30 ม.ค. 2022 เวลา 00:42 • ไลฟ์สไตล์
“EP.6 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 1/3”
“… ศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจ
การบรรยายเรื่องจิตนี้ เรียกว่าเป็นการบรรยายเรื่องทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะว่าถ้าไม่มีจิตเพียงอย่างเดียว แล้วก็จะมีอะไร ถ้าว่าคนเราไม่มีจิตเพียงอย่างเดียว มันก็เท่ากับไม่ได้เกิดมา หรือมีอยู่ก็ไม่รู้สึกอะไร โลกนี้ก็เท่ากับว่าไม่มี
ไม่มีอะไรถ้ามันไม่มีจิต เพราะจิตมันรู้จักนั่นนี่ได้ทุกอย่าง
ทุกอย่างมันจึงมี คือเหมือนกับมันมี
ถ้าจิตไม่มี มันก็เหมือนกับไม่มี
ฉะนั้นจงสังเกตดูให้ดีว่าเรื่องจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมากถึงขนาดนี้
ถ้าไม่มีจิตเพียงอย่างเดียว เรื่องทั้งหลายก็ไม่มี
เราจึงต้องศึกษากันในลักษณะที่ว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือมันมีขอบเขตกว้างขวาง สูงต่ำ ลึกซึ้ง รอบด้านทีเดียว ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก็เพราะว่าไม่รู้เรื่องที่เกี่ยวกับมัน ก็ทำไปผิดจากที่ควรจะกระทำ มันก็เป็นการล้มเหลว
เรื่องจิตนี้จะเป็นเรื่องทั่วไปก็ได้ เป็นเรื่องหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็ได้
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจะเป็นเรื่องจิตไปเสียทั้งนั้น
เป็นการศึกษาเรื่องจิต เป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับจิต ควบคุมจิต บังคับจิต อบรมจิต จนเป็นจิตชนิดที่สูงสุด อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งทั้งปวง เหนืออิทธิพลของความดี ความชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ เหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ แล้วจะมีอะไรเหลือที่เป็นปัญหา มันไม่มี เพราะเหตุนี้
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องธรรมะในศาสนา มันก็เป็นเรื่องที่คนทุกคนจะต้องรู้ คนธรรมดาสามัญก็ต้องรู้ ในฐานะที่จะต้องประกอบกิจการต่าง ๆ ได้ดี คือถ้าจิตดี มันก็จำได้ดี คิดได้ดี ระลึกได้ดี ตัดสินใจได้ดี
อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับจิต มันก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับจิต ความเจริญของมันก็เกี่ยวกับจิต สัตว์เดรัจฉานที่ฝึกดีแล้วนั้น มันก็มีจิตดีกว่าสัตว์เดรัจฉานที่ไม่ได้ฝึก นี้เรียกว่าเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปก็มีเรื่องจิต
เรื่องทางศาสนาก็มีเรื่องจิต ขอให้เรารู้จักตัวจริงของมัน อย่ารู้จักแต่ชื่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร แล้วก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ เถียงกันยุ่งไปหมด ขอให้รู้จักตัวจริงของมัน มากกว่าที่จะรู้จักชื่อ
