2 ก.พ. 2022 เวลา 09:47 • ไลฟ์สไตล์
“สรุปความหลักปฏิบัติอานาปานสติ ๑๖ ขั้น สำหรับทบทวน สั้น ๆ ง่าย ๆ”
กายในกาย (๑)
หมวดที่หนึ่งมี ๔ ขั้นอย่างนี้
ขั้นที่ ๑ สามารถรู้จักมีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจยาว
ขั้นที่ ๒ เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
ขั้นที่ ๓ รู้ความสัมพันธ์กันระหว่างลมหายใจกับกาย
แล้วบังคับร่างกายได้โดยทางลมหายใจ
ขั้นที่ ๔ ทำให้ลมหายใจรำงับ ร่างกายรำงับ จิตรำงับ
รำงับทั้งโลกโดยทางลมหายใจ
เมื่อลมหายใจระงับ
ความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวงก็ระงับและละเอียด
เราก็มีอำนาจเหนือกายทั้งปวง เหนือยกายทั้งปวงแล้ว
นี่เป็นหมวดที่หนึ่งของอานาปานสติ ๔ หมวด
เดี๋ยวนี้ก็มี อานิสงส์พิเศษ จะมีความสุข
ความสุขที่แท้จริง ได้ทันทีที่เราต้องการ
ในที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต้องตายแล้ว
สุขที่แท้จริง คือ ความสงบรำงับ
สุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุกร้อน สุก ก สะกด
สุขกามรมณ์ ไม่ใช่อย่างนั้น
สุขที่แท้จริง สุขที่เป็นความสุขที่แท้จริง
สงบรำงับจริง ต้องการเมื่อไรจะได้เมื่อนั้น
ถ้าเราสามารถทำอานาปานสติหมวดที่ (๑) ทั้ง ๔ ขั้นนี้ได้สำเร็จ
ความสุขอันแท้จริงอยู่ในกำมือของเรา
ต้องการเมื่อไรได้เมื่อนั้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว
จะเปรียบเสมือนหนึ่งว่า ชิมรสของพระนิพพานเป็นการล่วงหน้า
ความสุขที่ไม่มีอามิส เหตุปัจจัยปรุงแต่งล่อให้หลง
มันมีได้แล้ว คือความสุขที่สงบรำงับเพราะความดับของการปรุงแต่ง
แม้ในขั้นต้น ๆ ต่ำ ๆ คือ ปรุงแต่งทางกาย เป็นกายสังขาร
เรารำงับกายสังขารได้ ก็ได้รับความสุขชนิดนี้
เป็นความสุขใหม่อันนี้ตามสมควร
นี่ประโยชน์ อานิสงส์ของการปฏิบัติ
อานาปานสติได้หมวดหนึ่ง คือ หมวดที่หนึ่งแล้ว
ประโยชน์ต่อไป ก็คือว่าจะเป็นบาทฐาน
เครื่องช่วยให้สำเร็จในการที่จะปฏิบัติหมวดต่อไป
เมื่อปฏิบัติหมวดที่ (๑) ได้ ก็เป็นแน่นอนว่าจะปฏิบัติ
หมวดที่ (๒) ที่ (๓) ที่ (๔) เป็นลำดับได้
นี่เป็นอานิสงส์ในเบื้องหน้า
แต่เดี๋ยวนี้ได้รับอานิสงส์ว่าต้องการทิฏธรรมสุขเมื่อไรได้เมื่อนั้น
ที่นี่และเดี๋ยวนี้
พอทำจิตอย่างนี้ก็เป็นสุข ฝ่ายโน้นฝ่ายพระนิพพาน
ฝ่ายไม่มีอามิส ฝ่ายไม่มีเหยื่อล่อ สุขที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส
ได้ตามต้องการเมื่อไรก็ได้ แม้เพียงเท่านี้มันก็พอเสียแล้ว
เวทนาในเวทนา (๒)
ทบทวนง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า รู้จักปีติ
รู้จักปีติ เป็นความรู้สึกจริงในจิตใจอย่างไร
มีอิทธิพลแก่จิตใจอย่างไร
ถ้าจะเล่นเอาเปรียบอย่างโลก ๆ
ก็เอาปีติมาชิมให้เป็นสุข ไม่หวังอะไรมาก
ไม่หวังนิพพานอะไรก่อน เอากำไรเดี๋ยวนี้กันทีก่อน
เอาปีติมาดูดดื่มมาชิมมาเป็นสุขก่อนก็ได้
แต่แล้วก็ต้องศึกษาต่อไปว่า
โอ้! ปีติเป็นอย่างนี้ ๆ ไม่เที่ยง
หลอกลวงปรุงแต่งจิตให้ยุ่ง ก็มาขั้นที่ ๒
1
พอปีติรำงับลงเป็นความสุข ก็ดูอย่างนั้นอีก
สุขหนอ สุขหนอ อย่าไปหลงเป็นตัวเป็นตนเข้ามา
มันเป็นสิ่งปรุงแต่งจิตให้ยุ่ง ก็รู้จักความสุขดี
แต่จะเอามาเป็นความสุขชั่วคราวล่วงหน้า
เอากำไรโกง ๆ กันเสียก่อนก็ได้
สุขหนอ สุขหนอ นี่อย่าไปหลงจนเป็นวิปัสสนูปกิเลส
จิตจะหลงอยู่ที่ความสุขไม่ก้าวหน้าต่อไป
1
ไม่ก้าวหน้าไปตามทางของวิปัสสนาอีกต่อไป
เพราะมันหลงอยู่ในความสุข นี่จะต้องระวัง
ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็ไม่หลงในความสุข
ใช้ความสุขเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา
ให้รู้ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน
ที่นี้มาให้ดูคราวเดียวพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง
ว่าทั้งปีติและสุขนี้เรียกว่าเวทนาปรุงแต่งจิต
ก็อย่างเดียวกัน ดูอย่างเดียวกัน
ไม่หลงในความหลอกลวงของมัน
แล้วก็ไปเห็นว่ามันสร้างเรื่องให้ยุ่งยากลำบาก
คือปรุงแต่งให้เกิดความคิดความนึกสารพัดอย่าง
จนควบคุมกันไม่ไหว
นี่เราจะได้เครื่องมือหรืออำนาจบางอย่างบางระดับขึ้นมา
สำหรับจะควบคุมจิต
เราก็ระงับอำนาจอิทธิพลของเวทนาเหล่านั้นเสียได้
ก็คือการใช้เครื่องมือสำหรับที่จะควบคุมจิต
มันก็ควบคุมจิตได้
นี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องใหญ่โตที่สุด
เป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งโลก ที่จะไม่พ่ายแพ้แก่กิเลส
ก็คือไม่พ่ายแพ้แก่เวทนา
ฉะนั้นขอให้ศึกษา ให้รู้จักปีติซึ่งมีเสน่ห์มาก
รู้จักความสุขซึ่งมีเสน่ห์มาก เป็นเหตุให้หลงได้ง่าย
แล้วที่จริงนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องจะดีเหมือนกับที่ว่าเป็นเสน่ห์
แต่มันเป็นเรื่องร้าย
คือมันปรุงแต่งความคิดให้เป็นไปอย่างยุ่งเหยิง
ติดต่อไหลไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ก็เรียกว่าไหลไปในวัฏฏะ
อำนาจของเวทนาผลักไสให้จิตของมนุษย์
ไหลไปในวัฏฏะอย่างน่ากลัวที่สุด
มาเดี๋ยวนี้ก็รู้แล้ว
แล้วก็มองเห็นความไม่เที่ยง
ความหลอกลวงของปีติของสุข ของการปรุงแต่งจิต
หรือจิตที่ปรุงแต่งนั้นให้ถูกต้อง
คือปรุงแต่งไม่ได้ มันหลอกไม่ได้ มันก็ปรุงแต่งไม่ได้
เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้
ก็เท่ากับว่าควบคุมการปรุงแต่งจิตได้
ซึ่งจะเป็นเหตุให้สามารถบังคับจิตได้อีกต่อไป
คือว่าถ้าเราบังคับการปรุงแต่งของจิตได้
ก็เท่ากับเราบังคับจิตโดยตรงได้
นี่ประโยชน์ของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันเป็นหมวดที่ (๒) ของอานาปานสติ
ก็มีอยู่ ๔ ขั้น เป็นขั้นที่ ๕ ถึงขั้นที่ ๘
๕ ๖ ๗ ๘ นี้หมวดที่ (๒) ๑ ๒ ๓ ๔ หมวดที่ (๑)
๕ ๖ ๗ ๘ ก็หมวดที่ (๒)
นี้เราก็ได้พูดมาถึงหมวดที่ (๒) แล้วเข้าใจให้ดี
เป็นคู่มือจำเป็นที่จะต้องรู้ไว้สำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ
หรือแม้แต่เพียงจะศึกษาเฉย ๆ ยังไม่ปฏิบัติ
ก็ต้องให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้
จึงเรียกว่าต้องมีคู่มือที่ถูกต้อง
จิตในจิต (๓)
ในหมวดนี้สรุปความได้สั้น ๆ ว่า :
ขั้นที่ ๑ รู้จักจิตทุกชนิด
โดยอาศัยหลัก 8 คู่มาเป็นเครื่องกำหนด
จิตมีโลภะหรือไม่มีโลภะ
จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ
จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะ
จิตฟุ้งซ่านหรือสงบ
จิตมีคุณธรรมอันสูงหรือไม่มี
ยังมีจิตอื่นดีกว่าหรือไม่มีแล้ว
แล้วก็จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น
นี่ศึกษาไว้ให้ดี ๆ จะเป็นเครื่องทดสอบวัดจิตใจได้ดี
ในเรื่องที่ว่ารอบรู้ขบวนการของจิตครบถ้วนรอบด้านทุกแง่ทุกมุม
