Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
30 ม.ค. 2022 เวลา 07:12 • ไลฟ์สไตล์
“EP.07 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 2/3”
“… หลักปฏิบัติจิตตานุปัสสนา
ที่นี้ก็จะได้ดูกันต่อไป ถึงการปฏิบัติที่เกี่ยวกับจิต ที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนา เป็นการปฏิบัติหมวดที่ (๓) ของอานาปานสติภาวนา แล้วก็แบ่งออกเป็น ๔
ขั้นตอนหมวดจิตตานุปัสสนาแบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน :
ตอนแรกเรียกว่า การรู้ทั่วถึงในสิ่งที่เรียกว่าจิต
การปฏิบัติขั้นนี้ก็หลังจากที่ได้ปฏิบัติกายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนามาแล้ว มาถึงตอนจิตตานุปัสสนา ก็ทำการกำหนดจิตขั้นแรกของหนวดนี้ หรือขั้นที่ ๙ ของทั้งหมด ทั้งหมดมัน ๑๖ ขั้นแบ่งเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น
นี้เป็นขั้นที่ ๙ ของทั้งหมดแต่มันเป็นขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ จะเรียกว่าขั้นที่ ๙ ก็ได้จะเรียกว่าขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ ก็ได้ เป็นอย่างเดียวกัน
กำหนดสิ่งที่เรียกว่าจิต เดี๋ยวนี้จิตเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้จิตเป็นอย่างไร มีหลักเกณฑ์ให้กำหนดว่า
จิตมีโลภะหรือปราศจากโลภะ
จิตมีโทสะหรือปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะหรือปราศจากโมหะ
จิตฟุ้งซ่านหรือสงบ
จิตประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงหรือไม่ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตตั้งมั่นหรือจิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้นจากอารมณ์จากความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์หรือว่าไม่หลุดพ้น
8 ลักษณะ 8 คู่ มีลักษณะเป็น 8 คู่
สำหรับจะพิจารณาว่า
มีหรือไม่มีโลภะ
มีโทสะหรือไม่มีโทสะ
มีโมหะหรือไม่มีโมหะ
นี้ก็พอจะรู้กันดีเป็นคำพูดธรรมดา
จิตฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่านก็พอจะรู้จัก
จิตมีคุณธรรมอันใหญ่หลวงหรือไม่มีนี้ บางคนจะไม่รู้จัก
คือมีคุณธรรมที่ดีกว่าธรรมดา สูงกว่าธรรมดา สูงกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะต้องมี ท่านเล็งไปถึงการมีสมาธิจิตเป็นรูปฌานหรือเป็นอรูปฌาน เป็นต้น
ถ้ามีก็เรียกว่าจิตมีคุณธรรมอันใหญ่หลวงหรือสูงกว่าธรรมดา มีหรือไม่มี
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าหรือไม่ นี่ก็แปลว่า เรามีจิตชนิดสูงสุดหรือยังนั่นเอง ถ้ายังมีจิตอื่นสูงกว่าอยู่ ก็รู้ว่ามันยังเป็นจิตที่ยังต่ำอยู่
จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นในลักษณะที่เป็นสมาธินั่นแหละ จะตั้งมั่นเพราะบังคับจิตได้ หรือตั้งมั่นเพราะหมดกิเลสแล้วก็ได้ แต่ขอให้มันมีความตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น นี้ก็พอจะรู้จักได้ พอที่จะรู้สึก