จิตนี้มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่เป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่าง มันเป็นธาตุฝ่ายนาม เด็ก ๆ หรือคนที่เรียนรู้แต่เรื่องธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็อาจจะเข้าใจว่าแม้จิตก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือเป็นพวกวิญญาณธาตุ แม้แต่ความว่างก็เป็นวิญญาณธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมันเป็นธาตุแห่งความว่าง
ฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจกันให้ดี ๆ สำหรับคำว่าธาตุ จิตมันก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่มันเป็นธาตุฝ่ายนาม คือไหวได้เร็ว รู้สึกได้เร็ว แต่มันก็ต้องอาศัยธาตุที่เป็นรูปหรือเป็นวัตถุ คือที่เป็นร่างกาย แล้วก็สามารถแสดงบทบาทของมันได้เต็มที่
ดังนั้นมันจึงไม่อาจจะอยู่ได้ตามลำพัง มันก็ต้องอาศัยร่างกาย จะเรียกว่าเป็นเหมือนกับที่ทำงานก็ได้ ที่พักอาศัยก็ได้ ที่แสดงบทบาทอะไรก็ได้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งแล้วก็อาศัยอยู่กับธาตุอีกชนิดหนึ่ง รวมกันเป็น ๒ ธาตุ และเรียกกันว่า นามรูป
นามรูป คนที่ไม่รู้เรื่องก็คิดว่าเป็น 2 สิ่ง ฟังชื่อแล้วมันก็จะเป็น 2 สิ่ง คือเป็นนามอย่างหนึ่ง เป็นรูปอย่างหนึ่ง นั้นมันโดยนิตินัย คือสำหรับพูดจา
แต่ถ้าสำหรับพฤตินัยแล้ว มันแยกกันไม่ได้ สำหรับรูปกับนาม มีแต่รูปไม่มีนาม มันทำอะไรไม่ได้ มีแต่นามไม่มีรูป มันก็ทำอะไรไม่ได้ ต่อเมื่อมันรวมกันเป็นนามรูป เป็นนามรูป มันจึงทำอะไรได้
ภาษาบาลีนั้นดูเห็นได้ง่ายฟังได้ง่าย เพราะว่ามันเป็นรูปศัพท์ที่เป็นเอกพจน์ เรียกว่า นามรูปัง นามรูปํ แต่มันเป็นสิ่งเดียว มันไม่ใช่ ๒ สิ่ง
นามรูปํ นี้ขอให้เข้าใจว่า มันเป็นสิ่งเดียว คือกายกับใจ กายกับใจเป็นสิ่งเดียว ไม่ใช่ 2 สิ่ง ถ้าแยกออกจากกันมันทำอะไรไม่ได้ ต่อเมื่อรวมกันมันจึงทำอะไรได้ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งเดียว นับเป็นสิ่งเดียว เป็นเอกวจนะ
แต่แล้วมันก็มีอยู่ที่ว่า จิตนั้นเป็นส่วนสำคัญ เป็นส่วนดลบันดาลให้ส่วนรูปหรือส่วนร่างกายนั้นเป็นไป เคลื่อนไหว เป็นไป หรือกระทำก็แล้วแต่
ส่วนที่เป็นรูปก็จัดไว้เป็นส่วนหนึ่ง โดยหลักทั่วไปก็เรียกว่า รูปขันธ์ เป็นส่วนร่างกาย แต่อย่าลืมว่ามันอยู่แต่ร่างกายไม่ได้ โดยพฤตินัยมันอยู่แต่ร่างกายไม่ได้ ถ้าเหลือแต่ร่างกายมันก็เป็นซากศพ ถ้ามันยังเป็น ๆ อยู่อย่างนี้ มันรวมกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า จิต
สิ่งที่เรียกว่า จิต นั้นมันเป็นธาตุตามธรรมชาติ
ถ้ามันทำหน้าที่คิด นึก ก็เรียกมันว่าจิต
ถ้ามันทำหน้าที่รู้สึก เช่น รู้สึกสุขทุกข์ เป็นต้น
ก็เรียกมันว่ามโน มโน แปลว่า รู้หรือรู้สึก
ถ้ามันรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกมันว่า วิญญาณ
วิญญาณตามหลักศาสนาอื่น เขาหมายถึงตัวตน เจตภูติ วิญญาณสิงสถิตเข้าออก เข้า ๆ ออก ๆ จากร่างกายนี้ สำหรับไปเกิดใหม่ในชาติหน้า นั้นเป็นวิญญาณในความหมายนั้นของลัทธิอื่น
ในพุทธศาสนา คำว่าวิญญาณ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายความแต่ว่า เมื่อจิตทำหน้าที่รู้สึกอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
และสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนี้ มิได้เกิดอยู่เป็นประจำ
เกิดต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ
เช่น รูปมากระทบตา ก็เกิด จักขุวิญญาณ
เสียงมากระทบหู ก็เกิด โสตวิญญาณ
กลิ่นมากระทบจมูก ก็เรียกว่า ฆานะวิญญาณ
รสมากระทบลิ้น ก็เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
สัมผัสมากระทบผิวหนัง ก็เรียกว่า กายวิญญาณ
ความรู้สึกนึกคิดมากระทบจิต ก็เรียกว่า มโนวิญญาณ
ก่อนหน้านั้นมันไม่มี มันมีต่อเมื่อ
มีการกระทบระหว่างของ 2 ฝ่าย
คือฝ่ายข้างในและฝ่ายข้างนอก
ฝ่ายข้างในก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ฝ่ายข้างนอกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
มากระทบถึงกันเข้าเมื่อไร ก็เรียกว่าวิญญาณตามชื่อนั้น ๆ
นี้วิญญาณในพุทธศาสนา
ถ้าเป็นวิญญาณ ภูต ผี ปีศาจเข้า ๆ ออก ๆ จากร่างกายนี้มันวิญญาณในศาสนาอื่น ซึ่งในพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามี
ขอให้จำให้ดีว่า
ถ้าจิตทำหน้าที่คิดนึก ก็เรียกมันว่า จิต
ถ้าจิตทำหน้าที่รู้สึก ก็เรียกมันว่า มโน
ถ้าจิตมันทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะ ก็เรียกมันว่า วิญญาณ
จำคำว่า จิต คำว่า มโน คำว่า วิญญาณ ไว้ในลักษณะที่ต่างกันอย่างนี้
ที่นี้มันก็ยังมีส่วนที่แยกออกไปโดยละเอียดจากนั้น
ถ้าจิตมันไปทำหน้าที่สำหรับรู้สึกอารมณ์ ค่าของอารมณ์
เช่น สุขและทุกข์ เป็นต้น ก็เรียกว่า เวทนา
ถ้าทำหน้าที่จำได้หมายมั่นอะไร ก็เรียกว่า สัญญา
ถ้ามันทำหน้าที่คิดนึกปรุงแต่งอะไรได้ ก็เรียกว่า สังขาร
ถ้ามันทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางอายตนะ ก็เรียกว่าวิญญาณ อีกเหมือนกัน
แต่เขายักไปเรียกเสียว่า เจตสิก คือสิ่งที่ประกอบกับจิต ก็ได้เหมือนกัน แต่ที่แท้มันเป็นธาตุจิต เป็นจิตธาตุ เจตสิกไม่ใช่ธาตุ มันเป็นจิตธาตุที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน
เมื่อรู้สึกอารมณ์ ค่าของอารมณ์ ก็เรียกว่าเวทนา
เช่น รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
เมื่อทำหน้าที่จำ แล้วก็หมายมั่นเอาว่าเป็นอะไร
หมายมั่นว่าเป็นอะไร ก็เรียกว่าสัญญา
คิดนึกปรุงแต่งได้ ก็เรียกว่าสังขาร
รู้แจ้งทางอารมณ์ได้ ก็เรียกว่าวิญญาณ
นี้เป็นหน้าที่หรือการงานหรือการกระทำของสิ่งที่เรียกว่า จิต
ทีนี้ก็มาดูกันถึงสิ่งที่เรียกว่าจิต
ซึ่งเป็นคำรวมทั่ว ๆ ไปที่เราใช้กันอยู่เป็นปกติ ว่ามันหมายความได้หลายอย่าง หลายอาการ หลายหน้าที่การงานอย่างนี้ แต่ทุกอย่างมันก็เกี่ยวกับเรื่องของคน เรื่องของคนเราในชีวิตประจำวัน
ถ้าว่าประพฤติกระทำกับมันอย่างถูกต้อง ก็ได้รับผลเป็นที่พอใจ ถ้าทำไม่ถูกต้องก็ได้รับผลร้าย กลายเป็นโทษ หรือเป็นโรคขึ้นมา เป็นโรคทางจิตขึ้นมา มันแล้วแต่ว่าไปกระทำกับมันอย่างไร หรือใช้มันอย่างไร ผิดถูกอย่างไร
นึกดูแล้วก็น่าเห็นใจที่ว่ามันต้องช่วยตัวเอง หลักที่ว่าต้องช่วยตัวเอง หรือเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองนี้ มันมีความสำคัญอย่างนี้ จิตมันจะต้องรู้จักตัวเอง แล้วก็รู้จักแก้ไขปรับปรุงตัวเอง
นับตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องมารดา มันก็ค่อย ๆ รู้อะไรมากขึ้น แล้วมันก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปโดยความรู้สึกกลัว รู้สึกเข็ดหลาบ รู้สึกหวังที่จะให้ปลอดภัย เป็นต้น มันก็เปลี่ยนแปลงของมันได้ตามลำดับ
แม้ว่าจะได้รับการสั่งสอนแนะนำจากภายนอก มันไม่สำเร็จประโยชน์หรอก ถ้ามันไม่ยอมรับเป็นเรื่องของจิตเอง ปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร
เช่น ที่เราได้ยินได้ฟังได้รับคำสั่งสอน ตั้งแต่เกิดมาก็ได้รับคำสั่งสอน มันก็ต้องเข้าไปข้างในเป็นเรื่องของจิต แล้วก็จิตรับเอาไปเป็นเรื่องของตนโดยเฉพาะ คิดนึกใคร่ครวญพิจารณาดู เห็นแจ้งอย่างไร ตามที่เป็นจริงอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะปฏิบัติให้ได้ตามนั้น เรียกว่ามันก็ช่วยตัวเอง คนนอกมันช่วยอะไรไม่ได้ อย่างนี้แหละ
เราจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต
ที่นี้เราไหนล่ะ เราไหนล่ะ เราไหนที่มันมี
มันก็คือสิ่งที่เรียกว่าจิตอีกนั่นแหละ
แต่เรามายักเรียกเสียว่า เรา
มันเลยเป็นคำพูดที่ประหลาด
มีตัวเรา ตัวตนของเราขึ้นมา
ในภาษาที่ใช้พูดจากัน จนทำให้งงไปหมด
สิ่งที่เรียกว่า เรา นั้น มันมิได้มี
มันเป็นลม ๆ แล้ง ๆ อะไรก็ไม่รู้
มันมีแต่สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นแหละ
ที่มันจะมีความรู้จากการที่ได้สัมผัส
แล้วก็รู้ต่อไปตามลำดับ
จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในร่างกายในภายในจิตเอง
แต่ภาษาพูดมันหลอกให้พูดเป็นว่าเรา
ว่าเราเป็นเจ้าของร่างกาย
ว่าเราเป็นเจ้าของจิต
เราเป็นเจ้าของทั้งกายทั้งจิต
เราบังคับกายและเราบังคับจิต
ถ้ามองเห็นความจริงแล้ว
มันเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุด ที่ว่าเราจะบังคับจิต
โดยที่แท้จริง มันต้องรู้สึกนึกคิด มันต้องรู้สึกเข็ดหลาบ มันต้องรู้สึกกลัว แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง มันก็ทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นอันตราย
ตัวเรานี้ มันเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ เรียกว่ามันพะยี่ห้อ มันเอาคำมาพูดมาใช้ ปะเข้าไปที่จิตหรือการกระทำของจิต
นี่ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา หรือสิ่งที่เรียกว่าจิตกันเสียให้ดี ๆ …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๖
๑๖ เมษายน ๒๕๓๑
โฆษณา