แล้วขั้นที่ ๒ บังคับจิตให้บันเทิงปีติปราโมทย์ได้ตามที่ต้องการ
เพื่อความเป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้ก็ดี
เพื่อความเป็นบาทฐานของปัญญาของวิปัสสนา
ที่จะก้าวหน้าไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานก็ดี
มันต้องการจิตที่ปราโมทย์และบันเทิงเราก็ทำได้ ก็ทำได้
ต้องการเมื่อไรเราก็ทำได้
แล้วขั้นที่ ๓ บังคับจิตให้ตั้งมั่น ให้ตั้งมั่นโดยเฉพาะ
ก็คือมีความเหมาะสมแก่หน้าที่การงาน
จิตเป็นสมาธิในที่นี้ หมายถึง มีความเหมาะสมที่จะทำการงาน
จะทำนาก็ทำได้ดี ทำสวนก็ทำได้ดี เป็นพ่อค้าก็ทำได้ดี
เป็นข้าราชการก็ทำได้ดี เป็นกรรมกรก็ทำได้ดี
เป็นขอทานก็ทำได้ดี
มีจิตเหมาะสมต่อหน้าที่การงานที่จะต้องกระทำนั้น ๆ
ขอให้เป็นอย่างนี้ เรียกว่าได้แก้วสารพัดนึก
แก้วสารพัดนึกที่จะใช้อะไรก็ได้
เพราะว่ามีจิตที่เป็นกัมมนียะ
เหมาะสมที่จะทำหน้าที่การงาน
อยู่ในโลกนี้ก็ได้ จะออกไปจากโลกนี้ก็ได้
ในขั้นไหนก็ได้ ต่ำก็ได้ กลางก็ได้ สูงก็ได้
ทีนี้ขั้นสุดท้ายที่ ๔ ก็ว่า บังคับจิตให้ปล่อย
อารมณ์ร้ายมีอยู่ในจิตเมื่อใด ปล่อยได้เมื่อนั้น
และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมา
คำว่า อารมณ์ร้ายนี้ หมายถึงทุกชนิด
ความไม่เป็นสุขในทุกชนิด
ซึ่งมันออกมาถึงความไม่เป็นสุขกาย
ถ้ามันไม่เป็นสุขใจแล้วมันก็รบกวนทางกายด้วยกันแหละ
เพราะฉะนั้นไปมุ่งหมายที่ว่าไม่รบกวนทางจิตใจ
ไม่มีรบกวนทางจิตใจ จะไม่มีอารมณ์ร้ายมารบกวนทางจิตใจ
ถ้ามาเผลอเกิดขึ้นก็สลัดออกไปได้ทันที
ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มันก็ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้
นี้ก็เท่ากับสลัดได้เหมือนกัน
ไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ ก็เท่ากับสลัดอยู่ในตัว
ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็สลัดออกไปได้
อารมณ์ร้ายใด ๆ ไม่มีอยู่ในจิตใจ
แม้แต่ความหม่นหมองสักนิดนึงก็มิได้มี
แม้แต่ความรำคาญก็ไม่มี รำคาญตัวเองชนิดใด ๆ ก็ไม่มี
ใครก็ทำให้รำคาญไม่ได้ เป็นผู้มีจิตเป็นอิสระ
ไม่มีอารมณ์ร้ายรบกวน
ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงสนใจในเรื่องการอบรมจิต
ซึ่งเป็นสิ่งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์เรา
ทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิต ขึ้นอยู่กับจิต
ขอให้เป็นผู้รอบรู้ในกระบวนการของจิต
แล้วกระทำให้ได้ตามที่ควรจะทำ
รู้จักจิตทุกชนิด
บังคับให้มันบันเทิงเมื่อไรก็ได้
บังคับให้มันเหมาะสมแก่หน้าที่การงานเมื่อไรก็ได้
บังคับให้มันปล่อยสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจ
ให้ออกไปเสียจากจิตใจเมื่อไรก็ได้
เป็นอันว่าครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับอานาปานสติหมวดที่ (๓) คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความดังที่ได้กล่าวมา
ธรรมในธรรม (๔)
ขั้นหมวดธัมมานุปัสสนานี้
พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ด้วยความเป็นเพียงนามรูป เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
นับตั้งแต่การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเรื่อยไปจนถึงอตัมมยตา
เป็นการพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา เอากับมันไม่ได้ เลิกกันที
ธรรมะ ๙ ตา
อนิจจตา ไม่เที่ยง
ทุกขตา ความเป็นทุกข์
อนัตตา ความไม่ใช่ตน
ธัมมัฏฐิตตา ความที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา
ธัมมนิยตา เพราะมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนั้น
อิทัปปัจจยตา คือต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
สุญญตา ว่างจากตัวตน
ตถาตา เช่นนั้นเอง
อตัมมยตา พอกันทีสำหรับการเกี่ยวข้อง
สำหรับการผูกพันเกี่ยวข้องด้วยอุปาทาน
พอกันที พอกันที หยุดกันที
ท่านพุทธทาสภิกขุ
แล้วก็เกิดความคลาย คลาย คลายแห่งความยึดมั่น
ยึดมั่นในสิ่งที่เคยยึดมั่น มันคลายออก ๆ แล้ว
มันก็ดับลงแห่งความยึดมั่น ดับลงแห่งความยึดมั่น
สิ้นสุดแห่งการทำความดับทุกข์
ที่เรียกว่าทำความดับทุกข์สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
การประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์
เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วมันก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์
กิจใดที่ต้องการ ผลใดที่ต้องการ
ออกมาประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็ได้ถึงที่สุด
แล้วโดยลักษณะอย่างนี้ คือ
ได้มองเห็นชัดเป็นปฏินิสสัคคะ
คืน โยนคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง
ขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ถูกยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือของตนอีกต่อไป
ก็จบเรื่อง ไม่มีอุปาทานขันธ์ แล้วก็ไม่มีทุกข์
ทุกข์ทั้งปวงสรุปลงที่อุปทานขันธ์ ดังพระบาลีที่สวดอยู่ทุกวัน ๆ ว่า
สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา เสยยถีทัง
รูปูปาทานักขันโธ เวทนูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ
สังขารูปาทานักขันโธ วิญญาณูปาทานักขันโธ
เดี๋ยวนี้ขันธ์ทั้ง 5 โยนคืนสลัดคืนไปหมดแล้ว
ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป
นี้เป็นเรื่องจบพรหมจรรย์
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดที่ (๔) หรือหมวดสุดท้าย
เป็นเรื่องจบพรหมจรรย์ ในลักษณะอย่างนี้
นี่คือเค้าโครงของอานาปานสติหมวดสุดท้าย สำคัญที่สุด
ปฏิบัติลัดสั้น ก็ปฏิบัติตรงมาที่หมวดนี้
ปฏิบัติไม่ลัดสั้น ก็ปฏิบัติมาตามลำดับทั้ง ๔ หมวด
ถ้าปฏิบัติลัดสั้น ก็ตรงมาที่หมวดนี้
สู้กันด้วยการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หวังว่าท่านสาธุชนทั้งหลายจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องรู้ จำเป็นจะต้องรู้ ในการศึกษาและในการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับอานาปานสติภาวนา
การบรรยายในวันนี้ก็สมควรแก่เวลา เป็นการบรรยายอานาปานสติหมวดสุดท้าย ขอให้ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ ไปใช้ปฏิบัติลัดสั้นให้ได้ด้วยกันจงทุก ๆ คน
อย่าลืมคำว่า “อตัมมยตา” กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว
อันนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไร ก็ช่วยตัวได้แน่นอน …”
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
หนังสือ คู่มือปฏิบัติอานาปานสติภาวนา การหายใจที่ดับทุกข์ได้
บรรยายโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
โฆษณา