แต่ข้อสุดท้ายนั่นลำบากหน่อยว่า จิตหลุดพ้นแล้วหรือจิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้มันก็ยาก คนธรรมดาจิตยังไม่หลุดพ้น แล้วจะไปรู้จักจิตที่หลุดพ้นแล้วได้อย่างไร มันก็ต้องเป็นเรื่องที่คำนวณว่า เดี๋ยวนี้จิตไม่หลุดพ้นมีลักษณะอย่างไร เป็นทุกข์ทรมานอย่างไร
ถ้ามันเป็นตรงกันข้าม ก็รู้ว่าจิตมันหลุดพ้น ถ้ามันยังอยู่อย่างนี้ก็ยังไม่หลุดพ้น ก็พอจะคำนวณให้รู้ได้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วหรือว่าจิตยังไม่หลุดพ้น
ในขั้นนี้ก็พยายามศึกษาจิตโดยลักษณะอย่างนี้ จนเป็นผู้ที่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตดี รู้จักดีในสิ่งที่เรียกว่าจิต
รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตอย่างครบถ้วนอย่างถูกต้อง ว่ามันเป็นอะไรได้กี่อย่าง มันมีลักษณะอย่างไรได้กี่อย่าง มันจะเป็นอย่างไหนก็รู้จักมันดีทั้งนั้น นี่เป็นขั้นที่ ๑ ของการปฏิบัติในหมวดจิต
สิ่งที่เราจะกำหนดรู้ไว้เป็นหลัก มันก็พอจะมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโลภะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่าราคะ หรือโกธะ หรือโมหะ โลภ โกรธ หลงนั่นแหละ
ถ้าจิตมันมีลักษณะดึงเข้ามาหาตัว ดึงอะไรเข้ามาหาตัว ดึงอารมณ์เข้ามาหาตัว ก็เรียกว่าจิตมีราคะ หรือมีโลภะ คือมันต้องการ หรือมันกำหนัดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันดึงเข้ามาหาตัว เป็นจิตประเภทโลภะหรือราคะ
ถ้าว่ามันผลักออก มันตีออก หรือมันทำลายเสียอย่างนี้ มันก็เป็นจิตที่เป็นหมวดโทสะหรือโกธะ
แต่ถ้ามันโง่ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่วิ่งวนอยู่รอบ ๆ รอบ ๆ ด้วยความสงสัย เป็นต้น ก็เรียกว่ามันเป็นประเภทโมหะ โมหะ คือ ไม่รู้ ไม่รู้จะทำอย่างไร จะดึงเข้ามาก็ไม่ใช่ จะผลักออกไปก็ไม่ใช่ ก็ได้แต่วิ่งวนอยู่รอบ ๆ
จงรู้จักลักษณะของจิตคนเรา
ว่ามันกระทำต่ออารมณ์ในลักษณะอย่างนี้แหละ
ดึงเข้ามาก็มี
ผลักออกไปก็มี
วิ่งอยู่รอบ ๆ ก็มี
ถึงแม้มันจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น
เช่นว่า ฟุ้งซ่าน เป็นต้น มันก็ฟุ้งซ่านอยู่ด้วยอาการเหล่านี้แหละ
ถ้ามันเป็นจิตที่มีคุณธรรมอันสูง มันก็ปราศจากอาการเหล่านี้ คือสงบ หรือว่ามันจะกระทำในลักษณะที่ถูกต้อง
ถ้าจะดึงเข้ามาหาก็ในลักษณะที่ถูกต้อง มีประโยชน์
หรือผลักออกไปหรือทำลายเสีย ก็ในลักษณะที่เป็นประโยชน์
หรือแม้จะวนอยู่รอบ ๆ ก็ในลักษณะที่จะเข้าถึงความจริง อย่างนี้ก็ยังได้
ถ้ามันเป็นจิตที่ตั้งมั่นมัน ก็ไม่มีการดึงเข้า หรือผลักออก หรือไม่วิ่งวนอยู่รอบ ๆ
ถ้าจิตหลุดพ้นแล้ว ก็ไม่มีอาการเหล่านั้นเลย
…
นี่ขอให้สังเกตดูว่า จิตของคนเรามีอาการ คือว่า ผลักออก หรือดึงเข้ามา หรือวิ่งอยู่รอบ ๆ ไม่นอกไปจากอาการทั้ง ๓ นี้
เมื่อเราอยากจะรู้จิตทั้งหมด เราก็ใคร่ครวญดู กำหนดดูแม้วันนี้นั่งลงกำหนดดู เฝ้าดู ก็จะเห็นได้ ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอยากจะรู้จิตที่มันตรงกันข้ามที่ยังไม่มี ก็ต้องคำนวณ ต้องคำนวณว่าถ้าตรงกันข้ามจะเป็นอย่างไร ก็พอที่จะให้รู้ได้เหมือนกัน
เมื่อรู้ในลักษณะ 8 อย่างหรือ 8 คู่ 8 คู่อย่างที่ว่ามาแล้ว
ว่ามีโลหะหรือไม่มีโลภะ
มีโทสะหรือไม่มีโทสะ
มีโมหะหรือไม่มีโมหะ
ฟุ้งซ่านหรือสงบ
มีคุณธรรมใหญ่หรือไม่มี
มีจิตอื่นดีกว่าหรือไม่มี
ตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น
กำลังหลุดพ้นเกลี้ยงเกลาจากอารมณ์หรือว่าระคนอยู่กับอารมณ์
ขอให้จำไว้เถอะว่า 8 อย่างนี้เป็นเครื่องทดสอบได้ดีที่สุดที่เกี่ยวกับจิต
เป็นอันว่ารู้เรื่องจิตโดยการปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ (๓) ภาษาบาลีเรียก จิตตปฏิสังเวที แปลว่าเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตทั้งปวง
จิตทั้งปวงสรุปได้ 8 คู่อย่างนี้ ตั้งแต่จิตต่ำที่สุดจนถึงจิตที่สูงสุดที่หลุดพ้น จนเป็นจิตที่สัมผัสต่อพระนิพพาน เป็นผู้รอบรู้จิตโดยอาการต่าง ๆ อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นผู้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตดีที่สุด นี้เป็นขั้น ๑ ตอน ๑ เรียกว่าขั้นที่ ๙ ของทั้งหมด หรือว่าขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓
ที่นี้ก็เลื่อนไปเป็นขั้นที่ ๑๐ ของทั้งหมด หรือขั้นที่ ๒ ของหมวดที่ (๓) เรียกว่า การกระทำจิตให้บันเทิง ให้จิตมีความปราโมทย์บันเทิง
หายใจเข้าอยู่ก็มีความปราโมทย์บันเทิง หายใจออกอยู่ก็ปราโมทย์บันเทิง นั่งหายใจเข้าออกอยู่ด้วยความปราโมทย์บันเทิง นี้ก็แปลว่าทำจิตให้ปราโมทย์ให้บันเทิง
ความปราโมทย์บันเทิงนี้ก็เป็นที่ต้องการอยู่แล้ว ทุกคนก็พอใจต้องการทั้งนั้น คำนี้จะเรียกว่าปีติก็ได้ คืออิ่มใจ ปราโมทย์ก็คือที่รู้จักกันว่าพอใจ บันเทิง พอใจอิ่มใจอะไรก็แล้วแต่จะเรียก รวม ๆ กันเหล่านี้ก็เรียกว่าบันเทิง ปราโมทย์ รื่นเริง ไม่หดหู่ ไม่เหี่ยวแห้ง
ทุกคนชอบจิตที่บันเทิง ไม่ชอบจิตที่หดหู่ เหี่ยวแห้ง แต่แล้วก็ไม่ค่อยจะได้ตามที่ต้องการ เพราะไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือจิต จิตถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งไปในทางหดหู่ เหี่ยวแห้ง จึงมามีการฝึกจิต ฝึกฝนจิตตามหลักเกณฑ์อันนี้ คือทำจิตให้ปราโมทย์หรือบันเทิง
ความบันเทิงแห่งจิตนี้มันก็มีค่าทั้งในทางโลกและทางธรรม แม้ในทางโลกทุกคนต้องการจะมีจิตปราโมทย์บันเทิง เป็นที่ต้องการกันอยู่โดยทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องสอน ไม่ต้องขอร้องอะไร
แต่ถ้าในทางธรรมนั้น มีความต้องการเฉพาะมุ่งหมาย เฉพาะคือว่าจิตที่ปราโมทย์บันเทิงนั้นที่จะเป็นปัจจัยแก่สมาธิที่สูงขึ้นไป จนถึงกับเป็นวิปัสสนาหรือเป็นปัญญา
การที่จะบรรลุญาณวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง มันต้องเป็นจิตที่ผ่านมาจากความปราโมทย์บันเทิงเป็นสุข แล้วมีความสงบรำงับ นี่คนทั่วไปไม่รู้
คนทั่วไปไม่รู้ว่าวิปัสสนาญาณทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม จะบรรลุจะปรากฏออกได้ ก็โดยการกระทำผ่านมาทางจิต ที่ต้องมีความปีติปราโมทย์บันเทิงเป็นต้นทุน เรียกว่าเป็นเดิมพันก็แล้วกัน
ถ้าจิตมีปราโมทย์บันเทิงและเป็นสุขชนิดนี้แล้ว ก็มีหวังที่จะเกิดสมาธิ เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง
ผู้ที่เป็นนักสังเกตจะมองเห็นได้ด้วยตนเอง หรือว่าไม่โง่เกินไปก็จะสังเกตได้ด้วยตนเองว่า เมื่อสบายใจเท่านั้นแหละ จะคิดอะไรก็ดี จะเขียนจดหมายฉบับหนึ่งก็ยังจะเขียนได้ดี
เมื่อจิตสบายใจเท่านั้นแหละ มันจะทำอะไรได้ดี จะฟื้นความจำ หรือจะตัดสินใจ หรืออะไรก็ตาม มันทำได้ดีต่อเมื่อจิตมันสบายดี คือสบายใจ นั่นแหละคือความบันเทิง หรือปีติ หรือปราโมทย์ที่ทางธรรมะก็ต้องการ ว่าต้องมีจิตอย่างนี้เสียก่อน แล้วก็จะเกิดสมาธิอัตโนมัติ เกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ
น่าสนใจอย่างยิ่งคือคำกล่าววิมุตตาตนสูตร ว่าคนที่จะบรรลุพระอรหันต์ได้นั้น มีได้ตั้งหลายอย่างหลายทาง
คือว่าฟังธรรมะที่ท่านผู้อื่นเขาแสดง มันถูกกับจิตถูกกับใจของตน ก็พอใจ เป็นสุข ปีติปราโมทย์บันเทิง เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ก็มี
หรือว่าตัวเองกำลังเป็นผู้แสดงเสียเอง แสดงให้คนอื่นฟัง มันถูกจุดเรื่องที่ถูกกับความจริงของตน รู้สึกของตน เกิดปีติปราโมทย์บันเทิงเป็นสมาธิ เห็นแจ้งธรรมทั้งปวงตามที่เป็นจริง แล้วก็หลุดพ้น อย่างนี้ก็มี
คือตนเป็นผู้แสดงเสียเอง หรือว่าเอาหัวข้อธรรมะมาท่อง มาสาธยายท่องบ่นอยู่ เผอิญมันถูกกับเรื่องของตน เกิดปีติปราโมทย์ เป็นสุข ยถาภูตญานทัศนะ เกิด ปัญญาเห็นแจ้ง บรรลุก็มี
หรือว่าเอามาใคร่ครวญอยู่ ใคร่ครวญอยู่ก็เกิดความรู้สึกปีติปราโมทย์ ถูกต้อง พอใจ หรือว่าเอามาปฏิบัติอยู่ตามหลักเกณฑ์ของวิธีปฏิบัติ แล้วมันก็เกิดปีติปราโมทย์บันเทิง เป็นสุขสงบแล้ว ก็เป็นยถาภูตญาณทัศนะ เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง
ข้อนี้แสดงว่า การที่จิตจะเกิดปัญญาลุกโพลงขึ้นมา เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงนั้น เป็นจิตที่เป็นสมาธิ มีความปีติปราโมทย์ บันเทิงรื่นเริง เป็นเดิมพันทั้งนั้นแหละ
ถ้ามันมีจิตหดหู่ จิตกระวนกระวาย เร่าร้อนอะไรอยู่ มันทำไม่ได้ดอก มันทำให้เกิดสมาธิ เกิดความเห็น ตามเห็น ที่เป็นจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเดิมพันเป็นความบันเทิงปีติปราโมทย์
อย่างในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ มีสติ มีธัมมวิจยะ แล้วก็มีวิริยะ แล้วก็มีปีติ แล้วก็มีปัสสัทธิ แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็มีอุเบกขา
ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าปีติ พอใจ บันเทิง เป็นสุขเสียก่อน แล้วจึงมีปัทสัทธิ-ความที่จิตเข้ารูปเข้ารอย
ปัสสัทธิ-เข้ารูปเข้ารอย พร้อมที่จะเป็นจิตเดียวอารมณ์เดียว แล้วเกิดรู้แจ้งขึ้นมาด้วยจิตนั้น เป็นการบรรลุธรรม
นี่เรียกว่าทางธรรมะ หรือเป็นเทคนิคของธรรมะในทางจิตชั้นสูง มันก็เป็นอย่างนี้
แต่ที่คนชาวบ้านธรรมดาจะรู้จักได้ก็ทั่ว ๆ ไป ก็รู้ได้ง่าย ๆ ที่สุดว่า เมื่อสบายใจดีทำอะไรได้ดี เมื่อสบายใจดี ทำอะไรได้ดี จะกินอาหารก็อร่อย จะนอนก็หลับดี เมื่อสบายใจดีปีติปราโมทย์ จึงเป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่าความบันเทิงแห่งจิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องการ เป็นสิ่งที่ต้องการทั้งทางโลกทั้งทางธรรม
เดี๋ยวนี้เกิดต้องการปีติปราโมทย์ขึ้นมา ถ้าเคยปฏิบัติอานาปานสติมาแล้วตามลำดับ คือหมวดเวทนานุปัสสนา มันก็ง่ายนิดเดียว
เพราะว่าในหมวดเวทนานุปัสสนานั้น ทำจิตให้ปีติ ทำจิตให้เป็นสุข
สุขปฏิสังเวที ปีติปฏิสังเวที เป็นบทเรียนที่ต้องฝึกต้องหัดอยู่แล้วในหมวดที่ (๒) คือหมวดเวทนา
ครั้นมาถึงหมวดที่ (๓) นี้ ต้องการอย่างนั้นขึ้นมาเมื่อไร ก็ย้อนกลับไปทำหมวดนั้น ปีติปฏิสังเวที สุขปฏิสังเวที หรือจะย้อนลงไปถึงหมวดกายา ฯ ก็ทำกายสังขารคือลมหายใจให้สงบระงับ ลมหายใจสงบระงับลงไปเท่าไร ก็เกิดความพอใจ เป็นปีติปราโมทย์ และเป็นสุขขึ้นมาเท่านั้น
นี่มันอาศัยปฏิบัติ ที่ปฏิบัติมาแล้วในหมวดที่ (๑) ก็ได้ หมวดที่ (๒) ก็ได้ มาถึงหมวดที่ (๓) นี้จะบังคับจิตให้ปราโมทย์บันเทิงได้ตามความพอใจ
เหมือนกับทำเล่น ทำสนุก อยากจะให้จิตบันเทิงรื่นเริงขึ้นมาเมื่อไรก็ทำได้เมื่อนั้น ขับไล่ความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความอะไรออกไปเสียได้ พูดง่าย ๆ ก็อยากจะมีจิตบันเทิงเมื่อไรก็ทำได้เมื่อนั้น
ที่เป็นหลักทั่ว ๆ ไป ก็อยากขอร้องให้นึกถึงคำบรรยายระบบธรรมชีวี ธรรมชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือมีหลักการที่ว่า ทำอะไร หน้าที่ทั้งปวงไม่ว่าหน้าที่อะไร ด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญาสมาธิ จนมีความถูกต้อง-ถูกต้อง-ถูกต้อง
บอกตัวเองได้ว่าถูกต้อง เมื่อถูกต้องก็พอใจ-พอใจ-พอใจ
เมื่อพอใจก็เป็นสุข เป็นสุข มีปีติปราโมทย์บันเทิง
ถ้าเป็นคนฝึกอย่างนี้อยู่แล้วเป็นประจำในชีวิตประจำวัน
เป็นธรรมชีวีอยู่แล้ว มันก็ง่ายดายที่สุด
ขอให้ทุกคนมีหลักปฏิบัติ ทำหน้าที่ทุกหน้าที่ ไม่ว่าหน้าที่อะไร
ด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญาสมาธิ
จนเกิดความถูกต้อง-ถูกต้อง-ถูกต้อง
มันก็รู้สึกว่าพอใจ-พอใจ เพราะความถูกต้อง
อิ่มอกอิ่มใจอยู่ด้วยความพอใจและความถูกต้องอยู่เสมอไป
พอมาคิดนึกอย่างยิ่งขึ้นมาทีไร
ก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ ซึ่งคนโง่ทำไม่เป็น ทำไม่ได้
มีความถูกต้อง พอใจ เป็นหลักการประจำอยู่ในทุก ๆ หน้าที่
ค่ำลงยกมือไหว้ตัวเองได้ว่า ทั้งวัน ๆ มันมีแต่ความถูกต้อง
หน้าที่ในการเลี้ยงชีวิต ทำไร่ ทำนา ทำสวน ค้าขาย ราชการ กรรมกร แม้แต่ขอทาน ขอให้ถูกต้อง-ถูกต้อง-ถูกต้อง พอใจ-พอใจ-พอใจ มันก็มีปีติปราโมทย์บันเทิง
หรือว่าหน้าที่บริหารประจำวัน บริหารชีวิตประจำวัน เช่นว่า ตื่นขึ้นมาจะล้างหน้า จะถูฟัน จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะอาบน้ำ จะรับประทานอาหาร จะล้างถ้วย ล้างจาน จะกวาดบ้าน จะถูบ้าน จะล้างส้วม ก็มีสติสัมปชัญญะ ทำด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง-ถูกต้อง พอใจ-พอใจอย่างนี้ก็ได้
มีลักษณะแห่งธรรมชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ ก็มีปีติปราโมทย์บันเทิงอยู่ได้ตลอดเวลา
แต่คนโง่ทำไม่ได้และไม่สนใจจะทำ แต่จะคิดว่าเป็นสิ่งที่บ้าบออะไรไปเสียก็ไม่รู้ ที่จะมานั่งระวังให้ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจว่า
ตื่นขึ้นมาล้างหน้าถูฟัน มีสติสัมปชัญญะทั้งหมดอยู่ที่การล้างหน้าการถูกฟันถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ
นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ควบคุมให้มีความถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ พอใจ เป็นสุขตลอดเวลาที่นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะ อย่างนี้คนโง่มันทำไม่ได้ จะทำได้แต่ผู้ที่รู้เรื่องนี้ มีปัญญารู้เรื่องนี้
รู้เรื่องทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ จึงทำได้ไปทุกอย่าง แม้จะล้างถ้วย ล้างชาม จะกวาดบ้าน จะถูเรือน มีสมาธิอยู่ที่การกระทำนั้น เต็มไปด้วยความถูกต้องและพอใจ ๆ
2
แม้ว่าจะล้างถ้วย ล้างจาน จะกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างส้วม นี่มันเป็นสิ่งที่ทำได้โดยระบบธรรมชีวี เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือความถูกต้อง
หรือว่าเราจะนึกถึงจริยธรรมสากลว่ายกย่อง ต้องการ สิ่งที่เรียกว่าความเคารพตัวเอง เคารพตัวเอง self respect
self respect จริยธรรมสากลต้องการนักหนา ให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วยการรู้สึกเคารพตัวเองได้ นี่เป็นหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา จงพอใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ อยู่อย่างนี้มันก็ถูกต้องมันก็ประเสริฐ
ถ้ามันเกลียดน้ำหน้าตัวเองเมื่อไร มันก็เป็นสัตว์นรกเมื่อนั้น มันตกนรกหมกไหม้เมื่อนั้นแหละ เมื่อมันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง ว่ามันไม่มีอะไรถูกต้อง มันมีแต่ความผิดพลาด ในเวลานั้นมันไม่มีความเคารพตัวเอง
ถ้าใครจะถือหลักจริยธรรมสากล ทำตนให้เป็นที่เคารพตัวเองได้อยู่เสมอ มันก็มีความหมายนี้ มีปีติปราโมทย์เป็นเดิมพัน หล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ทำจิตให้บันเทิงอยู่ได้เหมือนกัน
จะเห็นได้แล้วว่า มันเกี่ยวเนื่องหรือความหมายที่เกี่ยวเนื่องถึงกันหมด ไม่ว่าทางคดีโลกหรือทางคดีธรรม จิตนี้ต้องการพื้นฐาน คือความปีติปราโมทย์พอใจตัวเอง
พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง พอใจตัวเองอยู่เป็นพื้นฐาน
นั่นแหละคือพื้นฐานของความสงบสุข
และเป็นพื้นฐานของการที่จิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามทางของวิปัสสนา
หรือปัญญาที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน
แม้จะหยุดเพียงเท่าที่ว่า อยู่ที่นี่มีความสุขบันเทิงอย่างนี้ มันก็เป็นกำไรเหลือล้นแล้ว ถ้ามันช่วยให้ก้าวหน้าขึ้นไป จนถึงบรรลุมรรค ผล นิพพาน มันก็ยิ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากหรือสูงสุด
ฉะนั้นขอให้เราสนใจเถอะว่า ความพอใจจนเคารพตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ ชื่นใจตัวเองจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นแหละเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ธรรมะและในแง่ชาวโลกชาวบ้านทั่วไป
หรือว่าเป็นจริยธรรมสากลทั่วไป ทั่วโลกเขาก็ต้องการกันอย่างนี้ ว่ามีความเคารพตัวเอง เป็นหลักธรรมที่ตรงกันหมด ไม่ว่าศาสนาไหน ขอให้สนใจเถิด
จะพูดได้อีกทางหนึ่งว่า เรามีนิพพานน้อย ๆ นิพพานตัวอย่างยังไม่สมบูรณ์หรอก นิพพานน้อย ๆ นิพพานตัวอย่างอยู่ตลอดเวลาที่เรามีความปราโมทย์บันเทิงอย่างถูกต้อง คือปราโมทย์บันเทิงตามหลักของธรรมะ
ปราโมทย์บันเทิงทางกามารมณ์นั้น
มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอีกแบบหนึ่ง
ไม่ใช่เป็นความปราโมทย์บันเทิงที่บริสุทธิ์หรือที่ถูกต้อง
มันเป็นเรื่องของกิเลส มันซ่อนแฝงไว้ด้วยอันตราย
มันจึงเป็นปราโมทย์บันเทิงหลอก ๆ
สำหรับคนโง่
ถ้ามีสติปัญญาเพียงพอ ก็จะไม่หลงปราโมทย์บันเทิงในลักษณะนั้น แต่มาปราโมทย์บันเทิงในทางธรรมะ มีธรรมะ คือความถูกต้องเป็นพื้นฐาน
คำว่า ถูกต้อง ถูกต้องนี้ อย่าให้มันเป็นปัญหานักเลย อย่าไปเรียนวิธี logic , philosophy อะไรให้มันยุ่งเลย
เอาตามหลักพระพุทธศาสนาว่า ถ้าทำความเย็นอกเย็นใจให้ ไม่เบียดเบียนผู้ใด มีแต่ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นความถูกต้อง ๆ ถูกต้องคืออย่างนี้ ไม่ต้องพิสูจน์ด้วยเหตุผลทาง logic ทาง philosophy ซึ่งเรียนกันเกือบตาย ก็ไม่รู้ว่าจะเอายุติกันอย่างไร
นี่เป็นการทำจิตให้บันเทิง ทำจิตให้บันเทิง
บันเทิงอยู่เป็นข้อปฏิบัติขั้นที่ ๑๐ ของทั้งหมด
หรือว่าเป็นขั้นที่ ๒ ของหมวดที่ (๓) …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๖
๑๖ เมษายน ๒๕๓๑
1 บันทึก
15
8
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คู่มือปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
1
15
8
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย