2 ก.พ. 2022 เวลา 01:16 • ไลฟ์สไตล์
“EP.11 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนที่ 3/3”
“… ทีนี้ก็มาถึงขั้นต่อไปคือขั้นที่ ๑๔ ของทั้งหมด ทั้งหมดมัน ๑๖ ขั้น หรือว่าเป็นขั้นที่ ๒ ของหมวดที่ (๔) คือหมวดนี้ หมวดธัมมา ฯ
ข้อนี้เห็นวิราคะ ความจางคลายแห่งความยึดมั่น มีชื่อเรียกว่า วิราคานุปัสสี มีปกติตามเห็นอยู่ซึ่งวิราคะ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ เห็นความจางคลายแห่งความยึดมั่นของตนของจิต ถ้าพูดว่าของตนในที่นี้หมายถึงของจิต เพราะเราพูดภาษาชาวบ้าน ตนมันไม่มี มันมีแต่จิต
เห็นความจางคลาย หายใจออกอยู่ เห็นความจางคลายหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ นี้มันมาถึงข้อถัดมา คือว่าเริ่มนิพพานญาณ
วิราคะ คลายกำหนัดนี้ มันเริ่มต้นมาตั้งแต่นิพพิทา ความรู้สึกที่เป็นนิพพิทา หรือนิพพิทาญาณ เอามาจัดไว้ในพวกนี้ พวกนิพพานญาณ เพราะมันเกิดขึ้นหลังจากการเห็นธัมมัฏฐิติญาน ธัมมัฏฐิติญานถึงที่สุดแล้วเกิดนิพพานญาณ
จะเห็นได้ง่าย ๆ ว่า ตั้งต้นที่เกิดความรู้สึกนิพพิทา-เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายนี้มันก็มีอยู่ในอตัมมยตา อตัมมยตามีความเบื่อหน่าย มันคาบเกี่ยวกันมาตั้งแต่เริ่มเห็นอตัมมยตา เริ่มเบื่อหน่าย เอากับมึงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คือเบื่อหน่าย มีความคิดที่จะถอนตัวออกจากกัน
วิราคะ คำว่า วิราคะ
เราจะให้ความหมายลงไปถึงนิพพิทาด้วย เบื่อหน่าย
พอเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด
เห็นความจริงของสิ่งนั้น ๆ แล้วก็เบื่อหน่าย
ว่าเอากับมันไม่ได้ เลิกกันที
นี่มันก็เบื่อหน่าย
พอเบื่อหน่ายก็คลายความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน
จะเป็นกามุปาทานก็เบื่อหน่าย
ทิฏฐุปาทานก็เบื่อหน่าย
สีลัพพตุปาทานก็เบื่อหน่าย
อัตตวาทุปาทานก็เบื่อหน่าย
คลายความยึดมั่นด้วยอุปาทาน
ถ้าเข้าใจคำพูดที่พูดมาแล้วในหมวดต้นๆ จะเข้าใจคำอธิบายในหมวดนี้ ความคลาย-คลาย-คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นเพราะเห็นอนิจจัง จนกระทั่งเห็นอตัมมยตา ๙ ตา ๙ ตาอย่างที่ว่ามาแล้ว เห็นครบทั้ง ๙ ตา มันก็คลาย-คลายความยึดมั่น
ธรรมะ ๙ ตา
อนิจจตา ไม่เที่ยง
ทุกขตา ความเป็นทุกข์
อนัตตา ความไม่ใช่ตน
ธัมมัฏฐิตตา ความที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา
ธัมมนิยตา เพราะมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนั้น
อิทัปปัจจยตา คือต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
สุญญตา ว่างจากตัวตน
ตถาตา เช่นนั้นเอง
อตัมมยตา พอกันทีสำหรับการเกี่ยวข้อง
สำหรับการผูกพันเกี่ยวข้องด้วยอุปาทาน
พอกันที พอกันที หยุดกันที
ท่านพุทธทาสภิกขุ
คลายความยึดมั่น มันจะคลายมากคลายน้อยก็แล้วแต่กรณีของการปฏิบัติของบุคคลนั้น ในโอกาสนั้น ในเวลานั้น
ถ้ามีวิราคะมาก คลายมาก คลายหมดก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย
ถ้ามันคลายไม่หมด คลายในบางระดับระยะ
ก็เป็นเพียงพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อะไรไปก็ได้
แล้วแต่ว่ามันวิราคะรุนแรงเท่าไร
วิราคะจะรุนแรงเท่าไร ได้เท่าไร
มันก็เนื่องมาจากการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากน้อยเท่าไร
จะพูดให้รัดกุมก็ว่าแล้วแต่เห็นธัมมัฏฐิติญานมากน้อยเท่าไร เห็นธัมมัฏฐิติญานมากที่สุดก็คลายหมด เห็นธัมมัฏฐิติญาณไม่ถึงที่สุดมันก็คลายไม่หมด แต่มันก็คลายถึงระดับที่เรียกว่าจะเป็นอริยบุคคลขั้นหนึ่ง ๆ แหละ
เพราะฉะนั้น วิราคะหรือความคลายนี้ ก็เป็นไปได้ตามลักษณะที่เราใช้แบ่งให้เป็นมรรค ผล มรรค ๔ ผล ๔ ให้เป็น ๔ ก็แล้วกัน ถ้าจะแบ่งให้ละเอียดไปกว่านั้น มันก็ไม่แปลกไปจากที่จะแบ่งเป็น ๔
วิราคะ มีได้หลายขั้นตอนตามลักษณะของการบรรลุมรรค ผล ในขั้นไหน
บรรลุมรรคผลในขั้นไหน ก็เพราะอำนาจวิราคะที่มันมีขึ้นเพียงเท่านั้น มันมีขึ้นเพียงเท่านั้น ขอให้รู้ไว้อย่างนี้
นิพพิทามีมากเท่าไร ก็วิราคะเท่านั้น
มีวิราคะได้เท่าไร ก็ทำให้บรรลุมรรคผลได้เท่านั้น หรือในขั้นนั้น
ถ้ามันหมดทั้งหมด วิราคะทั้งหมด ก็เป็นพระอรหันต์
คำว่าวิราคะนี้ เป็นคำที่ใช้กำกวม บางทีก็หมายถึงคลายกำหนัดในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อจะบรรลุมรรคผล แต่ในบางกรณีเอาคำว่าวิราคะไปใช้ในความหมายของนิพพาน แทนชื่อนิพพานไปเสียก็มี เพราะมันเป็นนิพพานญาณด้วยกัน เรียกรวมติดกันไปเลยว่า วิราโคนิโรโธ นิพานํ ถ้าอย่างนี้วิราคะก็หมายถึงไวพจน์หรือคำแทนชื่อของพระนิพพาน
แต่วิราคะในอานาปานสติขั้นนี้หมวดนี้ หมายถึงวิราคะที่จะเป็นเหตุให้นิพพาน วิราคะเท่าไรก็นิพพานเท่านั้น
วิราคะในระดับพระโสดาบัน ก็มีนิพพานอย่างพระโสดาบัน
ในระดับสกิทาคามี ก็มีนิพพานอย่างสกิทาคามี
มีวิราคะระดับแห่งอนาคามี ก็มีนิพพานแห่งอนาคามี
วิราคะสูงสุดในขั้นอรหันต์ ก็เป็นพระอรหันต์
วิราคะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นบุพพภาคของนิพพานหรือ เป็นปัจจัยแห่งการบรรลุนิพพานก็ได้
จะเรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งนิพพานนั้นไม่ได้ เป็นคำพูดที่ใช้ไม่ได้
เพราะว่านิพพานแท้ ๆ นั้นไม่มีปัจจัย
ปัจจัยมีได้เพื่อการ ‘บรรลุนิพพาน’
วิราคะเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุนิพพาน
มีวิราคะเท่าไรก็เป็นปัจจัยให้มีการบรรลุนิพพานได้เท่านั้น
ฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่าในกรณีบางกรณี วิราคะเป็นคำแทนชื่อของนิโรธก็ได้ ของนิพพานก็ได้ แต่ที่ใช้กันอยู่โดยมากนั้นหมายถึง อริยมรรค ตัวมรรคตัวอริยมรรค เรียกว่าวิราคะ
ความคลายแห่งความยึดมั่นถือมั่นเป็นสิ่งสูงสุดของธรรม ทั้งสังขตะและอสังขตะ เรียกว่าเป็นธรรมที่มีค่า จัดว่ามีค่า เป็นของเลิศ
ถ้าไม่มีวิราคะ สังขตะก็ไม่ดับ อสังขตะก็ไม่เกิด
เราจะมุ่งหมายไปที่วิราคะในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดก็ได้
นี้โดยพฤตินัยให้มันมีการคลายออกแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน
เอ้า ทีนี้การปฏิบัติในขั้นนี้ ก็คือกำหนดความที่มันจางคลายแห่งอุปาทาน เห็นอนิจจังจนเห็นอตัมมยตาแล้ว มีความจางคลายแห่งอุปทานหรือกิเลสก็ตาม ความทุกข์ก็ตาม มันคลายออก ๆ คลายออก
คลายออกเท่าไร กำหนดความจางคลายออกออกแห่งสิ่งนั้น ๆ แล้ว หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ รู้สึกด้วยจิตใจในความจางคลายนั้น ๆ แล้วหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
ไม่ใช่พูดด้วยปาก แต่รู้สึกด้วยจิต
รู้สึกความจางคลาย หายใจเข้าก็รู้สึก หายใจออกก็รู้สึก หายใจเข้าก็รู้สึกจางคลาย หายใจออกก็รู้สึกจางคลาย กำหนดความจางคลายในความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาหนึ่ง ระยะหนึ่ง คือตลอดเวลาที่ปฏิบัติอานาปานสติขั้นนี้
อานาปานสติขั้นนี้ คือ ขั้นที่ ๑๔ ของทั้งหมด หรือว่าขั้นที่ ๒ แห่งหมวดที่ (๔) กำหนดความจางคลายแห่งอุปทานที่ยึดมั่นถือมั่น หรือจางคลายแห่งกิเลส หรือจางคลายแห่งความทุกข์ มันจางคลายด้วยกันแหละ
ถ้าจางคลายแห่งกิเลส ก็จางคลายแห่งความยึดมั่น
จางคลายแห่งความยึดมั่น ก็จางคลายแห่งความทุกข์
มันเป็นเรื่องเดียวกัน
เดี๋ยวนี้มีความจางคลายแห่งกิเลส จางคลายแห่งอุปาทาน จางคลายแห่งความทุกข์ รู้ความที่มันจางคลายแห่งสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งนี้ก็ได้ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ตลอดเวลา นี้เป็นการปฏิบัติในขั้นนี้
เอ้า ทีนี้ก็มาขั้นต่อไป เป็นขั้นที่ ๑๕ ของทั้งหมดหรือเป็นขั้นที่ ๓ แห่งหมวดที่ (๔) คือหมวดธัมมานุปัสสนา ขั้นนี้มีชื่อเรียกว่า นิโรธานุปัสสี
นิโรธานุปัสสี แปลว่า การตามเห็นความดับอยู่ หายใจเข้าหายใจออก ตามเห็นความดับอยู่แห่ง …
ดับอยู่ บาลีมีเพียงว่าดับอยู่ แล้วก็แห่ง แห่งอุปาทาน แห่งความทุกข์ หายใจเข้า หายใจออก พฤติกรรมอย่างนี้ เรียกว่า นิโรธานุปัสสี ดับลงแห่งกิเลส : โลภะ ราคะ โทสะ โมหะดับลง อุปาทานดับลง ความทุกข์ดับลง
แล้วแต่เราจะเล็งไปที่อะไร ก็จะเห็นความดับลงหรือสิ้นสุดลงแห่งสิ่งนั้น ตามอำนาจของวิราคะ ซึ่งมีมากน้อยเท่าไร วิราคะมากมากก็ดับมากดับหมด วิราคะน้อยก็ดับไปบางระดับ บางอัตราบางส่วน
ดับลงด้วยวิราคะ ด้วยอำนาจของวิราคะ
จะดับลงได้ถึงไหน ก็แล้วแต่กรณีแห่งการทำให้วิราคะเกิดขึ้นมา
ดังนั้นนิโรธะแต่ก็มีได้หลายครั้งหรือหลายระดับ ตามเรื่องของการบรรลุมรรคผล ซึ่งมีเป็นระดับหลายระดับ
นิโรธะสำหรับเป็นพระโสดาบัน
นิโรธะสำหรับเป็นสกิทาคามี
นิโรธะสำหรับจะเป็นอนาคามี
นิโรธะสำหรับจะเป็นอรหันต์
ถ้ามันมีความแก่กล้าสามารถถึงที่สุดในคราวเดียวรวดเดียว ก็เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าไม่ถึงก็ไปตามลำดับ
เป็นอันรู้ได้ว่านิโรธะ ก็มีได้หลายครั้งหรือหลายระดับ เท่ากับการบรรลุมรรคผล
คำว่าความดับดับนี้ จะดูที่กิริยาของความดับก็ได้เหมือนกัน จะดูที่ผลของความดับก็ได้เหมือนกัน
ถ้าผลของความดับก็คือนิพพาน นิโรธะก็คือนิพพาน ผลของการดับคือเย็น-เย็น-เย็น-เย็น เย็นนั้นคือนิพพาน
ถ้าดูที่กิริยาการดับ กิริยาแห่งการดับ ความที่อุปทานสิ้นไป ความที่กิเลสสิ้นไป ความที่ความทุกข์สิ้นไปดับไป นี้ก็เห็นที่การดับ
ถ้าดูที่ผลของการดับ ก็เห็นความเย็น คือนิพพาน
เหมือนกับเราเห็นไฟดับ นี่เห็นไฟดับ
จะเห็นว่าไฟดับ หรือดูที่ผลของการที่ไฟมันดับ
กิริยาที่ไฟดับมันก็มีอยู่อย่างหนึ่ง
ผลที่เกิดจากการที่ไฟดับ มันก็คืออีกอย่างหนึ่ง คือมันไม่ร้อน
กำหนดความดับแห่งความร้อน ดับแห่งความทุกข์ ดับแห่งกิเลส แล้วหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ รู้สึกต่อความดับแห่งอุปทานเป็นต้น หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
ไม่ใช่พูด ไม่ใช่ออกเสียง ไม่ใช่ท่อง แต่มีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ แล้วก็หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
ถ้าพูดก็ต้องว่าดับอยู่หายใจเข้า หรือหายใจเข้าดับอยู่ หายใจออกดับอยู่ หายใจเข้าดับอยู่ หายใจออกดับอยู่ก็ได้ แต่ไม่ใช่ปากพูด เป็นความรู้สึกต่อความดับนั้นจริง ๆ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ในความรู้สึกที่เป็นการดับหรือที่เป็นผลของการดับ
นี้ก็เรียกว่า นิโรธานุปัสสี เป็นขั้นที่ ๑๕ แห่งทั้งหมด เหลืออีกขั้นเดียวจะจบ ทั้งหมดมัน ๑๖ ขั้น
เอ้า ทีนี้มาถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๑๖ ขั้นที่ ๑๖ คือขั้นสุดท้าย หรือว่าเป็นขั้นที่ ๔ แห่งหมวดที่ (๔) มีชื่อเรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี
ชื่อยาวหรือว่าชื่อฟังยาก ๆ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ขยันเรียกชื่อมันบ้างซิ จะได้คุ้น ๆๆๆ ปฏินิสสัคคานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี การตามเห็นซึ่งความสลัดคืน สลัดคืนไป หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่
อันนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าไม่ต้องปฏิบัติแล้ว คือปฏิบัติสำเร็จแล้ว แล้วก็มองดูความสำเร็จนั้นอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติแล้ว แต่เป็นตัวความสำเร็จของการปฏิบัติ มองเห็นอยู่ซึ่งความสำเร็จของการปฏิบัติกันอีกทีหนึ่ง
เหมือนกับย้ำ ๆ ย้ำให้มันแน่นแฟ้น ย้ำตาปูครั้งสุดท้าย ให้มันแน่นแฟ้น
เห็นความสลัดคืน สลัดคืนแห่งอะไร
สลัดคืนแห่งสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน
สลัดคืนซึ่งอารมณ์แห่งกิเลส
แห่งความทุกข์ อะไรก็ได้ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน
หรือจะอธิบายด้วยอุปมาเปรียบ คำเปรียบเข้าใจได้ง่ายว่า แต่ก่อนนี้เราเป็นคนโกง เป็นโจร เป็นขโมย ไปปล้นเอาของธรรมชาติ มาเป็นตัวกูมาเป็นของกู
เอาของธรรมชาติว่าเป็นของกู ว่าชีวิตนี้ของกู ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของกู ความสุขของกู ความทุกข์ของกู ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู
มันเป็นของธรรมชาติ แต่ไปปล้นเอามาเป็นของกู แล้วมันก็กัดเอา สมน้ำหน้ามันเลย สมน้ำหน้ามันเลยที่มันเป็นโจร ที่มันปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นของตน
เดี๋ยวนี้ปฏิบัติถึงที่สุดถึงขั้นสุดท้ายนี้แล้ว ก็ดับดับความยึดมั่นถือมั่น ความที่เอามายึดไว้ว่าเป็นของตนนั้นดับไปเสีย ไม่ยึดมั่นว่าเป็นของตนอีกต่อไป ก็เท่ากับคืนให้แก่เจ้าของเดิมคือธรรมชาติ
คืนให้แก่เจ้าของเดิมคือธรรมชาติ ไม่เป็นโจร ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักปล้นอะไรอีกต่อไปแล้ว นี้เรียกว่าความสลัดคืน
ดูในกรณีทั่ว ๆ ไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ำ ๆ ต้อย ๆ ก็เหมือนกันแหละ ไปเอามาเป็นของตน เป็นของตน ๆ อยู่มันก็กัดเอา กัดเอา กัดเอา
พอสลัดคืน เอ้า กูไม่เอากับมึงอีกแล้ว ก็เลิกกัน มันก็ไม่กัด สิ่งใดที่มันทรมานใจอยู่ เข้า ๆ ออก ๆ อยู่ เข้า ๆ ออก ๆ อยู่สลัดคืนไปเสียเลย ไม่เอา ไม่เอาแล้ว มันก็ไม่กัดแหละ
ฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่าความสลัดคืนนั้น โยนทิ้งคืนให้เจ้าของ เป็นหัวใจอันหนึ่งของการปฏิบัติ เป็นขั้นสุดท้าย ประสบความสำเร็จในการสลัดคืนให้เจ้าของเดิม
ถ้าพูดไปแล้วมันก็น่ากลัว มันก็น่ากลัว แม้แต่ชีวิตนี้มันของธรรมชาติ เอามาเป็นของกู มันก็หนักอกหนักใจ มันกัดเอา นี่คืนให้ธรรมชาติ ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องเป็นของกู มันก็ไม่ถูกกัดแหละ
เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ วัวควายไร่นา อำนาจวาสนาบารมีตามธรรมชาติ เอามาเป็นของกู มากักตุนไว้เป็นของกู มันก็กัดเอา กัดเอา นอนไม่หลับเป็นบ้าไปเลยก็มี ฆ่าตัวตายก็มี
ถ้าไม่เอา คืนให้เจ้าของเดิมเขาเสีย คือธรรมชาติ แล้วมันก็ไม่กัดเอา นี้เรียกว่าสลัดคืน มีความหมายอย่างนี้ สลัดคืน
เมื่อมองเห็นว่าดับลงแห่งอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นแล้วดับลง ๆ นิโรธะ ๆ ดับลงนั่นแหละ คือการสลัดคืน
ดับแห่งความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นการสลัดคืน กลับไปหาเจ้าของเอง
เหมือนสัตว์ที่เราเอามาผูกมัดจองจำเอาไว้ พอเราตัดเครื่องจองจำนั้นมันก็ไป มันก็ไปตามเรื่องของมัน นี่เราตัดความยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนของตน ในสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของตน มันก็เป็นการปล่อย ปล่อยให้ไปหาธรรมชาติเดิม หาเจ้าของเดิม
พิจารณาในแง่หรือในความหมายของคำว่าสลัดคืนก็ได้ หรือจะพิจารณาในอีกแง่หนึ่งว่าปล่อยวางก็ได้
วิมุตติ วิมุตติ ว่าหลุดพ้น
วิโมกข์ แปลว่า ปล่อยวาง
วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นก็ได้
เดี๋ยวนี้หลุดพ้นจากความผูกพันซึ่งกันและกัน สมกับที่ว่ากูไม่เอากับมึงอีกแล้วโว้ย สังขารทั้งหลาย โลกทั้งหลายนี้ มันก็หลุดจากกัน หลุดพ้นจากการเป็นวิมุตติ
จะพิจารณาในแง่ของวิมุตติอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ดูอาการที่มันวิมุติติ หลุดพ้นจากกัน
จะดูในแง่ที่คืนให้เจ้าของเดิมก็ได้ โยนกลับให้เจ้าของเดิมก็ได้
จะดูในแง่ที่วิมุตติหลุดออกจากกันก็ได้
หรือจะพิจารณาในแง่ของนิพพาน นิพพานก็ได้ คือ ผลของการที่สลัดคืนหรือว่าหลุดพ้นแล้ว คือความเย็น ๆ เย็น ๆ เย็นอกเย็นใจ เย็นอกเย็นใจ ไม่มีไฟไม่มีกิเลสมาแผดเผาให้เร่าร้อน พิจารณาในแง่ของความเย็น ก็เป็นผลของการสลัดคืน นี่พิจารณาในแง่ของนิพพาน
ที่นี้มาพิจารณาการในแง่ของการจบพรหมจรรย์ จบการประพฤติพรหมจรรย์ การปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติศาสนาทั้งหลายนี้เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์
ครั้นปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว เรียกว่าจบพรหมจรรย์ หมดเรื่องที่จะต้องประพฤติ เรียนจบ ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องประพฤติ ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไป รู้สึกเช่นนี้อยู่ นี่เรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี
จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกต่อไปแล้ว ชาติสิ้นแล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อสิ้นชาติสิ้นอะไรนี้ไม่มีอีกแล้ว ทำจบแล้ว ทำหมดแล้ว เรียกว่า จบพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา
ฉะนั้นขอให้จำคำว่า “ปฏินิสสัคคะ” นี้ไว้ให้ดี ๆ มันเป็นความหมายของคำว่า จบพรหมจรรย์ จบพรหมจรรย์
นี่ก็มาทำความรู้สึกว่า โอ้ ออกจากกันแล้ว หลุดออกจากกันแล้ว คืนให้เจ้าของเดิมแล้ว หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ด้วยความรู้สึกว่าสลัดคืนออกไปหมดแล้ว หมดเรื่องแล้ว หมดเรื่องแล้ว นี่เป็นขั้นสุดท้ายขั้นที่ ๑๖ ของอานาปานสติ
เอ้า ทีนี้สรุปความเสียทีหมวดนี้ (๔) ขั้นหมวดธัมมานุปัสสนานี้ พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยความเป็นเพียงนามรูป เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน นับตั้งแต่การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเรื่อยไปจนถึงอตัมมยตา เป็นการพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา เอากับมันไม่ได้ เลิกกันที
แล้วก็เกิดความคลาย คลาย คลายแห่งความยึดมั่น ยึดมั่นในสิ่งที่เคยยึดมั่น มันคลายออก ๆ แล้ว มันก็ดับลงแห่งความยึดมั่น ดับลงแห่งความยึดมั่น สิ้นสุดแห่งการทำความดับทุกข์ ที่เรียกว่าทำความดับทุกข์สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
การประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วมันก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ กิจใดที่ต้องการ ผลใดที่ต้องการ ออกมาประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็ได้ถึงที่สุด แล้วโดยลักษณะอย่างนี้ คือ ได้มองเห็นชัดเป็นปฏินิสสัคคะ คืน โยนคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง
ขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ถูกยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือของตนอีกต่อไป ก็จบเรื่อง ไม่มีอุปาทานขันธ์ แล้วก็ไม่มีทุกข์
ทุกข์ทั้งปวงสรุปลงที่อุปทานขันธ์ ดังพระบาลีที่สวดอยู่ทุกวัน ๆ ว่า
สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา เสยยถีทัง
รูปูปาทานักขันโธ เวทนูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ
สังขารูปาทานักขันโธ วิญญาณูปาทานักขันโธ
เดี๋ยวนี้ขันธ์ทั้ง 5 โยนคืนสลัดคืนไปหมดแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป นี้เป็นเรื่องจบพรหมจรรย์
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดที่ (๔) หรือหมวดสุดท้าย เป็นเรื่องจบพรหมจรรย์ ในลักษณะอย่างนี้ นี่คือเค้าโครงของอานาปานสติหมวดสุดท้าย สำคัญที่สุด
ปฏิบัติลัดสั้น ก็ปฏิบัติตรงมาที่หมวดนี้ ปฏิบัติไม่ลัดสั้น ก็ปฏิบัติมาตามลำดับทั้ง ๔ หมวด ถ้าปฏิบัติลัดสั้น ก็ตรงมาที่หมวดนี้ สู้กันด้วยการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หวังว่าท่านสาธุชนทั้งหลายจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องรู้ จำเป็นจะต้องรู้ ในการศึกษาและในการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับอานาปานสติภาวนา
การบรรยายในวันนี้ก็สมควรแก่เวลา เป็นการบรรยายอานาปานสติหมวดสุดท้าย ขอให้ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ ไปใช้ปฏิบัติลัดสั้นให้ได้ด้วยกันจงทุก ๆ คน
อย่าลืมคำว่าอตัมมยตา กูไม่เอากับมึงอีกต่อไปแล้ว
อันนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไร ก็ช่วยตัวได้แน่นอน …”
ธรรมบรรยาย
โดย พระธรรมโกศาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
คู่มือที่จำเป็นในการศึกษาและการปฏิบัติ ครั้งที่ ๗
๒๓ เมษายน ๒๕๓๑
โฆษณา