29 ม.ค. 2022 เวลา 09:24 • ไลฟ์สไตล์
“EP.05 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 2/2”
“… ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทีนี้เราจะมาถึงข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยตรงต่อไป ก็เป็นขั้นที่ ๕ ของอานาปานสติทั้งหมด หรือมันเป็นขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ (๒) คือ หมวดเวทนา ลำดับเรียกนี้เข้าใจไว้ก็ดี แล้วก็อย่าสับสนว่า ถ้าเรานับทีเดียวรวดเดียวทั้ง ๑๖ มันเป็นที่เท่าไร
ถ้าว่านับเฉพาะหมวด ๆ ของมัน มันเป็นธรรมข้อที่เท่าไร อย่างเวทนานี้ถ้าเป็นเรื่องทั้งหมดทั้ง ๑๖ ขั้น มันก็เป็นขั้นที่ ๕ ที่ ๖ แล้ว แล้วถ้าเป็นเรื่องของหมวดที่สอง คือ หมวดเวทนาเอง มันก็เป็นข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ ไปตามลำดับ
เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันถึงหมวดเวทนา
ซึ่งข้อแรกของหมวดนี้ ก็คือ ปีติ นั่นแหละ
ข้อถัดไป ก็คือ สุข
ข้อถัดไปก็คือข้อที่ ปีติและสุข นี้ เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต
ข้อที่ ๔ ของหมวดนี้ก็คือว่า ระงับอำนาจการปรุงแต่งจิตของเวทนาไว้ได้
ควบคุมไว้ได้ตามที่ควรจะเป็น คือไม่ให้ปรุงแต่งก็ได้
ให้ปรุงแต่งไปในทางนั้นทางนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้
รู้กันโดยทั่วไปเสียก่อนว่า หมวดนี้
หัวข้อที่ ๑ รู้เรื่องของปีติ ให้ครบถ้วน ว่าเป็นอย่างไร ๆ กี่อย่าง
ข้อที่ ๒ รู้จักความสุข ซึ่งเป็นอย่างไร ๆ อย่างครบถ้วน พร้อมกันนั้นก็จะรู้ว่า ปีตินั้นคือความสุขที่กำลังฟุ้งซ่าน ถ้ามันหยุดฟุ้งซ่าน ปีติก็กลายเป็นความสุข ถ้ายังไม่สงบรำงับ ยังฟุ้งซ่านก็เรียกว่า ปีติ
เพราะฉะนั้นปีติ จึงมีลักษณะหวั่นไหวโยกโคลง ถ้าเราระงับลง หยุดสงบระงับลง ก็กลายเป็นความสุข เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เนื่องกัน หรือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วแต่ขั้นตอน
ปีติและความสุข มันทำให้เกิดความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกรรม กรรมดี กรรมชั่ว ทีนี้ต้องกำจัดต้องควบคุม จึงหาวิธีกำจัดหรือควบคุมโดยการปฏิบัติขั้นที่ ๔
ขั้นที่ ๑ รู้จักปีติให้ครบถ้วน
ขั้นที่ ๒ รู้จักความสุขให้ครบถ้วน
ข้นที่ ๓ รู้จักว่าทั้งสองอย่างนี้มันปรุงแต่งจิต
ขั้นที่ ๔ ก็หาวิธีควบคุมอำนาจการปรุงแต่งจิตของสิ่งทั้งสองนี้ให้อยู่ในอำนาจของเรา มันเนื่องกันทั้ง ๔ ขั้นนี้ อย่างนี้ เรียกว่า หมวดนี้ หมวดเวทนา
ทีนี้ก็มาดู ขั้นที่ ๑ ของหมวดนี้ คือ ปีติ ปฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ
หลักสำคัญของการปฏิบัติที่จะกำหนดในการกำหนดด้วย จิตนี้ต้องเอาของจริงเข้ามา ไม่ใช่เอาความรู้ที่จำได้ หรือว่าตัวหนังสือหนังหาที่อยู่ในหนังสือ หรือเสียงที่อื่น มันใช้ไม่ได้
มันต้องเอาปีติตัวจริงที่กำลังรู้สึกอยู่ในใจ รู้สึกอยู่ในใจมา รู้สึกอยู่ รู้สึกอยู่ รู้สึกปีติเหล่านั้นแหละอยู่ โดยเหตุที่ว่าเราจะต้องมีอยู่รู้สึกจริง ๆ อยู่ในจิต เพื่อใช้เป็นอารมณ์ของการกำหนดด้วยจิต ซึ่งต้องทำให้เกิดปีติขึ้นมา
ถ้าปฏิบัติมาแล้วแต่หมวดที่หนึ่ง ก็ได้ปีติมาจากการปฏิบัติขั้นสุดท้ายของหมวดที่หนึ่ง ถ้าไม่มีมันก็ต้องทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาให้ได้ คือเคยปีติในอะไร ปีติจะเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็ใช้ได้เหมือนกัน
เพื่อจะศึกษาตัวปีติว่ามีลักษณะอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีความรู้สึกแก่จิตใจอย่างไร เป็นอันว่าต้องเอาตัวปีติจริง ๆ มากำหนดอยู่ในใจ
วิปัสสนาแบบเก่า ๆ ที่เคยได้ฟังมา หรือได้เห็นมารุ่นเก่า ๆ โน้น เขาให้ความสำคัญแก่ปีตินี้มาก จนถึงกับเรียกว่า พระ พระปีติ พระปีติ แล้วก็ต้องอาราธนาเชื้อเชิญ ขอให้พระปีติมาปรากฏขึ้นในจิต แล้วจึงจะทำต่อไปได้
ถ้าพระปีติไม่มาปรากฏในจิต ก็เป็นเรื่องเดาทั้งนั้น มันเป็นเรื่องเดา ๆ ไปทั้งนั้น
ถ้าว่าปีติมาปรากฏขึ้นในจิต เป็นปีติอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็พอใจ พอใจอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงทีเดียว
ถ้าพระปีติอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฏ
จึงมีพระปีติชนิดเล็กน้อย เล็กน้อยก็เรียก ขุททกาปีติ
พระปีติชั่วคราว เรียกว่า ขณิกาปีติ
ปีติเป็นครั้ง ๆ หยุดเป็นตอน ๆ เรียกว่า โอกันติกะปีติ
ถ้าว่า อย่างโลดโผน รุนแรงโคลเคลง เรียกว่า ปุพเพคปีติ
ถ้า ซาบซ่านไปหมด ทั้งเนื้อทั้งตัว เรียกว่า พรณาปีติ
นี่ตามแบบที่ยึดถือกันมาเป็นแบบนี้ แล้วเรียกว่าพระปีติ มี ๕ องค์
แล้วก็จะถามกันว่าองค์ไหนเกิดแล้ว องค์ไหนเกิดแล้ว นี่มันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องมี ตัวปีติจริง ๆ ปรากฏอยู่ในจิต ก็จะได้พิจารณาต่อไป แต่โดยเหตุการศึกษาไม่สมบูรณ์แบบเก่า ๆ ปรัมปรานี้ เอาเพียงว่า เกิดพระปีติก็พอแล้ว ก็พอใจแล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวงแล้ว
เดี๋ยวนี้เราก็ได้ ปีติมาเกิดอยู่ในใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะศึกษาพิจารณา
ถ้าปฏิบัติอย่างสมัยนี้ ก็คือทำความสำเร็จในหมวดที่หนึ่งขั้นที่สี่ ก็ได้ปีติขึ้นมาแล้ว มาสำหรับเป็นอารมณ์ของหมวดที่สอง
ขั้นที่หนึ่งนี้ มันก็ไม่ลำบาก แบบเก่าเขาตั้งพิธีอาราธนา อาราธนาขอพระปีติเจ้าจงมาอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นการอาราธนาพระปีติเพราะเข้าใจว่า มันเป็นสิ่งสูงสุด เป็นสิ่งคล้าย ๆ ว่าจะจบกันที่นั่นเท่านั้น เพราะมันไม่สมบูรณ์ มันไม่เป็นอานาปานสติที่สมบูรณ์
ทีนี้เมื่อจะปฏิบัติ ครั้นมีความรู้สึกว่า ปีติมาปรากฏรู้สึกอยู่ในใจแล้ว ในชั้นแรก จงปฏิบัติคือดื่ม ดื่ม ดื่มปีตินั้น ดื่มด่ำปีติ รู้สึกในปีติ
ดื่มด่ำในปีติ ให้เพียงพอเสียก่อน ชิมปีตินั้นให้เพียงพอเสียก่อนในชั้นแรก เพื่อว่ามันจะได้แน่นอน จะได้แน่นแฟ้น จะได้รู้จักกันจริง ๆ
ทำความรู้จักว่ามีลักษณะอย่างไร
มีอาการอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร
แล้วมันปรุงแต่งจิตอย่างไร
ลักษณะของปีติก็อย่างที่ว่ามาแล้วก็ได้ ถึงซาบซ่านถึงโคลงเคลง จนถึงว่าน้อย ๆ หรือเป็นพัก ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร
มีอาการซาบซ่านอย่างไร
ซาบซ่านอย่างไรแล้วมีอิทธิพลทำให้จิตหวั่นไหวอย่างไร
นี่อิทธิพลของปีติ แล้วมันปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งความคิดนึกอย่างไร
นี้เป็นตัวสำคัญที่จะต้องศึกษาจากปีติ
ทีนี้ก็ฝึกกำหนดให้ได้ ทำให้เกิดความรู้สึกปีติก็ได้ ทำให้ความรู้สึกปีติระงับหายไปก็ได้ บังคับการเกิดการดับของปีติได้ตามต้องการ จนกระทั่งว่าให้มันระงับ ระงับ ๆ ลงไปได้ ตามที่เราต้องการ
ถ้าปีติมันจะระงับลงมันก็กลายเป็นความสุข ปีติก็คือความสุขที่ยังไม่เป็นความสุข เป็นความสุขที่ยังฟุ้งซ่านอยู่จึงเรียกว่า ปีติ มันมาสายเดียวกัน
ปีติมาจากความพอใจที่ประสบความสำเร็จในการกระทำที่เป็นชิ้นเป็นอัน ประสบความสำเร็จในสิ่งใดก็จะเกิดปีติในสิ่งนั้น
ฉะนั้นจึงรู้จักว่าปีติมันมีเท่านี้
มันมีอำนาจเพียงเท่านี้
มีขอบเขตเพียงเท่านี้
ธรรมชาติมันจัดให้มีเอง
ถ้าพอใจก็ต้องมีปีติ ถ้าประสบความสำเร็จก็พอใจ นี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เราสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นมาได้ ด้วยการทำให้สำเร็จในสิ่งที่เราต้องการจะทำ พอได้ประสบตามที่เราต้องการมันก็เกิดปีติ นี้เป็นแน่นอน
ไม่ใช่ว่าจะหยิบมาปั้นมาสร้างขึ้นโดยพละการ มันต้องทำเหตุปัจจัยของมันให้เกิดขึ้น คือให้เกิดความพอใจ มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าปีติ จนกระทั่งรู้จักดีว่าปีตินี้ ก็ทำให้เกิดความคิดอย่างฟุ้งซ่าน แล้วก็ทำให้เกิดความสุขเมื่อระงับลง แล้วก็ปรุงแต่งความคิดต่อไป
พูดง่าย ๆ ก็ว่า เวทนานุปัสสาข้อที่หนึ่ง ก็คือ ศึกษาให้รู้ความสุขที่ยังหวั่นไหว ที่ยังหยาบ ๆ ความสุขที่ยังหยาบ ยังหวั่นไหว เรียกว่า ปีติ
ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มีอำนาจอิทธิพลอย่างไร
มันปรุงจิตอย่างไร
นี่เรียกว่าขั้นที่หนึ่งของหมวดที่สอง คือ เวทนา
ปีติกำลังเป็นอย่างไรชนิดไหน ก็กำหนดอย่างนั้น กำหนดอย่างนั้น จะใช้หนอก็หนอให้ถูกนะ ปีติหนอ ปีติหนอ ก็หนอให้ถูก ว่ามันไม่ใช่ตัวตนอะไร
มันเป็นเพียงความรู้สึกเกิดขึ้นตามธรรมชาติปรุงแต่ง ตามกฏอิทัปปัจจยตา เป็นต้น แล้วมันก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาเท่านั้นหนอ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้นหนอ
ถ้าว่าปีติหนอ ปีติหนอ จะยินดีเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา อย่างนี้มันผิด มันจะทำให้เกิดความผิดต่อไป มันสักแต่ว่าเป็นความรู้สึกพอใจตามธรรมชาติเท่านั้นหนอก็ได้ อย่างนี้หนอก็ได้
ถ้าชอบหนอ แต่มักจะพูดสั้น ๆ ว่า ปีติหนอ ปีติหนอ ถ้าฟังไม่เข้าใจ ไม่ดี มันก็กลายเป็นตัวตนไป ก็ผิดไป
ถ้าเป็นสักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัย มันมีขึ้น มันก็เกิดอย่างนี้เท่านั้น เท่านั้นหนอ แล้วก็ได้เหมือนกัน
ที่ว่า หนอ หนอ ได้ทุกขั้นตอนของปีติที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏอยู่ในใจ โดยหลักใหญ่ ๆ ก็รู้ลักษณะ รู้อาการของมัน รู้อิทธิพลของมัน รู้หน้าที่การงานของมัน คือ ปรุงแต่งจิต นี้ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่หนึ่งของเวทนานุปัสสนา
ทีนี้ขั้นที่สอง สุขปฏิสังเวที
มาถึงขั้นที่สอง จะเอาเปรียบกันสักหน่อยก็ได้ ว่าความสุข ๆ นี้ มันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ควรจะต้องการ ฉะนั้นเมื่อปีติพอใจระงับลงเป็นความสุขแล้ว ก็เอาความสุขนี้เป็นผล เป็นผลที่ปรารถนากันเสียสักพักหนึ่งก็ได้ เสวยสุข เสวยความสุขกันเสียสักพักหนึ่งก็ได้ แล้วจะเป็นโอกาสให้รู้จักสิ่งที่เรียกกันว่าความสุขนั้นอย่างถูกต้อง
ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราต้องการความสุขโดยรีบด่วน ก็ทำอย่างนี้ ทำตามวิธีนี้ ให้เกิดปีติให้เกิดสุข แล้วก็เสวยความสุขอันนี้ได้ตามต้องการเมื่อไรก็ได้ เป็นในชีวิตประจำวันก็ยังได้ แต่นี้เป็นการเอาเปรียบเอาความสุข ไม่ใช่ปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป
ถ้าเป็นการปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป ก็รู้ว่า โอ ! มีลักษณะอย่างไร
มีอาการอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีหน้าที่การงานอย่างไร
เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้นมาอีกหลักจากปีติ คือมันจะชัดเจนยิ่งกว่าปีติ มันครอบงำจิต แล้วมันก็ชักจูงจิตให้เป็นไปตามอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าความสุข
จึงจำเป็นที่จะต้องมีตัวความสุขที่แท้จริง รู้สึกเป็นสุขแท้จริงอยู่ในจิตใจอย่างเดียวกับปีติอีก ถ้าเป็นสุขโดยคาดคะเนเป็นสุขในความจำ นี้ใช้ไม่ได้
จะต้องทำจนมันเกิดความรู้สึกสุขอย่างนั้นขึ้นมาในจิตใจจริง ๆ จึงจะใช้ได้
ทีนี้ก็มีว่า ความสุข ๆ นี้ มันมีอำนาจที่เรียกว่า อัสสาทะ คือ เสน่ห์ ที่เรียกในภาษาไทยเราว่าเสน่ห์ ๆ ครบงำจิตใจได้มาก เพราะมันเป็นสุขนี่ ทีนี้ก็เกิดความพอใจในความสุขเสีย จะปฏิบัติต่อไปไม่ได้ จะปฏิบัติให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่อไปไม่ได้
เพราะมันพอใจในความสุขเสีย ถ้ามันมีลักษณะอย่างนี้ ความสุขนั้นมันก็กลายเป็นข้าศึกของวิปัสสนา วิปัสสนาที่จะทำต่อไป ๆ ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นถูกทำลายเสีย ถูกสะกัดกั้นเสียด้วยความสุข ด้วยสิ่งที่เรียกว่าความสุข
ถ้าอย่างนี้แล้วความสุขนั้นกลายเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” เป็นเครื่องทำความเศร้าหมองแก่วิปัสสนา ทำให้ทำวิปัสสนาต่อไปไม่ได้ เพราะมามัวแต่จะสุข จะเป็นสุข จะดูดดื่มแต่ความสุข จิตมันก็ไม่น้อมไปเพื่อวิปัสสนา เพราะความสุขมันมีเสน่ห์อย่างนี้ จึงต้องรู้ไว้ ‘อย่าไปหลงในความสุขจนกลายเป็นข้าศึกของวิปัสสนา’
ที่นี้ก็ถือโอกาสในตัวมันนั่นแหละ ว่ามันมีเสน่ห์ถึงขนาดนี้ ก็จะรู้สึกให้ดี รู้สึกให้ดี
อย่าให้มันหลงได้ เห็นความที่ความสุขมีเสน่ห์มากมายอย่างนี้ แล้วรู้จักมันให้ดี รู้จักมันให้ดี
อย่าให้ไปหลง อย่าให้ไปหลงความสุขนั้นได้ ก็คือไม่ให้เกิดข้าศึกของวิปัสสนาขึ้นมานั่นเอง
อย่าให้เกิดอุปสรรคหรือความเศร้าหมองแก่วิปัสสนา เพราะว่าไปหลงในความสุข
เรื่องของความสุขมันก็มีอยู่อย่างนี้ รู้จักว่ามันสืบต่อมาจากปีติ ครั้นมาเป็นความสุข แล้วก็สบาย มันก็เป็นความสุข แล้วเราก็มักจะหลง จะหลงจนเป็นที่ตั้งของความตัน ของความติดตันไม่ก้าวหน้าต่อไป ขอให้เข้าใจได้อย่างนี้
สรุปความว่าทั้งหมดนี้หมดทั้งเรื่องนี้ ก็รู้เรื่องความสุขเป็นอย่างดี เป็นอย่างดีรู้สึกเรื่องความสุขเป็นอย่างดี จนสามารถควบคุมได้ ไม่ให้เกิดเป็นอันตรายลำบากยุ่งยากขึ้นมา เพราะความรู้สึกที่เรียกว่า ความสุข
ถ้าจะเรียกว่าปีติเป็นข้าศึกก็ได้เหมือนกัน ถ้าว่ามีปีติขึ้นมาแล้วมันก็ฟุ้งซ่าน วิปัสสนาก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเกิดความสุขขึ้นมามันก็เป็นข้าศึกให้หยุด ให้พอใจอยู่ที่นี่ ไม่อยากจะไปต่อไป นี้ก็ได้เหมือนกัน
แต่ถ้าว่าเป็นผู้รอบรู้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งดีทั้งปีติและความสุขแล้ว มันก็รอดตัว มันก็เป็นไปได้
นี่การปฏิบัติในขั้นที่ ๒ ของหมวดเวทนา ก็คือเรื่องของต้องรู้จักความสุข รู้จักข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างบ้านเราเรียกว่า รู้จักกำพืดของมันและอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว มันก็สามารถที่จะปฏิบัติให้ลุล่วงไปได้
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้ เรียกว่า จิตตสังขาร ปฏิสังเวที
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งเครื่องปรุงแต่งจิต
เครื่องปรุงแต่งจิต เรียกเป็นบาลีว่า จิตตสังขาร ก็คือรู้จักความที่ปีติและความสุขปรุงแต่งจิตอย่างไร
ตอนนี้กำหนดเป็นแต่เพียงว่า
ปีติปรุงแต่งจิตอย่างไร สุขปรุงแต่งจิตอย่างไร
รู้สึกต่ออาการที่ปีติและความสุขปรุงแต่งจิต
แล้วกำหนดอันนั้นอยู่ในใจทุกลมหายใจเข้าออก
ทุกลมหายใจเข้าออก ประจักษ์ชัดอยู่ในอาการที่เรียกว่า
ปีติปรุงแต่งอยู่อย่างไร
ความสุขปรุงแต่งอยู่อย่างไร
ไม่สนใจอย่างอื่น
สนใจแต่อาการที่ปีติปรุงแต่งจิต ที่สุขปรุงแต่งจิต
กำหนดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
นี้เป็นหัวใจแห่งการปฏิบัติในขั้นที่ ๓
มันปรุงแต่งจิตให้เกิดความคิด แล้วแต่ว่าปีติและสุขนั้นมันมีเหตุมีปัจจัยมาอย่างไร มีทิศทางมาอย่างไร
ถ้ามันไม่มีสติปัญญา มันก็ปรุงไปทางหนึ่ง
ถ้ามีสติปัญญามันก็ปรุงไปอีกทางหนึ่ง
ก็ดูว่าสติปัญญามาควบคุมปีติและสุขอย่างไรหรือไม่
หรือมันควบคุมในด้านไหน
หรือมันผิดพลาด เผลอไปในส่วนไหน
มันปรุงแต่งไปในส่วนไหน
รู้จักกันให้ดีในส่วนนี้จนกระทั่งเห็นว่า
โลกทั้งโลกมันเป็นไปตามอำนาจของการปรุงแต่งของปีติและสุข
พูดแล้วมันกว้างขวางว่า โลกทั้งโลก มนุษย์ทั้งหมดในโลกนี้ มันเป็นไปตามอำนาจปรุงแต่งของปีติและสุข คือเวทนานั่นเอง
ฟังดูก็ไม่น่าเชื่อ แล้วก็อาจแปลกเกินไปว่าโลกทั้งโลกนี้ มันเป็นไปตามอำนาจการปรุงแต่งของปีติและสุขของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคน ๆ มันก็ปรุงแต่งให้เกิดการกระทำที่เรียกว่ากรรม
กรรมอย่างนั้น กรรมอย่างนี้
กรรมดี กรรมชั่ว กรรมไม่ดี กรรมไม่ชั่ว
ปรุงแต่งให้เกิดกรรมดี มันก็ดีไป
ให้เกิดชั่วมันก็เกิดไป
แต่ถ้ามันเบื่อดีเบื่อชั่ว มันก็เร่ไปหาเหนือดีเหนือชั่ว
นี้จะรอดตัว เห็นว่าปรุงแต่งทางดีมันก็ยุ่งไปแบบหนึ่ง
ปรุงแต่งทางชั่วมันก็ยุ่งไปอีกแบบหนึ่ง
ถ้าไม่ปรุงแต่ง นั่นแหละวิเศษที่สุด
มันก็คอยจ้องค้นหาวิธีที่จะไม่ให้มีการปรุงแต่งจิต
ความคิดมันระงับได้ เพราะเราระงับปีติและสุข ได้โดยวิธีต่างๆกัน ต้องเรียกว่าเป็นกลวิธีก็ได้ต่างๆ กัน ตามแบบของการปฏิบัติวิปัสสนา มันลึกซึ้ง มันแยบคาย จนอาจจะใช้คำว่ากลวิธีได้ แต่เป็นกลวิธีที่สุจริตไม่ใช่ทุจริต มีวิธีต่างๆ นานาที่จะบังคับปีติและสุข
พิจารณาโดยเฉพาะว่า เสน่ห์ของปีติและสุขที่มันครอบงำใจ ที่มันยั่วยวนชวนให้หลง นี่เรียกว่า อัสสาทะ เสน่ห์ของปีติและสุข นี่เห็นส่วนที่มันสนุกหรือเป็นเสน่ห์ และพร้อมกันนั้นก็เห็นส่วนที่มันหลอกลวงเป็นโทษเป็นทุกข์ เรียกว่า อาทีนวะ มันก็มีอาทีนวะเพราะความมีเสน่ห์หลอกลวงนั่นแหละ
ส่วนที่มันหลอกลวงให้ชอบนี้ เป็นอัสสาทะ
ส่วนที่มันหลอกลวงให้โง่ให้หลงให้ผิดนี้ เป็นอาทีนวะ
พิจารณาเห็นทั้งอาทีนวะและทั้งอัสสาทะ นี้ก็เรียกว่า รู้จักใจความสำคัญของปีติและสุขซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการพิจารณาเห็นอนิจจลักษณะ
ปีติก็มีอนิจจลักษณะ คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง
สุขก็มีอนิจจลักษณะ คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง
แล้วการปรุงแต่งจิตมันก็ไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเห็นความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงของปีติและสุข แล้วมันก็จะไม่หลงในปีติและสุข แล้วมันจะลดกำลังปรุงแต่งของปีติและสุขได้ ตามสมควร
แต่ว่าในขั้นนี้ในขั้นที่ ๓ ของหมวดเวทนานี้ ยังไม่มาก ยังไม่ถึงที่สุด มันมากไปถึงที่สุดเอาในหมวด ๔ หมวดธรรมะ เห็นอนิจจานุปัสสี ในหมวดที่ ๔ นั้น จะเห็นอย่างยิ่งเห็นอย่างเต็มที่ เดี๋ยวนี้เห็นแต่พอสมควรว่าเพื่อจะลดกำลังการปรุงแต่งของมันได้บ้างเท่านั้น
เห็นอนิจจลักษณะของปีติและสุขเท่าไร มันก็จะเบื่อหน่ายหรือเกลียดกลัวก็ได้ ในสิ่งที่เรียกว่าปีติและสุข จนมันลดอำนาจหรือมันหย่อนอำนาจในการที่จะปรุงแต่งนั้นเอง นี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติขั้นที่ ๓ ของหมวดนี้
ความเป็นวิปัสสนาที่เรียกว่า เห็นแจ้งขึ้นมา เป็นปัญญาขึ้นมา มันก็เริ่มที่ตรงนี้
ในหมวดที่ (๑) ก็เป็นเรื่องของสมาธิ ในหมวดที่ (๒) หมวดเวทนานี้ก็เริ่มเป็นวิปัสสนา เริ่มเป็นปัญญาขึ้นมาในการที่เห็นวิธีการที่จะลดกำลังของปีติและสุขนี้เอง
หรือว่าแม้ในหมวดที่ (๑) หมวดกาย ถ้าพิจารณากายโดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ลดอำนาจการปรุงแต่งของกายสังขาร มันก็พอจะสงเคราะห์เป็นปัญญาวิปัสสนาได้บ้าง ขั้นเด็กๆ ขั้นน้อยๆ แต่พอมาถึงขั้นปีติและสุข นี้เรียกว่าจะเต็มขั้นแล้ว เพราะมันรุนแรงมาก เพราะมันทำยากมาก
ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปตามอำนาจเหตุปัจจัยของสิ่งที่เรียกว่าปีติและสุข ปัญญาและวิปัสสนามันก็เริ่มต้น ในลักษณะที่พอตัว
ที่นี้จะใช้หนอ ก็หนอให้ถูกว่า ปรุงแต่งจิตหนอ ปรุงแต่งจิตหนอ ปรุงแต่งจิตหนอ
ปีติและสุขนี้มันปรุงแต่งจิตหนอ มันปรุงแต่งจิตหนอ
ปีติสุขนี้ก็มิใช่ตน จิตนี้เพราะปรุงแต่งอย่างนี้ มันก็มิใช่ตน
เรียกว่า ปีติและสุขก็มิใช่ตน เวทนาก็มิใช่ตน
จิตที่ปรุงแต่งไปตามเวทนานี้ก็มิใช่ตน
นี้ประสบผลสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐานในขั้นที่เกี่ยวกับเวทนา
ขอให้เรารู้จักหลักเกณฑ์ในการที่จะปฏิบัติเวทนานุปัสสนา เริ่มกันตั้งแต่ขั้นนี้
พอมาถึงขั้นที่สี่แห่งหมวดนี้ ระงับจิตตสังขารเสียได้ ถ้าระงับความรู้สึกที่เป็นปีติและสุขเสียได้ มันก็เท่ากับระงับการปรุงแต่งของปีติและสุขได้นั่นเอง
ขั้นที่ ๓ รู้จักจิตตสังขารให้ชัดเจน ขั้นที่ ๔ นี่ระงับมันเสียให้ได้
ระงับจิตตสังขารเสียให้ได้ นี้ก็ต้องเห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ให้เห็นจิตตสังขาร คือเวทนานี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของหลอกลวง เป็นของอันตราย ทำให้เกิดความทุกข์
หลักจะใช้พิจารณาก็อย่างเดียวกัน
เห็นอัสสาทะ คือเสน่ห์ที่หลอกลวงของมัน
เห็นอาทีนวะ คือโทษอันเลวร้ายของมัน
เห็นความเป็นมายา คือภาวะที่หลอกลวงของมัน
เห็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงของมัน
เห็นอิทัปปัจจยตา คือความที่มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน
สิ่งเหล่านี้มันมีหลายอย่าง แต่มันมีแนวอย่างนี้
สิ่งที่มันหลอกที่สุดก็เรียกว่า อัสสาทะ
แล้ว อาทีนวะ เป็นของจริงที่มันซ้อนอยู่ข้างหลัง มองไม่ค่อยจะเห็น
แล้วก็ถ้าเห็นก็เอ้านี่มันมายา ของมายาคือหลอกลวง
มันเป็นของเปลี่ยนแปลงเรื่อย
มาเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นของเที่ยง นั่นก็เรียกว่าถูกหลอกเสียแล้ว
ก็พิจารณาให้เห็นว่าปีติและสุขซึ่งเป็นจิตตสังขารนั้น
เปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามเหตุปัจจัย
มันก็จะไม่รู้สึกเอามาเป็นตัวตน
ไม่เอามาเป็นตัวตน มันก็ได้ ก็เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด
คือ ละความเห็นว่าเป็นตัวตนในเวทนาเสียได้
และในจิตเสียได้ตามลำดับ
ที่จะต้องเห็นให้ชัดลงไปอีก ก็คือว่า
เมื่อมีความยึดถือ มันหลง มันโง่ในปีติและสุขแล้ว
มันเกิดความทุกข์
มันเกิดความทุกข์ ให้รู้สึกต่อความทุกข์ที่เกิดเพราะการหลงในปีติและสุขให้ชัดเจน ก็เรียกว่า เอาความทุกข์ที่เกิดมาจากความหลงในเวทนานั้นมาทำไว้ในใจตลอดเวลา กำหนดให้เห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างนั้น ๆ นี่ยิ่งเป็นวิปัสสนาลึกขึ้นไป
ที่จะบรรเทาอิทธิพลของเวทนา ก็คือเห็นอนิจจัง ตลอดถึงเห็นทุกขัง เห็นอนัตตา
แต่ในภาษาบาลีท่านนิยมพูดว่าเห็นอนิจจังเท่านั้น พระพุทธภาษิตจะยกมาพูดแต่อนิจจัง เพราะว่าในการเห็นอนิจจัง ย่อมเห็นทุกขัง และอนัตตาไปในตัว
ขอให้เห็นอนิจจังเถิด ขอให้เห็นอนิจจังจริง ๆ เถิด จะเห็นว่าเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ฉะนั้นจึงมีหลักเกณฑ์สำคัญว่าให้เห็น อนิจจัง อนิจจังของปีติและสุข แล้วจะบรรเทาอำนาจหรือกำลังการปรุงแต่งของปีติและสุขเสียได้
ปัญหาทั้งหมดมาจากคนมันโง่ มันตกเป็นทาสของเวทนาที่ปรุงแต่ง คำพูดสั้น ๆ นี้สำคัญมากและฟังดูคล้าย ๆ กับพูดเล่น ปัญหาต่าง ๆ ความยุ่งยากลำบากทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งปวงย่อมมาจากความหลงในเวทนา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาต่อไป ๆ
กำจัดอำนาจของเวทนาเสียได้ มันก็ไม่ปรุงแต่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป
ทีนี้ก็จะเกลียดกลัว เกลียดและกลัวในความหลอกลวงเหล่านี้ อัสสาทะ ความเอร็ดอร่อยของเวทนาก็เกลียดก็กลัว แม้แต่ว่ามันเป็นอัสสาทะ คือความสุขความเอร็ดอร่อยก็เกลียดก็กลัว ที่มันเป็นโทษเป็นอาทีนวะ ก็ยิ่งเกลียดและยิ่งกลัว
ก่อนนี้มันเป็นความสุขความพอใจ มันก็ไม่เกลียดไม่กลัว มันอยากจะเอา มันหลงยิ่งขึ้น แต่เดี๋ยวนี้มันตรงกันข้าม กลายเป็นเกลียดกลัวสิ่งที่เป็นความสุขของเวทนา
ว่า โอ! ไอ้นี่แหละตัวร้าย หลอกลวงและขบกัดกันเต็มที่ เป็นทุกข์กันเต็มที่ ก็เลยเกลียดกลัวทั้งอัสสาทะทั้งอาทีนวะ ทั้งลักษณะอาการอื่นๆ ทั้งอิทธิพลต่างๆ ของปีติและสุข
ที่นี่ก็มาเห็นว่า เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้ ควบคุมปีติและสุขได้ เราเป็นผู้มีอำนาจเหนือปีติและสุข รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้จิตอยู่เหนืออำนาจการปรุงแต่งของปีติและสุข อย่าเป็นตัวกูของกู ยกหูชูหาง ชูหางขึ้นมา มันจะผิดต่อไปอีก
รู้แต่ว่าเดี๋ยวนี้จิตมันรู้เท่าทัน มันเฉลียวฉลาด มันไม่ถูกหลอกลวงด้วยปีติและสุขอีกต่อไป ไม่ถูกหลอกลวงด้วยปีติและสุขอีกต่อไป
พิจารณาหนอ หนอก็ได้ ระงับแล้วหนอ ระงับแล้วหนอ หรืออำนาจของปีติและสุขนี้มันระงับไปแล้วหนอ ระงับหนอ พูดสั้น ๆ ว่าระงับหนอ
แต่พูดให้เต็มที่ก็ว่า เดี๋ยวนี้อำนาจอิทธิพลของปีติและสุขที่ปรุงแต่งจิตนั้นระงับไปแล้วหนอ ยาวหน่อย อำนาจของปีติและสุขที่ปรุงแต่งจิตนี้ระงับไปแล้วหนอ
พูดให้สั้น ๆ ว่าระงับหนอ ระงับหนอ ระงับแล้วหนอ ระงับแล้วหนอ กำหนดอยู่ในใจทุกลมหายใจเข้าออก ทุกลมหายใจเข้าออกระงับแล้วหนอ ระงับแล้วหนอ นี่คือขั้นที่ ๔
หนอ ๆ นี่ขอบอกกล่าวว่า ถ้าใช้ผิดก็ผิด ให้โทษ ถ้าใช้ถูกก็มีประโยชน์ มันเป็นสักว่าเช่นนั้นเท่านั้นเองหนอ ไม่ใช่ว่ามันเป็นตัวเป็นตนเช่นนั้นหนอ
ระวังคำว่า หนอ ให้ดี ๆ ในภาษาไทยมันชอบหนอ แต่ในภาษาบาลีมันไม่ได้มี ตัวเดิมในบาลีไม่มีคำว่าหนอ ๆ แบบนี้ แต่เอามาใช้ได้ เพื่อให้มันง่ายขึ้น
ถ้าใช้ถูกวิธีมีประโยชน์ ขอยืนยันว่าหนอนี้ ถ้าใช้ถูกวิธีมีประโยชน์ ใช้ผิดวิธีก็เพิ่มตัวกู เพิ่มตัวตน เพิ่มความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
เอ้า เป็นอันว่าเราได้ทำมาทั้ง ๔ ขั้น ทบทวนง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า รู้จักปีติ
รู้จักปีติ เป็นความรู้สึกจริงในจิตใจอย่างไร มีอิทธิพลแก่จิตใจอย่างไร
ถ้าจะเล่นเอาเปรียบอย่างโลก ๆ ก็เอาปีติมาชิมให้เป็นสุข ไม่หวังอะไรมาก ไม่หวังนิพพานอะไรก่อน เอากำไรเดี๋ยวนี้กันทีก่อน เอาปีติมาดูดดื่มมาชิมมาเป็นสุขก่อนก็ได้ แต่แล้วก็ต้องศึกษาต่อไปว่า โอ้! ปีติเป็นอย่างนี้ ๆ ไม่เที่ยงหลอกลวงปรุงแต่งจิตให้ยุ่ง ก็มาขั้นที่ ๒
พอปีติรำงับลงเป็นความสุข ก็ดูอย่างนั้นอีก สุขหนอ สุขหนอ ‘อย่าไปหลงเป็นตัวเป็นตนเข้ามา มันเป็นสิ่งปรุงแต่งจิตให้ยุ่ง’ ก็รู้จักความสุขดี แต่จะเอามาเป็นความสุขชั่วคราวล่วงหน้าเอากำไรโกง ๆ กันเสียก่อนก็ได้ สุขหนอ สุขหนอ นี่อย่าไปหลงจนเป็นวิปัสสนูปกิเลส จิตจะหลงอยู่ที่ความสุขไม่ก้าวหน้าต่อไป
ไม่ก้าวหน้าไปตามทางของวิปัสสนาอีกต่อไป เพราะมันหลงอยู่ในความสุข นี่จะต้องระวัง ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็ไม่หลงในความสุข ใช้ความสุขเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา ให้รู้ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน
ที่นี้มาให้ดูคราวเดียวพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง ว่าทั้งปีติและสุขนี้เรียกว่าเวทนาปรุงแต่งจิต ก็อย่างเดียวกัน ดูอย่างเดียวกัน ไม่หลงในความหลอกลวงของมัน
แล้วก็ไปเห็นว่ามันสร้างเรื่องให้ยุ่งยากลำบาก คือปรุงแต่งให้เกิดความคิดความนึกสารพัดอย่าง จนควบคุมกันไม่ไหว
นี่เราจะได้เครื่องมือหรืออำนาจบางอย่างบางระดับขึ้นมา สำหรับจะควบคุมจิต เราก็ระงับอำนาจอิทธิพลของเวทนาเหล่านั้นเสียได้ ก็คือการใช้เครื่องมือสำหรับที่จะควบคุมจิต มันก็ควบคุมจิตได้
นี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องใหญ่โตที่สุด เป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งโลก ที่จะไม่พ่ายแพ้แก่กิเลส ก็คือไม่พ่ายแพ้แก่เวทนา ฉะนั้นขอให้ศึกษา ให้รู้จักปีติซึ่งมีเสน่ห์มาก รู้จักความสุขซึ่งมีเสน่ห์มาก เป็นเหตุให้หลงได้ง่าย
แล้วที่จริงนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องจะดีเหมือนกับที่ว่าเป็นเสน่ห์ แต่มันเป็นเรื่องร้าย คือมันปรุงแต่งความคิดให้เป็นไปอย่างยุ่งเหยิงติดต่อไหลไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็เรียกว่าไหลไปในวัฏฏะ
อำนาจของเวทนาผลักไสให้จิตของมนุษย์ไหลไปในวัฏฏะอย่างน่ากลัวที่สุด มาเดี๋ยวนี้ก็รู้แล้ว
แล้วก็มองเห็นความไม่เที่ยง ความหลอกลวงของปีติของสุข ของการปรุงแต่งจิต หรือจิตที่ปรุงแต่งนั้นให้ถูกต้อง คือปรุงแต่งไม่ได้ มันหลอกไม่ได้ มันก็ปรุงแต่งไม่ได้
เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้ ก็เท่ากับว่าควบคุมการปรุงแต่งจิตได้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สามารถบังคับจิตได้อีกต่อไป คือว่าถ้าเราบังคับการปรุงแต่งของจิตได้ ก็เท่ากับเราบังคับจิตโดยตรงได้
นี่ประโยชน์ของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอันเป็นหมวดที่ (๒) ของอานาปานสติ ก็มีอยู่ ๔ ขั้น เป็นขั้นที่ ๕ ถึงขั้นที่ ๘
๕ ๖ ๗ ๘ นี้หมวดที่ (๒) ๑ ๒ ๓ ๔ หมวดที่ (๑) ๕ ๖ ๗ ๘ ก็หมวดที่ (๒)
นี้เราก็ได้พูดมาถึงหมวดที่ (๒) แล้วเข้าใจให้ดี เป็นคู่มือจำเป็นที่จะต้องรู้ไว้สำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ หรือแม้แต่เพียงจะศึกษาเฉย ๆ ยังไม่ปฏิบัติ ก็ต้องให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ จึงเรียกว่าต้องมีคู่มือที่ถูกต้อง
การบรรยายชุดนี้ก็มุ่งหมายจะแสดงคู่มือที่ถูกต้องอย่างที่ได้แสดงมาแล้ว ๔ ครั้งเป็น ๕ ทั้งครั้งนี้ แล้วยังจะต้องแสดงต่อไปอีกสัก ๒-๓ ครั้ง จึงจะจบคู่มือที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติอานาปานสติภาวนา …”
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
โฆษณา