31 ม.ค. 2022 เวลา 01:08 • ความคิดเห็น
นี่หรือความยุติธรรม? ทำไมคนหน้าตาดีมักจะ “ได้รับโทษเบากว่า”
จากทั่วทุกที่และทุกเวลาบนโลก “กระบวนการยุติธรรม”คงเป็นหนึ่งในที่ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด “การตัดสินคนจากหน้าตา” มากที่สุด แต่ผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยกำลังบอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตลอด
📌 อคติของความดึงดูดกับกระบวนการยุติธรรม
ต้องเกริ่นก่อนว่า เป็นเรื่องที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า มนุษย์เราไม่ได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเสมอ แต่มักจะมีอคติทางความคิด (cognitive bias) หลายอย่างครอบงำอยู่ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว
หนึ่งในอคติที่หลายคนอาจจะรู้จัก ก็คือ “อคติของความดึงดูด (attractiveness bias)” หรือ บางคนอาจจะเรียกว่า “อคติของความหน้าตาดี (beauty bias)” ที่เป็นอคติที่บอกว่า คนเรามักจะตัดสินและปฏิบัติต่อคนที่หน้าตาดี ดีกว่าที่เราจะทำกับคนที่หน้าตาแย่กว่า
ซึ่งถึงแม้เราจะทราบว่า อคติแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อเปลี่ยนสถานการณ์เข้าไปสู่ในกระบวนการยุติธรรมแทน อคติแบบนี้อาจจะหมายถึง “บทลงโทษที่ไม่เหมาะสม” ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากให้เกิด
มีงานศึกษาหนึ่งของมหาวิทยาลัย Cornell บอกว่า จำเลยที่มีหน้าตาที่ไม่ดึงดูด (unattractive defendant) จะมีค่าเฉลี่ยในการรับโทษจำคุกมากกว่าจำเลยที่หน้าตาดึงดูด (attractiveness defendant) ถึง 22 เดือน
แล้วก็ยังมีอีกการศึกษาหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจในกลุ่มตัวอย่าง ที่เขาทำการศึกษากับกลุ่มคนที่ “ไม่สามารถเตรียมภาพลักษณ์ของตัวเองก่อนเข้ารับการตัดสินได้” โดยความดึงดูดของหน้าตา ถูกตัดสินจากรายงานของตำรวจ ซึ่งผลการศึกษาก็ออกมาในลักษณะคล้ายกัน คือ คนที่หน้าตาไม่ดี มักจะต้องรับโทษมากกว่า ในส่วนของเงินค่าปรับและค่าประกันตัว แต่ก็ยังดีที่โทษในส่วนคดีที่รุนแรงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
นอกจากนี้ ก็ยังมีงานศึกษาที่ทำผ่านการสร้างสถานการณ์สมมติ ให้คนมาเป็นผู้พิพากษา ซึ่งก็ชี้ออกมาให้เห็นเลยว่า คนเรามีอคติต่อคนที่หน้าตาดีจริงๆ และก็จะตัดสินโทษให้คนเหล่านั้นน้อยกว่าคนหน้าตาไม่ดี แม้จะมีความผิดขนาดเท่าๆ กันก็ตาม
และจริงๆ อคติในการตัดสินคดีความแบบนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะพึ่งเกิดมาไม่นาน แต่ย้อนไปถึงสมัยกรีกโบราณก็มีกรณีตัวอย่างที่ความหน้าตาดีทำให้รอดพ้นจากโทษได้ นั่นคือ กรณีของโสเภณีชั้นสูงที่ชื่อว่า Phryne ที่ไม่ถูกตัดสินโทษในคดีขาดความเคารพศรัทธา เพียงเพราะเหตุผลว่า ผู้หญิงที่สวยขนาดเธอคงจะได้รับความรักความเมตตาจากพระเจ้าเป็นแน่ (good graces of the gods)
📌 การทำงานทั่วไปก็ได้รับผลจากอคติของหน้าตา
ไม่ใช่แค่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ที่อคติของความหน้าดี เข้ามาสร้างไม่เท่าเทียมของผลประโยชน์ ในการรับคนเข้าทำงานของทั่วไปก็มีประเด็นเรื่องนี้เช่นกัน
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจของเรื่องนี้ คือ กรณีของบริษัท Abercrombie & Fitch ที่เป็นผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าของอเมริกา ซึ่งเคยถูกวิจารณ์ในเรื่องของการรับเข้าคนเข้าทำงาน ที่เลือกปฏิบัติกับคนต่างเชื้อชาติและศาสนาอย่างไม่เท่าเทียม จนนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนแนวทางให้รับคนหลากหลายชาติพันธุ์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีหนึ่งเงื่อนไขที่ยังคงอยู่และไม่ได้ถูกวิจารณ์ไปด้วย ก็คือ “คุณสมบัติที่ต้องหน้าตาดี”
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ คือ การรับคนเข้ากองทัพเรือของประเทศจีน ที่ระบุคุณสมับัติอย่างชัดเจนว่า ต้องการคนที่มีหน้าตาดีเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนกับนานาประเทศ
ซึ่งอคตินี้ มันก็ไม่ได้จบอยู่แค่ตอนรับเข้าทำงานเท่านั้น แต่ยังสืบเนื่องมาถึง การประเมินความสามารถและการทำงานต่อไป ที่คนที่หน้าตาดีก็มักจะถูกตั้งสมมติฐานไปก่อนแล้วว่า คนเหล่านี้จะเป็นคนที่เก่งและมีความสามารถมากกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยิ่งผ่านไปนานวันเข้า รายได้ของคนหน้าตาดีก็ยิ่งสูงขึ้นไปกว่าคนหน้าตาไม่ดี
หนึ่งในวิธีที่มีคนเสนอกันเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอคตินี้ ก็คือการนำ AI เข้ามาตัดสินใจคัดเลือกคนแทนที่การใช้มนุษย์ เพราะว่า การตัดสินใจของ AI จะไม่ถูกครอบงำผ่านอคติเหล่านี้ และจะสามารถประเมินความสามารถตามข้อมูลส่วนอื่นได้อย่างเท่าเทียมกันมากกว่า
แต่ก็ยังมีหลายคนที่คัดค้านแนวคิดการใช้ AI อยู่ ยิ่งถ้าเป็นในวงการที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ แนวคิดที่จะนำ AI มาใช้ตัดสินบทลงโทษแทนมนุษย์ยิ่งเป็นสิ่งที่โดนต่อต้านหนักยิ่งกว่าในบริษัททั่วไปเสียอีก แต่ก็ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขอคตินี้ที่ชัดเจนจริงๆ ออกมาอย่างเป็นสากล
คราวนี้ หลายท่านอาจจะเกิดคำถาม “แล้วแบบนี้ คนหน้าตาไม่ดีที่กำลังจะไปขึ้นโรงขึ้นศาลจะทำอะไรได้บ้าง?” มีสองคำแนะนำที่มีคนศึกษากันไว้ว่า สามารถทำให้ลดโทษที่จะได้รับได้เช่นกัน
อย่างที่หนึ่ง “ยิ้มให้เยอะๆ เข้าไว้” และ อย่างที่สองถ้ารู้ว่า ตนเองผิดอย่างหนีไม่ได้แน่ๆ “ก็จงแสดงความโศกเศร้าเสียใจต่อการกระทำของตนเองให้ศาลเห็นใจ”
#สองมาตรฐาน #AI #ความยุติธรรม #Prettyprivilege #Beautybias #เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
#Bnomics #Economic_Outside_the_Box #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา