14 มี.ค. 2022 เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมชุดแต่งงานถึงมีสีขาว
"ชุดเจ้าสาวสีขาว" เป็นหนึ่งในภาพจำที่อยู่ในมายาคติของคนจำนวนมากเมื่อพูดถึงวันแต่งงาน แต่เรื่องสีชุดเจ้าสาวนี้ก็เป็นเหมือนกับเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติอีกจำนวนมาก ที่เราทำกันต่อมา จนหลงลืมไปแล้วว่า ที่มาของมันคืออะไร?
และอันที่จริงแล้ว ชุดเจ้าสาวสีขาวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนี้ พึ่งจะมาได้รับความนิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี่เอง โดยมีเหตุผลที่เรียบง่ายกว่าที่หลายคนคิด เหตุผลนั้นก็คือ "มันเป็นสีของชุดเจ้าสาวของพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ"
📌 พระราชินีนาถวิกตอเรีย อินฟูลเอนเซอร์ในยุคแรกเริ่ม
ย้อนกลับไปในสมัยนั้น ที่เรายังไม่ได้มีโซเชียลมีเดียที่จะเผยแพร่ข่าวสารไปอย่างรวดเร็ว บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากที่สุดคนหนึ่ง ก็หนีไม่พ้นกษัตริย์ที่ปกครองประเทศ แต่เรื่องราวของพระราชินีนาถวิกตอเรีย ยิ่งพิเศษกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นไปอีก
เพราะพระองค์เสวยราชย์เป็นราชินีแห่งอังกฤษตั้งแต่มีพระชนมายุ 18 พรรษาเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปก็จับตามอง การขึ้นสู่ตำแหน่งของ "กษัตริย์สาว" ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหน้าประวัติศาสตร์
แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ อังกฤษในยุคนั้นยังถือเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกด้วย มีการขยายดินแดนออกไปตั้งแต่ตะวันตกจวบตะวันออก จนถูกขนามนามว่าเป็น "ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน" เนื่องจาก จะมีอย่างน้อยหนึ่งดินแดนของอังกฤษในโลกที่เป็นช่วงกลางวันเสมอ
และหลังจากที่พระราชินีนาถวิกตอเรียเสวยราชน์ เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ก็จำเป็นต้องเข้าผูกสัมพันธไมตรีผ่านการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายจากรัฐอื่น ซึ่งด้วยความยิ่งใหญ่ของอังกฤษตอนนั้น รัฐใหญ่น้อยมากมายก็ล้วนเสนอชื่อเจ้าชายมาให้พระองค์ดูตัว ซึ่งสุดท้ายก็ทรงตัดสินพระทัยเจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าผู้ปกครองแคว้นซักส์โคบวร์กแห่งเยอรมนี
ซึ่งต่อมาลูกหลานของพระองค์ก็ล้วนได้สมรสกับกษัตริย์ ขุนนางคนสำคัญ ทั่วทวีป จนพระราชีนีนาถวิกตอเรีย ได้รับสมญานามว่า "สมเด็จย่าแห่งยุโรป" ด้วย
1
แต่ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทความของเรา คือ สีของชุดที่พระองค์เลือกสวมในวันวิวาห์ ที่เป็นสีขาวทั้งชุด จะมีเพียงแค่เข็มกลัดสีน้ำเงิน ที่เป็นของขวัญจากว่าที่พระสวามี ที่ให้ก่อนวันอภิเษกเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ไม่ใช่สีขาว
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงโปรด ให้เพื่อนเจ้าสาวซึ่วเป็นเจ้าหญิงอีก 12 พระองค์ สวมใส่ชุดสีขาวด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อเริ่มมีการเผยแพร่ข่าวสารออกไปว่า สตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเลือกใช้ชุดสีขาวในวันแต่งงาน ก็ทำให้ความนิยมในชุดเจ้าสาวสีขาวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วย
📌 อิทธิพลจากคนอื่นที่ส่งผลให้เราทำตาม (Bandwagon Effect)
ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เรามีชื่อเรียก อิทธิพลจากคนอื่นที่ส่งผลให้เราทำตามว่า "Bandwagon Effect" โดย Bandwagon แปลว่า การกระทำที่มีคนหมู่มากเข้าร่วม ซึ่งแท้จริงมันถูกตั้งชื่อตาม ชื่อรถม้าที่มุ่งสู่ตะวันตกของอเมริกาในยุคตื่นทอง ที่ผู้คนต่างมุ่งหวังจะร่ำรวยจากการไปขุดทองในภาคตะวันตกของอเมริกา
1
ซึ่งลักษณะอิทธิพลแบบนี้ ก็ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมต่อมาในยุคหลังว่า ผู้คนมีอคติที่จะพยายามไปอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นผู้ชนะ หรือ เข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อที่มีตัวตนทางสังคมของตนเอง
เจ้าลักษณะนี้ก็ถูกนำมาใช้อธิบายเหตุการณ์หลากหลาย อาทิ การแห่ไปซื้อสินค้าที่ได้รับความนิยม การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับอินฟูลเอนเซอร์ชื่อดัง หรือ แม้แต่การเข้าไปซื้อคริปโทเคอร์เรนซีต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากอคตินี้ ที่การตัดสินใจของผู้คนไม่ได้เกิดจากความต้องการและเหตุผลของตัวเขาเองอย่างเดียว แต่ได้รับอิทธิพลมาจากผู้อื่นด้วยโดยไม่รู้ตัว
แต่อคตินี้ก็มีความน่ากลัวของมันอยู่ ถ้าหากอคตินี้ดันไปเกิดขึ้นในวงสังคมที่คนส่วนใหญ่สะท้อนแนวคิดที่ไม่ถูกต้องหรือส่งผลเสียในระยะยาว มันก็จะทำให้คนที่พยายามแก้ไขมัน ได้รับการสนับสนุนยากกว่าที่ควร เพราะ ไม่มีใครที่จะอยากมายืนอยู่ที่ทีมของคนที่มีเสียงน้อยกว่านั่นเอง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา