Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
24 มี.ค. 2022 เวลา 10:10 • ประวัติศาสตร์
"สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)" สมรภูมิโชกเลือดในสงครามโลกครั้งที่ 2
4
การตายของคนหนึ่งคนนับเป็นโศกนาฏกรรม การตายของคนล้านคนนับเป็นสถิติ
โจเซฟ สตาลิน
12
1
ตลอดระยะเวลาของการดำรงเผ่าพันธุ์ มนุษย์มักใช้สงครามเป็นทางออกของความขัดแย้งอยู่เสมอ...
2
และในหลายครั้ง สงครามก็กลายเป็นคำตอบที่ผลักดันให้สังคมมนุษย์ได้วิวัฒนาการก้าวไปข้างหน้า...
2
แต่สิ่งที่ต้องแลกกับการก้าวไปข้างหน้าด้วยสงครามนั้น คือความสูญเสียอันยากที่จะประเมินค่าได้...
และความสูญเสียนั้น อาจไร้ซึ่งเหตุผลที่เหมาะสมโดยสิ้นเชิง...
ทุกท่านครับ ณ ที่แห่งนี้เป็นสถานที่อันได้รับผลจากความขัดแย้งของมนุษย์
ผลจากความขัดแย้งนั้นได้บันดาลให้ที่แห่งนี้เกิดสงครามสุดหฤโหดขึ้น
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์...
นาซีเยอรมัน...
โจเซฟ สตาลิน...
สหภาพโซเวียต...
ยุทธการบาบารอสซาร์...
ชื่อเหล่านี้ได้สร้างประวัติศาสตร์อันสำคัญให้กับที่แห่งนี้...
ประวัติศาสตร์อันคละคลุ้งไปด้วยความสูญเสีย ความบ้าคลั่ง และความสิ้นหวัง
ก่อเกิดเป็นเรื่องราวอันยากที่มนุษย์จะลืมเลือน
และนี่ คือเรื่องราวของ "สตาลินกราด" สมรภูมิโชกเลือดในสงครามโลกครั้งที่ 2
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง
4
ตั้งแต่โลกเกิดสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุดของประเทศต่างๆ ไม่ใช่ผู้คนอีกต่อไป แต่แปรเปลี่ยนไปเป็นดินแดน
1
การสร้างความมั่งคั่งในโลกของอุตสาหกรรมย่อมต้องใช้ทรัพยากรอันมหาศาล
1
"ดินแดน" จึงเป็นตัวกำหนดจำนวนทรัพยากรที่นำมาป้อนในโรงงานอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ประเทศต่างๆ จึงพากันแย่งชิงดินแดนอย่างเอาเป็นเอาตาย
1
ทั้งดินแดนที่อยู่ข้างเคียง...
หรือแม้กระทั่งดินแดนที่อยู่คนละซีกโลก...
ประเทศที่สามารถพิชิตดินแดนต่างๆ ก็จะได้รางวัลคือทรัพยากรและตลาดที่ใช้ระบายสินค้า เสริมสร้างความมั่งคั่งจนกลายเป็นมหาอำนาจของยุคสมัย...
1
ซึ่งมหาอำนาจเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปเล็กๆ อย่างยุโรปแทบทั้งสิ้น
และแน่นอนครับว่า เมื่อเป็นผู้เล่นในเกมเดียวกันแล้ว มหาอำนาจเหล่านี้ย่อมเป็นคู่แข่งที่ขัดแข้งขัดขากันเองอยู่เสมอ จนท้ายที่สุดนำไปสู่ความตึงเครียดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
1
ความตึงเครียดนั้นก็นำไปสู่ความขัดแย้งขั้นสูงสุดและระเบิดเป็นมหาสงคราม (Great War) หรือที่เรารู้จักในชื่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเองครับ...
4
มหาสงครามที่เกิดขึ้นนั้น ได้สร้างความสูญเสียให้กับโลกพอสมควร...
อีกทั้งยังเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจโลกอย่างฉับพลัน และร้ายที่สุดคือแม้สงครามจะจบลง แต่ทว่าความขัดแย้งหาได้จบตามไปด้วย
กลับกลายเป็นว่าจุดจบนั้นได้นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและความสูญเสียที่มหาศาลมากกว่าสงครามที่จบไปแล้วอย่างเทียบกันไม่ได้...
1
ภาพจาก Merchants and Mechanics (การเริ่มต้นของโลกอุตสาหกรรม)
ภาพจาก Actively Learn (ภาพล้อเลียนยุคแห่งการล่าอาณานิคม)
ภาพจาก WOSU news (มหาสงคราม)
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับตัวละครหลัก 2 ตัวของเรื่องราวนี้กันดีกว่าครับ...
1
ตัวละครแรกที่ผมจะกล่าวถึงคือ เยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจหลักที่ตะลุมบอนในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่หลังสงครามนั้น เยอรมนีเป็นผู้พ่ายแพ้ที่บอบช้ำมากที่สุด
ความบอบช้ำนั้นเกิดจากการที่ต้องเสียดินแดนบางส่วน เสียกองกำลังทหาร และเสียค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำถึงขีดสุด คนตกงานกันระนาว...
2
อีกทั้งการแพ้สงครามทำให้ประชาชนต่างหมดความเชื่อใจในตัวผู้นำ คือ ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ซึ่งโดนกดดันจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ…
1
ทำให้เยอรมนีได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐที่ใช้รัฐธรรมนูญไวมาร์
แต่ทว่าสาธารณรัฐไวมาร์ก็ไม่มีกึ๋นมากพอที่จะแก้ปัญหาความปั่นป่วนอลวลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงหลังมหาสงครามได้เลย ทำให้เกิดพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาลขึ้นมาห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจกัน คือ พรรคคอมมิวนิสต์และอีกพรรคที่สำคัญคือ พรรคนาซีที่นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
โดยในท้ายที่สุดฝ่ายที่ชนะเกมแห่งอำนาจนี้คือพรรรคนาซี ซึ่งรวบอำนาจในเยอรมนีเข้าสู่ตัวผู้นำและพรรคได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังพลิกฟื้นเศรษฐกิจและกองทัพของเยอรมนีให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างน่าเหลือเชื่อ!
2
เมื่อกลับมาผงาดอีกครั้ง เยอรมนีก็ทำการฟื้นฟูกองทัพและก้าวเท้าเข้าแย่งชิงดินแดนที่เคยเสียไป รวมถึงดินแดนข้างเคียงกลับมาอีกครั้ง อย่างซูเดเตนและโปแลนด์ ซึ่งการขยายดินแดนนี้ก็ได้นำไปสู่สงครามครั้งใหม่อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเองครับ
2
ภาพจาก History.com (อดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซี)
ภาพจาก The issue (พรรคนาซี)
ตัวละครอีกตัวคือ สหภาพโซเวียต โดยก่อนหน้านี้คือจักรวรรดิรัสเซียซึ่งปกครองแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้ราชวงศ์โรมานอฟ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การเข้าร่วมสงครามของรัสเซียทำให้ประชาชนต่างไม่พอใจ ซึ่งในที่สุดก็ลุกขึ้นมาปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ.1917 โค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ
โดยหลังการปฏิวัติ ก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างฝ่ายที่ต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ และฝ่ายที่ต้องการสร้างระบบคอมมิวนิสต์อย่างพรรคบอลเชวิกที่มีผู้นำคือวลาดีเมียร์ เลนิน
3
ซึ่งสงครามกลางเมืองได้ลากยาวไปถึง 5 ปี และในที่สุดผู้ชนะที่กุมอำนาจของประเทศได้คือพรรคบอลเชวิก โดยมีการขยายดินแดนของประเทศออกไปและเปลี่ยนจากรัสเซียให้กลายเป็นสหภาพโซเวียตใน ค.ศ.1922 พร้อมขับเคลื่อนประเทศโดยใช้หลักการของคอมมิวนิสต์
แต่หลังจากนั้นไม่นานเลนินซึ่งเป็นผู้นำก็ดันเสียชีวิตลง และเกมการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคก็ดำเนินอย่างดุเดือดระหว่างชายที่ชื่อว่าเลออน ทรอตสกี้และโจเซฟ สตาลิน...
1
ซึ่งในท้ายที่สุดสตาลินก็ขึ้นมากุมอำนาจและกำจัดฝ่ายของทรอตสกี้จนหมดสิ้น รวมถึงตัวของทรอตสกี้เองที่ถึงแม้จะหนีไปอยู่เม็กซิโก แต่สตาลินก็ส่งหน่วยลับตามไปเชือดอย่างไร้ปรานี
2
กล่าวก่อนว่าโดยพื้นเพแล้วสตาลินเป็นคนที่ไม่ได้มีโปรไฟล์ทางด้านการศึกษาที่ดีเท่าไหร่ ทายาทที่เลนินอยากให้สืบทอดคือเลออน ทรอตสกี้ โดยเลนินคิดว่าหากให้สตาลินปกครองนั้น จะเป็นการนำหายนะมาสู่สหภาพโซเวียตอย่างแน่นอน!
3
ซึ่งก็เป็นไปตามที่เลนินคาดการณ์ไว้ครับ เมื่อสตาลินขึ้นมาปกครองนั้นได้มีการนำระบบคอมมูนมาใช้ คือห้ามประชาชนมีทรัพย์สินส่วนตัว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของรัฐ และประจวบเหมาะกับการเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) ทำให้ผู้คนต่างอดอยากล้มตายไปมหาศาล
เหล่าผู้คนที่ไม่พอใจก็ต่างลุกขึ้นมาประท้วงผู้นำ และการแก้ปัญหาการประท้วงที่ง่ายที่สุดในแบบฉบับสตาลินคือการฆ่าให้เหี้ยน!
1
เรียกได้ว่าในช่วง ค.ศ.1932-1933 มีประชากรที่ตายไปกับความอดอยากและการสังหารหมู่โดยสตาลินกว่า 7 ล้านคนเลยทีเดียว...
3
ความหฤโหดสุดจะบรรยายนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของสตาลินเป็นเพียงวายร้าย กระหายเลือดเท่านั้น แต่อำนาจของสตาลินก็แข็งแกร่งยากที่จะมีใครมาโค่นลงได้
2
แต่แล้วเส้นเหตุการณ์ของสหภาพโซเวียตภายใต้โจเซฟ สตาลินก็ได้มาบรรจบพบเจอกับเยอรมนีภายใต้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์จนเกิดเป็นสงครามอันบ้าคลั่งที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2...
ภาพจาก History Today (สตาลิน เลนิน และทรอตสกี้)
ภาพจาก Wikimedia Commons (การสังหารหมู่ในยุคสตาลิน)
ย้อนกลับไปที่ฝั่งของเยอรมนีกันครับ หลังจากที่กรีธาทัพบุกโปแลนด์ ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสไม่นิ่งเฉยต่อความซ่าของเยอรมนีอีกต่อไป ทำการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการนำโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
1
ด้วยยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีของเยอรมนีซึ่งเข้าสู่จุดพีคสุดๆ ทำให้โปแลนด์ไม่อาจต้านทานเยอรมนีได้เลย ภายในเวลาเพียง 4 สัปดาห์ เยอรมนีก็ยึดโปแลนด์ได้ทั้งหมด...
หลังเก็บโปแลนด์ได้ เยอรมนีก็ไม่รอช้าครับ ทำการบุกนอร์เวย์รวมถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวียต่ออย่างรวดเร็ว และสามารถยึดประเทศเหล่านั้นได้อย่างไม่ยากเย็น
1
และในที่สุด เยอรมนีก็ตัดสินใจบุกมหาอำนาจรายใหญ่อย่างฝรั่งเศส ซึ่งน่าเหลือเชื่อเหมือนกันครับที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน!
เรียกได้ว่า ในกลางปี ค.ศ.1940 ประเทศต่างๆ ในบริเวณภาคพื้นทวีปของยุโรปนั้นต่างโดนเยอรมนีเก็บจนเรียบ เหลือเพียงประเทศนอกภาคพื้นทวีปอย่างอังกฤษที่ต้องประจันหน้าต่อสู้กับเยอรมนีเพียงลำพัง...
1
ว่าแล้วทัพอากาศและทัพเรือของเยอรมนีก็เข้าถล่มเกาะอังกฤษอย่างหนักหน่วง แต่ทว่าอังกฤษนั้นต่างจากประเทศยุโรปอื่นๆ ความเป็นเจ้าอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุด ทำให้ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศเกาะเล็กๆ แต่กลับมีทรัพยากรและกองกำลังเข้ามาเติมได้อย่างไม่หยุดหย่อน
2
ต่างกับเยอรมนีที่ยิ่งสู้ทรัพยากรยิ่งร่อยหรอลงเรื่อยๆ ความเหนียวของอังกฤษทำให้ฮิตเลอร์ต้องเปลี่ยนแผนการรบในที่สุด
โดยแทนที่จะถล่มอังกฤษแบบเต็มกำลัง ฮิตเลอร์กลับเบนเข็มโดยการหันแนวรบไปถล่มทางด้านตะวันออกแบบเต็มกำลังแทน
ซึ่งเป้าหมายทางด้านตะวันออกนั้นเป็นประเทศอันอุดมไปด้วยทรัพยากรมหาศาล โดยประเทศที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ "สหภาพโซเวียต" นั่นเองครับ
และแล้ว กองทัพเยอรมันก็เดินหน้าเต็มกำลังเข้าถล่มโซเวียตใน ค.ศ.1941 ภายใต้ยุทธการบาบารอสซาร์...
1
ภาพจาก war documentary (การพิชิตฝรั่งเศสโดยทัพเยอรมัน)
ภาพจาก National Geographic (การถล่มลอนดอนโดยทัพอากาศของเยอรมัน)
ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเยอรมนีและโซเวียตต่างก็ทำสัญญาเป็นมิตรและไม่รุกรานกัน
โดยเยอรมนีมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถบุกยุโรปได้อย่างสะดวกและป้องกันไม่ให้เจอศึก 2 ด้าน
และโซเวียตก็มองว่าญี่ปุ่นที่อยู่ทางด้านตะวันออกของตนเองเริ่มแผลงฤทธิ์อย่างหนักหน่วง การเลือกทำสัญญากับเยอรมนีเอาไว้จะช่วยไม่ให้โซเวียตต้องทำสงคราม 2 ด้านเช่นเดียวกัน
1
เมื่อเยอรมนีทำการพิชิตยุโรปและโค่นฝรั่งเศสลงได้ ก็มีการทำสัญญากับอิตาลีและญี่ปุ่นกลายเป็นฝ่ายอักษะ ซึ่งโซเวียตเมื่อเห็นแบบนั้นแล้วก็พยายามขอเข้าร่วมก๊วนด้วย
3
แต่ทว่า ฮิตเลอร์นั้นไม่ได้มองสตาลินเป็นมิตรตั้งแต่แรก การขอเข้าร่วมก๊วนของ สตาลินจึงถูกปฏิเสธ ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นฮิตเลอร์ก็ได้ทำการฉีกสัญญาไม่รุกรานกันที่เคยทำไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะอย่างไม่ใยดี แล้วนำทัพเข้าบุกโซเวียตอย่างเต็มกำลัง
5
ทั้งแสนยานุภาพและประสบการณ์ทางการรบนั้นเรียกได้ว่าโซเวียตด้อยกว่าแทบทั้งหมด (เหล่าผู้บัญชาการและนายทหารที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ต่างโดนสตาลินเก็บและกวาดล้างไปก่อนหน้านี้)
3
ทำให้การบุกโซเวียตในช่วงแรกของทัพเยอรมันนั้นมีความง่ายดายกว่าที่คาดไว้ แต่ทว่าสตาลินผู้คิดไว้แล้วว่าการต้านทัพเยอรมันเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับโซเวียต เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสามารถช่วยชีวิตโซเวียตได้คือการรอให้ฤดูหนาวมาถึง...
5
ว่าแล้ว สตาลินก็ได้ใช้วิธีถ่วงเวลาทำให้การบุกของทัพเยอรมันต้องติดขัดและล่าช้ามากที่สุด โดยการสั่งให้เผาทำลายคลังเสบียง อาคารบ้านเรือนต่างๆ ก่อนที่ทัพเยอรมันจะเดินทางมาถึงเพื่อตัดกำลังไม่ให้ทัพเยอรมันได้อะไรไปเลย พร้อมกับได้มีการเกณฑ์ประชาชนและนักโทษจำนวนมหาศาลเข้าสู่สนามรบต้านทัพเยอรมันแบบสุดชีวิต
2
แต่แล้วในท้ายที่สุด ทัพเยอรมันก็ได้เข้าประชิดมอสโกและทำการถล่มเมืองหลวงอย่างดุเดือด..
ระหว่างที่ถล่มมอสโกอยู่นั้น อีกทัพหนึ่งทางด้านใต้ก็รุกจนถึงเมืองแห่งหนึ่งริมแม่น้ำโวลก้า นามว่า "สตาลินกราด" ซึ่งชื่อของเมืองแห่งนี้ตั้งตามชื่อของผู้นำ อีกทั้งยังเป็นด่านหน้าที่จะเจาะเข้าสู่แหล่งน้ำมันในแถบเทือกเขาคอร์เคซัส
และแล้ว การถล่มมอสโกก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อฮิตเลอร์เริ่มตาลุกวาวเพราะเล็งเห็นความสำคัญในการเข้ายึดสตาลินกราด
1
การเข้ายึดเมืองที่ตั้งตามชื่อผู้นำได้นั้นจะสามารถทำลายขวัญกำลังใจของทัพโซเวียตได้อย่างมหาศาล และเข้าถึงแหล่งน้ำมันได้อย่างง่ายดายขึ้น ทำให้มีการโถมกองกำลังแทบทั้งหมดเข้าบดขยี้เมืองๆ เดียวภายใต้ความคิดที่ว่า "เราต้องยึดสตาลินกราดให้ได้สถานเดียว!"
1
ซึ่งเผอิญว่าสตาลินก็คิดแบบเดียวกันครับว่า "จะไม่ยอมเสียสตาลินกราดโดยเด็ดขาด!"
1
โดยในความเป็นจริง สตาลินกราดไม่ได้มีความสำคัญให้ต้องแลกถึงขนาดนั้น
แต่ทว่า การห้ำหั่นแย่งชิงเมืองที่ราวกับว่าเป็นเหมือนศึกตัดสินแพ้ชนะของสงครามก็ได้เริ่มต้นขึ้น...
ภาพจาก Omniatlas (ที่ตั้งของเมืองสตาลินกราด)
ภาพจาก Russia Beyond (สตาลินกราดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)
เยอรมันได้เริ่มต้นโดยการใช้ปืนใหญ่และการถล่มทางอากาศเข้าบดขยี้เมือง และส่งทหารราบเข้าโจมตี...
ทางฝ่ายโซเวียตก็ไม่น้อยหน้า มีการเกณฑ์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ นักศึกษา กรรมกร นักโทษเข้าป้องกันเมือง ตามคำสั่งของสตาลินว่า "ห้ามถอยเด็ดขาด ใครถอยจะโดนยิงทิ้งทันที!"
2
ในช่วงแรกฮิตเลอร์คิดว่าการยึดสตาลินกราดจะเป็นเรื่องกล้วยๆ ไม่ยากเย็นอะไรมาก แต่ทว่า จากการขู่ทหารของสตาลินและความดิ้นรนเอาชีวิตรอดของประชาชนในสตาลินกราดกลับทำให้สงครามยืดเยื้อและสร้างความปวดหัวให้กับฮิตเลอร์แบบสุดๆ!
1
และด้วยสภาพของเมืองที่ตึกและอาคารสร้างด้วยอิฐสมัยใหม่ทำให้เมื่อถูกระเบิดถล่ม แทนที่จะสร้างความสะดวกในการบุกของทัพเยอรมัน กลับกลายเป็นว่าดันสร้างความยากลำบากในการบุกมากกว่า เนื่องจากซากตึกและอาคารที่ถล่มลงมาได้แปรสภาพกลายเป็นบังเกอร์และป้อมปราการย่อมๆ ให้ทหารโซเวียตเข้าหลบในซอกหลืบต่างๆ
1
ซึ่งฝั่งของโซเวียตก็ใช้สภาพของเมืองที่ถูกถล่มให้เป็นประโยชน์ โดยใช้วิธีการรบแบบกองโจร ลอบยิง และโยนระเบิดขวด
เรียกได้ว่า ทุกมุมของถนนนั้น ทหารโซเวียต (รวมถึงประชาชน) ต่างป้องกันทัพเยอรมันอย่างเหนียวแน่น
1
ฝ่ายของฮิตเลอร์เห็นแบบนั้น ก็สั่งให้กองกำลังที่ติดแนวรบทางด้านอื่น หันมาบุกถล่มสตาลินกราดช่วยกัน...
ฝ่ายสตาลินก็สั่งให้เกณฑ์คนเพิ่มเติมเข้าห้ำหั่นป้องกันเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นเดียวกัน...
3
สถานการณ์ได้นำให้ผู้นำทั้งสองมาถึงจุดที่ว่า "จะเสียคนหรือกองกำลังเท่าไหร่ก็ไม่สนแล้ว แค่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้ก็เป็นพอ"
2
ภาพจาก Radio Free Europe (การถล่มทางอากาศของทัพเยอรมัน)
ภาพจาก ThoughtCo (ฺBattle of Stalingrad)
ภาพจาก TASS (การใช้ซากปรักหักพังของตึกเป็นบังเกอร์)
ภาพจาก Russia Beyond (การรบแบบกองโจร)
ภาพจาก Quora (ความสูญเสียในสตาลินกราด)
การรุกคืบชิงพื้นที่ในถนนแต่ละบล็อกเป็นไปอย่างเชื่องช้าและยากลำบาก ทั้งเยอรมันและโซเวียตต่างก็สูญเสียพอๆ กัน
ฝ่ายทหารเยอรมันก็ต้องยึดเมืองให้ได้สถานเดียว ส่วนฝ่ายทหารโซเวียตก็ต้องดิ้นรนป้องกันเมือง เพราะไม่มีที่ให้หวนกลับไป (สตาลินสั่งให้ตำรวจลับคอยเฝ้าระวังทุกจุด หากมีทหารตาขาวถอยหลังกลับให้ยิงทิ้งได้ทันที)
แต่เหมือนโซเวียตจะเป็นต่อตรงทรัพยากรมนุษย์ที่หลั่งไหลเข้ามาเติมภายในเมืองสตาลินกราดอย่างไร้ที่สิ้นสุด อีกทั้งสตาลินยังใช้ยุทธวิธีแบบคลื่นมนุษย์ (Human Wave Attack) โดยให้ทหารจำนวนมากวิ่งเข้าใส่ห่ากระสุนของทัพเยอรมันอย่างต่อเนื่อง
5
การรบในลักษณะนี้ทำให้ทหารที่เข้ามาสมทบและเหยียบเท้าเข้าสู่สตาลินกราดนั้นมีอายุขัยเฉลี่ยไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งโดยส่วนมากตายเรียบแทบทั้งหน่วย!
5
ตัวอย่างเช่น หน่วย Guard Division ที่ 13 ซึ่งมีทหารจำนวน 10,000 คน ได้เข้าข้ามแม่น้ำเข้ามาสมทบป้องกันเมืองสตาลินกราด ผลคือ ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทหารในหน่วยตายไป 3,000 คน และในช่วงท้ายของการรบหน่วยที่เหลือทหารอยู่เพียง 300 คนเท่านั้น...
4
แต่การตายเป็นใบไม้ร่วงของทหารโซเวียตพร้อมการเข้ามาเสริมกำลังอย่างไม่หยุดหย่อนทำให้เยอรมันปิดเกมในสมรภูมิเล็กๆ อย่างสตาลินกราดไม่ได้ซักที...
2
ทรัพยากรของทัพเยอรมันเริ่มร่อยหรอ รวมถึงกำลังใจของทหารเริ่มหมดลงเรื่อยๆ เพราะสูญเสียอย่างหนัก รวมถึงความเหนื่อยล้าที่สะสมตั้งแต่การย่างกรายเข้ามาในสหภาพโซเวียต...
2
อีกทั้งฤดูหนาวก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ฝ่ายเยอรมันยิ่งเสียเปรียบเพราะไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศสุดหฤโหดนี้ ซ้ำร้ายยังขาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ต่อสู้กับความหนาว...
1
ฝ่ายสตาลินจึงใช้โอกาสทองนี้ทำการโต้กลับครั้งใหญ่ ภายใต้ชื่อยุทธการยูเรนัส ทุ่มกำลังทหารกว่า 1,000,000 คนเดินทัพแบบก้ามปูโอบล้อมทัพเยอรมันกว่า 400,000 คน ให้อยู่ภายในเมืองสตาลินกราด
1
พร้อมกับส่งทัพเข้าถล่มและยึดสนามบินที่เป็นสถานที่ส่งกำลังหนุนของทัพเยอรมัน จนตัดขาดกับโลกภายนอกในที่สุด
1
หลังจากนั้น ทัพเยอรมัน 400,000 คน ที่อยู่ภายใต้วงล้อม ก็เริ่มถูกขนาบและกวาดล้างภายใต้กองทัพแดงนับล้านคน
ภาพจาก Alchetron (ยุทธการยูเรนัส การโอบล้อมทัพเยอรมัน)
ความเพลี่ยงพล้ำในสตาลินกราด ได้ถูกส่งไปถึงหูฮิตเลอร์ ซึ่งเหล่าเสนาธิการทางทหารต่างก็แนะนำให้สั่งทหารตีฝ่าวงล้อมออกมาเพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด
แต่ทว่า ฮิตเลอร์กลับไม่เห็นด้วย เพราะหากตีฝ่าออกมา จะทำให้ความพยายามในการบุกยึดสตาลินกราดทั้งหมดสูญเปล่าโดยทันที
1
"ไม่ว่าจะสูญเสียเท่าไหร่ ก็ต้องบุกยึดสตาลินกราดให้ได้!"
เหล่าทหารผู้ถูกปิดล้อมต่างยิ่งสิ้นหวังเข้าไปใหญ่ เพราะทั้งขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เชื้อเพลิง และกระสุน
ซึ่งฮิตเลอร์ก็ได้สั่งเพิ่มเติมอีกว่า "ให้ยึดฐานที่มั่นเอาไว้จนถึงทหารคนสุดท้าย!"
2
การโจมตีจากทุกทิศทางทั้งปืนใหญ่และเครื่องยิงจรวด ทำให้ทัพเยอรมันที่ถูกล้อมต่างล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ จนทัพโซเวียตกวาดล้างทัพเยอรมันที่ถูกล้อมและยึดสตาลินกราดคืนมาได้ทั้งหมดในที่สุด
ความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสตาลินกราด ทำให้เยอรมนีเสียทหารไปกว่า 400,000 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 100,000 คน ทั้งยังสูญเสียเครื่องบิน รถถัง และปืนใหญ่จำนวนมหาศาล
2
จากกองทัพที่แสนยานุภาพสุดแข็งแกร่ง กลายเป็นเหมือนกองทัพที่พิการและไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก...
สตาลินจึงใช้โอกาสนี้ในการโต้กลับทัพเยอรมันและรุกคืบจนไปประชิดเบอร์ลินปิดฉากนาซีเยอรมันและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ในภายหลัง...
2
ชัยชนะได้ทำให้สหภาพโซเวียตก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของโลก...
1
ภาพลักษณ์ของสตาลินจากแต่ก่อนที่เป็นเพียงวายร้ายผู้กระหายเลือด แต่หลังจากสยบเยอรมนีได้แล้ว สตาลินกลับกลายเป็นฮีโร่ของคนทั้งโลกในช่วงเวลานั้น
3
แต่เบื้องหลังของฮีโร่นั้นได้แลกมาซึ่งจำนวนคนของสหภาพโซเวียตที่ตายไปจากการห้ำหั่นนี้ในหลักสิบล้านคน
4
ผลลัพธ์ของสงครามนั้นในท้ายที่สุด ก็ได้อยู่เหนือกว่าจำนวนความสูญเสีย
และการห้ำหั่นในสตาลินกราดก็ได้เปลี่ยนโฉมประวัติศาสตร์โลกมาจนถึงปัจจุบัน...
ภาพจาก World Football Index
References
Erick, John. Hitler V Stalin the Greatest Conflicts of the Second World War. London : Carlton Books, 2004.
Spielvogel, Jackson. Hitler and Nazi Germany. New Jersy : Prentice hall, inc, 1992.
Winchester, Charles. Total War the Great Battle of the 20th Century. London : Quercus, 2010.
https://www.biography.com/dictator/joseph-stalin
139 บันทึก
108
8
103
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Europe Story
139
108
8
103
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย