ให้หลุดไปจากจิต แล้วแต่จะใช้โวหารไหนสำหรับพูดจา
การปฏิบัติที่แล้วมาในหมวดที่ (๒) คือเวทนานุปัสสนานั้น บังคับจิตตสังขารให้ระงับได้นั่นแหละ เอาอันนั้นแหละมาใช้ ถ้าได้ปฏิบัติหมวดที่ (๒) มาอย่างคล่องแคล่วชำนาญแล้วในหมวดเวทนานุปัสสนา
ถึงขั้นที่เรียกว่า ปฺสสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ทำจิตสังขารให้ระงับอยู่หายใจออกหายใจเข้า เอาหมวดนั้นมาใช้อีกที ในหมวดนี้ในขั้นนี้ มันก็ทำได้
หรือจะพูดง่าย ๆ ว่า ทำจิตเป็นสมาธิได้ มันก็ปล่อยได้โดยอำนาจของสมาธิ ถ้าทำจิตเป็นวิปัสสนา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ มันก็ปล่อยด้วยอำนาจของวิปัสสนา
การปล่อยด้วยอำนาจของสมาธินั้นมันชั่วคราว ปล่อยด้วยอำนาจของวิปัสสนานั้นมันเด็ดขาด หรือมันตลอดกาล
การกระทำความเพียรทางจิตจึงไม่ควรจะหยุดอยู่เพียงแค่สมาธิ ให้มันก้าวหน้าต่อไปถึงขั้นวิปัสสนา เรื่องมันก็จะจบ เดี๋ยวนี้ในการปฏิบัติอานาปานสติเมื่อมาถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่ามันสมบูรณ์
การที่ปล่อยอารมณ์จากจิต หรือว่าถอนจิตจากอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากจิต ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ต้องทนอยู่กับสิ่งที่รบกวนจิต ทำอันตรายจิต ถ้ามากเกินไปก็จะเป็นบ้า เมื่อยังน้อยอยู่ มันก็ทำให้นอนหลับยาก หาความสงบสุขไม่ได้ ขอให้รู้จักปล่อยอารมณ์ ระงับอารมณ์ อย่ามีเรื่องที่รบกวนจิต
เมื่อทำงานก็ทำงาน พอเลิกงานก็ไม่มีอะไรที่มายุ่งยากลำบากอยู่ในจิต เหมือนกับว่าเวลาทำงานก็เปิดลิ้นชักโต๊ะทำงาน ทำงานยุ่งไปหมด พอเลิกงานก็เก็บใส่ลิ้นชัก ผลักลิ้นชักใส่กุญแจ ไม่มีอะไรอยู่ในจิตใจ อย่างนี้ก็เป็นสุขภาพอนามัยที่ดีของจิตใจ
ซึ่งทุกคนควรจะมี จะทำให้สบาย จะทำให้มีความเย็นใจ เย็นอกเย็นใจ มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในการงาน เป็นการได้ที่ดี เป็นการได้ที่ดีได้ความสุขด้วย ได้ความเจริญงอกงามต่อไปข้างหน้าด้วยพร้อมกันไป ขอให้สนใจในลักษณะอย่างนี้
นี่เรียกว่าเป็นขั้นทำจิตให้ปล่อย ถ้านับทั้งหมดก็ขั้นที่ ๑๒ ของ ๑๖ ขั้น ถ้านับเฉพาะหมวด ก็เป็นขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ (๓) คือหมวดจิตตานุปัสสนา
เป็นอันว่าเราได้บรรยายหมวดจิตตานุปัสสนามาครบถ้วนอีกหมวดหนึ่งแล้ว เป็นอานาปานสติที่สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบที่สุดตามความมุ่งหมายของการบรรยายชุดนี้ ต้องการจะแสดงสิ่งที่เป็นคู่มือจำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ
และก็ได้บรรยายมาถึงตอนที่ว่าอานาปานสติสมบูรณ์แบบ มาได้ ๓ หมวดแล้ว หมวดกายานุปัสสนา หมวดเวทนานุปัสสนา และหมวดจิตตานุปัสสนา คือหมวดที่กำลังบรรยายอยู่นี้
เป็นอันว่าในหมวดนี้สรุปความได้สั้น ๆ ว่า :
ขั้นที่ ๑ รู้จักจิตทุกชนิด
โดยอาศัยหลัก 8 คู่มาเป็นเครื่องกำหนด
จิตมีโลภะหรือไม่มีโลภะ
จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ
จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะ
จิตฟุ้งซ่านหรือสงบ
จิตมีคุณธรรมอันสูงหรือไม่มี
ยังมีจิตอื่นดีกว่าหรือไม่มีแล้ว
แล้วก็จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น
นี่ศึกษาไว้ให้ดี ๆ จะเป็นเครื่องทดสอบวัดจิตใจได้ดี ในเรื่องที่ว่ารอบรู้ขบวนการของจิตครบถ้วนรอบด้านทุกแง่ทุกมุม
แล้วขั้นที่ ๒ บังคับจิตให้บันเทิงปีติปราโมทย์ได้ตามที่ต้องการ
เพื่อความเป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้ก็ดี เพื่อความเป็นบาทฐานของปัญญาของวิปัสสนาที่จะก้าวหน้าไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานก็ดี มันต้องการจิตที่ปราโมทย์และบันเทิงเราก็ทำได้ ก็ทำได้ ต้องการเมื่อไรเราก็ทำได้
แล้วขั้นที่ ๓ บังคับจิตให้ตั้งมั่น ให้ตั้งมั่นโดยเฉพาะ ก็คือมีความเหมาะสมแก่หน้าที่การงาน
จิตเป็นสมาธิในที่นี้ หมายถึง มีความเหมาะสมที่จะทำการงาน
จะทำนาก็ทำได้ดี ทำสวนก็ทำได้ดี เป็นพ่อค้าก็ทำได้ดี เป็นข้าราชการก็ทำได้ดี เป็นกรรมกรก็ทำได้ดี เป็นขอทานก็ทำได้ดี
มีจิตเหมาะสมต่อหน้าที่การงานที่จะต้องกระทำนั้น ๆ ขอให้เป็นอย่างนี้ เรียกว่าได้แก้วสารพัดนึก แก้วสารพัดนึกที่จะใช้อะไรก็ได้ เพราะว่ามีจิตที่เป็นกัมมนียะ เหมาะสมที่จะทำหน้าที่การงาน อยู่ในโลกนี้ก็ได้ จะออกไปจากโลกนี้ก็ได้ ในขั้นไหนก็ได้ ต่ำก็ได้ กลางก็ได้ สูงก็ได้
ทีนี้ขั้นสุดท้ายที่ ๔ ก็ว่า บังคับจิตให้ปล่อย
อารมณ์ร้ายมีอยู่ในจิตเมื่อใด ปล่อยได้เมื่อนั้น และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมา
คำว่า อารมณ์ร้ายนี้ หมายถึงทุกชนิด ความไม่เป็นสุขในทุกชนิด ซึ่งมันออกมาถึงความไม่เป็นสุขกาย ถ้ามันไม่เป็นสุขใจแล้วมันก็รบกวนทางกายด้วยกันแหละ เพราะฉะนั้นไปมุ่งหมายที่ว่าไม่รบกวนทางจิตใจ
ไม่มีรบกวนทางจิตใจ จะไม่มีอารมณ์ร้ายมารบกวนทางจิตใจ ถ้ามาเผลอเกิดขึ้นก็สลัดออกไปได้ทันที ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มันก็ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ นี้ก็เท่ากับสลัดได้เหมือนกัน
ไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ ก็เท่ากับสลัดอยู่ในตัว
ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็สลัดออกไปได้
อารมณ์ร้ายใด ๆ ไม่มีอยู่ในจิตใจ
แม้แต่ความหม่นหมองสักนิดนึงก็มิได้มี
แม้แต่ความรำคาญก็ไม่มี
รำคาญตัวเองชนิดใด ๆ ก็ไม่มี
ใครก็ทำให้รำคาญไม่ได้
เป็นผู้มีจิตเป็นอิสระ ไม่มีอารมณ์ร้ายรบกวน
ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงสนใจในเรื่องการอบรมจิต ซึ่งเป็นสิ่งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์เรา ทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิต ขึ้นอยู่กับจิต ขอให้เป็นผู้รอบรู้ในกระบวนการของจิต แล้วกระทำให้ได้ตามที่ควรจะทำ
รู้จักจิตทุกชนิด
บังคับให้มันบันเทิงเมื่อไรก็ได้
บังคับให้มันเหมาะสมแก่หน้าที่การงานเมื่อไรก็ได้
บังคับให้มันปล่อยสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจ
ให้ออกไปเสียจากจิตใจเมื่อไรก็ได้
เป็นอันว่าครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับอานาปานสติหมวดที่ (๓) คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความดังที่ได้กล่าวมา
เรื่องทางกายก็เป็นเรื่องกายานุปัสสนา
เรื่องทางเวทนาที่จะปรุงแต่งจิตก็เป็นเรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เดี๋ยวนี้มาถึงเรื่องตัวจิตเอง ก็เรียกว่าจิตตานุปัสสนาเป็นหมวดที่ (๓)
แล้วยังเหลืออยู่หมวดที่ (๔) จะได้บรรยายในโอกาสต่อไป …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๖
๑๖ เมษายน ๒๕๓๑
โฆษณา